ทำความรู้จักสินค้าอาหาร GI ขุมทรัพย์แห่งรสชาติจากวัตถุดิบไทย

วันที่ 10 กรกฎาคม 2567  2,510 Views
นิตยสาร Gourmet & Cuisine ฉบับที่ 288 เดือนกรกฎาคม 2567

ปลากุเลาเค็มตากใบ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ไข่เค็มไชยา มังคุดทิพย์พังงา กุ้งก้ามกรามบางแพ ชื่อสินค้าแสนอร่อยเหล่านี้เป็นเพียงส่วนเล็กๆ ของสินค้า GI จากทั่วประเทศ

ในพื้นที่อุดมสมบูรณ์ของไทยตั้งแต่เหนือจรดใต้ มีสมบัติแห่งรสชาติซุกซ่อนอยู่นับไม่ถ้วนที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับภูมิศาสตร์ ฉบับนี้ Gourmet & Cuisine ร่วมกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับสินค้า GI ไทยให้มากขึ้นกว่าที่เคย

ทำความรู้จักสินค้าอาหาร GI ขุมทรัพย์แห่งรสชาติจากวัตถุดิบไทย

รู้จัก “สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์” (Geographical Indication : GI)
แม้จะคุ้นเคยกับชื่อสินค้า GI กันอยู่แล้ว แต่เชื่อว่าหลายคนยังสงสัยว่า GI นั้นย่อมาจากอะไร และครอบคลุมถึงสินค้าประเภทใดบ้าง ก่อนอื่นเราขออธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ก่อนว่า GI คือ สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication) หมายถึงชื่อที่ใช้กับสินค้าที่มาจากแหล่งผลิตที่เฉพาะเจาะจง ซึ่งคุณภาพหรือชื่อเสียงของสินค้านั้นๆ เป็นผลมาจากการผลิตในพื้นที่ดังกล่าว มีความเกี่ยวโยงกับแหล่งภูมิศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นดิน น้ำ อากาศ และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ถ่ายทอดกันผ่านรุ่นต่อรุ่น (ไม่ว่าใครก็ขโมยอัตลักษณ์นี้ไปไม่ได้) จึงกล่าวได้ว่า GI เป็นเหมือน “แบรนด์” ที่แข็งแกร่งของสินค้าท้องถิ่น บ่งบอกถึงคุณภาพและแหล่งที่มา นี่จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมชื่อสินค้า GI จึงต้องตามด้วยชื่อแหล่งภูมิศาสตร์เสมอ

เพราะอยู่ในภูมิศาสตร์เช่นนี้ จึงมีรสชาติเช่นนี้…

ทำความรู้จักสินค้าอาหาร GI ขุมทรัพย์แห่งรสชาติจากวัตถุดิบไทย

ทำความรู้จักสินค้าอาหาร GI ขุมทรัพย์แห่งรสชาติจากวัตถุดิบไทย

รสชาติที่ “บ่งชี้” ถึงที่มา
สินค้า GI นั้นมีอยู่ทั่วโลก ส่วนสินค้า GI ในประเทศไทยในปัจจุบันขึ้นทะเบียนสินค้าแล้วทั้งหมด 205 สินค้าทุกจังหวัดทั่วประเทศ แบ่งเป็น Food 168 สินค้า และ Non-Food อีก 37 สินค้า อยู่ภายใต้ความดูแลของกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ (และเพิ่งจัดงานครบรอบ 20 ปี GI ไทย เมื่อปี พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา) นอกจากเรื่องรสชาติแล้ว สินค้าแต่ละชนิดก็ล้วนมีที่มาที่ทั้งสนุกและน่าทึ่ง อาทิ ไข่ครอบสงขลา เมนูท้องถิ่นที่ได้จากไข่แดงเป็ดที่เลี้ยงในเขตพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระ ครอบคลุมพื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา คือ อำเภอสิงหนคร อำเภอสทิงพระ อำเภอกระแสสินธุ์ และอำเภอระโนด เจ้าเป็ดเหล่านี้นอกจากจะได้กินอาหารหลัก ยังเสริมด้วยอาหารจากเปลือกหอย เปลือกปู เปลือกกุ้ง และสาหร่ายทะเล ไข่เป็ดจึงมีไข่แดงใหญ่ มันวาว สีแดงสด แรกเริ่มเดิมทีชาวบ้านจะใช้ไข่ขาวในการย้อมด้ายดิบอุปกรณ์ประมงอย่างแหหรืออวนเพื่อให้แข็งแรง (กลิ่นคาวของไข่ยังทำให้ปลามาติดมากขึ้นด้วย) ส่วนไข่แดงนำมาทำเป็นไข่ครอบ ซึ่งเป็นการนำไข่แดงสองฟองประกบกันคล้ายรูปหัวใจแล้ววางในเปลือกไข่ ดองกับน้ำเกลือแล้วนำไปนึ่งให้สุก เป็นการถนอมอาหารรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีทั้งแบบเนื้อลาวา เนื้อยางมะตูม และแบบดั้งเดิม อร่อยจนกลายเป็นสินค้า GI ไปแล้ว

ทำความรู้จักสินค้าอาหาร GI ขุมทรัพย์แห่งรสชาติจากวัตถุดิบไทย

ทำความรู้จักสินค้าอาหาร GI ขุมทรัพย์แห่งรสชาติจากวัตถุดิบไทย

ทำความรู้จักสินค้าอาหาร GI ขุมทรัพย์แห่งรสชาติจากวัตถุดิบไทย

ส่วนฝั่งผลไม้ก็เด่นหลายจังหวัด อาทิ ส้มสีทองน่าน สายพันธุ์ส้มเขียวหวานเปลือกสีเหลืองทองสวยงาม เปลือกบาง รสหวานอมเปรี้ยว ผลทรงแป้น หัวและท้ายบุ๋ม เนื้อมีเส้นใยน้อย ในอดีตเป็นส้มสายพันธุ์ที่นำมาจากบางมดไปปลูกที่จังหวัดน่าน แต่ด้วยลักษณะภูมิอากาศที่กลางวันและกลางคืนต่างกันหลายองศาฯ  ทำให้สารคาร์ทีนอยพิคเมนท์ในเปลือกส้มเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีเหลืองทอง หรือจะเป็นสับปะรดภูแลเชียงราย ซึ่งเป็นสายพันธุ์เดียวกับสับปะรดภูเก็ต แต่เมื่อนำไปปลูกที่ตำบลนางแล จังหวัดเชียงราย อากาศเย็นลงมาก สับปะรดก็ผลเล็กลง ตามมาด้วยรสชาติหวานกรอบ มีกลิ่นหอม เมื่อตั้งชื่อ GI จึงให้เกียรติจังหวัดภูเก็ตด้วยการนำชื่อ “ภูเก็ต” ซึ่งเป็นแหล่งปลูกเดิมมาผสมกับ “นางแล” กลายเป็นสับปะรดภูแลเชียงราย

ทำความรู้จักสินค้าอาหาร GI ขุมทรัพย์แห่งรสชาติจากวัตถุดิบไทย

Did you know?
คำว่า “อาณาเขต” ที่ GI คุ้มครองนั้นหมายถึงอาณาเขตตามภูมิศาสตร์ไม่ใช่เขตการปกครอง หากพื้นที่ทางภูมิศาสตร์กินอาณาเขตกว้างเกินพื้นที่ของจังหวัดก็ต้องจดทะเบียนให้ครอบคลุมด้วย เช่น ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ไม่ใช่การคุ้มครองเพียงแค่จังหวัดเดียว แต่คุ้มครองข้าวหอมมะลิที่ปลูกใน “ที่ราบทุ่งกุลาร้องไห้” ถึง 5 จังหวัด ได้แก่ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด สุรินทร์ ศรีสะเกษ และยโสธร พื้นที่รวม 2,107,690 ไร่ นอกจากนี้ยังมีการจดทะเบียนแบบไม่ครอบคลุมทั้งจังหวัด แต่คุ้มครองเฉพาะบางหมู่บ้านเท่านั้น เพราะแต่ละพื้นที่อาจมีสภาพอากาศ หรือภูมิประเทศที่แตกต่างอันเป็นผลจากธรรมชาติ เช่น มีเทือกเขากั้นกลาง

ทำความรู้จักสินค้าอาหาร GI ขุมทรัพย์แห่งรสชาติจากวัตถุดิบไทย

Road to GI : กว่าจะได้เป็นสินค้า GI ต้องผ่านอะไรบ้าง
โดยปกติแล้วกรมทรัพย์สินทางปัญญาจะทำหนังสือไปถึงพาณิชย์จังหวัดอยู่เป็นประจำเพื่อเฟ้นหาสินค้าท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์และเลียนแบบได้ยาก เหมาะสำหรับส่งเสริมเป็นสินค้า GI จากนั้นทางกรมฯ จะลงพื้นที่ตรวจสอบสินค้าดังกล่าวว่ามีประวัติความเป็นมา มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ และเชื่อมโยงกับภูมิศาสตร์ รวมถึงตรวจสอบเรื่องรูป รส กลิ่น เนื้อสัมผัส จากนั้นทางกรมฯ จะแนะนำให้จัดตั้งคณะกรรมการและเขียนคำขอเข้ามาทางกรมทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อขอขึ้นทะเบียนสินค้า GI ต่อไป

ทำความรู้จักสินค้าอาหาร GI ขุมทรัพย์แห่งรสชาติจากวัตถุดิบไทย

สำหรับผู้ที่ยื่นขอขึ้นทะเบียนได้มี 3 ส่วนคือ ส่วนราชการ หรือหน่วยงานของรัฐที่เป็นนิติบุคคล และมีเขตรับผิดชอบครอบคลุมบริเวณแหล่งภูมิศาสตร์ของสินค้านั้น บุคคลธรรมดา กลุ่มบุคคลหรือนิติบุคคล เช่น วิสาหกิจชุมชน และกลุ่มหรือองค์กรผู้บริโภคสินค้าที่ใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หลังจากยื่นจะใช้เวลาตรวจสอบคำขอ 120 วัน (ในกรณีที่คำขอครบถ้วนสมบูรณ์) ในเอกสารต้องระบุตัวตนให้ชัดเจนว่าสินค้ามีประวัติความเป็นมา เชื่อมโยงกับแหล่งภูมิศาสตร์ และส่งผลต่อเอกลักษณ์อย่างไร ที่สำคัญต้องกำหนดพื้นที่ให้ชัดเจนว่าต้องการได้รับความคุ้มครองไปถึงอาณาเขตใดบ้าง จากนั้นรอระยะเวลาประกาศโฆษณาอีก 90 วัน หากไม่มีใครคัดค้าน การขึ้นทะเบียนสินค้า GI ก็เป็นอันครบถ้วนสมบูรณ์ โดยการคุ้มครองสินค้าจะย้อนกลับไปตั้งแต่วันที่ยื่นขอขึ้นทะเบียน (ไม่ใช่คุ้มครองวันที่ประกาศขึ้นทะเบียน)

ทำความรู้จักสินค้าอาหาร GI ขุมทรัพย์แห่งรสชาติจากวัตถุดิบไทย

ทำความรู้จักสินค้าอาหาร GI ขุมทรัพย์แห่งรสชาติจากวัตถุดิบไทย

ทำความรู้จักสินค้าอาหาร GI ขุมทรัพย์แห่งรสชาติจากวัตถุดิบไทย

ทำความรู้จักสินค้าอาหาร GI ขุมทรัพย์แห่งรสชาติจากวัตถุดิบไทย

ชื่อสินค้า GI เป็นสิทธิของชุมชนให้ดูแลสมบัติจากธรรมชาติร่วมกัน ไม่มีวันหมดอายุตราบใดที่สภาพดิน ฟ้า น้ำ อากาศของสินค้านั้นยังคงอยู่ และยังส่งผลต่อเอกลักษณ์ของสินค้า ในขณะที่ตราสัญลักษณ์ GI เป็นสิทธิส่วนบุคคล โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญาจะพิจารณาออกใบอนุญาตให้ผู้ประกอบการที่ยื่นคำขอเป็นรายๆ ไป และต้องต่ออายุทุก 2 ปี ระหว่างนี้จะมีการตรวจสอบมาตรฐานอยู่อย่างสม่ำเสมอ หากไม่ผ่านอาจมีการถอนใบอนุญาตได้ นั่นเพราะการขึ้นทะเบียน GI ไม่ได้ทำขึ้นเพื่อการอนุรักษ์ แต่ทำเพื่อยกระดับสินค้าให้มีมูลค่าและเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง ผู้ประกอบการจึงต้องรักษามาตรฐานควบคู่กับการดูแลรักษาสินค้าของชุมชนด้วย

ทำความรู้จักสินค้าอาหาร GI ขุมทรัพย์แห่งรสชาติจากวัตถุดิบไทย

ทำความรู้จักสินค้าอาหาร GI ขุมทรัพย์แห่งรสชาติจากวัตถุดิบไทย

ทำความรู้จักสินค้าอาหาร GI ขุมทรัพย์แห่งรสชาติจากวัตถุดิบไทย

หลังจากได้รับตราสัญลักษณ์ ทางกรมฯ จะเข้าไปสนับสนุนผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงาน GI Market หรืองานอาหารที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในเอเชียอย่าง THAIFEX-Anuga Asia ซึ่งจะมีการพูดคุยระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายจากหลายประเทศ รวมถึงส่งเสริมพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ถูกใจและตอบโจทย์ตลาดในต่างประเทศ รวมถึงตลาดโมเดิร์นเทรด

อ่านมาถึงตรงนี้อาจรู้สึกว่าขั้นตอนค่อนข้างซับซ้อน แต่หากสินค้ามีเอกลักษณ์และเชื่อมโยงกับภูมิศาสตร์อยู่แล้ว การขึ้นทะเบียน GI ไม่ใช่เรื่องวุ่นวายเลย

ทำความรู้จักสินค้าอาหาร GI ขุมทรัพย์แห่งรสชาติจากวัตถุดิบไทย

ตรา GI มีอะไรซ่อนอยู่บ้าง?
นอกจากข้อความ “สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย” ตรา GI ยังมีรายละเอียดซ่อนอยู่ด้วย ตรา GI นำลักษณะของพุ่มข้าวบิณฑ์มาใช้ ซึ่งเป็นลวดลายของข้าวตอกที่ปั้นเป็นพุ่มคล้ายดอกบัวตูม ตกแต่งด้วยดอกไม้ ใช้เป็นเครื่องบูชาในพิธีต่างๆ ของไทยมาใช้เป็นกรอบของตรารับรอง ตัวอักษร GI ออกแบบให้สอดคล้องกับลักษณะของต้นข้าว หากสังเกตด้านล่างของตัวอักษรจะมีภาพเส้นโค้งสื่อถึงสายน้ำที่หล่อเลี้ยงให้การเกษตรงอกงาม ส่วนสีทองสื่อถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรของไทยจนถูกขนานนามว่าเป็นแผ่นดินทองนั่นเอง

“ปลากะพงสามน้ำทะเลสาบสงขลา” สมบัติจากสามน้ำแห่งทะเลสาบแดนใต้
พื้นที่ : อำเภอเมืองสงขลา อำเภอสิงหนคร อำเภอสทิงพระ อำเภอบางกล่ำ และอำเภอควนเนียง จังหวัดสงขลา

ทำความรู้จักสินค้าอาหาร GI ขุมทรัพย์แห่งรสชาติจากวัตถุดิบไทย

“จุดเด่นของปลากะพงสามน้ำทะเลสาบสงขลาคือเนื้อขาว มีรสหวานมันนุ่ม ไม่มีกลิ่นสาบโคลน” คุณอากฤษฏิ์ ศศิอังกูร เจ้าของอากฤษฏิ์ฟาร์ม แห่งตำบลเกาะยอ จังหวัดสงขลา เล่าถึงความพิเศษของปลา GI อย่างภูมิใจ “หลายคนอาจยังไม่รู้ว่าทะเลสาบสงขลาเป็นทะเลสาบที่อยู่ติดกับทะเลแห่งเดียวในไทย และไม่กี่แห่งในเอเชีย ด้วยความที่อยู่ใกล้ปากอ่าวจึงมีกระแสน้ำไหลขึ้นลงตลอดวัน ในฤดูฝนจะมีน้ำจืดไหลลงมา ส่วนช่วงหน้าแล้งก็มีน้ำทะเลหนุน จังหวะที่น้ำจืดกับน้ำทะเลมาเจอกันจะกลายเป็นน้ำกร่อย หรือภาษาชาวบ้านเรียกว่า ‘น้ำหวาน’ จะเป็นช่วงที่ปลารสชาติอร่อย มีความมันนุ่มและไม่คาวครับ”

ทำความรู้จักสินค้าอาหาร GI ขุมทรัพย์แห่งรสชาติจากวัตถุดิบไทย

ชาวประมงแถบนี้จะเพาะพันธุ์ลูกปลากะพงขาวจนได้ขนาด 7-8 นิ้ว จากนั้นนำไปปล่อยลงในกระชังที่อยู่ในทะเลสาบสงขลา เลี้ยงด้วยอาหารธรรมชาติจำพวกปลาสดและหัวปลา และปราศจากการใช้ยาปฏิชีวนะ

ทำความรู้จักสินค้าอาหาร GI ขุมทรัพย์แห่งรสชาติจากวัตถุดิบไทย

“การเลี้ยงปลาในกระชังทำให้เรามีผลผลิตตลอดปี หลังจากเลี้ยงจนได้ขนาด 4 กิโลกรัมขึ้นไป เราจะใช้วิธีอิเคะจิเมะ (วิธีการปลิดชีพปลาแบบญี่ปุ่น ซึ่งปลาจะทรมานน้อยที่สุด) เนื้อปลาจะสดมาก ข้อได้เปรียบคือเราทำโรงแปรรูปที่อยู่ใกล้กับกระชังโดยไม่ต้องขนส่งไปที่อื่น เราก็แล่ปลาตรงนั้น แปรรูป ซีลสุญญากาศให้เรียบร้อย แช่ในน้ำแข็งเพื่อคงอุณหภูมิ จากนั้นค่อยนำเข้าตู้แช่อีกที จะเก็บรักษาความสดของปลาได้นานขึ้น ซึ่งเป็นอีกช่องทางให้เราขยับขยายธุรกิจได้มากขึ้นด้วย”

ทำความรู้จักสินค้าอาหาร GI ขุมทรัพย์แห่งรสชาติจากวัตถุดิบไทย

ทำความรู้จักสินค้าอาหาร GI ขุมทรัพย์แห่งรสชาติจากวัตถุดิบไทย

ปัจจุบันปลากะพงสามน้ำทะเลสาบสงขลาของอากฤษฏิ์ฟาร์ม มีบริการส่งผ่านรถควบคุมอุณหภูมิทั่วประเทศ ซึ่งเป็นความตั้งใจของคุณอากฤษฏิ์ที่อยากส่งต่อรสชาติที่ดีที่สุดจากทะเลสาบสงขลาให้ทุกคนได้ลิ้มลอง

ทำความรู้จักสินค้าอาหาร GI ขุมทรัพย์แห่งรสชาติจากวัตถุดิบไทย

“ในอนาคตถ้าคนรับรู้เรื่อง GI มากขึ้น คนไทยจะรู้ว่ามีปลาอร่อยๆ อยู่ในบ้านเรามากมายเลยครับ”

“มะพร้าวน้ำหอมราชบุรี” มะพร้าวน้ำหอมที่มีกลิ่นหอมคล้ายใบเตย
พื้นที่ : อำเภอดำเนินสะดวก อำเภอวัดเพลง อำเภอบ้านโป่ง อำเภอเมืองราชบุรี อำเภอบางแพ อำเภอปากท่อ และอำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี

ทำความรู้จักสินค้าอาหาร GI ขุมทรัพย์แห่งรสชาติจากวัตถุดิบไทย

“หากเป็นคนในพื้นที่จะรู้ว่ามีวิธีดมกลิ่นที่รากมะพร้าว จะได้กลิ่นหอมคล้ายใบเตยที่คนทั่วไปอาจไม่รู้” คุณณรงค์ศักดิ์ ชื่นสุชน แห่งบริษัท เอ็นซี โคโค่นัท จำกัด (สำนักงานใหญ่) ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายน้ำมะพร้าวน้ำหอม อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี เล่าถึงมะพร้าวน้ำหอมราชบุรีซึ่งเป็นสินค้า GI ว่าเป็นมะพร้าวพันธุ์เตี้ยสีเขียว (หรือ “หมูสีเขียว”) เปลือกสีเขียวสด ก้นจีบ ผลป่องกลม มีรสชาติและกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์คือเนื้อหนาสองชั้น น้ำมะพร้าวมีรสหวานตามธรรมชาติ และมีกลิ่นหอมนุ่มนวลคล้ายใบเตยแทรกอยู่ด้วย

ทำความรู้จักสินค้าอาหาร GI ขุมทรัพย์แห่งรสชาติจากวัตถุดิบไทย

รสชาติอันมีเสน่ห์ของมะพร้าวน้ำหอมราชบุรีนั้นผูกพันกับดินและน้ำ พื้นที่ปลูกเป็นที่ราบลุ่มและพื้นที่ลุ่มต่ำ มีลักษณะเป็นดินร่วนและดินร่วนปนดินเหนียว บวกกับปริมาณฝนเฉลี่ยทั้งปีไม่น้อยกว่า 1,500-2,000 มิลลิเมตร ดินของที่นี่จึงเหมาะมากในการปลูกมะพร้าวน้ำหอมเป็นพิเศษ

“ปัจจุบันเราดูแลและรับซื้อมะพร้าวจากสมาชิกในเครือข่ายประมาณ 5,000 ไร่ มีกำลังผลิตอยู่ที่ 40,000-50,000 ผลต่อวัน มะพร้าวน้ำหอมผลสดที่ได้ GI บริษัทฯ จะตัดแต่งให้เป็นทรงมะพร้าวควั่นและมะพร้าวเจีย แล้วส่งไปจำหน่ายในต่างประเทศเป็นหลัก ทั้งจีน สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และมาเลเซีย”

ทำความรู้จักสินค้าอาหาร GI ขุมทรัพย์แห่งรสชาติจากวัตถุดิบไทย

นอกจากมะพร้าวผลสด คุณณรงค์ศักดิ์ยังแตกไลน์ผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นน้ำมะพร้าวแท้ 100% วุ้นในลูกมะพร้าว พุดดิงมะพร้าว มะพร้าวน้ำหอมพร้อมดื่ม ฯลฯ ซึ่งเป็นผลผลิตที่ได้จากวัตถุดิบชุมชนที่เจ้าตัวภูมิใจ รวมถึงในเร็ววันนี้เราจะได้เห็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่พัฒนาจากนวัตกรรมที่ทันสมัยอีกด้วย

รอฟังข่าวดีได้เลย

ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ : ศักดิ์ศรีของข้าวหอมมะลิไทยในเวทีโลก
พื้นที่ : จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดมหาสารคาม และจังหวัดยโสธร

ทำความรู้จักสินค้าอาหาร GI ขุมทรัพย์แห่งรสชาติจากวัตถุดิบไทย

“ข้าวหอมมะลิที่ปลูกในทุ่งกุลาร้องไห้ ใช้พันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ105 และ กข15 นอกจากกลิ่นหอมและนุ่มกว่าที่อื่น เมล็ดยังเรียวยาว ผมให้คำนิยามว่าเป็นข้าวหุ่นนางสาวไทย มีลักษณะปากเหยี่ยวสั้นๆ ต่างจากข้าวบางที่ที่เมล็ดอ้วนป้อม”

ทำความรู้จักสินค้าอาหาร GI ขุมทรัพย์แห่งรสชาติจากวัตถุดิบไทย

ทำความรู้จักสินค้าอาหาร GI ขุมทรัพย์แห่งรสชาติจากวัตถุดิบไทย

กว่า 6 ปีแล้วที่คุณสินสมุทร ศรีแสนปาง ทายาทรุ่นที่ 2 ของโรงสีศรีแสงดาว โรงสีข้าวในอำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด เจ้าของแบรนด์ข้าวตราศรีแสงดาว ใช้องค์ความรู้ช่วยชาวนาในพื้นที่ทำโครงการ “ศรีแสงดาวหมู่บ้านนาหยอด” ซึ่งเป็นการทำนาเชิงประณีต นอกจากจะใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวลดลง (ต่างจากข้าวนาหว่านที่ใช้เมล็ดพันธุ์มาก) ยังได้ผลผลิตมากขึ้นถึง 2 เท่า และเหมาะกับการทำนาในพื้นที่ภาคอีสานมากที่สุด

ทำความรู้จักสินค้าอาหาร GI ขุมทรัพย์แห่งรสชาติจากวัตถุดิบไทย

พื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้นั้นเป็นพื้นที่ทะเลเก่าที่ทั้งร้อนและแห้งแล้ง ดินเป็นดินร่วนปนทรายและมีความเค็มเล็กน้อย ข้าวต้องต่อสู้กับความแห้งแล้งอย่างมากจนเป็นที่เปรียบเทียบกันให้เห็นภาพว่า “ข้าวเครียด” จนหลั่งสารความหอมที่มากกว่าปกติออกมา (เรียกว่าสาร 2AT) อีกหนึ่งความพิเศษคือเป็นข้าวไวแสงที่ปลูกได้เพียงปีละ 1 ครั้ง ในช่วงที่กลางวันสั้นกลางคืนยาวของฤดูหนาวจึงจะออกรวงได้

ทำความรู้จักสินค้าอาหาร GI ขุมทรัพย์แห่งรสชาติจากวัตถุดิบไทย

คุณสินสมุทรยอมรับว่าการทำข้าว GI นั้นไม่ง่าย เพราะไม่ใช่การซื้อมาเพื่อขายไป แต่เป็นการรวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่า “ทั้งหมดที่ผมทำเพราะอยากคืนศักดิ์ศรีให้ชาวนาไทยและกู้ศักดิ์ศรีข้าวไทยในเวทีโลก ซึ่งตอนนี้เราดูแลอยู่ 100 หลังคาเรือน 30 กว่าหมู่บ้าน ในพื้นที่ประมาณ 2,000 กว่าไร่ในเขต 35 กิโลเมตรรอบโรงสี เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาเราส่งข้าวตราศรีแสงดาวไปที่ยุโรปได้สำเร็จเป็นครั้งแรก และเมื่อปีที่แล้วเราก็เพิ่งส่งข้าวไปที่ตะวันออกกลางเป็นครั้งแรกของไทยด้วยเช่นกันครับ”

ทำความรู้จักสินค้าอาหาร GI ขุมทรัพย์แห่งรสชาติจากวัตถุดิบไทย

แม้รายได้หลักตอนนี้จะมาจากต่างแดน แต่คุณสินสมุทรทิ้งท้ายไว้ว่าไม่มีอะไรมีค่ากว่าการที่คนไทยได้กินข้าวที่ดี “คนไทยอยู่กับข้าวมาตลอด แต่แทบไม่รู้จักเลยว่าข้าวแต่ละชนิดมีความแตกต่างกันอย่างไร ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้จึงเป็นตัวอย่างข้าวที่อร่อยและบ่งบอกถึงที่มาที่ไป อยากเห็นคนไทยได้รู้จักและยอมรับเรื่อง GI เหมือนในต่างประเทศครับ”

5 สินค้า GI ที่ส่งออกไปต่างประเทศสูงสุด
จากข้อมูลการสำรวจมูลค่าตลาดสินค้า GI ปี พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งทางกรมทรัพย์สินทางปัญญารวบรวมข้อมูลจากสำนักพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ พบว่าสินค้า GI มีมูลค่าการส่งออกสินค้ารวมกว่า 21,196 ล้านบาท และสินค้าที่มีมูลค่าการส่งออก 5 อันดับแรก ได้แก่

ทำความรู้จักสินค้าอาหาร GI ขุมทรัพย์แห่งรสชาติจากวัตถุดิบไทย

ว่าที่สินค้า GI น้องใหม่มาแรง
จากข้อมูลที่ได้จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา ทำให้เรารู้ว่าทางกรมฯ มีสินค้า GI เตรียมขึ้นทะเบียนอยู่อีกหลายรายการจากทุกจังหวัดทั่วประเทศ (ซึ่งทางกรมตั้งเป้าไว้ที่ 20 ชนิดต่อปี) แน่นอนว่าสินค้าแต่ละชนิดนั้นมาพร้อมคุณสมบัติโดดเด่น โดยเฉพาะว่าที่สินค้า GI หน้าใหม่ที่กำลังรอจ่อคิวอย่างปลาพลวงชมพูฮาลาบาลา และปลานิลสายน้ำไหลเบตงของจังหวัดยะลา นอกจากจะมีเอกลักษณ์เรื่องรสชาติแล้วยังช่วยเรื่องเศรษฐกิจชุมชนได้เป็นอย่างดี เพราะเจ้าปลาพลวงชมพูฮาลาบาลามีราคาสูงราว 3,000-3,500 บาทต่อกิโลกรัม ลักษณะเด่นคือเป็นปลาที่มีลำตัวสีชมพูอ่อน ครีบและหางเป็นสีแดง เนื้อสีขาวนุ่ม รสหวานตามธรรมชาติ เกล็ดสามารถรับประทานได้ และมีคอลลาเจนสูง พบมากในลุ่มแม่น้ำปัตตานี และลุ่มแม่น้ำสายบุรีของจังหวัดยะลา

ทำความรู้จักสินค้าอาหาร GI ขุมทรัพย์แห่งรสชาติจากวัตถุดิบไทย

ทำความรู้จักสินค้าอาหาร GI ขุมทรัพย์แห่งรสชาติจากวัตถุดิบไทย

ส่วนปลานิลสายน้ำไหลเบตง เป็นปลาที่ว่ายอยู่ในระบบสายน้ำไหลซึ่งไหลมาจากเทือกเขาสันกาลาคีรี ทำให้น้ำมีปริมาณออกซิเจนสูง เนื้อปลาจึงใส รสหวาน กินแบบซาชิมิได้ ไม่มีกลิ่นคาวและกลิ่นโคลนแบบปลานิลที่เลี้ยงในบ่อดินทั่วไป ปิดท้ายด้วยเนื้อโคขุนกำแพงแสน ที่ต่างจากเนื้อโคขุนโพนยางคำตรงที่เป็นวัวหนุ่มเนื้อแน่นไขมันน้อย ซึ่งตรงข้ามกับโคขุนโพนยางคำที่เนื้อนุ่มและมีไขมันแทรกค่อนข้างมาก

ทำความรู้จักสินค้าอาหาร GI ขุมทรัพย์แห่งรสชาติจากวัตถุดิบไทย

ทำความรู้จักสินค้าอาหาร GI ขุมทรัพย์แห่งรสชาติจากวัตถุดิบไทย

ทำความรู้จักสินค้าอาหาร GI ขุมทรัพย์แห่งรสชาติจากวัตถุดิบไทย

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับสินค้า GI ไทยที่เรานำมาฝากกัน ต่อจากนี้เชื่อว่าเราจะได้เห็นสินค้า GI มากขึ้นในชีวิตประจำวัน เพราะทางกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ตั้งใจผลักดันวัตถุดิบไทยให้ไปอยู่ในร้านอาหารระดับมิชลินสตาร์ ร้านไฟน์ไดนิง รวมถึงร้านอาหารไทยในต่างประเทศให้สินค้า GI ของไทยได้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง เพื่อให้รสชาติอันโดดเด่นนี้พาทุกคนย้อนกลับมาถึงแหล่งวัตถุดิบที่ผูกโยงกับธรรมชาติ

ทำความรู้จักสินค้าอาหาร GI ขุมทรัพย์แห่งรสชาติจากวัตถุดิบไทย

และนี่คือความพิเศษของสินค้า GI


Tag: ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น, วัตถุดิบท้องถิ่น, สินค้า GI

เรื่องโดย

ความคิดเห็น

Editor’s Pick

Recent

Most Viewed