เชฟเมย์-พัทธนันท์ ธงทอง กับเบื้องหลังที่ (ไม่) โรยด้วยกลีบกุหลาบของเหรียญทอง Global Chef Challenge เอเชีย

วันที่ 15 สิงหาคม 2566  2,267 Views

เชฟเมย์-พัทธนันท์ ธงทอง เจ้าของตำแหน่งรองแชมป์จากรายการ Top Chef Thailand อัปเดตสเตตัสล่าสุดกับความสำเร็จในการคว้าเหรียญทองบนเวทีแข่งขันระดับโลก!

เชฟเมย์-พัทธนันท์ ธงทอง กับเบื้องหลังที่ (ไม่) โรยด้วยกลีบกุหลาบของเหรียญทอง Global Chef Challenge เอเชีย

การแข่งขัน Global Chefs Challenge ในรอบเซมิไฟนอลระดับภูมิภาคเอเชีย ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์เมื่อวันที่ 2-6 สิงหาคมที่ผ่านมา ทีมเชฟจากประเทศไทย โดยการสนับสนุนของ Thailand Culinary Academy (TCA) พร้อมด้วยความร่วมมือกันของทุกคนในทีมที่ช่วยผลักดันจนสามารถคว้ารางวัลเหรียญทองมาครอบครองได้ ด้วยอาหารทั้ง 9 จานที่สอดแทรกความเป็นไทยไว้อย่างน่าประทับใจ ท่ามกลางคู่ต่อสู้จากเชฟจากประเทศต่าง ๆ ทั่วเอเชียไม่ต่ำกว่า 14 ชาติ

เบื้องหลังที่ (ไม่) โรยด้วยกลีบกุหลาบ
ก่อนที่จะลงสนามไปคว้าแชมป์ระดับทวีปมาครอง เชฟเมย์เปิดเผยถึงอาการป่วยยืดเยื้อนานกว่า 2 สัปดาห์ก่อนวันแข่งขันจริงที่บั่นทอนพลังงานในการเตรียมตัวแข่งขันไปไม่น้อย จนนับเป็นการแข่งขันที่กังวลที่สุดในชีวิต ไม่กล้าแม้แต่จะคาดหวังผลการแข่งขันเลยทีเดียว แถมการจับเวลาในการซักซ้อมนั้นก็ยังเกินไปจากเวลาที่การแข่งขันกำหนดไว้ถึง 20 นาที!

เรื่องเกินคาดเกิดขึ้นได้เสมอ
แม้จะมีการเตรียมตัวล่วงหน้าในทุก ๆ การแข่งขัน ในสนามการแข่งขันก็ยังมีความท้าทายเข้ามาทดสอบเสมอ เช่นเดียวกันกับการแข่งขันในครั้งนี้ที่มาพร้อมโจทย์หลัก อย่าง ‘แซลมอน’ ที่เชฟเมย์พบว่าเป็นเนื้อแซลมอนแช่แข็งที่ไม่สามารถกินสุกได้ จากแผนการเดิมที่ตั้งใจจะเสิร์ฟเมนูแซลมอนทาทากิกึ่งสุกกึ่งดิบจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนกรรมวิธีการปรุงใหม่ทั้งหมดก่อนหน้าการแข่งขันเพียงวันเดียว

เชฟเมย์-พัทธนันท์ ธงทอง กับเบื้องหลังที่ (ไม่) โรยด้วยกลีบกุหลาบของเหรียญทอง Global Chef Challenge เอเชีย

การแก้ปัญหาเฉพาะหน้านั้นสำคัญ
เชฟเมย์ยอมรับว่า ต่อให้ตัวเองนั้นเป็นเชฟมืออาชีพแค่ไหน ความผิดพลาดย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ อย่างเช่นในครั้งนี้ที่ตนเองเผลอลืมขั้นตอนการอบบัตเตอร์นัตเพื่อเสิร์ฟในรูปแบบของพูเร (Puree) จึงต้องเปลี่ยนไปพึ่งวิธีการต้มที่ใช้เวลาน้อยกว่าเพื่อให้ทันเวลาที่กำหนด หรือจะเป็นกรรมวิธีกำจัดน้ำออกจากเนื้อแซลมอนแช่แข็งโดยการฝังลงไปในกล่องน้ำตาลและเกลือ ทำให้เนื้อแซลมอนมีน้ำน้อยลง

วางแผนอย่างรอบคอบ
ไม่ใช่แค่ต้องทำอาหารให้ตอบโจทย์ มีรสชาติดี หรือทำให้ทันเวลา สิ่งที่เชฟเมย์ให้ความสำคัญมากที่สุดก็คือ พื้นที่สี่เหลี่ยมของครัว ซึ่งเป็นดั่งสถานีหลักตลอด 120 นาทีเต็มเพื่อรังสรรค์ทั้ง 9 เมนูออกมาสู่โต๊ะอาหารของคณะกรรมการ ดังนั้นการวางแผนอย่างเป็นขั้นตอนในตั้งแต่นาทีที่ 1 จนถึงนาทีที่ 120 นั้นจึงอัดแน่นด้วยแผนการทำงานที่ออกแบบมาแล้วอย่างรอบคอบ

เชฟเมย์-พัทธนันท์ ธงทอง กับเบื้องหลังที่ (ไม่) โรยด้วยกลีบกุหลาบของเหรียญทอง Global Chef Challenge เอเชีย

สอดแทรกกลิ่นอายความเป็นไทยให้โลกรู้
อาหารทุกจานที่เชฟเมย์เสิร์ฟในการแข่งขันครั้งนี้ ออกมาได้ครบสมบูรณ์แบบตามที่ตั้งใจไว้ โดยไม่ลืมที่จะสอดแทรกรสชาติความเป็นไทยลงไปในทุก ๆ จาน ยกเว้นเพียงของหวาน ผ่านองค์ประกอบหลักในจาน เช่น ครีมต้มข่า น้ำจิ้มซีฟู้ดอิมัลชั่น ศรีราชาครีมชีส ปลาแซลมอนลาบเหนือ เนื้อลูกวัวผัดพริกขิงในทาร์ตกุ้งแห้ง เนื้อลูกวัวแบบชนิทเซิล ม้วนเป็นรูลาดยัดไส้หน่อไม้ฝรั่ง กินกับมายองเนสคะน้าปลาเค็ม และซอสเรดไวน์อินฟิวส์ข่า

สู่เวทีระดับโลกของจริง
สำหรับผู้ชนะระดับทวีป 2 อันดับแรกจะเป็นตัวแทนเพื่อเข้าแข่งขันในรายการ 2024 Global Chef Challenge รอบไฟนอล ที่ประเทศเจ้าภาพ ‘สิงคโปร์’ ในวันที่ 20 ตุลาคม ปี 2024 เชฟเมย์เผยความในใจว่า ความผิดพลาดเดียวที่มีในในการแข่งขันที่ผ่านมาคือ ความพร้อมในการเตรียมตัวและเรื่องสุขภาพ และเผยว่าตอนนี้กำลังจริงจังกับการพัฒนาทักษะด้านของหวานของตนเอง เพื่อให้คอร์สอาหารที่เสิร์ฟในการแข่งขันนั้นมีความกลมกลืนไม่มีสะดุดไปจากจานอาหารคาวที่มีความถนัดมากกว่า

งาน Global Chefs Challenge
เป็นเวทีที่เชฟชั้นนำของโลกเดินทางมาประชันฝีมือในสามประเภทการแข่งขันหลัก ได้แก่ Global Chefs Challenge, Global Pastry Chefs Challenge และ Global Young Chefs Challenge  โดยผู้ชนะอันดับ 1-2 จากทุกทวีปจะเป็นตัวแทนเพื่อเข้าแข่งขันในรายการ 2024 Global Chef Challenge ร่วมเป็นกำลังใจให้เชฟเมย์ไปคว้ารางวัลในระดับโลกได้ในปีหน้า!


Tag: Top Chef Thailand, การแข่งขันทำอาหาร

เรื่องโดย

ความคิดเห็น

Editor’s Pick

Recent

Most Viewed