ตามรอยพระพุทธเจ้าจากอินเดียถึงเนปาล สังเวชนียสถาน 4 ตำบล

วันที่ 1 มิถุนายน 2561  14,025 Views
นิตยสาร Gourmet & Cuisine ฉบับที่ 214 เดือนพฤษภาคม 2561

เมื่อประมาณ 2,500 กว่าปีก่อนในดินแดนชมพูทวีปอินเดีย­-เนปาล เจ้าชายหนุ่มองค์หนึ่งในศากยวงศ์แห่งนครกบิลพัสดุ์ทรงเกิดความเบื่อหน่ายชีวิตทางโลกจึงละทิ้งกิเลสออกแสวงหาหนทางพ้นทุกข์ ในที่สุดก็ทรงบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็น “พระพุทธเจ้า” พระบรมศาสดาแห่งพุทธศาสนา ซึ่งปัจจุบันมีคนยอมรับนับถือทั่วโลกกว่า 500 ล้านคน มหาบุรุษผู้ชี้ทางสว่างแก่มนุษยชาตินั้นคือ “เจ้าชายสิทธัตถะ” หรือพระสมณโคดมพุทธเจ้าที่เรากำลังจะตามรอยพระองค์ไปในทริปนี้

ตามรอยพระพุทธเจ้าจาก India ถึง Nepal สังเวชนียสถาน 4 ตำบล

กุสินารา สถานที่ปรินิพพานของพระพุทธองค์

เฉกเช่นชาวอิสลามที่ครั้งหนึ่งในชีวิตต้องไปแสวงบุญยังนครเมกกะ ชาวพุทธทั่วโลกต่างหวังจะได้ไปแสวงบุญในดินแดนพุทธภูมิอินเดีย-เนปาลสักครั้ง เพื่อเยือนสถานที่สำคัญอันเกี่ยวเนื่องกับพุทธองค์ “สังเวชนียสถาน 4 ตำบล” คือ สถานที่ประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา และปรินิพพาน

ตามรอยพระพุทธเจ้าจาก India ถึง Nepal สังเวชนียสถาน 4 ตำบล

สารนาท สถานที่แสดงปฐมเทศนาของพระพุทธองค์

เราฝ่าความคับคั่งของเมืองกัลกัตตาสู่สถานีรถไฟฮาวราห์เพื่อขึ้นรถไฟตู้นอนปรับอากาศชั้น 2 เที่ยว 5 ทุ่มต่อไปเมืองพาราณสี (Varanasi) เพื่อต่อรถยนต์ไปเมืองสารนาถ (Sarnath) รัฐอุตตรประเทศ (Uttar Pradesh) ทางเหนือสุดของอินเดียภาคตะวันออกเฉียงเหนือติดเนปาลซึ่งอันที่จริงแล้วในสมัยพุทธกาลเนปาลก็คือดินแดนของอินเดียเช่นกัน

ตามรอยพระพุทธเจ้าจาก India ถึง Nepal สังเวชนียสถาน 4 ตำบล

ในการเดินทางไปสังเวชนียสถานสี่ตำบล เราจะได้เห็นวิถีชีวิตชาวบ้านในปัจจุบัน

ถึงเมืองพาราณสีเกือบสิบเอ็ดโมงเช้าของวันถัดมา เรารีบบึ่งรถบัสไปยังสังเวชนียสถานแห่งแรก ณ เมืองสารนาถ “สถานที่แสดงปฐมเทศนา” ซึ่งวันนี้มีลักษณะคล้ายเมืองเก่าอยุธยา เพราะเหลือแต่ซากปรักหักพังโดยมี “ธรรมเมกขสถูป” เป็นศูนย์กลาง เชื่อกันว่าเป็นจุดที่พระพุทธองค์ทรงแสดงปฐมเทศนา ฉันหลับตาจินตนาการย้อนไปเห็นสารนาถเป็น “ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน” สิ่งที่พุทธองค์ได้แสดงปฐมเทศนาคือธัมมจักกัปปวัตนสูตร กล่าวถึง “อริยสัจ 4” คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ที่พุทธองค์ทรงตรัสรู้ หลังทรงแสดงปฐมเทศนาเมื่อวันเพ็ญเดือน 8 และเทศน์โปรดปัญจวัคคีย์ทั้งห้าจนสำเร็จพระอรหันต์แล้ว ทรงจำพรรษาแรกอยู่ที่นี่พร้อมปัญจวัคคีย์ ทั้งยังเป็นสถานที่ซึ่งพุทธองค์ทรงเริ่มส่งพระสาวกกลุ่มแรกออกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาด้วย

ตามรอยพระพุทธเจ้าจาก India ถึง Nepal สังเวชนียสถาน 4 ตำบล

นักแสวงบุญนุ่งขาวห่มขาวเข้าชมสารนาท สถานที่แสดงปฐมเทศนาเมื่อ 2,500 ปีก่อน

สารนาถเป็นศูนย์กลางพุทธศาสนาอยู่เนิ่นนาน กระทั่ง พ.ศ. 1737 ก็ถูกกองทัพมุสลิมเติร์กทำลายราบเป็นหน้ากลอง เสาพระเจ้าอโศกที่สูงถึง 70 ฟุตหักเป็น 5 ท่อน โชคดีที่สิงห์ 4 ตัวที่หัวเสายังอยู่จนกลายเป็นสัญลักษณ์ประจำชาติอินเดียทุกวันนี้

ตามรอยพระพุทธเจ้าจาก India ถึง Nepal สังเวชนียสถาน 4 ตำบล

สาธุชนหลั่งไหลสู่พุทธคยา สถานที่ตรัสรู้สัจธรรมอันประเสริฐของพุทธองค์

บ่ายของวันเดียวกันฉันเดินทางต่อไปยังเมืองกุสินารา (Kushinagar) ระยะทางกว่า 270 กิโลเมตรมุ่งหน้าขึ้นเหนือผ่านเมืองโครักปูร์ (Gorakhpur) แวะพักกินอาหารเที่ยงที่วัด ๙๖๐ วัดไทยเล็กๆ ริมทางก่อนเข้าเนปาลที่ด่านชายแดนเมืองโซเนาลี (Sonauli) ต่อกับเนปาลที่อำเภอไภรวา (Bhairahawa) ปัจจุบันเนปาลยกย่องให้เป็นเมืองแห่งการประสูติของพระพุทธเจ้าจึงปลี่ยนชื่อเป็น ‘เมืองสิทธารถนคร’ (Siddharthanagar) รถต้องหยุดประมาณ 15-30 นาทีเพื่อตรวจวีซ่าและพาสปอร์ตจากนั้นนั่งรถต่อจนถึง “สถานที่ประสูติ” ณ เมืองลุมพินี (Lumbini) อำเภอไภรวา แคว้นอูธ ประเทศเนปาล

ตามรอยพระพุทธเจ้าจาก India ถึง Nepal สังเวชนียสถาน 4 ตำบล

ลุมพินี สถานที่ประสูติของพระพุทธองค์ในประเทศเนปาล

วันนี้ลุมพินีเงียบสงบ บรรยากาศใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ร่มรื่นเหมาะนั่งสมาธิปฏิบัติธรรม ใจกลางที่นี้คือเสาหินพระเจ้าอโศกมหามายาเทวีวิหารและสระสรงสนาน (ซึ่งพระมารดาของพระพุทธองค์ทรงลงสรงน้ำก่อนให้การประสูติ) ปัจจุบันมหามายาเทวีวิหารได้รับการบูรณะ สร้างครอบจุดที่พระนางสิริมหามายายืนเหนี่ยวกิ่งต้นสาละให้กำเนิดเจ้าชายสิทธัตถะ แต่ภายในห้ามถ่ายภาพ โดยรอบมีกองอิฐสร้างซ้อนทับกันหลายยุค เป็นซากอารามและกุฏิสงฆ์ซึ่งถูกทำลายไปหมดแล้ว

ตามรอยพระพุทธเจ้าจาก India ถึง Nepal สังเวชนียสถาน 4 ตำบล

หากวันใดใบของต้นศรีมหาโพธิ์ร่วงลง ก็จะมีคนเก็บไปบูชาเพื่อเป็นมงคล

เหตุที่เจ้าชายสิทธัตถะมาประสูติอยู่ ณ สวนลุมพินีวันก็เพราะพระนางสิริมหามายาพระมารดาเป็นเชื้อสายเนปาลกรุงเทวทหะ แคว้นโกลิยะ ทรงอภิเษกกับพระเจ้าสุทโธทนะแห่งกรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ ครั้นพระนางสิริมหามายาทรงพระครรภ์ใกล้คลอด จำต้องกลับไปคลอดที่บ้านเกิดของตนตามธรรมเนียมโบราณ ขณะเดินทางจากกรุงกบิลพัสดุ์ไปกรุงเทวทหะผ่านจุดกลางทางที่สวนลุมพินีวัน  ทรงพักลงสรงน้ำแล้วเกิดเจ็บพระครรภ์ให้การประสูติพระโอรส ด้วยบุญญาธิการโอรสจึงเดินได้ 7 ก้าวพร้อมเปล่งวาจาสิทธิ์ว่า “เราจะเป็นผู้เลิศที่สุดในโลก เราจะเป็นผู้เจริญที่สุดในโลก เราจะเป็นผู้ประเสริฐที่สุดในโลก การเกิดของเรานี้เป็นชาติสุดท้าย บัดนี้จะไม่มีภพใหม่อีก” จากนั้นพระนางสิริมหามายาจึงเสด็จกลับกรุงกบิลพัสดุ์ โดยโกณฑัญญะพราหมณ์หนุ่มทำนายหนักแน่นว่าพระราชกุมารสิทธัตถะจะเสด็จออกบวชได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน

ตามรอยพระพุทธเจ้าจาก India ถึง Nepal สังเวชนียสถาน 4 ตำบล

ชาวพุทธทั่วโลกหลั่งไหลมานั่งสมาธิบำเพ็ญภาวนา ณ ต้นศรีมาหาโพธิ์

เช้าวันถัดมา ฉันนั่งรถบัสต่อไปยังสังเวชนียสถานแห่งที่ 3 คือ “สถานที่ดับขันธปรินิพพาน” ตำบลมถากัวร์ อำเภอกุสินคร จังหวัดเดวเย เมืองกุสินารา รัฐอุตตรประเทศ ในสาลวโนทยานซึ่งครั้งพุทธกาลเป็นป่าต้นสาละร่มรื่น ใจกลางที่นี่คือ “มหาปรินิพพานสถูป” เป็นสถูปมหึมาสีขาวทรงบาตรคว่ำสร้างโดยพระเจ้าอโศกครอบจุดที่พระพุทธองค์ทรงดับขันธปรินิพพานไว้

ตามรอยพระพุทธเจ้าจาก India ถึง Nepal สังเวชนียสถาน 4 ตำบล

เดินเวียนประทักษิณเป็นพุทธบูชา ณ สถานที่ปรินิพพาน

ผู้จาริกแสวงบุญในชุดสีขาว ในมือถือเครื่องบูชาดอกไม้ธูปเทียนและผ้าเหลืองเดินสวดมนต์กระหึ่ม เวียนประทักษิณรอบมหาปรินิพพานสถูป ฉันนั่งสวดมนต์พร้อมกับผู้จาริกชาวศรีลังกานับร้อยโดยมีพระพุทธรูปปางปรินิพพานอายุ 1,900 ปี ฝีมือช่างชาวมถุราประดิษฐานอยู่กลางโถง เสียงสวดมนต์กระหึ่มพร้อมเพรียงทำให้น้ำตาฉันไหลออกมาด้วยความอิ่มเอิบและปีติ

ตามรอยพระพุทธเจ้าจาก India ถึง Nepal สังเวชนียสถาน 4 ตำบล

สถานที่ปรินิพพาน ปัจจุบันมีการสร้างรูปจำหลักหินพระพุทธองค์จำลองไว้

เหตุที่พระพุทธองค์ทรงเลือกกุสินาราซึ่งเป็นเมืองเล็กๆ เพื่อดับขันธปรินิพพานก็เพราะทรงพิจารณาแล้วว่าหากไปปรินิพพานในเมืองใหญ่ เมืองนั้นคงจะไม่แบ่งพระบรมสารีริกธาตุให้เมืองอื่นเป็นแน่ คงจะเกิดสงครามนองเลือด อีกทั้งทรงเล็งเห็นแล้วว่าจะมีพราหมณ์ผู้สามารถชื่อโทณพราหมณ์มาช่วยเจรจากับกษัตริย์ 7 หัวเมืองใหญ่ให้แบ่งพระบรมธาตุไปได้อย่างสันติและเท่าเทียม ซึ่งก็เป็นจริงดังที่ทรงทำนายไว้

ตามรอยพระพุทธเจ้าจาก India ถึง Nepal สังเวชนียสถาน 4 ตำบล

นักแสวงบุญเข้าแถวยาวเหยียด เพื่อเข้ากราบที่ปรินิพพาน

วันถัดมาฉันบึ่งรถบัสจากพาราณสีไปเมืองพุทธคยา (Gaya) รัฐพิหาร (Bihar) ระยะทาง 220 กิโลเมตรในเวลาบ่ายแก่ฉันก็ได้เดินเข้าสู่ “พระมหาเจดีย์พุทธคยา” ซึ่งอยู่ติดกับ “ต้นศรีมหาโพธิ์” ณ จุดที่ทรงตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าครั้งพุทธกาล อยู่ในตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แคว้นมคธ ห่างจากชายฝั่งแม่น้ำเนรัญชราประมาณ 350 เมตร เมื่อทรงตรัสรู้แล้วทรงเสวยวิมุตติสุขจากความหลุดพ้นอยู่ 7 สัปดาห์จึงเริ่มออกเผยแผ่พระพุทธศาสนานานถึง 45 ปีจนปรินิพพานด้วยพระชนม์ชีพ 80 พระชันษา

ตามรอยพระพุทธเจ้าจาก India ถึง Nepal สังเวชนียสถาน 4 ตำบล

เจดีย์พุทธคยาอันยิ่งใหญ่ สร้างขึ้นใกล้กับต้นศรีมหาโพธิ์

พระมหาโพธิเจดีย์เปรียบได้กับอนุสรณ์สถานแห่งการตรัสรู้ เป็นเจดีย์สี่เหลี่ยมสูง 170 ฟุต ภายในประดิษฐาน “พระพุทธเมตตา” ซึ่งรอดพ้นการทำลายมาได้ เล่ากันว่ากองทหารที่มาทำลายเห็นแล้วศรัทธาจึงก่ออิฐคลุมไว้และโกหกนายกองว่าทำลายพระพุทธเมตตาแล้ว นายกองผู้นั้นหัวเราะชอบใจจนสำลักเลือดตายด้วยผลกรรมทันตาเห็น พระพุทธเมตตาเป็นที่เคารพศรัทธาของชาวพุทธทั่วโลก เมื่อกราบท่านแล้วก็ได้เวลาออกไปสวดมนต์นั่งสมาธิใต้ต้นศรีมหาโพธิ์สัญลักษณ์แห่งการตรัสรู้อันผุดผ่อง

ตามรอยพระพุทธเจ้าจาก India ถึง Nepal สังเวชนียสถาน 4 ตำบล

มหาวิทยาลัยนาลันทา อดีตมหาวิทยาลัยสงฆ์ใหญ่ที่สุดในโลก แต่โดนเผาจนสิ้น

วันสุดท้ายก่อนกลับไทยฉันใช้เวลาที่เหลืออย่างคุ้มค่าเดินทางจากพุทธคยาไปเมืองราชคฤห์นครหลวงของแคว้นมคธอันรุ่งเรืองในอดีต ได้เดินขึ้นไปยังยอดเขาคิชฌกูฏเพื่อนมัสการมูลคันธกุฏีหรือกุฏิของพระพุทธเจ้าในครั้งพุทธกาล โดยมีถ้ำของพระโมคคัลลานะ พระสารีบุตร และกุฏิของพระอานนท์อยู่ก่อนถึงมูลคันธกุฏี จากนั้นในตอนบ่ายฉันได้ไปชม “มหาวิทยาลัยนาลันทา” มหาวิทยาลัยสงฆ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกครั้งพุทธกาล ซึ่งถูกกองทัพมุสลิมเติร์กทำลายลงในกองเพลิงอย่างน่าเศร้า

ตามรอยพระพุทธเจ้าจาก India ถึง Nepal สังเวชนียสถาน 4 ตำบล

วัดไทยกุสินารา งดงามน่าศรัทธา เป็นหนึ่งในจุดแวะของนักแสวงบุญชาวไทย

การแสวงบุญนมัสการสังเวชนียสถาน 4 ตำบลถือเป็นการค้นหาสัจธรรมยิ่งใหญ่ในชีวิตชาวพุทธ การได้ไปเยือนสถานที่จริงซึ่งพระพุทธองค์เคยยังพระชนม์ชีพอยู่คือการย้ำเตือนว่าคำสอนของท่านมีจริง และนำมาปฏิบัติให้เห็นผลได้ในทุกนาทีของชีวิต

เพื่อความสะอาด สว่าง สงบ ตลอดไป

ตามรอยพระพุทธเจ้าจาก India ถึง Nepal สังเวชนียสถาน 4 ตำบล

รอยพระพุทธบาทจำลองบนยอดเขาคิชณกูฎ เมืองราชคฤห์

Traveller’s Guide

  • Best Season : สังเวชนียสถาน 4 ตำบล ประเทศอินเดีย-เนปาลเดินทางไปแสวงบุญและท่องเที่ยวได้ตลอดปี ฤดูฝนระหว่างเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม มีนักแสวงบุญไม่หนาแน่น ส่วนฤดูท่องเที่ยวเดือนพฤศจิกายน-เมษายน ฟ้าปลอดโปร่ง อากาศเย็น แต่มีนักแสวงบุญเนืองแน่น
  • Getting There : จากสนามบินสุวรรณภูมิมีหลายสายการบินตรงไปเมืองกัลกัตตาและพุทธคยา จากนั้นนั่งรถไฟหรือรถยนต์ต่อไปเมืองสารนาถ ลุมพินี พุทธคยา พาราณสี และราชคฤห์ สามารถซื้อแพ็กเกจทัวร์ไปจากเมืองไทย ควรมีสุขภาพแข็งแรง เพราะระยะทางค่อนข้างไกลและสมบุกสมบัน
  • More Info : www.buddhist-pilgrimage.com

อ่านบทความอื่นๆ เพิ่มเติมได้ที่ : The City of Joy Calcutta “กัลกัตตา” เมืองแห่งรอยยิ้มและความสุข


Tag: , Far Away, อินเดีย, เนปาล,

เรื่องโดย

ความคิดเห็น

Editor’s Pick

Recent

Most Viewed