รู้จักการ Trade-Off อย่างฉลาด

วันที่ 2 สิงหาคม 2567  813 Views
นิตยสาร Gourmet & Cuisine ฉบับที่ 288 เดือนกรกฎาคม 2567

รู้จักการ Trade-Off อย่างฉลาด

เราทุกคนมีเวลา พลังงาน และทรัพยากรที่จำกัด จึงไม่สามารถทำทุกสิ่งทุกอย่างที่ต้องการได้ตลอดเวลา การทำความเข้าใจและจัดการกับ Trade-Off อย่างมีประสิทธิภาพจึงเป็นทักษะที่สำคัญในการใช้ชีวิต

Trade-Off หมายถึง การแลกเปลี่ยนระหว่างสองสิ่งที่ไม่สามารถได้มาพร้อมกันอย่างเต็มที่ ซึ่งการตัดสินใจเลือกสิ่งหนึ่งจะต้องเสียสละอีกสิ่งหนึ่งไปบ้างในระดับหนึ่ง ฉะนั้นสิ่งที่ดีที่สุดที่เราสามารถทำได้คือการตัดสินใจแลกเปลี่ยนระหว่างสองสิ่งอย่างมีประสิทธิภาพและมีเหตุผล เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดในสถานการณ์นั้นๆ

การ Trade-Off เพื่อสร้างความมั่งคั่งด้านการเงิน : ต้องเข้าใจหลักการเกี่ยวกับต้นทุนค่าเสียโอกาส (Opportunity Cost) ก่อนตัดสินใจใดๆ ให้คิดเสมอว่าเราจะสูญเสียอะไรบ้างจากการเลือก ก. และไม่เลือก ข. พยายามหาทางให้ต้นทุนค่าเสียโอกาสอยู่ในระดับต่ำที่สุด โดยคำนึงถึงความจำเป็นและเป้าหมายด้านการเงินไว้ด้วย ตัวอย่างเช่น เรามีหนี้บัตรเครดิต 18,000 บาท ซึ่งถูกคิดดอกเบี้ยในอัตรา 18% ต่อปี ในขณะเดียวกันเราถือเงินลงทุน 50,000 บาท โดยได้ดอกเบี้ยก่อนภาษีประมาณ 6% ต่อปีโดยเฉลี่ย การจัดการแบบนี้ทำให้ได้รับผลตอบแทนสุทธิน้อยลง เราสบายใจกับค่าเสียโอกาสนี้หรือไม่ มันมีเหตุผลอะไรที่จะถือผลตอบแทนจากการลงทุน 6% แทนที่จะขายออกไปบางส่วน และนำเงินมาชำระหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูงถึง 18%

การ Trade-Off เพื่อการเติบโต : หากเราใช้ชีวิตแบบเดิมๆ โดยไม่กล้าเปลี่ยนแปลงอะไร แน่นอนว่าชีวิตก็จะเหมือนเดิม บางครั้งเราอาจจำเป็นต้องยอมเสียความมั่นคงทางการเงินในวันนี้ เพื่อเพิ่มศักยภาพในวันพรุ่งนี้ หรือยอมเสียสละเวลาและความสะดวกสบายในปัจจุบัน เพื่อเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ที่จำเป็นต่อความก้าวหน้าในอนาคต หรือยอมเปลี่ยนนิสัยบางอย่างเพื่อรักษาความสัมพันธ์ที่ดีเอาไว้ เป็นต้น

แนวทางทั่วไปเพื่อการ Trade-Off อย่างฉลาด มีดังนี้

  1. ระบุเป้าหมายและลำดับความสำคัญ - เข้าใจว่าเราต้องการอะไร และสิ่งใดสำคัญที่สุด
  2. ประเมินข้อดีข้อเสีย - ทำความเข้าใจผลดีและผลเสียของแต่ละทางเลือกในเชิงลึก
  3. รวบรวมข้อมูลและทำวิจัย - จัดให้มีข้อมูลเพียงพอเพื่อให้เห็นภาพรวม และเข้าใจผลกระทบของแต่ละตัวเลือก
  4. พิจารณาผลกระทบทั้งระยะสั้นและระยะยาว - บางครั้งการตัดสินใจที่ดูดีในระยะสั้น อาจมีผลเสียในระยะยาว

ก่อนตัดสินใจใดๆ หากเราใช้หลักการดังกล่าวมาพิจารณาแทนที่จะใช้ความรู้สึกอย่างเดียว จะช่วยให้การเลือกหรือการแลกเปลี่ยนที่มีผลได้ผลเสียแตกต่างกัน เป็นไปอย่างมีเหตุผลและได้ประโยชน์เสมอ


Tag: Last But Not Least, การวางแผนชีวิต

เรื่องโดย

ความคิดเห็น

Editor’s Pick

Recent

Most Viewed