“กระบี่มือหนึ่ง”
เชฟวิไลรัตน์ กรนพเกล้า เชฟผู้สอนหลักสูตรวิชาการครัวไทย เชฟหญิงหนึ่งเดียวของ เลอ กอร์ดอง เบลอ ดุสิต
“เชฟไม่อยากเป็นคนเผยแพร่ความรู้ด้านอาหารไทยในฐานะคนเบื้องหน้า แต่อยากเป็นคนที่อยู่ข้างหลังที่จะส่งแพสชัน ความรู้ ประสบการณ์ให้คนที่รักอาหารไทยนำไปต่อยอดและเผยแพร่ออกไปให้มากขึ้น”
เชฟวิไลรัตน์ กรนพเกล้า ในวัยเด็กเติบโตมาในบ้านหญิงล้วนตั้งแต่คุณพ่อจากไป ถูกเลี้ยงดูโดยผู้หญิง 3 บุคลิก คุณยาย คุณป้า และคุณแม่ (ซึ่งเชฟเรียกทุกคนว่าแม่) คุณยายเป็นสายเอนเตอร์เทน และสายบุญ พาเข้าวัด สวดมนต์ และเป็นนักประดิษฐ์ของให้เล่นแบบไม่น้อยหน้าลูกบ้านไหน คุณป้าเป็นแม่ครัวมือฉมังประจำบ้าน ส่วนคุณแม่เป็นเวิร์กกิงวูแมนคอยหาเลี้ยงครอบครัว เชฟเปรียบ 3 ทหารเสือว่าเป็นมุมของสามเหลี่ยมที่ทำให้เชฟมาถึงวันนี้ได้ ทั้งความเข้มแข็ง เด็ดขาด และอ่อนโยน และเป็นพลังของผู้หญิงที่เป็นแรงบันดาลใจให้เชฟอยากส่งต่อให้ถึงผู้หญิงรุ่นใหม่ด้วย
เชฟพูดอย่างภูมิใจว่าช่วง 5 ปีที่ผ่านมาได้เห็นทั้งเชฟดาวรุ่ง เฮดเชฟ หรือแม้กระทั่งเชฟโอนเนอร์ที่เป็นผู้หญิงซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีของน้องๆ รุ่นใหม่ “การเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายในครัวตอนนี้คงไม่ใช่ข้อกำหนดอีกแล้ว การมีเชฟผู้หญิงที่มีในวงการอาหารเยอะๆ ทำให้ผู้หญิงทุกคนมีแรงผลักดันให้เดินไปสู่การเป็นเชฟผู้หญิงแถวหน้าของแวดวงอาหารได้ วงการอาหารก็คึกคักมากขึ้นด้วย ถ้าเป็นเชฟหญิงจาก Le Cordon Bleu Dusit Alumni เชฟก็จะยิ้มกว้างเป็นพิเศษค่ะ”
สำหรับตัวเชฟเองโตมาในบ้านที่อาหารการกินเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด คุ้นเคยกับการถูกเรียกเข้าไปช่วยงานในครัวซึ่งเป็นกุศโลบายให้ไม่ออกไปเล่นไกลหูไกลตา “ทุกเทศกาลที่บ้านเกี่ยวข้องกับของกินทั้งหมดอย่าง เทศกาลสลากภัต ทุกบ้านจะทำสำรับไปถวายพระ ไม่ใช่แค่อร่อยแต่อาหารต้องสวย เวลาเราไปนั่งเรียงกันจะเห็นของบ้านอื่นก็จะแอบดูว่าสำรับบ้านข้างๆ มีขนมอะไรบ้าง ถาดขนมเป็นแบบไหน บางบ้านมีคนโทน้ำลอยดอกไม้ เราจำมาจนถึงทุกวันนี้ว่านี่คือเทศกาลอาหารของเรา อาหารเป็นเรื่องสนุกและมีเรื่องราว เป็นจุดเริ่มต้นว่าทำไมเราจึงผูกพันกับอาหารมาก”
เชฟจบปริญญาตรีด้านวิศวกรรมศาสตร์และทำงานในสายงานอยู่พักใหญ่ ก่อนจะสานฝันตัวเองหลังแต่งงานด้วยการบินไปเรียนด้านอาหารที่ William Angliss Institute เมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย (แบบไม่บอกแม่)
“โรงเรียนทำอาหารโหดกว่าที่คิดนะ ไม่ใช่แค่มาทำอาหาร คุณต้องตรงเวลา มีระเบียบวินัย ที่นี่ Le Cordon Bleu Dusit มันคือเดจาวูของเรา พอเรียนจบถึงได้บอกแม่ว่าเราไปเรียนทำอาหารมา แม่ตอบแค่ว่า ‘อืม เป็นไงบ้าง เหนื่อยไหม’ เราก็ตอบไปว่าเหนื่อยเหมือนไม่มีขาเลยแม่ (หัวเราะ) ยายก็เลยพูดขึ้นมาว่า ‘ยายถึงไม่เคยบอกว่ายายเคยขายขนมไทยมาก่อน เพราะมันเหนื่อยจริงๆ’ แต่เราว่าเป็นความสุขบนความทุกข์ที่เราจัดการได้ เหนื่อยแต่อยากทำอีกเพราะมันสนุกจังเลย”
หลังจากนั้นเชฟกลับมาสอนทำอาหารไทยให้ชาวต่างชาติ ไปเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ก่อนจะมาประจำอยู่ที่ เลอ กอร์ดอง เบลอ ดุสิต ในหลักสูตรวิชาการครัวไทย “ความยากของการสอนที่นี่อยู่ที่กลุ่มอายุมีตั้งแต่ 18 ปี ถึง 60 ปี ความหลากหลายของเชื้อชาติและวัฒนธรรม ทุกคนนั่งอยู่ในห้องเดียวกัน มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน ฉะนั้นเรื่องที่เราพูดต้องชัดเจน ความเข้าใจอาจเหลื่อมกันตามวัยและประสบการณ์ บางคนพูดตรงได้ บางคนต้องอ้อมนิดหน่อย บางคนต้องใช้วิธีให้กำลังใจมากกว่าการสั่ง หลายคนเคยบอกว่าเป็นครูน่าเบื่อจะตายต้องสอนเหมือนเดิม ไม่จริงเลยค่ะ เพราะนักเรียนจะมีเรื่องเซอร์ไพรส์ให้เราต้องปรับตัวทุกวัน”
แรงบันดาลใจในอาชีพครูของเชฟคือ ผศ.ศรีสมร คงพันธุ์ หรือ อ.ศรีสมร ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารไทยที่มีความเป็นครูจนกระทั่งวาระสุดท้าย อีกทั้งเป็นอาจารย์ผู้ใหญ่ที่ทันสมัย สอนเข้าใจง่าย มีเหตุผล มีวิทยาศาสตร์รองรับ “อีกท่านคือ คุณศุภจี สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ผู้หญิงคนแรกของ IBM ประเทศไทย จนคุณศุภจีมาเป็น CEO ดุสิตกรุ๊ป ก็ยิ่งสัมผัสได้ถึงพลังความเก่ง เป็นคนเก่งที่ถ่อมตัว นุ่มนวล แต่มุ่งมั่น การเป็นหัวหน้าไม่จำเป็นต้องดุดัน นุ่มได้แต่ตรงประเด็น เฉียบขาด แล้วก็รับฟังคนอื่นให้มากก่อนจะพูดหรือสั่งออกไป”
แต่เหนือสิ่งอื่นใด การที่เชฟเอก้าวมาเป็นเชฟหญิงหนึ่งเดียวของ เลอ กอร์ดอง เบลอ ดุสิต ในวันนี้ได้คงต้องยกเครดิตให้ผู้หญิงที่เป็นต้นแบบคือคุณแม่ทั้ง 3 คน “ที่บ้านเราไม่มีผู้ชายจึงไม่เคยรู้ว่าบ้านที่มีผู้ชายอยู่เขาสอนกันแบบไหน รู้แค่บ้านเราสอนแบบนี้แล้วทำให้เราเป็นเรา เขามีวิธีเลี้ยงที่พอดี ให้ได้ลองทำในสิ่งที่ไม่เคยทำแต่ไม่อันตราย ไม่ให้เราขี้กลัวแต่ไม่ได้กล้าจนเกินไป และสอนให้ทำทุกอย่างเต็มที่เสมอ มันเป็นพลังของผู้หญิงที่ทั้งผลักดัน และเป็นแรงบันดาลใจสำคัญในชีวิต
“ถ้าขาดคนใดคนหนึ่งจะเป็นเราในวันนี้ไม่ได้เลย”
Note : What’s in her bag?
“ในกระเป๋าของเชฟ เชฟรู้สึกว่ามีดเล็ก Paring Knife มีแล้วอุ่นใจ เพราะทำได้หลายอย่าง จะใช้ปอก หั่นของชิ้นเล็กๆ หรือใช้เลาะกระดูกก็ได้ ทำความสะอาดและจัดเก็บง่าย เป็นอุปกรณ์ชิ้นเล็กที่เติมเต็มส่วนที่มีดเชฟทำไม่ได้เพื่อให้อาหารของเราสมบูรณ์แบบมากขึ้น”
Tag:
Cover story, วันสตรีสากล, เลอ กอร์ดอง เบลอ ดุสิต
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น