หลักการตัดสินใจเกี่ยวกับ "ต้นทุนจม" เพื่อป้องกันความเสียหายจากการยึดติดกับอดีต

วันที่ 30 พฤษภาคม 2567  397 Views
นิตยสาร Gourmet & Cuisine ฉบับที่ 286 เดือนพฤษภาคม 2567

การตระหนักว่าธุรกิจหรือชีวิตส่วนตัวของเรามีต้นทุนจม (Sunk Cost) หรือไม่ เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายมากขึ้นเนื่องจากการยึดติดในอดีต

หลักการตัดสินใจเกี่ยวกับ "ต้นทุนจม" เพื่อป้องกันความเสียหายจากการยึดติดกับอดีต

ในกรณีที่ได้มีการตัดสินใจลงทุนด้วยเงินทอง เวลา หรือความพยายามไปแล้ว แต่ไม่สามารถหาประโยชน์จากสิ่งนั้นเพื่อชดเชยต้นทุนที่เสียไปได้ ซึ่งอาจเกิดจากความผิดพลาด หรือสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าเราจะทำอะไรในปัจจุบันหรืออนาคต ก็ไม่สามารถนำเอาทรัพยากรเหล่านั้นกลับคืนมาได้ เราเรียกสิ่งที่ได้ลงทุนไปในอดีตว่า “ต้นทุนจม”

เช่น เราใช้เงินลงทุนในการสร้างโรงงานไป 10 ล้านบาท แต่พบว่ามีการออกแบบผิดพลาดและไม่สามารถใช้งานได้ตามที่วางแผนไว้ เงินจำนวนนี้ถือว่าเป็นต้นทุนจม เป็นความเสียหายที่เอากลับคืนมาไม่ได้ หากต้องการจะหาทางชดเชยด้วยการลงทุนเพิ่ม ก็ควรจะพิจารณาว่าจะต้องใช้จำนวนเงินลงทุนเพิ่มอีกเท่าไร และเปรียบเทียบว่าคุ้มค่ากับผลประโยชน์ที่จะได้รับหรือไม่ มิฉะนั้น หากทุ่มเทเงินลงไปเพราะเสียดายต้นทุนที่เสียไปแล้วโดยไม่ได้คำนึงถึงผลตอบแทนในอนาคต ความเสียหายก็อาจจะยิ่งมากขึ้น บ่อยครั้งที่ผู้เสียหายตัดใจไม่ได้ ไม่ยอมละทิ้งเพราะต้องการหาทางชดเชยสิ่งที่ได้ลงทุนไป แต่เมื่อทำโครงการเสร็จ กลับพบว่ามันขาดทุนมากกว่าต้นทุนเดิมเสียอีก  

ทำนองเดียวกับผู้ที่สูญเสียเงินในตลาดหลักทรัพย์ ไม่ว่าจะเกิดจากสภาวะตลาด หรือเกิดจากหุ้นที่ลงทุนไปมีการเปลี่ยนแปลงปัจจัยพื้นฐานก็ตาม เราก็ไม่สามารถนำเงินที่สูญเสียเหล่านั้นกลับมาได้ หากเรายังทนถือหุ้นเหล่านั้นไว้เพราะเสียดายต้นทุนที่เคยซื้อในราคาสูง และไม่ยอมตัดใจขายออกไป ก็อาจจะขาดทุนมากขึ้น และยังเสียโอกาสที่จะนำเงินสดจากการขายมาลงทุนใหม่

ในการใช้ชีวิตก็เช่นกัน เราอาจจะเก็บสะสมสิ่งของต่างๆ ที่ไม่จำเป็นไว้มากมายเพราะเสียดายที่ซื้อมาแพงๆ ยอมเสียเวลา เสียพื้นที่ เสียเงินในการดูแลรักษา ทั้งๆ ที่ไม่มีโอกาสจะใช้ประโยชน์อีกแล้วในอนาคต หรืออาจจะทนทำงานที่ไม่มีความสุข เพราะคิดว่าไหนๆ ก็ใช้เวลาเข้ามาอยู่ในอาชีพนี้หลายปีแล้ว จึงไม่กล้าเปลี่ยนงาน ในกรณีเหล่านี้ หากเรายอมรับว่ามันคือต้นทุนจม ยอมรับความสูญเสียที่เกิดขึ้นแล้ว และมองหาโอกาสใหม่ๆ ในอนาคต ก็ย่อมคุ้มค่ากับชีวิตข้างหน้ามากกว่า

อย่างไรก็ตาม ต้นทุนจมเป็นแนวคิดที่เข้าใจง่าย แต่ยากกว่าในทางปฏิบัติ เพราะเมื่อได้มีการลงทุนไปมากแล้ว บางคนอาจจะรู้สึกว่ามันเป็นการผิดที่จะยอมแพ้โดยไม่ได้อะไร จึงยังคงยึดติดอยู่ แต่ในความเป็นจริง เราไม่สามารถทำอะไรได้เกี่ยวกับเงินลงทุน ความพยายาม หรือเวลาที่ได้ใส่ลงไปในอดีต มันหายไปแล้ว สิ่งที่เราสามารถทำได้คือการดำเนินการตามข้อมูลที่เรามีอยู่ในปัจจุบัน

ยิ่งเรายอมรับสิ่งที่ได้เกิดขึ้นแล้ว และเลือกที่จะทำสิ่งที่เราสามารถทำได้เพื่อทำให้สิ่งต่างๆ ดีขึ้น เราก็จะยิ่งมีความสุขมากขึ้น


Tag: Last But Not Least

เรื่องโดย

ความคิดเห็น

Editor’s Pick

Recent

Most Viewed