คุณพลอย จริยะเวช ตกหลุมรักการจิบชายามบ่าย (แล้วเราก็ตกหลุมรักเธออีกที) หลายปีแล้วที่ได้เห็นชีวิตประจำวันอันรื่นรมย์ของเจ้าแม่ไลฟ์สไตล์คนนี้ผ่านภาพถ่ายขนมและน้ำชาถ้วยโปรด ในวันอากาศเป็นใจ แดดไม่ร้อนเกินไปนัก เรานัดพบกับคุณพลอยที่ ร้านอีกา สาขาสาทร 12 คุณพลอยไม่เพียงเล่าถึงเรื่องอาฟเตอร์นูนทีในความทรงจำ แต่ยังพกตะกร้าที่เต็มไปด้วยของสะสมชิ้นโปรดให้ได้ยลโฉมกันอีกด้วย
G&C : คุณพลอยเริ่มสนใจเรื่อง Afternoon Tea ตั้งแต่เมื่อไหร่คะ
คุณพลอย : สมัยมัธยมปลายเป็นเด็กหญิงแก่แดด วันที่เด็กชายไปเรียน รด. สาวๆ จะได้เลิกครึ่งวันไปด้วยก็จะเก็บค่าขนมกับเพื่อนสาวในแก๊งไปกินขนมน้ำชาตอนบ่ายกัน สมัยนั้นมีร้านชื่อ The Cup ที่จัดว่าเด็ดสุดอยู่ที่เพนนินซูล่า พลาซ่า ราชดำริ มีเครปพีช ไอศกรีมวานิลาโรยคาราเมลไลซ์อัลมอนด์ และทรัยเฟิลอีกเมนู เสิร์ฟกับน้ำชาแบบอังกฤษ เป็นความสนุกตื่นเต้นในยุควัยรุ่นหญิงที่วัฒนธรรมคาเฟ่ฮอปปิงยังไม่เกิดค่ะ
คุณพลอย : ปิดเทอมฤดูร้อนปลายยุค 70 ทางบ้านเคยส่งไปเรียนภาษาที่เมืองชนบทมากๆ ในอังกฤษชื่อเมือง Folkestone อยู่ริมทะเลติดกับเมือง Dover เจ้าของบ้านรุ่นคุณปู่คุณย่าเขาจะเลี้ยงอาฟเตอร์นูนที เด็กๆ ตื่นเต้นตรงได้กินแซนด์วิชแตงกวา ขนมปังบางๆ หั่นยาวๆ แล้วก็มีสคอน เค้ก ประทับใจมากเพราะในเมืองใหญ่อย่างลอนดอนหรือกรุงเทพฯ ยุคนั้น อาฟเตอร์นูนทีจะมีบริการในโรงแรมหรูหรา
พอโตมาได้มีโอกาสเขียนหนังสือเกี่ยวกับขนมน้ำชา ชื่อ หวานจับใจ (So Sweet) ช่วงนั้นบ้าอ่านหนังสือเกี่ยวกับ Afternoon Tea สะสมไว้หลายเล่ม พบว่า High Tea เป็นมื้อน้ำชาที่หนักของคนทำงานใช้แรง ชาวไร่ชาวฟาร์ม แต่เดิมยุควิกตอเรียน ดัชเชส หรือ ควีน เท่านั้นมีสิทธิจัดเลี้ยงนั่งอร่อยกับขนมน้ำชามื้อบ่าย เพราะใบชามาถึงอังกฤษจากดินแดนตะวันออกใหม่ๆเป็นของแพงเลอค่า ต่อมาเมื่อชาหาง่ายขึ้นก็เข้าถึงคนธรรมดา High Tea คือช่วงหกโมงเย็นหลังเลิกงาน ครอบครัวคนทำงานมาชุมนุมกัน เด็กๆ ได้ร่วมวงด้วย จะมีอาหารหนัก อิ่มท้อง แฮมรมควัน พาย เนยแข็ง เค้ก ขนมอบหวาน Afternoon Tea แบบฟาร์มเฮาส์ เป็นอีกแนวที่เราว่ามันอบอุ่นดี
G&C : เทรนด์ในการออกไปจิบชายามบ่ายในบ้านเราเกิดขึ้นในช่วงไหนและแตกต่างจากตอนนี้มากไหมคะ
คุณพลอย : น่าจะมีมานานมากแล้วค่ะ สมัยคุณปู่ คุณย่า คุณพ่อ คุณแม่ ก็มีโรงแรมเอราวัณ โรงแรมรัตนโกสินทร์ ถ้าดูประวัติศาสตร์ย้อนไป ไทยก็รับวัฒนธรรมตะวันตกมาตั้งแต่รัชกาลที่ 5 การจิบชายามบ่ายในบ้านเราน่าจะเข้ามาพร้อมคนที่ไปใช้ชีวิตในฝั่งตะวันตก อย่างนิยายสมัยรัชกาลที่ 6-7 ก็มีเรื่องขนมน้ำชา พระเอกนางเอกไปเรียนอังกฤษ อเมริกา ยุโรป ปีนัง คนไทยเองก็มีของว่างยามบ่ายไม่ต่างกัน เช่น ปั้นสิบ สาคูไส้หมู
แก่นของ Afternoon Tea น่าจะอยู่ที่อาหารเบาๆ แก้หิวระหว่างมื้อที่เป็นตัวกลางสร้างบรรยากาศการสนทนาพบปะพูดคุยยามบ่ายพลางกินของว่างและจิบชาในบรรยากาศที่ดี ราว 20 ปีก่อนกรุงเทพฯ มีห้องชาที่ดังมากชื่ออะกาลิโก อยู่ในซอยสุขุมวิท 53 เป็นผู้นำบุกเบิกการสร้างบรรยากาศการกินขนมจิบน้ำชา มีสวนที่สวยงามเหนือกาลเวลา และมีสคอนอร่อยมาก รวมทั้งชาหลากหลายให้เลือกด้วยค่ะ
G&C : ในมุมมองคุณพลอย สีสันลวดลายของภาชนะมีผลกับการจิบชายามบ่ายอย่างไร
คุณพลอย : เป็นความสนุกในการช่วยชูรสขนมน้ำชานะคะ อย่างเพื่อนๆ มาก็จะตื่นเต้น ดูจานชาม Blue & White วางอะไรก็สวย จานชามสีๆ ก็ให้อีกมู้ดที่ตื่นเต้นขึ้น บ่อยครั้งตัวเองจะเลือกลายจานชามถ้วยก่อนแล้วเลือกเมนูก็มี เพิ่งได้จานชามลายกุ้งหอยปูปลามา ยังนึกถึงปั้นสิบปลาร้านคุณกบ สาคูไส้หมูปากหม้อร้านกินกับเก่ง จะเอามาผสมกับขนมอบหวานจาก It’s Happened to be a closet ชอบผสมสีสันลวดลายให้เข้ากับเมนูที่เลือก
G&C : ขนมและชาที่จับคู่กันแล้วชอบเป็นพิเศษ
คุณพลอย : ชาที่มีสปีชีส์รุนแรงอย่างชาดำจะจับคู่กับของว่างมื้อบ่ายเค็มๆ แล้วดี ส่วนชาเขียว ชาขาว เหมาะกับอะไรเบาๆ อย่างโรลเค้กไส้ครีมรสอ่อน นอกจากนี้ก็มีเบลนด์ที คือการเอาชาชนิดหลัก ชาดำ ชาเขียว ชาขาวมาผสมผสานกันอย่างมีศิลปะกับดอกไม้ ผลไม้ ใบไม้ เพื่อให้ได้ชาใหม่ หลักการง่ายๆ ของตัวเองเวลาเลือกชากับขนมก็คือเลือกเพื่อตัดรส อย่างชาดำ เอามาลดความเค็มมันของคิช พายไส้เค็ม หรือเอามาเสริมรส ชูรสขนม ชาที่มีส่วนผสมของวานิลลาจะมีติดบ้าน เพราะขนมอบหวานส่วนใหญ่ก็มีส่วนผสมของวานิลลา ก็ไปด้วยกันได้ดี ชาเอิร์ลเกรย์ก็เป็นชาเบสิกที่เข้ากับขนมอะไรก็ไม่ค่อยพลาด
G&C : คุณพลอยเริ่มสะสมชุดน้ำชาตั้งแต่เมื่อไหร่ ชิ้นไหนที่รักเป็นพิเศษ
คุณพลอย : น่าจะเริ่มตอนแต่งงาน เริ่มชอบ Blue & White เพราะได้รับของขวัญวันแต่งงานจากเพื่อนรักของพ่อ คุณลุงไม่มีลูกสาว แต่มีกาน้ำชาน้ำเงินขาวที่เป็นมรดกตกทอดให้ส่งต่อไปยังลูกสาวรุ่นสู่รุ่น แล้วคุณลุงเอามาให้เราเป็นกาน้ำชาแบบจีนลายคราม ต่อมามีโอกาสวาดพู่กันจีนลงบนเครื่องกระเบื้อง ที่แจ้งเกิดเราเลยก็เป็นงาน Blue & White จนวันหนึ่งเริ่มอิ่มตัวกับถ้วยชามก็จะเคลื่อนตัวไปสู่พวกเครื่องเงิน พอเราเดินตลาดบ่อยๆ ก็จะเห็นที่ตักขนมเค้กรูปทรงต่างๆ ชอบมาก ก็จะเก็บไว้หลายชิ้น
ชิ้นที่รักเป็นพิเศษ เป็น tray กลมที่ใช้บ่อยสุด มันดีมาก ที่ตลกคือไปได้จากเมืองกาแฟคือเมืองโรม จำได้แม่นว่าปี ค.ศ. 2000 ไปโรมครั้งแรกก็ไปเดินตลาดนัดชื่อ Porta Portese เหมือนจตุจักร ไปเจออันนี้เหมือนฆ้องเงิน ไม่รู้ว่าคืออะไร มีหูหิ้ว พอคนขายกางออกมาก็อ้าปากค้าง มันมีถาดกลมๆ ให้วางขนม สองชั้นล่างหนึ่งชั้นบน และพับเก็บได้ เป็นของยี่ห้อ Alessi คนขายบอกว่ายุค 70 ได้มาราคาถูกมากแบบไม่ถึงพันบาท สมัยนั้นเงินยังเป็นสกุลลีร์ยังไม่ใช้ยูโร ประทับใจชิ้นนี้มาก
หลังๆ เริ่มมาสนใจพวกผ้า napkin ลินิน เติมเต็มการจัดโต๊ะน้ำชาได้ดีมาก เวลาไปเดินตลาดเก่าหลังๆก็จะเล็งพวกลินินวินเทจ แล้วก็มีพี่ๆ ใจดีส่งมาให้อย่างพี่วิสุทธิ์ กับคุณ Jean Charles เจ้าของ Wit’s Collection ที่นำลายเส้นเราไปใช้บนเครื่องกระเบื้องก็ให้มาหลายชิ้น และอีกอัน เพื่อน-จักกาย ศิริบุตร ปักให้เป็นรูปหมาของเราชื่อพี่เสือ
G&C : เคยร่วมงานกับหลายแบรนด์รวมถึง Noritake ด้วย เล่าให้ฟังหน่อยค่ะ
คุณพลอย : Noritake ติดต่อมาอยากได้ลายเส้นเราไปจัดวางบนเครื่องกระเบื้อง ดีใจมากค่ะ คอลเล็กชันชื่อ Singora Swan ตอนนั้นได้มีโอกาสไปเป็น Artist in Residence ที่ A E Y Space ใจกลางเมืองเก่าสงขลา คุณเอ๋-ปกรณ์เจ้าของพื้นที่พาไปชมวัดโบราณเก่าแก่ก็ประทับใจจิตรกรรมฝาผนัง เลยเอาสีสันมาใช้ในการออกแบบคอลเล็กชัน โดยใช้พู่กันจีนวาดรูปหงส์คู่ สัตว์มงคลของตะวันออก เลยใช้ชื่อว่า Singora ชื่อโบราณของสงขลา เป็นลิมิเต็ด อิดิชัน ขายหมดไปแล้ว ข่าวว่าได้รับความนิยมเป็นของขวัญงานมงคล บ่าวสาวคู่หมั้นมาซื้อเป็นของรับไหว้ คงเพราะหงส์คู่ ดีใจมากที่ทางญี่ปุ่น approved และชอบคอนเซ็ปต์
G&C : ตอนนี้ออกไปจิบชานอกบ้านบ่อยไหม หรือว่ารื่นรมย์กับการเซ็ตชุดชาเองที่บ้านมากกว่า
คุณพลอย : ช่วงเสาร์อาทิตย์ก็จะออกไปเปิดหูเปิดตาบ้างนะคะ มีร้านโปรดที่แวะเวียนไปเสมอ ร้านใหม่ๆ ถ้าส่องจนแน่ใจว่าขนมอร่อยจริงก็จะไปลอง บรรยากาศเราไม่เน้นเพราะที่บ้านเราก็โอเคมากแล้ว สวยและสงบไม่วุ่นวาย ที่บ้านก็จัดบ่อยเลย นอกจากเพื่อนมาแล้วบางทีก็มีพี่ๆ น้องๆ เพื่อนๆ ส่งขนมมาให้เทสติงเสมอๆ เราก็จะชอบมากตรงได้คิดเซ็ตน้ำชาเพื่อจับคู่กัน
G&C : โปรเจ็กต์ใหม่ของคุณพลอย
คุณพลอย : ตอนนี้เพิ่งเปิดตัวหนังสือเล่มใหม่ “ผลิใหม่ The Story of Life Transformation” สำนักพิมพ์ openbooks เป็นเรื่องการสร้างตัวตนใหม่จากแก่นเดิมที่ปรับสี่ส่วนหลักในการใช้ชีวิตให้เอื้อต่อการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ทั้งอาหาร ที่อยู่อาศัย Wellness ของกายใจ ไปจนถึงเรื่อง Inner Self
งานวาดก็ยังทำอยู่นะคะ มีงานวาดบนกระเบื้อง มีวางจำหน่ายที่ร้าน Wit’s Collection และ Woo Café Art Gallery & Lifestyle Shop ที่เชียงใหม่ และร้าน Furawa Desu สุขุมวิท 32 ค่ะ พวกงานวาด Art Commercial ปีนี้ก็มีที่วาดให้ร้านชิ้นโบแดง หมูกะทะที่เอ็มควอเทียร์ และกำลังจะมีคอลเล็กชันหนึ่งเพิ่งวาดเสร็จไปให้แบรนด์เครื่องหอมด้วยค่ะ
รับรองว่าแฟนๆ คุณพลอยเห็นแล้วหัวใจพองฟู
ร้านโปรดของคุณพลอย
คุณพลอยมีลิสต์ร้านโปรดอยู่ในมือเยอะมาก แต่เมื่อให้เลือกร้านโปรดจริงๆ ทั้งในไทยและต่างแดน เธอก็ตัดสินใจได้ไม่ยาก
กรุงเทพฯ
- It’s Happened to be a Closet “ร้านโปรดที่ไปบ่อยที่สุด ยิ่งเมื่อมาเปิดที่ชั้นล่างของร้านอีกา สาทรก็ยิ่งมาบ่อยเพราะใกล้บ้าน ชอบขนมร้านนี้ เค้กดี มีชามาริยาจ แฟรส์ เสิร์ฟด้วย พลอยชอบเมนู Matcha oreo tart ที่สุด กินกับชามาร์โก โปโล”
- Avenue Tea Salon โครงการเวลา หลังสวน “No.51 Finest Tea เบลนด์โดยพิมพ์ชนก พลางกูร ทั้งชาขาว ชาดำ ชาพีช ชามินต์ ดีหมด ซื้อชาหอมกลับบ้านได้ และมีเซ็ตขนมน้ำชามื้อบ่ายหลากหลายให้เลือกนั่งกินในร้านสว่างสวย”
- F.V ทรงวาด “รักชาไมยราบของ F.V เสิร์ฟคู่กับของว่างไทย บรรยากาศก็ดึงเรือนจากทางอีสานมาจัดวางอย่างไรไม่รู้ให้สวยเป็นสากล”
ต่างประเทศ
- Newen Family, the Original Maid of Honour Shop ลอนดอน, อังกฤษ “มี Maid of Honour Cake สูตรพิเศษเฉพาะสามสี่ร้อยปี และพายเนื้อที่อร่อยมาก มีบรรยากาศเป็นสภากาแฟของผู้คนในท้องถิ่นรุ่นคุณย่าคุณยาย
- Maison Méert ลีล, ฝรั่งเศส “ทีเด็ดคือวัฟเฟิลแบบแผ่นบางกรอบ สอดไส้วานิลามาดากัสการ์ และ Speculoos คาราเมลไส้พิสตาชิโอกินกับขนมน้ำชาคือสวรรค์ค่ะ
- Conditori La Glace โคเปนเฮเกน, เดนมาร์ก “ขนมน้ำชาที่ดีสำหรับเราต้องมีครีมเด็ดใส่เครื่องดื่มหรือแกล้มขนม ตั้งแต่ลองครีมมา คิดว่าครีมขาวฟูเบาที่ร้านขนมอบเก่าแก่ในโคเปนเฮเกนร้านนี้คือที่สุด”
Tag:
Afternoon Tea, ชุดน้ำชายามบ่าย
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น