ดูแล “ความคิด” อย่างไรให้มีความสุข

วันที่ 8 เมษายน 2567  541 Views
นิตยสาร Gourmet & Cuisine ฉบับที่ 282 เดือนมกราคม 2567

ดูแล “ความคิด” อย่างไรให้มีความสุข

สมองของมนุษย์ผลิตความคิดออกมาตลอดเวลาตามธรรมชาติ ความคิดที่มีประโยชน์คือความคิดที่ใช้ในการทำงานและในการแก้ปัญหา แต่มีความคิดอีกประเภทหนึ่งที่เคลื่อนไหวอยู่ในหัวของเราตลอดเวลา ซึ่งบางครั้งก็ทำให้เรามีความทุกข์  เพราะเป็นความคิดลบที่ก่อให้เกิดอารมณ์เครียด ฉะนั้น ถ้าเราต้องการมีความสุขในปัจจุบัน ก็ต้องเรียนรู้วิธีการควบคุมความคิด ซึ่งมีแนวทางดังนี้คือ

  1. สังเกตข้อความที่คุยกับตัวเองในหัวของเรา : นั่งเงียบๆและสังเกตว่ามีความคิดอะไรเกิดขึ้นในหัวของเรา ให้ละเอียดที่สุดเท่าที่จะทำได้ อย่าต่อต้านความคิดที่โผล่ขึ้นมา แต่ให้เฝ้าดูแทน แล้วปล่อยมันไป พร้อมทั้งย้ำเตือนกับตัวเองว่า “ความคิดไม่ใช่ตัวเรา” ความคิดมาแล้วก็ไป มันไม่มีอำนาจเหนือเรา
  2. สังเกตเรื่องราวความรู้สึกที่เกิดขึ้น : แน่นอนว่าไม่มีใครสามารถปล่อยผ่านความคิดทุกอย่างได้ จะยังคงมีความคิดบางอย่างคงติดข้องอยู่ ทำให้เราคงจมปลักกับความคิดอันนั้น และรับรู้เรื่องราวอื่นๆรอบตัวน้อยลง เริ่มต้นให้สังเกตว่าเรารู้สึกอย่างไร อย่าต่อต้านอารมณ์ที่เกิดขึ้น เราอาจจะขุดลึกลงไปว่าทำไมจึงรู้สึกโกรธ หรืออยู่ในสภาวะปั่นป่วนว้าวุ่น ความคิดอะไรนำมาสู้จุดนี้ อาจจะเป็นประสบการณ์ในอดีต ความเชื่อบางอย่าง ทำความเข้าใจถึงสาเหตุ  ซึ่งจะช่วยให้มีช่องว่างให้เราเยือกเย็นลง แล้วเราจะพบว่า มันไม่คุ้มค่าที่จะปล่อยให้อารมณ์นี้คุกรุ่นอยู่ต่อไป
  3. นำความคิดที่ดีเข้ามา : หากปล่อยให้ความคิดลบเข้าครอบงำ มันก็จะเป็นการยากที่จะสลัดให้หลุดไป วิธีที่ง่ายที่สุดก็คือ เอาความคิดที่ไม่มีความสุขทิ้งไป และทดแทนด้วยความคิดที่มีความสุข เมื่อไรก็ตาม ที่ความคิดในทางลบเกิดขึ้น ก็แค่สอนให้สมองของเราคิดเรื่องอื่นแทน
  4. ฝึกไม่คิดอะไรเลย: เปลี่ยนความสนใจเข้ามาข้างใน ให้ความสนใจกับร่างกายของเรา หยุดคิดด้วยการทำสมาธิง่ายๆ โดยจดจ่ออยู่กับลมหายใจเข้าออกยาวๆ สัก 2 นาที ทำได้บ่อยๆเมื่อเกิดความฟุ้งซ่าน
  5. จัดการ “ความคิดลบ” อย่างถูกต้อง: เราควรตื่นตัวต่อสิ่งที่เป็นลบในระดับที่มันสามารถเตือนเราต่ออันตรายได้  โดยรับรู้ว่า สิ่งที่เป็นลบนั้นคืออะไร เช่น บางสิ่งบางอย่างที่เราไม่ต้องการ หรือบางสิ่งบางอย่างที่หากเพิกเฉยแล้วอาจนำปัญหามาให้ภายหลัง เมื่อรู้แล้วก็ลงมือจัดการแก้ไขทันที พร้อมทั้งทดแทนด้วยปัจจัยในทางบวก

การฝึกหัดอย่างนี้ ในไม่ช้าจะกลายเป็นระบบอัตโนมัติและกลายเป็นระบบนำทางภายในของเรา เพื่อช่วยให้เรารอดพ้นจากความล้มเหลว นำไปสู่ความสำเร็จและความสุขในชีวิต


Tag: Last But Not Least

เรื่องโดย

ความคิดเห็น

Editor’s Pick

Recent

Most Viewed