เดินทางตามหาความหวาน 3 ทวีปสัมผัส 4 ฟาร์มกับเรื่องราวน่าทึ่งของน้ำผึ้ง

วันที่ 3 สิงหาคม 2561  4,763 Views
นิตยสาร Gourmet & Cuisine ฉบับที่ 216 เดือนกรกฎาคม 2561

บทความและภาพประกอบโดย : #thehatchef

สำรับข้ามโลกครั้งนี้เราขอนำเสนอเรื่องการเดินทางที่น่าสนใจมากๆ ของ “น้ำผึ้ง” วัตถุดิบไม่กี่อย่างในโลกที่ไม่มีวันหมดอายุ และอาจจะเป็นสารให้ความหวานชนิดแรกๆ ของโลกที่มนุษย์รู้จักก่อนน้ำตาลเสียอีก เราจะได้สัมผัสกับผึ้งถึง 4 ฟาร์ม 3 ทวีปด้วยกัน ตั้งแต่คนเลี้ยงผึ้งไปจนถึงไร่ผลไม้ แต่ที่น่าสนใจคือผึ้งมาเกี่ยวข้องกับช้างได้อย่างไร ลองติดตามดูในรายการสำรับข้ามโลก หรือ The Food Venture สามารถติดตามได้ทุกวันเสาร์ เวลา 07.30 น. ทางช่อง One31 หรือดูย้อนหลังได้บน LINE TV ครับ

น้ำผึ้ง

ผึ้งงานกำลังทำงานเก็บน้ำผึ้ง

การได้น้ำผึ้งหยดเดียวและหลายๆ หยดมีความน่าสนใจในเชิงระบบนิเวศ เพราะคือการทำงานร่วมกันของคนเลี้ยงผึ้ง (Beekeeper) ตัวฝูงผึ้งเอง และเจ้าของสวนผลไม้ ดอกไม้ หรือป่าไม้ ที่น่าสนใจเพราะเป็นการทำงานแบบ Win-Win-Win  3 วินด้วยกัน คือผึ้งได้ขยายพันธุ์และผลิตน้ำผึ้งมากมายไว้เลี้ยงฝูงผึ้งและเก็บไว้ใช้กินเอง เจ้าของสวนได้ประโยชน์จากการผสมเกสรเพื่อให้ได้ดอกและผลไม้ตามฤดูกาลโดยที่ไม่ต้องลงแรงผสมเองตามต้น คนเลี้ยงผึ้งก็ได้น้ำผึ้งสดๆ จากรังทุกรังที่ตัวเองลงทุนและนำไปขายเพิ่มรายได้  แต่การจะทำให้เกิด 3 วินนี้ต้องใช้ความเข้าใจและความพยายามเช่นกัน เพราะบางครั้งดินฟ้าอากาศอาจจะไม่ได้เป็นใจทุกฤดูกาล ถ้าฝนมามากผึ้งตายเยอะก็จะไม่มีผึ้งพอที่จะผลิตน้ำผึ้งหรือผสมเกสร ถ้าสวนผลไม้ใช้สารเคมีเยอะ ผึ้งก็จะไม่บินไปผสมให้ ถ้าสวนไหนให้ผลผลิตดีก็จะเกิดการแย่งกัน หรือบางครั้งถึงขั้นขโมยรังกันของคนเลี้ยงผึ้ง การได้ผลิตภัณฑ์ที่ดูเหมือนจะแฮปปี้ของทุกฝ่ายอาจจะไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป

น้ำผึ้ง

น้ำผึ้งสดๆ ที่เก็บได้จากรัง

แต่ทำไมต้องถึงขั้นแย่งน้ำผึ้งกันเชียวหรือ? เพราะความต้องการของโลกมันมีมากกว่าความสามารถในการผลิตมากครับ อย่าลืมว่าอาหารต่างๆ ใช้น้ำผึ้งกันมาก โดยเฉพาะอาหารเช้า ยังไม่รวมถึงส่วนผสมของขนมต่างๆ ไล่ไปจนถึงยาแก้ไอ หรือผสมดื่มกับชาและกาแฟ ซึ่งประเทศที่บริโภคน้ำผึ้ง (และมีของปลอมด้วยไซรัป) มากที่สุดคือจีน เพราะใช้เป็นยาบำรุงร่างกาย บำรุงลำไส้ ช่วยระบบขับถ่าย ลดความร้อนในร่างกาย บรรเทาอาการอ่อนเพลีย และยังช่วยขับสารพิษออกจากร่างกายอีกด้วย  และประเทศที่บริโภครองลงมาคือสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดส่งออกใหญ่ของน้ำผึ้งไทยในบ้านเรา ขณะที่ผู้ผลิตใหญ่ๆ ในโลกนี้คือจีน ตุรกี และสหรัฐอเมริกาตามลำดับ

น้ำผึ้ง

Yves ต่อเฟรมที่เอามาทำ Chamber

เราเดินทางลงใต้เกือบถึงขั้วโลกใต้โดยมาหยุดที่เกาะเล็กๆ ห่างจากทวีปออสเตรเลีย 1 ชั่วโมงชื่อ “แทสเมเนีย” ที่นี่เป็นที่ตั้งของฟาร์มต่างๆ มากมายทั้งผลไม้ เบอร์รี แซลมอน และผึ้ง เนื่องจากมีธรรรมชาติอุดมสมบูรณ์ มีพื้นที่ป่ามากมายมหาศาลกว่าค่อนเกาะ และมีน้ำสะอาดจากขั้วโลกใต้ รวมทั้งดอกไม้ชนิดพิเศษที่ไม่มีที่อื่นในโลกชื่อว่า  Leatherwood ดังนั้นการจะผลิต Leatherwood Honey ให้ได้จึงต้องมาผลิตบนเกาะแห่งนี้ และเราก็มาจนถึงครับ เพื่อมาเจอ Yves Ginat เป็นคนเลี้ยงผึ้งชาวฝรั่งเศสที่มาตั้งรกรากอยู่ที่นี่ (แถมมีเพื่อนบ้านติดกันเป็นคนภูเก็ต!) Yves พาเราไปดูผึ้งที่เขาเลี้ยงและผสมเกสรจากดอกไม้หลากชนิด ซึ่งเราเรียนรู้ว่าหน้าที่ของผึ้งนั้นน่าสนใจดังนี้

น้ำผึ้ง

รวงผึ้งฝีมือมนุษย์เพื่อให้ผึ้งได้อาศัย

Yves เล่าว่าผึ้งมีการแบ่งงานกันทำได้อย่างน่าทึ่ง เริ่มจากนางพญาผึ้ง หรือที่เรียกว่า Queen Bee ที่จะมีได้แค่ตัวเดียวในรังเท่านั้น และจะทำหน้าที่นางพญาไปประมาณ 3-5 ปี แต่ละวันไม่ต้องทำอะไรนอกจากวางไข่วันละ 2,000 ฟองเพื่อขยายโคโลนี (Colony) หรืออาณานิคมของผึ้งขึ้นอีก อีกพวกหนึ่งคือพวกโดรนหรือตัวผู้ที่ไม่มีเหล็กในและไม่ต้องทำอะไรเช่นกัน ทำหน้าที่เพียงอย่างเดียวคือคอยผสมพันธุ์กับผึ้งนางพญาเพื่อเพิ่มจำนวนผึ้งในฝูง และพวกที่ทำงานกันอย่างจริงจังคือผึ้งงาน ซึ่งเป็นผึ้งส่วนใหญ่ในรังที่มีจำนวนหลายหมื่นตัว เป็นผึ้งเพศเมีย ผึ้งวรรณะนี้จะทำหน้าที่ออกหาอาหารและน้ำหวาน สร้างรังจากไข่ที่ผลิตจากต่อมสร้างและรังเก็บน้ำหวาน ทำหน้าที่่ป้อนอาหารให้แก่ผึ้งนางพญาและผึ้งตัวผู้

น้ำผึ้ง

ผึ้งในป่ายูคาลิปตัส

น้ำผึ้งเกิดขึ้นได้อย่างไร? ผึ้งงานจะบินหาอาหารในระยะไม่เกิน 1 กิโลเมตรจากรังเพื่อดูดเอาน้ำหวานของเกสรดอกไม้ใส่ในกระเพาะพิเศษในตัวผึ้งเพื่อนำกลับมาที่รัง ผึ้ง 1 ตัวสามารถขนน้ำหวานได้เกือบเท่าน้ำหนักของตัวเองเลยทีเดียว เป็นเรื่องน่าทึ่ง เพราะถ้าให้เราแบกของเท่าน้ำหนักตัวเดินไปไหนมาไหนคงไม่ไหวเป็นแน่ เมื่อบินกลับมาที่รังก็จะขย้อนน้ำหวานต่อให้กับผึ้งที่อยู่ในรังเพื่อลดความชื้น (ตรงนี้แหละครับที่ทำให้เกิดความข้นเหนียวเป็นไซรัป) หรือไม่ก็หยอดใส่รวงผึ้งที่ว่างอยู่ ถ้าอุณหภูมิในรังสูงอยู่แล้วเมื่อหยอดเต็มก็จะใช้ขี้ผึ้งปิดปากรวงนั้นเป็นอันจบกระบวนการ

น้ำผึ้ง

การตรวจสอบและเก็บ HoneyComb

ผึ้งงานจะมีวงจรอายุ 6-7 สัปดาห์ ดังนั้นผึ้งกลุ่มนี้จะเริ่มทำงานหลังจากเกิดมาได้ 3 สัปดาห์ เนื่องจากเหลือเวลาไม่มากนัก นี่คืออีกเหตุผลที่ทำไมบางครั้งน้ำผึ้งจึงขาดแคลน เพราะผึ้งงานและฝูงผึ้งโตไม่ทันฝูงที่ตายไปจากภัยธรรมชาติบ้าง ขาดแคลนอาหารบ้าง โดนสัตว์อื่นกำจัดบ้าง อีกสิ่งหนึ่งที่ Yves ทำนอกจากเลี้ยงผึ้งคือผลิตรังผึ้งเองที่โรงงานเล็กๆ ของเขา เรียกว่าครบวงจรเลยทีเดียว โดยทำทั้งนำไม้มาขึ้นรูปเป็นลังที่จำลองรังผึ้ง นั่งทำกรอบ Chamber ให้ผึ้งเอง และสกัดน้ำผึ้งเอง ทำคนเดียวเกือบทุกอย่างแบบ Start Up อย่างน่าชื่นชม

น้ำผึ้ง

แล้วเขาสกัดน้ำผึ้งกันอย่างไร? คนเลี้ยงผึ้งจะแวะมาดูการเก็บน้ำผึ้งจนได้ที่และเก็บรวงผึ้งจากรังทีละเฟรม ซึ่งเขาจะจุดควันและพ่นใส่รังผึ้งไปด้วย เหตุผลของการใช้ควันคือการตัดการติดต่อของผึ้งน้อยในรังไม่ให้มารบกวน เมื่อผึ้งได้กลิ่นควันจะทำให้พวกมันสื่อสารกันไม่ได้ จึงบอกต่อๆ กันไม่ได้ว่าจะออกมาต่อยคนเก็บน้ำผึ้ง ถึงอย่างไรก็จะมีบางส่วนที่ปกป้องรังออกมา คนเลี้ยงผึ้งจึงต้องใส่ชุดป้องกัน ซึ่งชุดพวกนี้ไม่ใช่ผ้าหนาๆ ธรรมดา แต่ต้องทำจากผ้าที่ลื่นเพื่อให้ผึ้งเกาะและต่อยไม่ได้ เพราะถ้าผึ้งปล่อยเหล็กในออกมาผึ้งตัวนั้นจะตายและเราจะเสียผึ้งงานไป เมื่อเก็บรวงผึ้งจากเฟรมได้แล้วก็นำกลับมาปั่นในถังที่ออกแบบให้หมุนและเหวี่ยงน้ำผึ้งออกมาจากเฟรมได้ คนเลี้ยงผึ้งก็จะได้น้ำผึ้งสกัดจากธรรมชาติอย่างแท้จริง

น้ำผึ้ง

การ Smoke

แล้ว Heat กับ Unheated Honey ต่างกันอย่างไร? เพื่อนๆ ที่เคยซื้อน้ำผึ้งอาจเคยสังเกตฉลากบนกระปุก สำหรับคนเลี้ยงผึ้งขนาดเล็กที่ไม่ใช่โรงงานอุตสาหกรรมจะมีตัวหนังสือ กำกับว่า Unheated Honey บ้าง Cold Pressed Honey บ้าง ซึ่งหมายถึงส่วนหนึ่งของกระบวนการสกัดที่เล่ามาคร่าวๆ ข้างต้น การสกัดแบบไม่มีความร้อนมาเกี่ยวข้องบางครั้งจะเรียกว่า Raw หรือ Unpasteurized  โดยไม่ใช้ความร้อนมาเกี่ยวข้องหรือใช้แบบอ่อนมากๆ เพื่อรักษาความเป็นออร์แกนิก ธรรมชาติของน้ำผึ้ง สารอาหาร น้ำตาลชนิดต่างๆ และสีไม่ให้ถูกระเหยไปกับความร้อน และจะมีอายุยาวนานกว่าตามธรรมชาติ ส่วนประเภทที่ให้ความร้อนจะผ่านอุณภูมิประมาณ 165F◦ หรือ 74C◦ เพื่อละลายไขหรือขี้ผึ้งออก เนื่องจากไม่เหมาะกับการนำไปปรุงอาหารบางชนิด หรือผู้บริโภคบางคนไม่ชอบที่มีไขมากๆ  และจะได้รสชาติที่อ่อนกว่า หนืดน้อยกว่า สีที่ใสกว่า และมีวันหมดอายุ

น้ำผึ้ง

Beekepper

อีกทวีปที่เราไปสัมผัสการผลิตน้ำผึ้งคือประเทศเคนยาที่มีน้ำผึ้งจากผลไม้หลากหลายชนิดมาก เช่น จากดอกกาแฟ เนื่องจากเคนยาปลูกและมีชื่อเสียงเรื่องกาแฟมาก น้ำผึ้งที่ได้จากส่วนผสมของกาแฟจึงเป็นรสชาติที่น่าสนใจมากๆ และยังมีน้ำผึ้งจากต้นไม้ประจำชาติอย่างอาคาเซีย และอื่นๆ เช่น อะโวคาโด ยูคาลิปตัส ส่วนการสกัดน้ำผึ้งไม่ได้มีความแตกต่างจากประเทศอื่นครับ

น้ำผึ้ง

Yves ต่อเฟรมที่เอามาทำ Chamber

ก่อนกลับจากเคนยาเราได้ไปพบกับเจ้าของโครงการที่น่าสนใจมากๆ โดยบังเอิญ ที่ว่าบังเอิญเพราะเรามาจอดรถติดกัน และผมได้อ่านป้ายข้างรถว่าเขามีการนำผึ้งมาใช้ประโยชน์นอกเหนือจากการผลิตน้ำผึ้ง คือนำมาใช้เป็นยามเฝ้าที่รักษาความปลอดภัยให้เรือกสวนไร่นาไม่ให้โดนโขลงช้างเข้ามาเหยียบ โครงการนี้ชื่อว่า “Elephants and Bees Project” คิดค้นขึ้นโดย ดร. Lian Douglas-Hamilton ที่ศึกษาพฤติกรรมของช้างในประเทศแทนซาเนีย และลดการเผชิญหน้ากันของช้างและมนุษย์ เนื่องจากบางครั้งช้างจะมีพฤติกรรมดุร้ายหรือเข้ามากินพืชผลที่ชาวไร่ปลูกไว้และโดนยิง เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประชากรช้างลดลงนอกเหนือจากการฆ่าเพื่อเอางาช้าง

น้ำผึ้ง

การปั่นสกัดน้ำผึ้ง

น้ำผึ้ง

เครืองสกัดน้ำผึ้งของ Yves

แต่ผึ้งที่ขนาดต่างกับช้างเป็นล้านเท่าสามารถกันช้างทั้งโขลงได้จริงๆ หรือ คำตอบคือจริงครับ โดยการนำรังผึ้งมาวางหรือแขวนเรียงกันเป็นรั้วแทนรั้วบ้าน ช้างก็จะไม่เข้าใกล้ แถมยังวิ่งหนีไปไกลเสียอีก เป็นอีก 3 วินที่เกิดขึ้น คือช้างไม่โดนทำร้าย ผึ้งก็ได้น้ำผึ้งจากเกสรดอกไม้ในสวน ชาวไร่ก็ไม่โดนทำลายพืชผลและที่อยู่อาศัย แถมยังได้น้ำผึ้งมาขายเพิ่มรายได้อีกด้วย

ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องราวคร่าวๆ ของน้ำผึ้งหลายหยดใน 2 ฟาร์มจาก 4 ฟาร์มที่เราไปสัมผัสถึงที่ มีรายละเอียดและเรื่องราวอย่างครบถ้วน พร้อมภาพและเพลงที่ชวนติดตามให้ชมกันอย่างเพลิดเพลิน...

น้ำผึ้ง

น้ำผึ้งแบบ Unheate ตามธรรมชาติ

น้ำผึ้ง

สามารถรับชมได้ในรายการสำรับข้ามโลก หรือ The Food Venture ทุกวันเสาร์ 07.30 น. ทางช่อง One31 หรือบน LINE TV และเร็วๆ นี้พร้อมคำบรรยายภาษาอังกฤษบน iflix ครับ

อ่านเพิ่มเติม
>> เปิดวัฒนธรรมโลกด้วยวัฒนธรรมอาหาร กับโปรเจกต์ "สำรับข้ามโลก" ตอน Australian Wagyu Journey
>> ข้ามโลกไปสัมผัสเรื่องราวของ Dairy Product กับรายการ "สำรับข้ามโลก" ตอน Dairy Journey
>> เดินทางข้ามโลกตามหา "เห็ด" ที่มีราคาแพงที่สุดในโลกในประเทศอิตาลี


Tag: , น้ำผึ้ง, สำรับข้ามโลก,

เรื่องโดย

ความคิดเห็น

Editor’s Pick

Recent

Most Viewed