“ศิษย์ปัจจุบัน”
ชวัลกร วรรธนพิสิฐกุล แรงบันดาลใจของผู้หญิงรุ่นใหม่ในวงการอาหาร
“ติ๊บไม่อยากให้คนมองว่าคนนี้เป็นดาราที่ทำอาหารเป็นหรือเป็นดาราที่เข้ามาในวงการนี้ประเดี๋ยวประด๋าว เลยต้องทำให้ตัวเองรู้สึกว่ากระติ๊บในวันนี้เก่งขึ้นจากเมื่อวาน วงการอาหารไม่เคยหยุดนิ่ง เพราะฉะนั้นถ้าจะอยู่ในวงการนี้ ติ๊บก็อยากเป็นคนที่รู้ลึกรู้จริง”
กระติ๊บ-ชวัลกร วรรธนพิสิฐกุล ปรากฏตัวอย่างเป็นทางการครั้งแรกในวงการอาหารด้วยการเป็นหนึ่งในผู้แข่งขันรายการแข่งขันทำอาหารเมื่อหลายปีก่อน แสดงฝีมืออันน่าทึ่งให้เซอร์ไพรส์ตั้งแต่รอบแรกจนรอบสุดท้าย เหมือนพาทุกคนไปเยือนโลกแห่งอาหารของเธอ (สักที)
“ตั้งแต่จำความได้ แม่เปิดร้านอาหารไทยอยู่ที่กัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย แต่ก่อนทั้งรักทั้งชังอาชีพนี้ เพราะแม่ไม่มีเวลาให้เรา ตอนเด็กๆ จำได้ว่าเพื่อนจะบอกว่าไม่เคยเห็นแม่ติ๊บเลย ตอนนั้นน้อยใจว่าแม่รักร้านอาหารมากกว่าเราหรือเปล่า ทุกครั้งที่ไปช่วยงานเขา ตีสองเราต้องตื่นไปตลาด เตรียมของ รู้สึกว่าอาชีพนี้เหนื่อยมาก
“ในชีวิตติ๊บแข่งอะไรมาหลายอย่างแม่ไม่เคยยิ้มเลย ไม่เคยอินไปกับเรา แต่พอบอกว่าติ๊บจะไปแข่งทำอาหารนะ แววตาเขามันบอกว่าภูมิใจในตัวเรามาก แล้วก็พร้อมแชร์ประสบการณ์ให้ฟัง ทักษะหลายอย่างติ๊บได้จากแม่ตั้งแต่เด็กโดยไม่รู้ตัว เช่น แม่ปอกหอมอยู่แล้วเราอยากนั่งใกล้แม่ เราต้องฝึกปอกหอมให้เป็น หรือการช่วยขอดเกล็ดปลา ล้างไส้ปลา เพราะอยากให้แม่เข้านอนเร็วขึ้น”
เมื่อลงสนามแข่ง โลกอาหารของเธอใบใหญ่ขึ้นและเต็มไปด้วยเรื่องน่าค้นหา อีกทั้งยังได้รู้จักกับเชฟหญิงที่เป็นแรงบันดาลใจนั่นคือเชฟเมย์-พัทธนันท์ ธงทอง ซึ่งเป็นอาจารย์ในการทำอาหารของเธอ
“ยิ่งรู้จักยิ่งรู้สึกว่าผู้หญิงคนนี้เก่ง ตอนที่การแข่งขันจบ เราอยากแข่งต่อก็เลยไปอ้อนเชฟอยู่นานเป็นปีว่าอยากเป็นทีมชาติไทย แต่เชฟบอกว่า ‘ไม่ ติ๊บยังไม่พร้อม’ จนวันหนึ่งเชฟบอกว่าถ้าอยากเป็นทีมชาติไทยจริงๆ ไปแข่ง THAIFEX ให้ได้เหรียญทองก่อนสิ ติ๊บก็เลยตั้งใจฝึก ไปลงแข่งพิซซาแล้วได้เหรียญเงินกลับมา ซึ่งเดชะบุญที่พิซซาไม่มีใครได้เหรียญทองสักคน ก็เลยไปบอกเชฟเมย์ว่าไม่มีใครได้เหรียญทองนะ (หัวเราะ) ติ๊บเลยได้เข้าทีมชาติไทยและไปแข่งที่ฟิลิปปินส์มาค่ะ”
ปัจจุบันคุณกระติ๊บเป็นนักเรียนหลักสูตรการประกอบขนมอบที่ เลอ กอร์ดอง เบลอ ดุสิต ซึ่งเจ้าตัวเคยสมัครเรียนที่นี่แล้วเมื่อสิบปีก่อน แต่ด้วยตารางงานทำให้จัดสรรเวลามาเรียนไม่ได้ “ตอนนั้นอยากเรียนเพราะอยากรู้เรื่องอาหาร แต่ตอนนี้เป้าหมายชัดเจนขึ้นอีก เราอยากเรียนเพื่อไปใช้แข่งขันได้ด้วย เป็นความคิดเดิมแค่ต่างช่วงวัย
“ติ๊บเรียนขนมอบเพราะไม่มีความรู้ทางนี้เลย แล้วก็รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องยาก แต่เชฟใช้คำง่ายๆ อธิบายให้เราเข้าใจและตรงประเด็น อุปกรณ์ที่ใช้ในครัวก็มาตรฐานสูงมาก เรารู้สึกว่าเขาลงทุนกับอุปกรณ์ให้นักเรียนใช้เพื่อนำไปต่อยอดในการทำธุรกิจจริงๆ ได้เพิ่มเติมทักษะ เชฟผู้สอนก็บอกทุกอย่างที่หาไม่ได้จากหนังสือ”
สำหรับผู้หญิงที่มีเธอเป็นแรงบันดาลใจ คุณกระติ๊บบอกว่าขอแค่ลงมือทำ ไม่มีอะไรที่สายเกินไป “ชีวิตติ๊บไม่เคยตั้งเป้าจนสูงเกินไป แค่ขอให้ตัวเองเป็นคนที่เก่งขึ้นกว่าเมื่อวาน อย่าคิดว่าเป็นผู้หญิงแล้วจะไม่ประสบความสำเร็จในอาชีพใดอาชีพหนึ่งได้ เรามีสองมือ มีความคิด อย่าให้เพศสภาพมาเป็นข้อจำกัด ติ๊บเชื่อว่าต่อไปจะเป็น World Citizen ไม่แบ่งแยกแล้วว่าเป็นผู้ชาย-ผู้หญิง อย่าให้คำพูดที่ว่างานนี้เหมาะกับผู้ชายเท่านั้นมาบั่นทอน เพราะตอนนี้มีคำว่าเทคโนโลยีมาทุ่นแรงเราได้
“อีก 5 ปี 10 ปี คุณกลับมาอ่านข้อความนี้อีกครั้ง คุณจะรู้ว่ามันคือเรื่องจริง”
Note : What’s in her bag?
“ ‘น้องฟ้า’ เป็นมีดเล่มแรกที่ติ๊บซื้อในชีวิต ผ่านอะไรกับติ๊บมาตั้งแต่วันที่ตัดสินใจว่าจะลงแข่งทำอาหาร ใช้เล่มนี้ทั้งซ้อมและแข่ง พอหยิบเล่มนี้แล้วรู้สึกมั่นใจแล้วค่ะ ถ้าใช้เล่มอื่นรู้สึกไม่สบายใจบอกไม่ถูก”
อภิราม คชเสนี
Admissions and Student Services Manager
คิดอะไรไม่ออกให้ตามหา “พี่บี”
“พี่บี” ขวัญใจนักเรียนในรั้ว เลอ กอร์ดอง เบลอ ดุสิต ตำแหน่งอย่างเป็นทางการคือ Admissions and Student Services Manager ส่วนตำแหน่งไม่เป็นทางการคือ “พี่เลี้ยง” พี่บีประจำการที่นี่มานาน 10 ปี ดูแลนักเรียนตั้งแต่วันปฐมนิเทศจนถึงวันจบการศึกษา (นับไปนับมาก็ 65 รุ่นแล้ว)
“ทุกคนจะรู้ว่าพี่บีดูแลทุกอย่าง ใครมีปัญหาเรื่องเรียนแล้วไม่กล้าคุยกับเชฟก็มาบอกพี่บีได้ มีอุปกรณ์ชิ้นไหนหรือวัตถุดิบที่น้องๆ อยากได้เป็นพิเศษก็บอกได้ทันที สำหรับน้องๆ ที่สมัครเรียนครั้งแรก พี่บีจะถามก่อนว่าอยากเรียนเพื่อทำอะไร แต่ละคอร์สของที่นี่น่าสนใจแตกต่างกัน อยากให้ทุกคนมาเรียนแล้วสนุก ที่เลอ กอร์ดอง เบลอ ดุสิต เราให้ความสำคัญกับนักเรียนเป็นอันดับแรก”
*เข้าชมรายละเอียดคอร์สที่สนใจได้ที่ https://www.cordonbleu.edu/
Tag:
วันสตรีสากล, เลอ กอร์ดอง เบลอ ดุสิต
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น