เรื่องราวผู้หญิงในแวดวงอาหารแด่วันสตรีสากล

วันที่ 26 มีนาคม 2567  333 Views
นิตยสาร Gourmet & Cuisine ฉบับที่ 284 เดือนมีนาคม 2567

เรื่องราวของสิทธิสตรีเริ่มปรากฏครั้งแรกในหน้าประวัติศาสตร์ตั้งแต่ราวๆ ค.ศ. 1848 จากการที่ผู้หญิงชาวอเมริกันร่วมหลายร้อยคน นำโดย Elizabeth Cady Stanton และ Lucretia Mott ออกมาประท้วงในนิวยอร์ก ต่อประเด็นหลักที่ผู้หญิงถูกห้ามแสดงความคิดเห็นในที่ประชุมอนุสัญญาต่อต้านการเป็นทาส ในขณะเดียวกันก็เรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมทางการเมือง สังคม และศาสนาให้กับผู้หญิงด้วยเช่นกัน

เรื่องราวผู้หญิงในแวดวงอาหารแด่วันสตรีสากล

หลังจากนั้นในเดือนมีนาคม ปี ค.ศ. 1908 ก็เกิดเหตุการณ์ประท้วงของผู้หญิงชนชั้นแรงงาน ซึ่งถือเป็นการประท้วงครั้งใหญ่ด้วยจำนวนเป็นพันคน ขณะเดียวกันนักการเมืองหญิงชาวเยอรมันฝ่ายสังคมนิยม Clara Zetkin ได้ปลุกระดมกรรมกรหญิงด้วยการนัดหยุดงานในวันที่ 8 มีนาคม เพื่อเรียกร้องลดชั่วโมงการทำงานให้เหลือวันละ 8 ชั่วโมง ปรับปรุงสวัสดิการ และสิทธิการออกเสียงเลือกตั้ง จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1911 ความพยายามนี้ประสบผลสำเร็จ จากการประชุมสมัชชาสตรีสังคมนิยมครั้งที่ 2 ที่เดนมาร์ก และหลังจากนั้นได้กำหนดให้วันที่ 8 มีนาคมของทุกปีเป็นวันสตรีสากล (International Women's Day)

หลายปีต่อมาองค์การสหประชาชาติ (United Nations) หรือ UN ได้สนับสนุนความเท่าเทียมระหว่างชายและหญิง ผู้หญิงเริ่มมีสิทธิเสรีภาพมากขึ้นในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในอเมริกาที่ผู้หญิงเข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้น ถึงจะได้ค่าแรงน้อยกว่าผู้ชาย อย่างในช่วงปี ค.ศ. 1980 รายได้ต่อสัปดาห์ของผู้ชายอเมริกันอยู่ที่ประมาณ 400 ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนของผู้หญิงอยู่ที่ประมาณ 240 ดอลลาร์สหรัฐ แต่ภายหลังก็เริ่มมีความเท่าเทียมขึ้นเรื่อยๆ

จนในปัจจุบันผู้หญิงมีบทบาทสำคัญและเป็นกำลังสำคัญในทุกวิชาชีพ รวมทั้งในแวดวงอาหารที่ในอดีตมีบทบาทเฉพาะในบ้าน ทำอาหารให้ครอบครัว แต่ปัจจุบันเราจะเห็นผู้หญิงเป็นผู้สร้างสรรค์อาหารให้คนทั่วโลกอย่างหลากหลาย

ผู้หญิงในแวดวงอาหาร
จากในอดีตที่เรียกได้ว่าแวดวงอาหารมีแต่เชฟผู้ชาย แต่เมื่อโลกเปิดให้ผู้หญิงเข้าสู่พื้นที่นี้ เราจึงได้เห็นเชฟหญิงมากขึ้น ถ้าพูดถึงเชฟหญิงระดับตำนานต้องนึกถึง Eugénie Brazier เชฟหญิงชาวฝรั่งเศส ผู้ฝ่าฟันอุปสรรคจนกลายเป็นผู้หญิงคนแรกที่ทำให้ร้าน La Mère Brazier ของเธอได้รับมิชลิน 3 ดาวมาครองในปี ค.ศ. 1933 และในปีเดียวกันนี้ Marie Bourgeois เชฟชาวฝรั่งเศสก็ได้ดาวมิชลินเช่นกัน หลังจากนั้นก็ยังมีตามมาอีกหลายคน อาทิ Marguerite Bise ชาวฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1951 และ Garima Arora เชฟหญิงชาวอินเดียคนแรกที่ได้ดาวมิชลินในปี ค.ศ. 2018

ส่วนเชฟหญิงไทยก็ไม่ธรรมดาเพราะในปี ค.ศ. 2018 เชฟบี-บงกช สระทองอุ่น จากร้าน Paste Bangkok ที่ได้รับมิชลินด้วยฝีมือทำอาหารไทยสืบทอดจากที่บ้าน เชฟโบ-ดวงพร ทรงวิศวะ ก็ได้ดาวมิชลินจากร้านโบ.ลาน ที่ปรุงอาหารไทยเน้นวัตถุดิบแสดงความยั่งยืน เชฟป้อม-พัชรา พิระภาค จากร้านเสน่ห์จันทน์ เสิร์ฟอาหารไทยประยุกต์ เจ๊ไฝ-สุภิญญา จันสุตะ จากร้านเจ๊ไฝที่โด่งดังจากไข่เจียวปูชิ้นยักษ์ก็ได้ดาวจากมิชลินในปีเดียวกัน

ล่าสุดเชฟตาม-ชุดารี เทพาคำ เจ้าของร้านเทพา ร้านอาหารเหนือที่ใช้วัตถุดิบคุณภาพก็คว้าทั้งมิชลิน 2 ดาว และรางวัล MICHELIN Young Chef Award 2024 มาครองอย่างน่าภาคภูมิใจ

จนถึงปัจจุบันประเทศไทยมีเชฟมิชลินหญิงทั้งหมด 12 คน ซึ่งแน่นอนว่ายังมีผู้หญิงทั่วโลกอีกหลายร้อยคนที่ชื่นชอบการทำอาหาร ในหลายประเทศจึงมีการรวมกลุ่มกันของผู้หญิงเพื่อพูดคุยและแนะนำการทำอาหาร เช่น สมาคม MISS CHEF ในอิตาลี เว็บไซต์ Women Chefs และ Women Chefs League ที่จะนำสูตรอาหารของตนเองมาเผยแพร่ แนะนำร้านอาหารที่มีเชฟเป็นผู้หญิง และจัดอีเวนต์ให้ผู้หญิงที่ชอบทำอาหารได้มาพบกัน

ไม่ใช่โลกของอาหารเท่านั้นที่ผู้หญิงได้มายืนกันแถวหน้า แต่ในทุกๆ วงการ ผู้หญิงได้ก้าวเข้ามามีบทบาทไม่แพ้ผู้ชาย เช่น นักการเมืองหญิง ผู้บริหารหญิง นักวิทยาศาสตร์หญิง ฯลฯ 

จนมีคนเปรียบเปรยไว้ว่า “สตรีแบกโลกไว้ครึ่งหนึ่ง”

แหล่งข้อมูล

  • MONACO WOMAN. (n.d.). The Feminine World of Three Michelin Stars. Retrieved from monacowoman.com
  • MICHELIN GUIDE. (2021). รู้จัก 22 หญิงเก่งผู้กล้า ผู้ผลักดันวงการอาหารระดับรางวัลดาวมิชลินทั่วเอเชีย. สืบค้นจาก guide.michelin.com
  • UN Women. (n.d.). Timeline: Women of the world, unite. Retrieved from interactive.unwomen.org


Tag: Nice To Know, วันสตรีสากล

เรื่องโดย

ความคิดเห็น

Editor’s Pick

Recent

Most Viewed