กินดี-นอนดี-ออกกำลังกาย คัมภีร์ Fit & Firm ฉบับเมจิ-อโณมา

วันที่ 7 กรกฎาคม 2566  1,887 Views
นิตยสาร Gourmet & Cuisine ฉบับที่ 276 เดือนกรกฎาคม 2566

จริงอยู่ที่การปรากฏตัวทุกครั้งของ คุณเมจิ-อโณมา ศรัณย์ศิขริน ไอคอนด้านการดูแลสุขภาพได้สร้างแรงบันดาลใจ (และแรงฮึด) ให้ผู้คนได้มากมาย ทั้งรูปร่างแข็งแรงสมบูรณ์แบบ ผิวพรรณเปล่งปลั่งอ่อนวัย การตอบคำถามอย่างเฉลียวฉลาดมั่นใจ สะท้อนออกมาชัดเจนว่าเธอให้ความสำคัญกับการดูแลทั้งร่างกายและจิตใจมากเพียงใด

กินดี-นอนดี-ออกกำลังกาย คัมภีร์ Fit & Firm ฉบับเมจิ-อโณมา

การมีหุ่นสวยเพื่อดูดีไม่ใช่เหตุผลหลักที่ทำให้เธอลุกขึ้นมาเปลี่ยนชีวิตแบบหน้ามือเป็นหลังมือ แต่โรคภูมิแพ้ต่างหากที่เล่นงานเธออย่างหนักหน่วงจนเข้าออกโรงพยาบาลอยู่เป็นประจำ การดูแลตัวเองจึงไม่ได้เป็นตัวเลือก หรือ New Year Resolution แบบคนอื่น แต่เป็นไฟต์บังคับที่ต้องทำให้ได้ “เชื่อไหมคะว่าเมจิไปตรวจสุขภาพ ตอนนั้นอายุ 20 ปีปลายๆ แต่สภาพร่างกายเหมือนคนอายุ 76 ปี หัวใจอ่อนแอ ระบบปอดไม่ดี ระบบเผาผลาญรวน ถ้าไม่เริ่มดูแลสุขภาพอย่างจริงจังคือตายแน่ๆ”

กินดี-นอนดี-ออกกำลังกาย คัมภีร์ Fit & Firm ฉบับเมจิ-อโณมา

สิ่งแรกที่คุณเมจิเริ่มเปลี่ยนคือการออกกำลังกาย “ตอนนั้นเมจิอยู่สิงคโปร์ คอนโดฯ เราอยู่ใกล้สวน แค่เดินไปที่สวนก็รู้สึกเหมือนเรากำลังจะไปเช็กอินที่ประตูนรก (หัวเราะ) วิ่งไปก็ด่าตัวเองไป ทำไมการเป็นมนุษย์สุขภาพดีมันยากขนาดนี้ เป็นแบบนี้ทุกวัน จนวันหนึ่งลองเปลี่ยนจากวิ่งมาเป็นการเดินเงียบๆ ระหว่างเดินใจก็สงบลง ได้โฟกัสกับปัจจุบันเลยทำให้ผ่านไปได้ การออกกำลังกายจึงเหมือนทำสมาธิไปในตัว”

เมื่อใจไม่ต่อต้านการออกกำลังกายอีกต่อไป เธอจึงเริ่มสเตปที่ 2 คือเรื่องอาหารการกิน “เราสังเกตตัวเองว่าที่ผ่านมาหิวก็กิน ไม่หิวก็ไม่กิน บางวันไม่กินข้าวแต่กินไอศกรีมเป็นถังต่อด้วยป๊อปคอร์น แล้วร่างกายจะเอาสารอาหารที่ไหนมาสร้างภูมิคุ้มกัน ถึงได้สำนึกว่าร่างกายแย่เพราะพฤติกรรมล้วนๆ จึงเริ่มปรับทีละน้อย เพราะเราไม่ได้ทำเพื่อลดน้ำหนักแต่หวังสุขภาพที่ดี สุดท้ายก็ศึกษาเรื่องโภชนาการอย่างจริงจัง ได้รู้ว่าอาหารแบบไหนทำให้ภูมิคุ้มกันต่ำ อาหารแบบไหนที่สร้างกล้ามเนื้อ ต่อยอดเรื่องนี้ไปเรื่อยๆ จนเห็นความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น เมจิกลับมาวิ่งได้หลังการเปลี่ยนอาหาร”

ไม่ใช่แค่กลับมาวิ่งได้ธรรมดา แต่ปัจจุบันเธอเป็นนักไตรกีฬา (ว่าย-ปั่น-วิ่ง) ฝีมือเก่งกาจไปแล้ว!

กินดี-นอนดี-ออกกำลังกาย คัมภีร์ Fit & Firm ฉบับเมจิ-อโณมา

กินแบบเมจิ : เป็น Topic ที่ใครๆ ก็อยากรู้ เจ้าแม่สุขภาพคนนี้ใช้ชีวิตอย่างมีวินัยเคร่งครัด ตื่นตี 4 เพื่อนั่งสมาธิฝึกลมหายใจและซ้อมไตรกีฬาตั้งแต่ 06.00-09.00 น. อาหารของคุณเมจิใน 1 วันจึงเริ่มมื้อเช้าด้วยโปรตีนแบบเชกเพื่อใช้พลังงานซ้อมกีฬาและฝึกกล้ามเนื้อ ส่วนมื้อเที่ยงเป็นมื้อที่เธอเรียกว่า “มื้อเคี้ยว” มื้อหนักที่มีโปรตีนหลักอย่างเนื้อปลา เนื้อไก่ และไข่ไก่ กินกับกับข้าวง่ายๆ อย่างผัดผัก หลังจากนั้นเป็นมื้อเบาๆ ที่ย่อยง่าย อาจเป็นเอเนอร์จีดริงก์ หรือไข่ตุ๋น โดยไม่กินหลัง 4 โมงเย็น แล้วเข้านอนตอน 3 ทุ่มเป็นประจำ

กินดี-นอนดี-ออกกำลังกาย คัมภีร์ Fit & Firm ฉบับเมจิ-อโณมา

“การที่เราใช้ร่างกายแบบนักกีฬาแปลว่าความสึกหรอจะเกิดขึ้นมากกว่าคนอื่น คนทั่วไปน้ำหนักตัว 50 กิโลกรัม ควรได้โปรตีนอย่างน้อย 50 กรัมต่อวัน แต่สำหรับนักกีฬาอย่างเมจิอย่างน้อยต้องได้ 110-120 กรัม ซึ่งจะคำนวณให้ได้เพียงพอต่อวัน โดยเฉพาะช่วงแข่งกีฬาต้องดูแลแบบเคร่งครัด นักกีฬาเหมือนเครื่องยนต์ที่ต้องขับเคี่ยวอย่างโหด อย่างแรกคือดูแลเรื่องของใจก่อน ความเครียดจะส่งผลทำให้ล้า อาหารที่ไม่กินเลยคืออาหารจุ่มทอดเพราะน้ำมันจากการทอดจะไปอุดตันหลอดเลือดหัวใจ ไม่กินผงชูรสเพราะจะส่งผลให้ตับทำงานหนัก ทำงานได้ไม่เต็มที่ อีกอย่างคือพวก High Sugar ทำให้ร่างกายรับออกซิเจนได้น้อยลง ทำให้เราหายใจถี่ขึ้น ความดันสูงขึ้น หัวใจเต้นเร็วขึ้นด้วย”

กินดี-นอนดี-ออกกำลังกาย คัมภีร์ Fit & Firm ฉบับเมจิ-อโณมา

ไม่ใช่แค่ร่างกายแข็งแรงเท่านั้น แต่หัวใจต้องแข็งแรงยิ่งกว่า เธอบอกว่าสมการหลักในชีวิตมี 3 แบบคือกินดี นอนดี และออกกำลังกาย โดยให้ “นอนดี” เป็นเสาหลักที่คอยยึดโยงทุกอย่างไว้ “พออายุมากขึ้น สิ่งที่ให้ความสำคัญที่สุดคือสภาพจิตใจ เพราะว่าความเครียดส่งผลต่อสภาพร่างกาย ทั้งๆ ที่กินดี ออกกำลังกาย แต่ทำไมกลับรู้สึกล้า เพราะเราพักผ่อนไม่เต็มที่ สำหรับเมจิถ้าการนอนไม่ดีพอ อีก 2 เสาพังครืนทันที ความเครียดมีข้อดีตรงที่ทำให้เราตื่นตัว แต่ถ้าเก็บไว้นานเข้ามันจะกลายเป็นยาพิษ เราต้องใช้ความเครียดให้เป็นค่ะ

Note : จากบทความ “Emotional Eating - การรับประทานด้วยอารมณ์” คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เล่าถึงลักษณะการรับประทานอาหารด้วยอารมณ์ไว้ว่าหมายถึงการรับประทานอาหารที่มากกว่าปกติเมื่อเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ทางบวก หรือทางลบ โดยไม่ได้ตอบสนองความหิวของร่างกาย แต่เกิดขึ้นเพื่อ “เยียวยา” ทางใจมากกว่า ซึ่งมักเป็นอาหารที่แคลอรีสูงหรือคาร์โบไฮเดรตสูง เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคอ้วนได้  (https://www.psy.chula.ac.th/th/feature-articles/emotional-eating)
 


Tag: การดูแลสุขภาพ, อาหารเพื่อสุขภาพ

เรื่องโดย

ความคิดเห็น

Editor’s Pick

Recent

Most Viewed