การบริหารเวลาเพื่อความสำเร็จของชีวิต

วันที่ 22 เมษายน 2567  313 Views
นิตยสาร Gourmet & Cuisine ฉบับที่ 284 เดือนมีนาคม 2567

มีคำกล่าวว่า “เราสามารถมีอะไรก็ได้ที่เราต้องการในชีวิต แต่เราไม่สามารถมีทุกสิ่งทุกอย่างได้” นั่นคือ ความท้าทายที่แท้จริงในการบริหารเวลาที่มีจำกัดของเรา ไม่ใช่เกี่ยวกับว่าทำอย่างไรจึงจะทำทุกสิ่งทุกอย่างให้สำเร็จ แต่เกี่ยวกับว่าจะตัดสินใจอย่างฉลาดที่สุดอย่างไรที่จะปฏิเสธสิ่งที่ไม่ใช่ เพื่อที่จะได้จดจ่ออยู่กับเรื่องที่สำคัญที่สุด

การบริหารเวลาเพื่อความสำเร็จของชีวิต

เลือกเป้าหมายความสำเร็จที่ต้องการ
ท่านวอร์เรน บัฟเฟตต์ คนที่รวยที่สุดในโลก เคยตอบคำถามนักบินส่วนตัวซึ่งถามว่า ควรจัดลำดับความสำคัญในชีวิตอย่างไร คำแนะนำคือให้ทำรายการสิ่งที่ต้องการที่สุดในชีวิตออกมา 25 เรื่อง เสร็จแล้วให้เรียงตามลำดับความสำคัญ และคัดเฉพาะ 1-5 อันดับแรกเพื่อทำการจัดสรรเวลาในการดำเนินการความฝันเหล่านั้นให้สำเร็จ ส่วนที่เหลืออีก 20 รายการให้ทิ้งไป แทนที่จะหาเวลาไปทำทีหลัง และต้องหลีกเลี่ยงที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องโดยสิ้นเชิง เพราะว่ามันไม่สำคัญพอที่จะนำเข้ามาเป็นแก่นของชีวิต แต่มันอาจจะกวนใจเราให้ละจากสิ่งที่สำคัญที่สุด

ใช้หลักการ “จ่ายตัวเองก่อน”
เลียนแบบวิธีการบริหารการเงินส่วนบุคคล ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีนั่นคือ เมื่อได้รับเงินเดือนมาให้แบ่งส่วนหนึ่งไปเป็นเงินออมก่อนทันที เป็นการจ่ายให้ตัวเองก่อน แล้วค่อยใช้จ่ายจากเงินที่เหลือ ใช้หลักการเดียวกันนี้ในการบริหารเวลา ถ้ากิจกรรมใดที่มีความสำคัญจริงๆ วิธีเดียวที่จะทำให้มั่นใจว่ามันจะเกิดขึ้นคือทำบางส่วนในวันนี้ ไม่ว่าจะเล็กน้อยเพียงไรก็ตาม โดยทำงานที่เกี่ยวกับโครงการที่สำคัญที่สุดในชั่วโมงแรกของแต่ละวัน และให้ปกป้องเวลาของเราโดยการกำหนดตารางเวลาในการนัดพบกับตัวเอง เพื่อว่าเรื่องอื่นๆ จะได้ไม่สามารถแทรกเข้ามาแทนที่ได้  

จำกัด “งานระหว่างทำ”
ผู้คนส่วนใหญ่มักจะเริ่มต้นหลายๆ โครงการพร้อมๆ กัน เพื่อให้รู้สึกว่ามีความคืบหน้าไปหลายๆ อย่าง แต่ในความเป็นจริงแล้วมันจะไม่มีความคืบหน้าเลย เพราะว่าแต่ละครั้งที่เราเริ่มรู้สึกว่าโครงการยาก หรือน่าเบื่อ เราสามารถเปลี่ยนไปทำโครงการอื่นแทนได้ง่าย ทางเลือกคือให้กำหนดตายตัวถึงเพดานสูงสุดของจำนวนงานที่เราอนุญาตให้ตัวเองทำในช่วงเวลาใดๆ ซึ่งแนะนำว่าไม่ควรเกิน 3 รายการ เมื่อได้เลือกรายการเหล่านี้แล้ว ความต้องการเวลาอื่นๆ จะต้องรอจนกระทั่ง 1 ใน 3 ของรายการได้เสร็จสิ้นแล้ว เราอาจจะละทิ้งโครงการที่เป็นไปไม่ได้กลางคันเพื่อให้มีพื้นที่ว่างก็ได้ ประเด็นสำคัญคือให้กำจัดนิสัยที่ไม่ดีในการปล่อยให้จำนวนโครงการที่เสร็จครึ่งๆ กลางๆ ให้ขยายไปเรื่อยๆ  

ข้อคิดข้างต้นสรุปย่อมาจากส่วนหนึ่งของหนังสือ “Four Thousand Weeks ของ Oliver Burkeman” ซึ่งกล่าวถึงการบริหารเวลาของมนุษย์ที่มีเพียง 4,000 สัปดาห์ไว้อย่างน่าสนใจ ลองนำมาปฏิบัติดูนะคะ


Tag: Last But Not Least

เรื่องโดย

ความคิดเห็น

Editor’s Pick

Recent

Most Viewed