คอหนังของผู้กำกับสุดติสต์ ฮา และเลือดสาดอย่างเควนติน ทาแรนติโน (Quentin Tarantino) คงรู้กันดีว่าสิ่งที่ผู้กำกับคนนี้รักและรักษาไว้ในฉากสวยๆ ของเขาอยู่เสมอนั่นก็คือ "อาหาร" และภาพยนตร์ที่นับเป็นปฐมบทในด้านนี้ของเควนตินคงไม่พ้น Pulp Fiction (1994) หนังที่แก้มแดงทดไว้ในใจมานานแสนนาน จนเพิ่งมีโอกาสดูเมื่อไม่นานมานี้ผ่านเว็บไซต์ดูหนังแบบถูกลิขสิทธิ์ที่กลายเป็นตัวเลือกสุดฮิตในการดูหนังของคนยุคนี้
สิ่งที่น่าจดจำของ Pulp Fiction ต้องยกให้กับเทคนิคการเล่าเรื่องที่สลับไปมาได้อย่างประทับใจ เมื่อตอนสุดท้ายของเรื่องไม่จำเป็นต้องเป็นตอนจบของหนัง อันนำมาสู่วลีสุดเก๋ที่ว่า "Three Stories About One Story " (3 เรื่องใน 1 เดียว) ด้วยการเล่าเรื่องของนักฆ่า 2 คน วินเซนต์และจูลส์ที่ทำภารกิจทวงของคืนให้มาเซลลัสผู้เป็นเจ้านาย ซึ่งวินเซนต์ก็มีภารกิจพามีอาภรรยาเจ้านายเที่ยวเสียด้วย ในขณะที่มาเซลลัสเองก็ดันมีปัญหากับบุตช์นักมวยที่ทำให้แพ้พนัน ก่อนที่ทั้ง 3 เรื่องจะมาขมวดปม และจบลงที่ร้านอาหารซึ่งกำลังมีการปล้นที่เปิดเรื่องไปในช่วงแรก
นอกจากการดำเนินเรื่อง สิ่งที่ถูกพูดถึงไม่แพ้กันก็เป็นเรื่องของอาหาร แม้เราจะไม่สามารถระบุชัดได้ว่านี่คือหนังอาหาร แต่เอาเข้าจริงผู้กำกับคนเก่งก็ใส่รายละเอียดเกี่ยวกับอาหารอยู่ไม่น้อย เห็นได้จากภาพมีม (Meme) หรือภาพล้อเลียนของหนังที่มักมีประโยคของอาหารใส่ลงไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นคำว่า "Royal with Cheese" คำที่วินเซนต์พูดอวดรู้กับจูลส์ว่าร้านแมคโดนัลด์ (McDonald's) ของฝรั่งเศสเรียก "ชีสเบอร์เกอร์" (Cheeseburger) แบบนี้ แต่ความจริงดันเรียกว่า Royal Cheese เฉยๆ (แก้มแดงแอบค้นมา) หรือจะเป็นประโยคที่บรรยายว่า "โคตรอร่อย" ของจูลส์อย่าง "This is some serious gourmet shit" ก็กลายเป็นม็อตโตที่นำมาใช้กันบ่อยๆ
งานวิจัยหลายชิ้นที่ทำการศึกษาสัญลักษณ์เกี่ยวกับการใช้อาหารของเควนติน ล้วนกล่าวตรงกันว่าน่าจะเป็นเพราะภาพยนตร์เรื่องนี้เต็มไปด้วยคำหยาบคายและความรุนแรง ดังนั้นสิ่งเดียวที่จะมาแก้ให้สถานการณ์ไม่ให้เรื่องนี้ทำร้ายใจคนดูมากเกินไปก็คือ ฉากอาหารนี่แหละ อย่างฉากที่บุตช์ยิงวินเซนต์หน้าห้องน้ำก็ได้เสียงปิ๊ง! ของเครื่องปิ้งขนมปังที่ปิ้งป๊อปทาร์ตเสร็จมาช่วยชีวิต จนสามารถลดอัตราการนองเลือดได้ผลเป็นที่น่าพอใจ
ใช่ว่าความดีงามของอาหารจะหมดอยู่เพียงเท่านี้ เนื่องจากมันยังถูกใช้เพิ่มมิติให้กับตัวละครถึงพลังอำนาจ ซึ่งเห็นได้ในซีนที่จูลส์แย่งเบอร์เกอร์และโซดาซ่าจากแก๊งที่เอาของรักของเจ้านายเขาไปมากิน ก่อนจะสะสางชำระหนี้แค้นอย่างสาสม ซึ่งนั่นช่างต่างกับมีอาที่แสดงอำนาจ (ของการเป็นเมียนาย) ด้วยการแบ่งมิลก์เชกให้กับวินเซนต์อย่างเป็นกันเอง หรืออาจจะพูดได้ว่าอาหารเป็นตัวแทนของพระเดชและพระคุณไปพร้อมๆ กันก็ไม่น่าจะผิด
แต่ถ้าถามว่าทำไมถึงต้องมีอาหารเป็นตัวแทนด้วยล่ะ แก้มแดงเชื่อว่าหลายคนคงมีคำตอบอยู่ในใจ และนั่นก็เป็นเพราะอาหารเป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐานของมนุษย์น่ะสิ
แหล่งข้อมูล
https://moviepilot.com
http://www.epicurious.com
ภาพประกอบจาก
http://imdb.com
Tag:
Food on Film, รีวิวหนัง
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น