รู้จัก "เทศกาลบ๊ะจ่าง" การไหว้บรรพบุรุษของคนจีนโบราณ

วันที่ 18 มิถุนายน 2561  41,922 Views

นอกจากตรุษจีน เช็งเม้ง รู้ไหมว่ายังมีอีกหนึ่งเทศกาลของชาวจีนที่สำคัญไม่แพ้กันเลย ซึ่งก็คือ เทศกาลบ๊ะจ่าง ที่ตรงกับวันขึ้น 5 ค่ำ เดือน 5 ตามปฏิทินจีน (จันทรคติ)  โดยในปี 2561 นี้ตรงกับวันที่ 18 มิถุนายน นั่นเอง

เทศกาลบ๊ะจ่าง

★ ตำนานบ๊ะจ่าง 
มีตำนานเล่าว่าเมื่อกว่า 2,000 ปี ในแคว้นฉู่หรือฉ้อ  มีกวีเอกของจีนนามว่า “ชวีหยวน” (แต้จิ๋วออกเสียงเป็น คุกง้วง) ผู้มีความจงรักภักดีต่อแคว้นฉู่มาก เมื่อถูกแคว้นฉินรุกราน เจ้าผู้ครองแคว้นเชื่อคำกราบทูลยุยงของขุนนางไม่ดี  จึงพ่ายแพ้เสียเมืองสิ้นกษัตริย์ ชวีหยวนเสียใจมาก จึงเขียนกลอนแสดงความเศร้าสะเทือนใจแล้วไปกระโดดน้ำตาย

เมื่อชาวบ้านรู้ข่าว จึงพายเรือออกตามหาชวีหยวน ระหว่างงมก็นำข้าวใส่กระบอกไม้ไผ่โยนลงน้ำเพื่อล่อปลามากินข้าว  ไม่ให้ปลากินศพของชวีหยวน (สืบเนื่องความเป็นมาของเทศกาลว่าชาวบ้านพายเรือหาศพแล้วเริ่มต้นแข่งเรือมังกร แต่มีความเห็นแย้งว่าคนจีนแถวภาคกลางแข่งเรือมังกรเป็นการบูชาเทพมังกร ไม่เกี่ยวข้องกับชวีหยวน) 

ครบปีแรกที่ชวีหยวนเสียชีวิต ซึ่งตรงวันที่ 5 เดือน 5 ชาวบ้านจึงนำข้าวห่อใบไม้หรือใส่กระบอกไม้ไผ่โยนลงแม่น้ำเพื่อรำลึกถึงชวีหยวน ข้าวห่อใบไม้หรือข้าวในกระบอกไม้ไผ่ก็กลายเป็นบ๊ะจ่าง ตามตำนานนี้ บ๊ะจ่างจึงเป็นอาหารประจำเทศกาล

เทศกาลบ๊ะจ่าง

★ ความเชื่อตามตำนาน 
เมื่อพิจารณาจากตำนาน อาจจะเป็นไปได้ว่าตำนานสะท้อนถึงประเพณีการขจัดโรคระบาด และก่อเกิดพิธีกรรมขับไล่สิ่งชั่วร้าย คนจีนเชื่อว่า เลขคี่เป็นพลังหยาง เลขคู่เป็นพลังหยิน วัน 5 ค่ำ  เดือน 5 เท่ากับพลังหยางซ้อนกัน ประกอบกับเป็นฤดูร้อน คนจีนบางกลุ่มถือว่าเป็นวันที่แรงมาก มีพลังแรงมาก มีความร้อนทวีคูณ  ต้องป้องกันไม่ให้พลังทั้งจากความร้อนของอากาศ หรือฤดูกาล หรือฟ้าดินมาทำร้ายมนุษย์

ในวัน 5 ค่ำเดือน 5 เป็นวันแรงจึงมีความเชื่อดั้งเดิมมาว่าสัตว์มีพิษจะมีพลังแรง  การสลายพลังของสัตว์พวกนี้  ใช้วิธีตัดกระดาษรูปสัตว์มีพิษ 5 ชนิด  ได้แก่  งู ตะขาบ คางคก จิ้งเหลน แมงป่อง  แล้วติดให้ห้อยหัวหรือบางบ้านให้เด็กใส่เอี๊ยมปักรูปสัตว์มีพิษ 5 ชนิดเพื่อป้องกันเด็ก แต่วิธีการเช่นนี้พบเห็นได้น้อยลงแล้ว

เทศกาลบ๊ะจ่าง

★ ตำรับบ๊ะจ่าง 
บ๊ะจ่างมีตำรับการปรุงหลากหลายทั้งบ๊ะจ่างเค็ม บ๊ะจ่างหวาน คนจีนในไทยส่วนใหญ่เป็นจีนแต้จิ๋ว จึงนิยมบ๊ะจ่างแต้จิ๋ว หวานกับเค็มอยู่ในห่อเดียวกัน มีเผือกกวนเป็นเอกลักษณ์พิเศษ เรียกว่า ซังเพงจ่าง

เริ่มต้นเทศกาลบ๊ะจ่าง สมัยก่อนคนทำบ๊ะจ่างต้องไปหาใบไผ่ขนาดใหญ่นำมาแช่น้ำด่าง  บางบ้านใช้เปลือกทุเรียนตากแห้ง นำมาเผาผสมเถ้าเปลือกทุเรียนกับน้ำ เป็นน้ำด่าง หลังจากนั้นจึงต้มเพื่อให้ใบไผ่นุ่มสะอาด ตัดปลายทิ้ง  ก่อนใช้แช่ไว้ในน้ำไม่ให้ใบไผ่แห้ง 

ข้าวเหนียวที่ใช้ทำบ๊ะจ่างต้องคัดเลือกอย่างดี บางบ้านคัดเลือกกันทีละเม็ด ไม่ให้มีเม็ดลีบหรือเม็ดข้าวสารเจือปน  เครื่องที่เตรียมสำหรับผสมในข้าวเหนียวทำบ๊ะจ่าง ได้แก่  หัวผักกาดเค็ม ถั่วเขียวซีก เม็ดบัว แป๊ะก๊วย ถั่วลิสง กระเทียม  พริกไทย เกลือซีอิ๊วขาว น้ำมันหมู  เครื่องอื่น ๆ ได้แก่ กุ้งแห้ง เห็ดหอม กุนเชียง หมูสามชั้นหมัก เผือกกวน ไข่เค็ม ใช้เฉพาะไข่แดงดิบ

สมัยก่อนเชือกที่มัดห่อบ๊ะจ่าง ใช้เชือกกล้วย เชือกปอ   จับเชือกมัดด้วยกันจำนวนเส้นเชือกแล้วแต่ขนาดพวงบ๊ะจ่างเล็กหรือใหญ่ พวงละ 10 ลูก หรือ 15 ลูก

เทศกาลบ๊ะจ่าง

★ การทำบ๊ะจ่าง 
ขั้นตอนการทำบ๊ะจ่างแล้วแต่ตำรับ บางบ้านใช้วิธีผัดข้าวเหนียวร่วมกับเครื่องผสมต่าง ๆ บางบ้านใช้ข้าวเหนียวนึ่งแล้วคลุกเครื่อง จัดใบไผ่ 1-2 ใบจับให้เป็นกรวยใส่เผือกกวนที่ก้นกรวย  ใส่ข้าวเหนียว วางหมูชิ้น เห็ดหอม กุ้งแห้ง กุนเชียง และไข่เค็ม แล้วปิดใบไผ่ จับเก็บขอบให้เรียบร้อย หักพับใบไผ่ให้เป็นรูปสามเหลี่ยม รูปบ๊ะจ่างที่สวยต้องเป็นสามเหลี่ยมด้านเท่า แต่บางบ้านก็มัดเป็นรูปยาว ๆ ก็มี จากนั้นจับให้แน่นแล้วมัดด้วยเชือก แล้วนำไปนึ่ง

นอกจากบ๊ะจ่าง ยังมี “กีจ่าง” ซึ่งทำจากข้าวเหนียวแช่น้ำด่างกี ใช้ใบไผ่สดขนาดใบเล็กกว่าบ๊ะจ่าง  แต่ลักษณะห่อเหมือนกัน ใส่ข้าวเหนียวลงในกรวยแล้วปิดพับมัดเป็นเป็นห่อเล็กๆ ใช้เชือกทำจากปอ  นึ่งสุกแล้ว มีสีเหลืองใส ไม่เห็นเป็นเม็ดข้าวเหนียวเหมือนข้าวต้มน้ำวุ้น กีจ่างไม่มีรสชาติเพราะไม่ได้ปรุงรส เป็นข้าวเหนียวล้วนๆ เวลารับประทานจิ้มน้ำตาลทรายขาว กีจ่างส่วนใหญ่มีแต่ของแต้จิ๋ว มีคำบอกเล่ากันมาว่ากีจ่างดับร้อน ทั้งที่ข้าวเหนียวทานแล้วร้อน  แต่การนำข้าวเหนียวแช่ด่าง กลับดับร้อนแก้กันได้

เทศกาลบ๊ะจ่าง

★ การไหว้บ๊ะจ่าง 
ส่วนใหญ่เราจะไหว้บ๊ะจ่างที่ตี่จู่เอี๊ยะหรือศาลเจ้าที่และบรรพบุรุษ แต่สามารถนำไปไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์นอกบ้านตามศาลเจ้าที่เคารพนับถือได้ หากต้องไหว้พระไหว้เจ้าด้วยอาหารเจหรือผลไม้ อาจใช้กีจ่างหรือบ๊ะจ่างเจแทนบ๊ะจ่างทั่วไป ซึ่งถ้าไหว้กีจ่าง ต้องมีน้ำตาลทรายขาวใส่ถ้วยไว้ด้วย

การจัดไหว้บ๊ะจ่างหรือกีจ่าง ไม่ต้องแกะห่อ ไหว้เป็นคู่สองหรือสี่ห่อ ส่วนใหญ่สี่ห่อ คนจีนถือว่าคู่เป็นสิริมงคล


Tag: , การไหว้บ๊ะจ่าง, บ๊ะจ่าง, เทศกาลบ๊ะจ่าง,

เรื่องโดย

ความคิดเห็น

Editor’s Pick

Recent

Most Viewed