เรียน เล่น รู้ สู่โลกแห่งเงินตราที่ “ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย”

วันที่ 27 มิถุนายน 2561  4,251 Views
นิตยสาร Gourmet & Cuisine ฉบับที่ 215 เดือนมิถุนายน 2561

หลังจากปิดปรับปรุงในโอกาสครบรอบ 75 ปี ของธนาคารแห่งประเทศไทยชวนให้เราตื่นเต้นอยู่พักใหญ่ อดีตโรงพิมพ์ธนบัตรที่เคยเป็นเหมือนสถานที่ลึกลับสำหรับผู้คนทั่วไปได้ถูกปรับเปลี่ยนเป็น “ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย” หรือ “Bank of Thailand Leaning Center” แหล่งเรียนรู้และพื้นที่สาธารณะแห่งใหม่ของคนเมืองที่มีทั้งพิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด Co-Working Space และพื้นที่กิจกรรม ซึ่งพร้อมจะสื่อสารว่าเรื่องเงินไม่ใช่เรื่องยากและไกลตัวอย่างที่คิด

ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย

เราเริ่มต้นเส้นทางของโลกแห่งเงินตรากันที่โซน “พิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย” กับ นิทรรศการโรงพิมพ์ธนบัตร ในชั้น 2 ที่จัดแสดงเครื่องพิมพ์ธนบัตรรุ่นแรกของไทย โดยพี่ไกด์ใจดีอธิบายให้ฟังว่า แม้คนไทยจะใช้ธนบัตรมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แต่หลังจากนั้นถึง 70 ปี เราจึงสามารถพิมพ์ธนบัตรใช้เองได้ด้วยเครื่องพิมพ์ธนบัตรที่เปิดใช้งานเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2512 ซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งในด้านเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์ความมั่นคงของประเทศ โดยในอดีตห้องนี้มีเครื่องพิมพ์วางเรียงรายมากมาย แต่ปัจจุบันจัดวางให้ชม 3 เครื่อง คือ เครื่องพิมพ์สีพื้น เครื่องพิมพ์เส้นนูน และเครื่องพิมพ์เลขหมายลายเซ็น

ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย

เครื่องพิมพ์สีพื้นรุ่นแรกที่มีอายุกว่า 50 ปี

ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย

อุปกรณ์การร่างภาพและแกะแม่แบบธนบัตร

ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย

อุปกรณ์การร่างภาพและแกะแม่แบบธนบัตร

นอกจากเครื่องพิมพ์เก่าแก่และอุปกรณ์ที่แสดงให้เห็นถึงกระบวนการออกแบบธนบัตร ทั้งการร่างภาพและการแกะแม่แบบที่ต้องใช้ความประณีตพิถีพิถันทุกขั้นตอน ห้องนี้ยังมีไฮไลต์อย่างวีดิทัศน์เรื่องราวการก่อตั้งโรงพิมพ์ธนบัตรฉายให้ชมผ่านกระจกใสขนาดใหญ่อีกด้วย

ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย

ชมวีดิทัศน์กำเนิดโรงพิมพ์ธนบัตรของไทย

ถัดจากเรื่องราวของโรงพิมพ์ธนบัตรในชั้นเดียวกัน เราไปต่อกันที่ห้องเรื่องเล่า ธปท. ซึ่งในอดีตคือ ห้องมั่นคง สถานที่เก็บรักษาธนบัตรและสินทรัพย์ต่างๆ ของประเทศซึ่งเป็นเขตหวงห้ามและมีการรักษาความปลอดภัยสูงสุด โดยห้องนี้ยังคงสภาพความมั่นคงแข็งแกร่งอยู่เช่นเดิม เราได้เดินผ่านประตูนิรภัยทำจากเหล็กกล้าและกำแพงกันไฟโดยรอบที่หนากว่า 1 เมตร เพื่อเข้าไปชมวีดิทัศน์สั้นๆ ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์เศรษฐกิจการเงินของประเทศ รวมทั้งบทบาทและภารกิจต่างๆ ของแบงก์ชาติ ซึ่งจริงๆ แล้วล้วนเกี่ยวข้องกับชีวิตและความเป็นอยู่ของคนไทยโดยตรง

ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย

เรื่องเล่าจากธนาคารแห่งประเทศไทยใน (อดีต) ห้องมั่นคง

ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย

ประตูเหล็กนิรภัยเพื่อความปลอดภัยสูงสุดของห้องมั่นคง

จากนั้นเราลงไปที่ชั้นใต้ดิน B2 เพื่อทำความรู้จักกับประวัติศาสตร์ของเงินในนิทรรศการเงินตรา 1 ที่พาเราย้อนเวลาไปเรียนรู้วิวัฒนาการของเงินและอารยธรรมการแลกเปลี่ยนติดต่อค้าขายของมนุษย์ รวมทั้งต้นกำเนิดเหรียญเงินกษาปณ์แรกของโลก คือ เหรียญลิเดีย ที่มีอายุเก่าแก่กว่า 2,600 ปี ไปจนถึงเหรียญรูปแบบต่างๆ ของอาณาจักรไทยโบราณ อาทิ เหรียญทวารวดี ต้นกำเนิดการใช้เงินตราของไทย เงินเจียง เชียง และเวียงของอาณาจักรล้านนา และเงินพดด้วงในยุคสุโขทัยที่ใช้เป็นเงินตราหลักของชาวสยามจนถึงสมัยรัชกาลที่ 3 

ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย

กำแพงกราฟิกเล่าเรื่องราวการแลกเปลี่ยนซื้อขายในสมัยโบราณในนิทรรศการเงินตรา 1

ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย

เหรียญลิเดีย (มุมซ้ายบน) และเหรียญอาณาจักรโบราณทั่วโลก

ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย

เหรียญเจียงในสมัยล้านนา

เดินชมเหรียญรูปแบบต่างๆ กันจนจุใจแล้ว ก็ได้เวลามาทำความรู้จักที่มาของธนบัตรกันบ้างด้วยการเขยิบขึ้นไปที่ชั้นใต้ดิน B1 เพื่อชมนิทรรศการเงินตรา 2 ซึ่งพาเราเดินทางต่อสู่ยุคเริ่มต้นของการใช้ธนบัตรในสมัยรัชกาลที่ 4 พระบิดาแห่งการเงินของไทยที่ทรงออกประกาศใช้เงินกระดาษที่เรียกว่า “หมาย” เพื่อลดความลำบากในการพกพาเงินพดด้วงที่หนักและผลิตได้ช้า นอกจากนี้เรายังได้เห็นพัฒนาการของธนบัตรที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยตั้งแต่ธนบัตรแบบที่ 1 ในสมัยรัชกาลที่ 5 จนถึงแบบที่ 16 ซึ่งใช้กันในปัจจุบัน รวมทั้งธนบัตรที่จัดทำขึ้นเป็นที่ระลึกในโอกาสสำคัญต่างๆ และธนบัตรจากประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนอีกด้วย

ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย

ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย

ธนบัตรที่จัดทำขึ้นในโอกาสสำคัญต่างๆ ในสมัยรัชกาลที่ 9

ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย

ธนบัตรที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ

ปิดท้ายโซนพิพิธภัณฑ์กันที่นิทรรศการบทบาทหน้าที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ในชั้น 1 ที่ให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับภารกิจและการดำเนินนโยบายต่างๆ ของแบงก์ชาติ อาทิ การดำเนินนโยบายการเงิน การกำกับดูแลระบบสถาบันการเงินให้มีเสถียรภาพ ระบบการชำระเงิน การผลิตและบริหารจัดการธนบัตรให้เพียงพอต่อการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งไม่ต้องกลัวว่าจะเข้าใจยาก เพราะที่นี่ออกแบบให้ทันสมัยและง่ายต่อการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นสื่อเทคโนโลยีอินเตอร์แอกทีฟที่ให้เราได้ลองกำหนดนโยบายการเงิน ค่าเงิน และอัตราดอกเบี้ยด้วยตัวเอง รวมทั้งวีดิทัศน์บทสัมภาษณ์อดีตผู้ว่าการ ปท. และเหตุการณ์สำคัญทางเศรษฐกิจต่างๆ

ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย

นิทรรศการบทบาทหน้าที่ธนาคารแห่งประเทศไทย

แต่จุดเด่นของห้องนี้ที่เชื่อว่าหลายคนต้องสะดุดตาคือ ผนังสีขาวรอบห้องที่ดีไซน์เป็นรูปทรงโค้งเว้าตามตัวเลข GDP และอัตราเงินเฟ้อของประเทศไทยตลอด 75 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังมีมุมให้ความรู้ที่น่าสนใจ เกี่ยวกับการเตรียมตัวเตรียมเงินออมให้พร้อมสำหรับชีวิตหลังเกษียณ (ที่เราเห็นแล้วก็ได้แต่บอกตัวเองว่า ควรเริ่มออมเงินตั้งแต่ตอนนี้ดีกว่า (ฮา!))

ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย

กำแพง GDP ที่แสดงให้เห็นถึงเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของไทยตลอด 75 ปี

ย้อนอดีตเรียนรู้เรื่องเงินตรากันอย่างจุใจแล้ว เรากลับขึ้นมาที่ชั้น 2-3 ซึ่งเป็นโซน “ห้องสมุดพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย” ห้องสมุดสุดทันสมัยที่เก็บรวบรวมสิ่งพิมพ์เกี่ยวกับการเงินการธนาคารไว้มากกว่า 30,000 รายการ โดยปรับเปลี่ยนโครงสร้างอาคารโรงพิมพ์เดิมที่ปิดทึบให้โปร่งโล่งสวยงามและเหมาะกับการอ่านหนังสือหรือนั่งทำงาน ด้วยการใช้ผนังกระจกที่มองออกไปเห็นวิวแม่น้ำเจ้าพระยาที่ช่วยพักสายตาได้เป็นอย่างดี

ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย

บรรยากาศน่านั่งในห้องสมุดพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย

ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย

บรรยากาศน่านั่งในห้องสมุดพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย

ความพิเศษของห้องสมุดแห่งนี้คือ การจัดหมวดหมู่หนังสือที่ไม่ได้เรียงตามตัวอักษร แต่จัดเรียงตามหมวดหมู่เฉพาะ อาทิ ตลาดการเงิน สถาบันการเงิน และนโยบายการเงิน รวมทั้งยังมีห้อง Knowledge Bank ที่เก็บเอกสารสำคัญหายากเกี่ยวกับการเงินและเศรษฐกิจทั้งไทยและต่างประเทศและโซน Econ Connect ที่รวบรวมฐานข้อมูลจากห้องสมุดชื่อดังกว่า 7,000 แห่งทั่วโลกให้ศึกษาค้นคว้ากันได้อย่างเต็มที่

ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย

ห้อง Knowledge Bank

นอกจากมุมอ่านหนังสือแล้ว ยังมีโซน Co-Working Space ที่ทันสมัยไม่แพ้กัน โดยมีทั้ง Multimedia Room ห้องกระจกทรงกลมที่พร้อมให้ใช้ดูวีดิทัศน์และพูดคุย หรือถ้าต้องการประชุมงานอย่างจริงจัง ห้อง Idea Box ห้องประชุมงานสำหรับ 4-8 คน ก็พร้อมให้ใช้งาน

ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย

ห้อง Multimedia Room

และหากใครทำงานจนเหนื่อยล้าลองลงไปพักสมองและเติมพลังที่ร้านกาแฟ Pacamara Boutique Coffee Roaster ในชั้น 1 กันได้ เราแนะนำให้นั่งจิบกาแฟที่มุมโต๊ะติดผนังกระจก ชมวิวแม่น้ำเจ้าพระยาและสะพานพระราม 8 แล้วจะรู้สึกชิลจนแทบไม่อยากกลับเลยทีเดียว

ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย

ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย ตั้งอยู่บนถนนสามเสน แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ
พิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดบริการวันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 09.30-16.30 น.
เปิดให้เข้าชมตามรอบ วันละ 6 รอบ ตั้งแต่เวลา 10.00-14.30 น. จองรอบเข้าชมได้ที่ www.botlc.or.th
ห้องสมุดพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย เปิดบริการวันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 09.30-20.00 น.


Tag: , นิทรรศการ, ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย, ธนบัตร,

เรื่องโดย

ความคิดเห็น

Editor’s Pick

Recent

Most Viewed