กนิษฐา กังสวนิช ชวนรู้จักตราสัญลักษณ์ GI กับบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก สร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าไทย

วันที่ 26 เมษายน 2567  488 Views
นิตยสาร Gourmet & Cuisine ฉบับที่ 285 เดือนเมษายน 2567

คุณผู้อ่านหลายท่านอาจเคยผ่านตากับตราสัญลักษณ์ GI บนแพ็กเกจสินค้าหลายชนิด แต่ไม่เข้าใจถึงที่มาและข้อดีของตราสัญลักษณ์นี้ว่ามีความพิเศษอย่างไร G&C มีโอกาสสัมภาษณ์ คุณกนิษฐา กังสวนิช รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งได้อธิบายความหมายของ GI ไว้อย่างเรียบง่ายดังนี้

กนิษฐา กังสวนิช ชวนรู้จักตราสัญลักษณ์ GI กับบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก สร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าไทย

“Geographical Indications หรือ GI, สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ คือ สินค้าที่มีคุณภาพ ชื่อเสียง ซึ่งเป็นผลพวงของสภาพดิน ฟ้า อากาศของแหล่งผลิต และการสะสม ถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น GI จึงเปรียบเสมือนเป็นแบรนด์ของท้องถิ่นที่บ่งบอกถึงคุณภาพ อัตลักษณ์ และแหล่งที่มาของสินค้า เช่น ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ที่ปลูกบริเวณทุ่งกุลาร้องไห้ (จังหวัดมหาสารคาม ร้อยเอ็ด สุรินทร์ ศรีสะเกษ และยโสธร) ส้มโอทับทิมสยามปากพนัง (จังหวัดนครศรีธรรมราช) ผ้าไหมยกดอกลำพูน (จังหวัดลำพูน) ผ้าไหมปักธงไชย (จังหวัดนครราชสีมา) ชามไก่ลำปาง (จังหวัดลำปาง) ร่มบ่อสร้าง (จังหวัดเชียงใหม่) เสื่อจันทบูร (จังหวัดจันทบุรี)”

ปัจจุบันมีสินค้า GI ที่ขึ้นทะเบียนคุ้มครองชื่อที่ใช้ในทางการค้าไว้กับกรมทรัพย์สินทางปัญญาแล้วทั้งหมด 200 รายการ แบ่งเป็นกลุ่ม Food 163 รายการ (รวมข้าว ผัก ผลไม้ เครื่องดื่ม ไวน์และสุรา) และกลุ่ม Non-Food 37 รายการ โดยมีมูลค่าการตลาดรวมกว่า 58,000 ล้านบาท ซึ่งสิทธิการใช้ชื่อ GI นี้เป็นสิทธิร่วมกันของชุมชนผู้ผลิต

กนิษฐา กังสวนิช ชวนรู้จักตราสัญลักษณ์ GI กับบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก สร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าไทย

คุณกนิษฐา กล่าวเพิ่มเติมว่า “ในเชิงนโยบาย GI เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากแบบยั่งยืน และยังมีตราสัญลักษณ์ GI เป็นเครื่องมือคุ้มครองผู้บริโภค ช่วยให้ผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้าได้อย่างมั่นใจว่ามีระบบควบคุมคุณภาพและกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐาน และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ ผู้ผลิตที่ได้รับตราสัญลักษณ์แล้วจะต้องยื่นต่ออายุทุก 2 ปี เพื่อตรวจสอบรับรองมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง”

“สินค้า GI เป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงมายาวนาน ซึ่งเมื่อมีชื่อเสียงก็มักประสบปัญหาการแอบอ้างเลียนแบบตามมา ประโยชน์ของการขึ้นทะเบียน GI ไว้กับกรมทรัพย์สินทางปัญญาคือ ทำให้การแอบอ้างชื่อทำไม่ได้ ทำแล้วผิดกฎหมาย มีความรับผิดทางละเมิด สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคและช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า การขึ้นทะเบียน GI นั้น กรมฯ จะดำเนินการแบบบูรณาการร่วมกับหน่วยงานของรัฐในระดับจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชนในพื้นที่พิจารณาสินค้าที่มีศักยภาพ และเข้าหลักเกณฑ์ที่จะสามารถขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI”

คุณกนิษฐาให้ข้อมูลว่า “กรมฯ ดำเนินการส่งเสริมสินค้า GI ในทุกมิติ นอกจากสนับสนุนให้ขึ้นทะเบียนแล้วต้องเข้าสู่ระบบการควบคุมคุณภาพ ซึ่งขณะนี้กรมฯ ได้ดำเนินการไปแล้วมากกว่า 80% และยังต้องทำอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดความมั่นคงยั่งยืน ผู้ผลิตเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทางกรมฯ ยังได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในภูมิภาคที่ใกล้ชิดกับผู้ผลิตในพื้นที่เพื่อให้คำปรึกษา นอกจากนี้ กรมฯ ยังดำเนินการส่งเสริมช่องทางการตลาด ทั้งในตลาดออฟไลน์ เช่น การจัดงาน GI Market การร่วมจำหน่ายและแสดงสินค้า GI ในงาน THAIFEX - Anuga และงาน Thailand Rice Fest and Coffee Fest รวมทั้งการขยายช่องทางตลาดออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์ม Lazada, Shopee และ TikTok ควบคู่กับการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ทันสมัย โดยกรมฯ จะร่วมมือกับนักออกแบบมือรางวัล ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า”

กนิษฐา กังสวนิช ชวนรู้จักตราสัญลักษณ์ GI กับบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก สร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าไทย

“ตลาดสินค้า GI ในประเทศค่อนข้างสดใส เนื่องจากการบริโภคในปัจจุบันเน้นของคุณภาพดี มีราคา มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ตอบสนองคุณค่าทางจิตใจ หรือ Premiumization สินค้า GI น่าจะตอบโจทย์ผู้บริโภคกลุ่มนี้ที่นับวันจะยิ่งเพิ่มจำนวนมากขึ้น”

การส่งออก GI ยังไม่มากเพราะปริมาณการผลิตถูกจำกัดด้วยพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ กรมฯ ก็ให้ความสำคัญกับการสร้างการจดจำเพื่อให้สินค้า GI ของไทยเป็นที่รู้จักในตลาดต่างประเทศมากยิ่งขึ้น จะเห็นผลจับต้องได้ยามที่นักท่องเที่ยวเดินทางเยือนไทยแล้วไล่ตามหาซื้อสินค้า GI

การขึ้นทะเบียนสินค้า GI ในต่างประเทศ ยังเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการเพิ่มโอกาสทางการค้าและขยายตลาดสินค้า GI ให้เป็นที่รู้จักกว้างขึ้น โดยปัจจุบันมีสินค้า GI ไทยที่ไปขึ้นทะเบียนในต่างประเทศ 8 รายการ ได้แก่ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง กาแฟดอยตุง กาแฟดอยช้าง เส้นไหมไทยพื้นบ้านอีสาน ผ้าไหมยกดอกลำพูน มะขามหวานเพชรบูรณ์ และลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน ครอบคลุมกว่า 33 ประเทศทั่วโลก เช่น สหภาพยุโรป (27 ประเทศ) ญี่ปุ่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย อินเดีย รวมถึงมีสินค้า GI ไทยตัวอื่นๆ ที่อยู่ระหว่างการขึ้นทะเบียนในต่างประเทศ เช่น ไวน์เขาใหญ่ที่เวียดนาม ส้มโอทับทิมสยามปากพนังที่จีน

“สำหรับความร่วมมือกับนิตยสาร Gourmet and Cuisine ถือเป็นพันธมิตรสำคัญที่ช่วยประชาสัมพันธ์ข้อมูลให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคที่มีไลฟ์สไตล์ชื่นชอบการทำอาหาร และตามหาวัตถุดิบชั้นเลิศตรงจากแหล่งผลิต รวมถึงเชฟและร้านอาหารได้นำมารังสรรค์เมนูสไตล์โฮมมีหรือไฟน์ไดนิง ซึ่งอุตสาหกรรมอาหารนั้นถือเป็นศิลปะแขนงหนึ่ง เนื่องจากต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์สูง การนำเสนอวัตถุดิบจากแหล่งผลิตเพื่อนำไปต่อยอดในเมนูต่างๆ จะช่วยยกระดับให้วัตถุดิบมีมูลค่ามากขึ้น ผู้อ่านบางท่านอยู่ในอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหารก็สามารถหยิบสินค้า GI ไปแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มได้เช่นเดียวกัน”

กนิษฐา กังสวนิช ชวนรู้จักตราสัญลักษณ์ GI กับบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก สร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าไทย

“การสร้างการรับรู้ในบริบททางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของสินค้า GI แต่ละชนิด ด้านหนึ่งคือการสร้างมูลค่าเพิ่ม อีกด้านคือ Lifecycle ย้อนกลับมาที่ผู้ผลิตที่ต้องให้ความสำคัญกับคุณภาพ เพราะเทรนด์วันนี้ ราคาอาจไม่ใช่ประเด็น แต่คุณภาพต่างหากที่เป็นหัวใจสำคัญในการตัดสินใจ” คุณกนิษฐากล่าวทิ้งท้าย

ถ้าอยากรู้ว่ามีสินค้าอะไรบ้าง คลิกเว็บไซต์ www.ipthailand.go.th ได้เลย


Tag: Food in Biz, กรมทรัพย์สินทางปัญญา, สินค้า GI

เรื่องโดย

ความคิดเห็น

Editor’s Pick

Recent

Most Viewed