ตามรอย ญาญ่า – อุรัสยา เสปอร์บันด์ นักแสดงสาวลูกครึ่งไทย-นอร์เวย์ และพรีเซนเตอร์คนแรกของ Seafood from Norway ในประเทศไทย ไปเยี่ยมชมฟาร์มแซลมอนแบบดั้งเดิมที่ตั้งอยู่ในมหาสมุทรที่สะท้อนถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อการประมงแบบยั่งยืน ที่เมืองเวสเตอโรลน์ ประเทศนอร์เวย์ ภายใต้แคมเปญ ‘The Story from the North’ ตอกย้ำความมั่นใจแก่ผู้บริโภคด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ส่งให้นอร์เวย์เป็นผู้นำด้านการประมงและความยั่งยืนของโลก จากความเชี่ยวชาญกว่าศตวรรษ สถิติ ข้อมูลเชิงลึก และเทคโนโลยีล้ำสมัยในการบริหารจัดการอุตสาหกรรมการประมง เพื่อให้มั่นใจว่าอนาคตที่ยั่งยืนของท้องทะเลจะดำรงอยู่ถึงรุ่นต่อไป
การไปเยือนประเทศนอร์เวย์ของญาญ่าในครั้งนี้ ยังเป็นการเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและนอร์เวย์ ให้คนไทยได้เข้าใกล้ชีวิตความเป็นอยู่ วิถีทางทะเล และความเคารพในธรรมชาติของคนนอร์เวย์มากยิ่งขึ้น รับชมคลิปวิดีโอ ‘The Story from the North’ ความยาว 2.40 นาทีได้ที่ [https://www.youtube.com/watch?v=4X5emFGDvzU]
อุตสาหกรรมการประมงของนอร์เวย์ขึ้นชื่อว่ามีความยั่งยืนเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ประเทศที่ขึ้นชื่อว่าหนาวเหน็บยากต่อการอยู่อาศัย กลับกลายเป็นสภาพแวดล้อมที่สมบูรณ์แบบสำหรับปลา ชาวนอร์เวย์จึงมักดำรงชีพด้วยการประมงและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำสืบทอดกันมารุ่นสู่รุ่น และเป็นหนึ่งในประเทศผู้ส่งออกอาหารทะเลรายใหญ่และยั่งยืนที่สุดในโลก
แม้เทคโนโลยีและนวัตกรรมจะเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ นอร์เวย์ก็ยังยึดหลักจริยธรรมและความเชี่ยวชาญทางชีววิทยาทางทะเลและใช้มาตรการที่เข้มงวด เพื่อรักษามาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหารและอนาคตของอุตสาหกรรม รวมทั้งความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศเอาไว้
ระบบติดตามฟาร์มแซลมอนในนอร์เวย์
ภายในสถานปฏิบัติการติดตามสถิติและควบคุมระบบการเพาะเลี้ยงปลาที่นอร์เวย์ ฟาร์มเลี้ยงปลาตั้งอยู่ในทะเลเปิดรายล้อมด้วยน้ำทะเลที่เย็นและใสสะอาดในแหล่งน้ำที่มาจากธารน้ำแข็งฟยอร์ดห่างไกลจากพื้นที่สัญจรทางทะเล แซลมอนเติบโตในกระชังที่กว้างขวางและสะอาด คิดเป็นพื้นที่น้ำ 97.5% ต่อปริมาณแซลมอน 2.5% ทุกกระชังมีการใช้เลเซอร์ที่ควบคุมโดยเทคโนโลยี AI กำจัดเหาทะเลโดยไม่เป็นอันตรายต่อปลา และปลาทุกตัวจะได้รับการดูแลอย่างดีที่สุดเพื่อลดความเครียดซึ่งส่งผลต่อรสชาติ
ระหว่างการทำฟาร์มแต่ละรอบจะมีการพักให้ระบบนิเวศทางทะเลได้ฟื้นฟูและติดตามสภาพท้องทะเลอย่างใกล้ชิด จำนวนฟาร์มจำกัดอยู่ที่ 750 แห่งต่อพื้นที่ชายฝั่งระยะทาง 28,953 กิโลเมตร บริษัทที่ต้องการทำฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจะต้องผ่านขั้นตอนการขอใบอนุญาตที่เข้มงวด ในแต่ละปีผู้ที่ประกอบอาชีพเลี้ยงปลาจะต้องจัดสรรงบประมาณกว่าหกพันล้านบาท (นอกเหนือจากงบประมาณของรัฐบาล) ในการสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับการประมง
รวมทั้งการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานที่มีประสิทธิภาพทำให้นอร์เวย์ส่งออกแซลมอนสดจากมหาสมุทรแอตแลนติกสู่สนามบินสุวรรณภูมิที่กรุงเทพฯ ได้ภายใน 48 ชั่วโมง ให้คนไทยเอร็ดอร่อยไปกับแซลมอนที่สดใหม่และเปี่ยมด้วยสารอาหาร
ฟาร์มในมหาสมุทรที่สร้างขึ้นด้วยเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดนี้ ตอบรับกับทิศทางของผู้บริโภคในปัจจุบันที่มองหาอาหารทะเลคุณภาพสูงและใส่ใจกับการทำฟาร์มปลาแบบยั่งยืน ผู้ผลิตอาหารทะเลรายใหญ่ของนอร์เวย์ต่างมุ่งมั่นในการคิดค้นโซลูชันในการทำประมงในพื้นที่ทะเลเปิด โดยพัฒนารูปแบบจากฟาร์มตาข่ายแบบดั้งเดิมเป็นฟาร์มในมหาสมุทร และนำเทคโนโลยีมาเพิ่มขีดความสามารถจนเกิดเป็นการประมงสมัยใหม่ที่เป็นต้นแบบให้กับประเทศอื่นๆ ต่อไป
หนึ่งในบริษัททำฟาร์มแซลมอนของนอร์เวย์ได้สร้างฟาร์มในมหาสมุทรขนาดเท่ากับสนามฟุตบอลสี่สนามขึ้นมา โดยถือเป็นสิ่งก่อสร้างที่ลอยอยู่กลางทะเลที่ใหญ่ที่สุดในโลกในปัจจุบัน ฟาร์มแห่งนี้ออกแบบมาให้มีอายุใช้งาน 25 ปีและเป็นบ้านของแซลมอนกว่าสองล้านตัว ใช้เซ็นเซอร์ Internet of Things (IoT) ในการตรวจสอบ วิเคราะห์ และให้ข้อมูลแบบเรียลไทม์ โดยนำข้อมูลมารันเป็นโมเดลแฝดแบบดิจิทัลด้วยโซลูชันบนคลาวด์ วิธีนี้ช่วยให้ผู้ควบคุมฟาร์มสามารถตรวจสอบและบำรุงรักษาพื้นที่สำคัญๆ ประเมินโครงสร้างภายใต้สภาพอากาศและทะเลที่ไม่เอื้ออำนวยและตัดสินใจได้อย่างทันท่วงที ในขณะที่แผนที่ความร้อนใช้ตรวจสอบการให้อาหารปลาแต่ละกระชังเพื่อให้แน่ใจว่าไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและเป็นไปตามกฎระเบียบที่เข้มงวดของอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์
Tag:
Seafood from Norway, นอร์เวย์, แซลมอน
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น