จากการสำรวจของ Centers for Disease Control and Prevention (CDC) หรือกรมควบคุมโรคประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่าคนอเมริกันมีเพียง 27 % ที่บริโภคผักได้ 3 ส่วนต่อวัน ซึ่งถือเป็นปริมาณที่น้อยมากๆ สำหรับประเทศไทยพบว่ามีจำนวน 20-25 % ของวัยผู้ใหญ่ที่กินผักได้ตามที่แนะนำ นั่นคือ 3 ทัพพี โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาหลักคือเราไม่ค่อยกินผักกลุ่มใบเขียวเข้ม เพราะไม่ชอบกลิ่นเหม็นเขียวและรสที่ออกขมของผัก บางคนเห็นแค่ผักสีเขียวหรือเครื่องดื่มที่ออกสีเขียวก็ไม่ยอมกินแล้ว ทำให้ไม่ได้รับประโยชน์จากผักสีเขียวเข้ม
กระแสสุขภาพในปี ค.ศ. 2018 มาแรงมากในเรื่องของอาหารการกินซึ่งเน้นเรื่องการป้องกันโรคและการบำรุงรักษาร่างกาย ดังนั้นกระแสหนึ่งที่มาแรงในยุโรปและอเมริกาคือการดื่มน้ำที่มาจากหญ้าต่างๆ และที่นิยมมากคือน้ำจากต้นอ่อนข้าวสาลี (Wheatgrass) น้ำจากใบย่านาง น้ำจากผักวอเตอร์เครส (Watercress) สารสำคัญที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากคือคลอโรฟิลล์ (Chlorophyll) ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เกิดสีเขียวเข้ม ตามตำรายาพื้นบ้านตั้งแต่สมัยโบราณทั้งในตะวันตกและตะวันออกพบว่ามีการใช้ผักสีเขียวเข้มที่มีคลอโรฟิลล์สูงนี้บำรุงตับและขับพิษต่างๆ ออกจากร่างกาย ทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ลดสารอนุมูลอิสระที่ทำร้ายร่างกาย หรือทำให้ร่างกายเกิดความเสื่อม นอกจากนี้ยังทำหน้าที่เพิ่มความแข็งแรงให้กับเลือดเนื่องจากมีโครงสร้างคล้ายกับเฮโมโกลบิน และหลังจากกินอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีคลอโรฟิลล์สูงจะทำให้ร่างกายรู้สึกกระชุ่มกระชวยและมีแรงมากขึ้น
จากการศึกษาพบถึงประโยชน์ต่างๆ ของคลอโรฟิลล์ ดังนี้
- ช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายดีขึ้น
- ขับกลุ่มของเชื้อราที่เกิดขึ้นในร่างกายให้ออกนอกร่างกาย
- ทำความสะอาดระบบเลือด
- ขับของเสียออกจากลำไส้
- ลดกลิ่นที่มาจากแบคทีเรียในช่องปาก
- เพิ่มพลังงาน
- ลดการเกิดเซลล์มะเร็ง
- สมานแผล ทำให้ผิวหนังแข็งแรง
- ลดน้ำหนัก
นอกจากคลอโรฟิลล์แล้วในกลุ่มของผักหญ้ายังมีสารสำคัญที่ดีต่อสุขภาพ ดังนี้
- สารต้านอนุมูลอิสระ (ฟลาโวนอยด์และกรดฟีนอลิก)
- แร่ธาตุเหล็ก โดยเฉพาะร่างกายของผู้หญิงต้องการธาตุเหล็กสูงขึ้นในช่วงที่มีประจำเดือนและขณะตั้งครรภ์
- กรดอะมิโนจำเป็น
- วิตามินเอ
- วิตามินซี
- วิตามินอี
- แร่ธาตุแมกนีเซียม
- แร่ธาตุแคลเซียม
ข้อแนะนำในการรับประทาน เนื่องจากในหญ้ามีสารสำคัญทางอาหารที่ไวต่อแสงแดดและออกซิเจน หากต้องการได้รับประโยชน์ต่อสุขภาพสูงสุดควรกินทันทีหลังสกัดออกมาแล้ว เพราะหากทิ้งไว้คุณค่าทางอาหารจะลดลงและเกิดเชื้อแบคทีเรียต่างๆ ได้ ซึ่งในต่างประเทศจะใช้เทคโนโลยี HPP (High Pressure Processing) ในการฆ่าเชื้อ แต่คงไว้ซึ่งคุณค่าทางอาหาร
ข้อควรระวัง หญ้าในกลุ่มของต้นอ่อนข้าวสาลี (Wheatgrass) น้ำจากใบย่านาง และน้ำจากผักวอเตอร์เครส (Watercress) ในอากาศร้อนชื้นอาจเกิดเชื้อราได้ ดังนั้นควรล้างให้สะอาดก่อนนำมากิน และในบางคนอาจมีอาการแพ้ (Allergic Reaction) เช่น คลื่นไส้ ปวดท้อง มีผื่นขึ้น
ฉะนั้นการดื่มน้ำคั้นจากหญ้าจึงต้องระวังด้วย
แหล่งข้อมูล
- N. Singh, P. Berma, B. R. Pandey. Therapeutic potential of organic Triticum aestivum Linn. (Wheat Grass) in prevention and treatment of chronic diseases: an overview. International journal of pharmaceutical sciences and drug research 2012; 4(1): 10-14
- The wheat grass Book, New York. Avery Publishing group 1986.
- Bar-Sela, Gil; Cohen, Miri; Ben-Arye, Eran; Epelbaum, Ron, The Medical Use of Wheatgrass: Review of the Gap Between Basic and Clinical Applications. Mini Reviews in Medicinal Chemistry, Volume 15, Number 12, October 2015, pp. 1002-1010(9)
Tag:
, Food for life, คลอโรฟิลล์, ผักใบเขียว,
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น