นภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ นำทัพสินค้า GI ไทยสู่บทบาทการก้าวเป็น SOFT POWER

วันที่ 23 กรกฎาคม 2567  426 Views
นิตยสาร Gourmet & Cuisine ฉบับที่ 288 เดือนกรกฎาคม 2567

นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ผู้พลิกบทบาทจากเจ้าของตลาดค้าส่งสินค้าเกษตรรายใหญ่แห่งจังหวัดราชบุรีและเชียงราย รวมถึงอดีตที่ปรึกษาหลายองค์กร นำความรู้ความสามารถ และประสบการณ์ด้านการตลาดหลายสิบปี ก้าวสู่ตำแหน่งสำคัญ นำทัพแก้ปัญหาสินค้าเกษตร การส่งเสริม MSME การลดต้นทุน การขยายช่องทางการตลาด รวมทั้งการนำนวัตกรรมเข้ามาช่วยสร้างมูลค่าเพิ่ม ผลักดันราคาสินค้าให้สูงขึ้น ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยทรัพย์สินทางปัญญา

นภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ นำทัพสินค้า GI ไทยสู่บทบาทการก้าวเป็น SOFT POWER

โดยทันทีที่เข้ารับตำแหน่งคุณนภินทรเปิดเผยว่าการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยทรัพย์สินทางปัญญาเป็นนโยบายที่รัฐบาลให้ความสำคัญ ด้วยเป็นกลไกช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ ส่งเสริมผู้ประกอบการทุกระดับให้ดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน ดังนั้นจึงได้เร่งดำเนินการภารกิจสำคัญ ได้แก่ การส่งเสริมสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ในทุกมิติ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากและสร้างรายได้สู่ชุมชนอย่างยั่งยืน การเพิ่มประสิทธิภาพการจดทะเบียนโดยกำหนดกรอบระยะเวลาพิจารณาคำขอให้ชัดเจน การยกระดับงานบริการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถและสร้างแต้มต่อให้พร้อมแข่งขันในเวทีโลก รวมทั้งวางแนวทางป้องกันการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาทั้งในและต่างประเทศอย่างเป็นรูปธรรม    

สำหรับภารกิจเร่งด่วนที่ดำเนินการได้ทันที อาทิ บริการจดทะเบียนออนไลน์ผ่านระบบ e-Filing, e-Payment, e-Billing และ e-Certificate เพิ่มประสิทธิภาพการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาแบบเร่งด่วน โดยเร่งรัดการพิจารณาคำขอสิทธิบัตรในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคตให้รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยมีศูนย์ให้คำปรึกษาด้านทรัพย์สินทางปัญญา (IPAC) คอยให้คำแนะนำตั้งแต่ต้นน้ำจนปลายน้ำ การสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้า GI ผ่านการขึ้นทะเบียนทั้งในและต่างประเทศ การจัดทำระบบควบคุมคุณภาพสินค้า การขยายช่องทางการตลาด การเชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวด้วยการนำวัตถุดิบ GI มารังสรรค์เมนูระดับไฟน์ไดนิงประจำร้านอาหารหรือโรงแรมในจังหวัดต่างๆ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว สร้างเม็ดเงินเข้าสู่ชุมชนมากยิ่งขึ้น เป็นต้น

คุณนภินทรกล่าวเพิ่มเติมว่านโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนด้วยสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) นับเป็น Soft Power ที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ในปี พ.ศ. 2566 มีสินค้าที่ขึ้นทะเบียนแล้ว 191 รายการ สร้างมูลค่าการตลาด 54,000 ล้านบาท

นภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ นำทัพสินค้า GI ไทยสู่บทบาทการก้าวเป็น SOFT POWER

สำหรับปี พ.ศ. 2567 ได้ตั้งเป้าหมายขึ้นทะเบียนสินค้า GI อีก 20 รายการ รวมเป็น 211 รายการ คาดว่าจะสร้างมูลค่ากว่า 76,000 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นมูลค่าที่เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2566 กว่า 20,000 ล้านบาท ซึ่งในขณะนี้ สิ้นเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2567 ได้ขึ้นทะเบียนสินค้า GI ไปแล้ว 14 รายการ รวมเป็นสินค้าที่ขึ้นทะเบียน 205 รายการ สร้างมูลค่าการตลาดโดยรวม 71,000 ล้านบาท และคาดว่าในสิ้นปี พ.ศ. 2567 จะดำเนินการได้ตามเป้าหมายที่วางไว้

นภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ นำทัพสินค้า GI ไทยสู่บทบาทการก้าวเป็น SOFT POWER

อย่างไรก็ตามคุณนภินทรย้ำว่าการสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชน ไม่ใช่การขึ้นทะเบียนสินค้า GI แต่เพียงเท่านั้น หากยังต้องส่งเสริมการจัดทำระบบควบคุมคุณภาพเพื่อรักษามาตรฐานผ่านการอนุญาตให้ใช้ตราสัญลักษณ์ GI ไทย ซึ่งปัจจุบันมีสินค้า GI ที่มีระบบควบคุมคุณภาพแล้วจำนวน 169 รายการ จากทั้งหมด 205 รายการ ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญายังเดินหน้าจัดทำระบบควบคุมคุณภาพอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ยังช่วยส่งเสริมการตลาดทั้งในและต่างประเทศ เช่น การขยายช่องทางการตลาดผ่านห้างสรรพสินค้าชั้นนำ การจัด GI Pavilion ในงาน THAIFEX-Anuga Asia เพื่อสร้างโอกาสทางการค้าในตลาดโลก การขยายช่องทางการจัดจำหน่ายออนไลน์บนแพลตฟอร์ม Shopee และ Lazada การผลักดันให้เกิดการจัดทำสัญญาซื้อขายสินค้า GI ล่วงหน้า (Contract Farming) ระหว่างเกษตรกร GI กับห้างสรรพสินค้า การพัฒนาบรรจุภัณฑ์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม การยกระดับสินค้า GI ผ่านเมนูอาหารจากเชฟระดับมิชลิน การผลักดันให้นำพื้นที่แหล่งผลิตสินค้า GI เป็นเส้นทางท่องเที่ยว และการผลักดันสินค้า GI สู่ร้าน Thai SELECT ในต่างประเทศ โดยมีแผนขยายเครือข่ายสู่ร้านอาหารไทย Thai SELECT ที่มีกว่า 1,500 แห่งทั่วโลก

สำหรับแนวทางต่อยอดสินค้า GI เชื่อมโยงสู่อุตสาหกรรมอาหาร คุณนภินทรมองว่า “ต้องบูรณาการพร้อมกันทุกด้านเพื่อสร้างอิมแพกต์ ส่งแรงกระเพื่อมต่อการรับรู้ และเพิ่มดีมานด์ให้สูงขึ้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ผลตอบรับที่ดีของ GI Pavilion ในงาน THAIFEX-Anuga Asia 2024 ซึ่งเป็นเวทีสำคัญในการสร้างพันธมิตรระดับโลกและยกระดับอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมงานจำนวนมาก และสร้างยอดขายภายในงานกว่า 335 ล้านบาท สะท้อนถึงผลสำเร็จตามแนวทางที่กระทรวงพาณิชย์ได้วางไว้”

นภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ นำทัพสินค้า GI ไทยสู่บทบาทการก้าวเป็น SOFT POWER

ด้วยกระแสของผู้บริโภคในปัจจุบันที่ต้องการสินค้าที่มีความแตกต่าง เน้นคุณภาพ และมีความหลากหลายตามแบบฉบับของตัวเอง จึงทำให้อนาคตของสินค้า “สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์” หรือ GI จะมาช่วยตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ตลาดเฉพาะกลุ่ม” หรือที่เราเรียกว่า Niche Market ได้อย่างแน่นอน

สินค้า GI มีบทบาทสำคัญในการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ของเกษตรกร ผู้ประกอบการในชุมชนท้องถิ่นไทย ดังนั้นการช่วยอุดหนุนสินค้า GI เปรียบเสมือนช่วยเหลือเกษตรกรทั้งทางตรงและทางอ้อม”


Tag: Food in Biz, ซอฟต์ พาวเวอร์, สินค้า GI

เรื่องโดย

ความคิดเห็น

Editor’s Pick

Recent

Most Viewed