สัมผัสหมอกในฤดูร้อนที่หมู่บ้าน “อีต่อง”

วันที่ 26 พฤษภาคม 2561  19,764 Views
นิตยสาร Gourmet & Cuisine ฉบับที่ 214 เดือนพฤษภาคม 2561

“จังหวัดกาญจนบุรีอยู่ในเขตเงาฝนจากการทอดตัวของเทือกเขาตะนาวศรี ทำให้พื้นที่ที่อยู่หลังภูเขามีอากาศร้อนอบอ้าว และมีปริมาณฝนตกเฉลี่ยน้อยกว่าบริเวณอื่นๆ”

ระหว่างที่เพื่อนสาวบรรยายสรรพคุณความหนาวเย็นของหมู่บ้านอีต่องที่ช่างแตกต่างกับอากาศ (โคตร) ร้อนในกรุงเทพฯ คำสอนของอาจารย์วิชาภูมิศาสตร์เมื่อ ตอน ม. ต้น ก็ย้อนเข้าโสตประสาทราวกับจะต่อต้านคำพูดของเพื่อนแทบจะทันที แต่เพราะกลัวจะมีคนน้อยใจไปเสียก่อน ก็เลยลองหาข้อมูลเอาใจพอเป็นพิธี แต่พอยิ่งค้นกลับยิ่งรู้สึกอยากจะหยิกตัวเองแรงๆ ให้เนื้อเขียว ในข้อหาที่ปล่อยให้ที่เที่ยวน่ารักๆ แบบนี้หลุดรอดสายตาไปได้

หมู่บ้าน “อีต่อง”

อาจเป็นเพราะเวลาเอ่ยถึงจังหวัดกาญจนบุรีเราก็แค่นึกถึงแต่น้ำตกหรือไม่ก็เขื่อน แต่ภายหลังจากที่อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิได้กลายเป็นจุดหมายใหม่ของนักเดินทางในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา หมู่บ้านเล็กๆ ที่แทบจะตัดขาดจากโลกภายนอกอย่าง “อีต่อง เหมืองปิล๊อก” ได้สร้างชื่อให้กับจังหวัดนี้อย่างเงียบๆ ในฐานะจุดแวะพักและที่ตั้งแคมป์ก่อนการเดินทางเข้าป่าเพื่อสัมผัสธรรมชาติอันแสนสวยงาม

การเดินทางไปอีต่องนั้นนับว่าต้องใช้เวลาและพลังใจอยู่พอสมควร หากเริ่มต้นจากกรุงเทพฯ ด้วยรถยนต์ส่วนตัวก็ใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 5 ชั่วโมง เรียกได้ว่าตรงยาวๆ จนเกือบจะสุดตะเข็บเขตชายแดนพม่า เมื่อเข้าสู่ตัวจังหวัดกาญจนบุรีก็ให้มุ่งหน้าไปทางอำเภอทองผาภูมิ พร้อมกับคอยสังเกตป้ายทางไปเหมืองปิล็อกเอาไว้ให้มั่น จากนั้นเราก็จะพบกับทางขึ้นเขาแคบๆ ที่พอให้รถสวนทางกันเท่านั้น หลังจากเหยียบคันเร่งและเลี้ยงคลัตช์อยู่นานเพื่อผ่าน 399 โค้ง (ไม่ได้นับเองนะ เขาบอกกันมา) ก็ถึงจุดหมาย เห็นได้จากป้ายสีน้ำเงินขนาดใหญ่ที่รอพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยว ถ้าใครมารถสาธารณะก็สามารถมาตั้งต้นที่ บขส. กาญจนบุรี แล้วต่อรถไปยังอำเภอทองผาภูมิ ตามด้วยรถสองแถวที่ส่งถึงหมู่บ้าน

หมู่บ้าน “อีต่อง”

แม้จะเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างในตอนนี้ แต่ที่นี่ก็ยังคอยต้อนรับนักท่องเที่ยวที่แวะเวียนมาตลอดทั้งปี ยิ่งเป็นวันเสาร์วันอาทิตย์ด้วยแล้วยิ่งอุ่นหนาฝาคั่งจนที่พักเต็ม ขณะที่วันธรรมดาผู้คนก็จะบางตา เช่นเดียวกับร้านรวงที่เปิดขายกันไม่ครบ (อย่างบ้านอิต่องโฮมสเตย์ที่พักของเรา ถ้าเป็นช่วงวันศุกร์-อาทิตย์ก็จะแปลงร่างเป็นร้านขายยำด้วย งานนี้เลยอดแซ่บเลย) ทว่าความเรียบง่ายแบบนี้นี่แหละกลับเป็นเสน่ห์ที่ทำให้หมู่บ้านธรรมดาๆ ที่มีเพียงแค่ผู้คน ห้องแถว ร้านรวง ตลาด โรงเรียน วัด ดูน่าสนใจอย่างน่าประหลาด

หมู่บ้าน “อีต่อง”

หมู่บ้าน “อีต่อง”

เช่นเดียวกับสัญญาณโทรศัพท์ทั้ง 4G และ Wi-Fi ยังมาแบบชัดจัดเต็มจนน่าประทับใจ ทั้งๆ ที่อยู่บนภูเขาสูงขนาดนี้ และนั่นก็ทำให้ภารกิจแรกของเราคือการเดินขึ้นไปยังเนินช้างศึกเพื่อถ่ายภาพพระอาทิตย์ตกดิน แต่ก่อนที่จะเข้าสู่โหมดของการใช้พลังงานอย่างหนักหน่วงเราก็ไม่ลืมที่สร้างแลนด์มาร์กกันก่อนที่หน้าสะพานข้ามเข้าหมู่บ้าน หากตึกนัมซานทาวเวอร์ ประเทศเกาหลี มีการสลักชื่อลงบนกุญแจ บ้านอีต่องของเราก็มีกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวเขียนชื่อลงบนแผ่นไม้ (หรือจะวาดรูป แต่งกลอนได้หมดตามถนัด) ก่อนที่จะผูกกับเสาข้างสะพานเป็นที่ระลึก

หมู่บ้าน “อีต่อง”

เส้นทางสู่จุดชมวิวที่เนินช้างศึกจะกินระยะทางราวๆ 1.2 กิโลเมตร โดยจะเป็นทางชันๆ ร่วมด้วยบันไดหินเตี้ยๆ ให้เราค่อยๆ ปีนขึ้นไป ก่อนที่เส้นทางจะทวีความคับแคบและคดเคี้ยวผันแปรตามระยะทางที่สูงขึ้น ซึ่งงานนี้หากใครโชคดีก็จะได้เจอกับไกด์ประจำถิ่นเป็นน้องหมาสีดำคู่แม่ลูกมาช่วยเลือกเส้นทางที่ถูกต้องให้ด้วย และถ้าสังเกตให้ดีจากวิธีการวิ่งและเข้าจู่โจมทันทีเวลามีคนขึ้นเขา เราก็คงต้องบอกว่านี่คืองานหลักและงานประจำของสองแม่ลูกอย่างแน่นอน

หมู่บ้าน “อีต่อง”

เนินช้างศึกมีลักษณะเป็นลานกว้างๆ บนเนินเขาให้เราได้มองหมู่บ้านอีต่องได้สุดลูกหูลูกตา แต่หากยังไม่หนำใจไกด์กิตติมศักดิ์ก็แนะนำให้ลองปีนฝ่าทุ่งและหินผาขึ้นไปอีกเล็กน้อย เพื่อที่จะได้พบกับลานเล็กๆ ที่ทำให้เรารู้สึกเหมือนยืนอยู่บนขอบผารายล้อมไปด้วยเทือกเขาเขียวสด ขณะที่สายลมเย็นๆ ก็กำลังทำหน้าที่คลายความร้อนและความเหนื่อยล้าซึ่งสั่งสมมาตลอดชั่วโมงการเดินได้เป็นอย่างดี จนอดไม่ได้ที่จะทิ้งตัวลงนั่งสัมผัสความสวยงาม น่าเสียดายที่วันนี้หมอกลงจัดไปหน่อยทำให้เราอดยลโฉมแสงพระอาทิตย์ลาลับขอบฟ้า แต่ก็นับว่าคุ้มค่าสำหรับคนที่ห่างเหินกับธรรมชาติมานาน และที่มากไปกว่านั้นเรายังได้เจอเพื่อนใหม่ ซึ่งเราก็ไม่ลืมที่จะซื้อหมูปิ้งเป็นของรางวัลให้กับคนนำทางจำเป็นก่อนจะจากกัน (อยากแอบเม้าท์มากๆ ว่าที่นี่มีน้องหมาเยอะ)

หมู่บ้าน “อีต่อง”

เมื่อเหลือเวลาอีกนิดเพราะแดดยังไม่ร่มลมยังไม่ตกดี เราก็เลยเดินแยกไปตามทางเพื่อไปยัง เหมืองปิล๊อก พิพิธภัณฑ์ขนาดย่อมที่อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรม จุดเด่นของที่นี่นอกจากจะมีบ่อปลาคาร์ฟที่เวียนว่ายทักทายเราแล้ว ภายในยังจัดแสดงอุปกรณ์การทำเหมืองในสมัยก่อนให้เราพอให้เห็นภาพในอดีตของเหมืองปิล๊อก ในอดีตบริเวณนี้เป็นแหล่งแร่ดีบุก วุลแฟรม ทังสเตน รวมไปถึงสายแร่ทองคำ ทำให้มีการจัดตั้งบ้านอีต่อง เหมืองปิล๊อก ในปี พ.ศ. 2483

หมู่บ้าน “อีต่อง”

สำหรับที่มาของชื่อ “เหมืองปิล๊อก” นั้นก็มีเรื่องเล่ากันว่าน่าจะเพี้ยนมาจากคำว่า “เหมืองผีหลอก” เนื่องจากพื้นที่นี้เคยเป็นจุดปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่ไทยกับกรรมกรพม่าที่ลักลอบเอาแร่สำคัญไปขายให้กับชาวอังกฤษ ทำให้มีผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก แม้ตำนานจะดูชวนน่าขนลุกอยู่นิดๆ (จะเล่าทำไมเนี่ย) แต่ที่นี่ก็เคยเป็นศูนย์รวมของความมั่งคั่งและต้อนรับนักแสวงโชคมากหน้าหลายตา ก่อนที่กาลเวลาจะพรากความรุ่งเรืองไป ภายหลังจากภาวะแร่โลกตกต่ำในปี พ.ศ. 2528 ตำนานของเหมืองปิล๊อกก็ได้ปิดตัวลง เหลือไว้เพียงหมู่บ้านเล็กๆ ที่ยังคงความเป็นตัวเองและผสมผสานความเป็นไทยและพม่าได้อย่างสง่างาม

หมู่บ้าน “อีต่อง”

พอพระอาทิตย์ตกดินอุณหภูมิของบริเวณนี้ก็ลดลงอย่างไม่น่าเชื่อ จากที่เคยรู้สึกว่าร้อนอบอ้าวเมื่อช่วงกลางวัน มาตอนนี้เรากลับรู้สึกถึงความเหน็บหนาวและความชื้นที่รายล้อมรอบตัว จนต้องควานหาเสื้อคลุม (จนต้องพูดในใจว่า เราเชื่อเธอแล้วเพื่อนรัก!) และเมื่อขึ้นไปดูวิวจากระเบียงชั้นสองของบ้านพักก็ต้องทึ่งเข้าไปใหญ่ เพราะความชื้นที่เรารู้สึกอยู่ตลอด แท้จริงก็มาจากหมอกจางๆ ที่กำลังลอยอย่างอ้อยอิ่งเชิญชวนให้เราเข้าไปแตะนั่นเอง

หมู่บ้าน “อีต่อง”

จนกระทั่งเช้าก็ดูเหมือนว่าหมอกยังคงวนเวียนอยู่กับเราไม่ไปไหน เราจึงอดเก็บภาพของแสงตอนเช้าหน้าหมู่บ้านไปตามระเบียบ กิจกรรมในเช้านี้ของเราเลยเริ่มที่การใส่บาตรขอพรพระสงฆ์ในช่วง 7 โมงเช้า ก่อนจะนั่งละเลียดไข่กระทะเมนูอร่อย และเดินลึกขึ้นเขาไปหลังหมู่บ้านเพื่อสักการะพระบรมสารีริกธาตุที่วัดเหมืองปิล๊อก ซึ่งสร้างขึ้นราวๆ 50-60 ปีก่อน วัดนี้สร้างตามศิลปะของพม่าแต่ยังไม่สู้สมบูรณ์นัก ทำให้มีการบูรณะอยู่เป็นเนืองๆ ถึงกระนั้นที่นี่ก็ยังคงความโดดเด่นด้วยบันไดทางขึ้นสักการะพระธาตุที่มีองค์พระประดิษฐานในปางต่างๆ ตามทางขึ้นไปจนสุดทางเดินบนเขา

หมู่บ้าน “อีต่อง”

หลังจากดื่มด่ำกับบรรยากาศบนเขาอยู่สักพัก ก็ได้เวลาเดินทางกลับ แน่นอนเราก็ไม่ลืมซื้อของติดไม้ติดมือกลับบ้านที่ตลาดอีต่องซึ่งเปิดกันตั้งแต่ตีห้าเรื่อยไปจนถึงสามทุ่ม ความน่าสนใจของตลาดแห่งนี้อยู่ที่ผลิตภัณฑ์ของพม่าที่มาในราคาย่อมเยา และที่สำคัญเพิ่งค้นพบว่านอกจากชาพม่าแล้ว ขนมของชาวพม่าก็อร่อยมากจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นถั่วตัดที่แพ็กเป็นซองๆ ก็หอมหวานละมุนเคี้ยวเพลินไม่ติดฟัน หรือเป็นขนมเปี๊ยะพม่าที่พอเปิดห่อแล้วคล้ายกับซาลาเปาทอด มีความฉ่ำน้ำมันนิดๆ ส่วนไส้ถั่วสีเหลืองก็ไม่ต่างจากบ้านเรา ร่วมด้วยปลาหัวยุ่งตากแห้งที่เขาบอกว่าเป็นปลาในทะเลอันดามันของพม่า ซึ่งลักษณะของหัวจะมีหนามแหลมๆ เลยเป็นที่มาของชื่อ และกว่าจะรู้ว่าของทั้งหมดนี้อร่อยก็คือตอนที่เราถึงบ้าน (รู้แบบนี้น่าจะขนกลับมาเยอะๆ เสียก็ดี เสียใจ)

หมู่บ้าน “อีต่อง”

หมู่บ้าน “อีต่อง”

สำหรับคอกาแฟเราขอแนะนำร้านชาวเหมือง ร้านกาแฟและร้านเค้กที่ติดอยู่กับป้ายทางเข้าใหญ่ยักษ์สีน้ำเงินทางเข้าบ้านอีต่อง ความน่ารักของร้านนี้อยู่ที่คุณลุงกับคุณป้าที่ยิ้มแย้มต้อนรับเรา แถมยังชี้ชวนดูต้นกาแฟที่ทั้งสองได้พันธุ์มาจากเพื่อนที่เชียงใหม่ ก่อนจะเฝ้าประคบประหงมจนได้กาแฟเป็นของตัวเองออกมาจำหน่ายให้ลิ้มลองกันทั้งแบบเป็นเมล็ด และแบบกาแฟถุงเท้าที่ชงกันสดๆ ส่วนรสชาติจะเป็นอย่างไรนั้น...

ต้องมาลองถึงจะรู้


Tag: , travel, กาญจนบุรี,

เรื่องโดย

ความคิดเห็น

Editor’s Pick

Recent

Most Viewed