ก่อนจะมาเป็น...ไอศกรีมสุดคลาสสิค ของหวานสุดฮิตติดใจคนไทย

วันที่ 20 เมษายน 2561  6,449 Views
นิตยสาร Gourmet & Cuisine ฉบับที่ 213 เดือนเมษายน 2561

ไม่ว่าจะร้อนมาก ร้อนน้อย หรือร้อนปานกลาง (มีด้วยเหรอ) เมนูของหวานที่ฮิตติดใจคนไทยแบบไม่เคยหลุดโผคงไม่พ้นไอศกรีมเย็นชื่นใจ วันนี้เราเลยมาเล่าประวัติศาสตร์ไอศกรีมสุดคลาสสิกกันเสียหน่อย

ไอศกรีมสุดคลาสสิค

★ “Sundae” ไอศกรีมวันอาทิตย์ 
แม้ว่า “Sundae” จะไม่ได้เขียนว่า “Sunday” แต่ความหมายก็ยังคงหมายถึงวันอาทิตย์นั่นแหละ

ตำนานของไอศกรีมซันเดเรียกว่ามีอยู่หลายแหล่งด้วยกัน ตำนานแรกเกิดขึ้นราวๆ ปี ค.ศ. 1890 ที่รัฐอิลลินอยส์ กล่าวกันว่ารัฐนี้มีกฎหมายจารีตประเพณีที่เรียกกันว่า “บลูลอว์” (Blue Laws) ซึ่งมีข้อหนึ่งกล่าวว่า “ห้ามขายโซดาในวันอาทิตย์” เมื่อขาดความเย็นซาบซ่าพ่อค้าขนมหวานจึงเลี่ยงกฎหมายด้วยการนำเอาไอศกรีมมาขาย แถมยังเพิ่มความแปลกใหม่ด้วยการใส่น้ำเชื่อมไซรัปลงไปด้วย ในเวลาไม่นานไอศกรีมชนิดนี้ก็เป็นที่นิยมมาก ชาวเมืองจึงพากันขนานนามว่า "ไอศกรีมซันเดย์" (Sunday) แต่เจ้าหน้าที่รัฐก็ออกมาแย้งว่าจะใช้ชื่อซันเดย์อันเป็นวันประกอบพิธีศาสนาได้ไง! ด้วยเหตุนี้ชาวเมืองจึงเปลี่ยนตัวมาเป็น Sundae ตั้งแต่นั้น

ส่วนรูปลักษณ์ของซันเดที่คุ้นตาก็เป็นของรัฐนิวยอร์กส่งเข้าประกวด โดยหลังจากนั้นอีก 2 ปี นายเชสเตอร์ แพลตต์ (Chester Platt) เจ้าของร้านขายยาในเมืองอิทาคาได้ทำเก๋ด้วยการนำแก้วแชมเปญมาใส่ไอศกรีม แล้วราดด้วยไซรัปเชอร์รี ก่อนจะประดับด้วยผลเชอร์รี ซึ่งผลปรากฏว่าไอศกรีมในแก้วทรงสูงขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ก่อนจะตั้งชื่อผลงานว่า “เชอร์รี ซันเดย์” (Cherry Sunday) เพราะเขาคิดค้นได้ในวันอาทิตย์นั่นเอง

อาจด้วยเหตุนี้ไอศกรีมซันเดจึงมักอยู่ในแก้วทรงสูงเสมอ
 

★ Banana Split ไอศกรีมกล้วยผ่าครึ่ง 
คงต้องบอกว่าที่มาของ Banana Split เคียงคู่สูสีมากับไอศกรีมซันเดเลยทีเดียว เพราะนอกจากถ้วยทรงเรือหรือที่เรียกว่าโบ๊ต (Boat) และกล้วยผ่าครึ่งตามยาวสมชื่อแล้ว เราจะเห็นลักษณะร่วมกันก็คือ “ผลเชอร์รี” ที่ต้องออนท็อปประดับอยู่ข้างบนเสมอๆ ไม่ต่างจากคนคิดค้นก็ยังคงอยู่แถวๆ ร้านขายยาอีกต่างหาก

ผู้คิดค้นไอศกรีมกล้วยที่ว่านี้เป็นเภสัชกรฝึกหัดนามว่าเดวิด สตริคเลอร์ (David  Strickler) ในร้านขายยาแทสเซิล (Tassel Pharmacy) ในลาโทรบ รัฐเพนซิลเวเนีย โดยนายเดวิดลุ่มหลงในไอศกรีมซันเดเอามากๆ เขาเลยประดิษฐ์คิดค้นความอร่อยขึ้นมาใหม่ด้วยการใช้ไอศกรีม 3 รสชาติ อย่างช็อกโกแลต วานิลลา และสตรอว์เบอร์รีมากินคู่กับกล้วยผ่าครึ่ง แล้วเพิ่มไซรัปช็อกโกแลตลงไปให้เข้มข้น แต่ยังคงมีผลเชอร์รีเหมือนเดิม

หลังจากนายเดวิดเริ่มเอาไอศกรีมวางขายในปี 1904 ก็ปรากฏว่าขายดีแบบฉุดไม่อยู่ โดยเฉพาะเหล่านักศึกษาที่เรียนอยู่ละแวกเดียวกันช่วยกระจายข่าว จนไอศกรีมกล้วยดังเป็นพลุแตก และนั่นก็ทำให้เขาสามารถตั้งตัวได้ เพราะในที่สุดนายเดวิดก็สามารถสะสมเงินจากการขายไอศกรีมไปซื้อร้านขายยาของตัวเองเป็นผลสำเร็จ

แต่ที่น่าชื่นใจที่สุดก็คือเมืองลาโทรบก็ได้รับการสถาปนาให้เป็นเมืองหลวงของบานาน่า สปลิท โดยมีการจัดงานเฉลิมฉลองในเดือนสิงหาคมของทุกปี

ไอศกรีมสุดคลาสสิค

★ Parfait ความอร่อยที่สมบูรณ์แบบ 
นอกจากความอร่อยสองตำรับข้างต้น อีกหนึ่งไอศกรีมที่ไม่พูดถึงคงไม่ได้ต้องยกให้ Parfait เขาล่ะ

ความจริงแล้วพาร์เฟต์มีหลากหลายรูปแบบ แต่ถ้าถามถึงต้นตำรับคงต้องยกให้กับฝรั่งเศส โดยความหมายของพาร์เฟต์จะแปลว่า “สมบูรณ์แบบ” (Perfect)  ซึ่งถือกำเนิดขึ้นในปี 1984 พาร์เฟต์แบบดั้งเดิมจะไม่ได้เสิร์ฟอยู่ในแก้วทรงสูงและประกอบด้วยไอศกรีมอย่างที่เห็นกันชินตา แต่จะเป็นของหวานที่ประกอบด้วยครีม คัสตาร์ด และน้ำเชื่อม ส่วนเวอร์ชันอเมริกาจะนิยมเสิร์ฟในแก้วทรงสูงและมีส่วนผสมที่มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกราโนลา (ข้าวโอ๊ตผสมผลไม้แห้ง) ถั่ว โยเกิร์ต ครีม บางครั้งอาจผสมเหล้าเพื่มเพิ่มความเข้มข้นลงไปด้วย

แต่ถ้าเป็นพาร์เฟต์ที่คุ้นเคยกันที่สุดต้องยกให้กับเวอร์ชันญี่ปุ่นที่ได้นำขนมหวานของฝรั่งเศสมาพัฒนาในแบบของตัวเอง อีกทั้งยังกลายเป็นขนมยอดฮิตในอะนิเมะหรือการ์ตูน จุดเด่นของพาร์เฟต์ญี่ปุ่นต้องยกให้กับเครื่องเคราที่จัดหนักจัดเต็ม เพราะมาทั้งไอศกรีม ผลไม้ ถั่ว ครีม เค้ก เวเฟอร์ ไปจนถึงขนมหลากสีสันที่ล้วนแต่จะสร้างสรรค์กัน

ที่สำคัญยิ่งจัดเรียงได้ “สูง” ได้ “สวย” มากเท่าไรก็ยิ่งเพอร์เฟ็กต์สมชื่อ
              

แหล่งข้อมูล

  • บทความ “Sweet Sundae : สวีทหวานทุกวันอาทิตย์” โดยรตินันท์ สินธวะรัตน์ นิตยสาร Gourmet & Cuisine ฉบับเดือนเมษายน 2556
  • บทความ “How the Sundae Got its Name & the Origin of the Banana Split” สืบค้นที่ https://food52.com/blog/16801-how-the-sundae-got-its-name-the-origin-of-the-banana-split
  • บทความ ““Parfait” The Perfect Modern Japanese Dessert” สืบค้นที่ http://jpninfo.com/7208

Tag: , Nice To Know, เมนูคลายร้อน, ไอศกรีม,

เรื่องโดย

ความคิดเห็น

Editor’s Pick

Recent

Most Viewed