The South Savors จับตาเทรนด์อาหารใต้ยุคใหม่ หรอย (มา) แรง

วันที่ 7 มิถุนายน 2566  2,121 Views
นิตยสาร Gourmet & Cuisine ฉบับที่ 275 เดือนมิถุนายน 2566

 ด้วยข้อได้เปรียบสารพัดอย่างตั้งแต่ภูมิประเทศอันอุดมสมบูรณ์ดั่งที่เพลง “ปักษ์ใต้บ้านเรา” ได้เล่าขานถึงแม่น้ำ ภูเขา และทะเลกว้างไกล ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของหลากหลายวัตถุดิบในตำรับอาหารใต้ที่หาไม่ได้จากที่อื่น อีกทั้งครั้งหนึ่งเคยเป็นศูนย์กลางการเดินเรือค้าขายจนได้รับอิทธิพลด้านวัฒนธรรมมาจากทั่วสารทิศ ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย ชวา เปอร์เซีย หรือจีนฮกเกี้ยน ทั้งหมดทั้งมวลนี้หล่อหลอมจนทำให้อาหารการกินทางภาคใต้ของไทยมีเสน่ห์ในความแตกต่างและหลากหลายที่ดึงดูดใจทั้งคนไทยและคนทั่วโลก

The South Savors จับตาเทรนด์อาหารใต้ยุคใหม่ หรอย (มา) แรง

The South Essential หรอยอย่างไร?
อาหารใต้ไม่ใช่แค่อาหารที่อยู่ใน 14 จังหวัดแต่คือภาพสะท้อนของวัฒนธรรมและความอุดมสมบูรณ์ที่หลอมรวมให้อาหารใต้นั้นมีเอกลักษณ์แตกต่างไปจากอาหารในภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศไทย ถ้าจะมีปัจจัยอะไรบ้างที่สร้างความโดดเด่นให้อาหารใต้น่าค้นหาก็ต้องเป็น 5 สิ่งนี้

1. อาหารทะเล
ถ้าจะพูดถึง ปู ที่ดีที่สุดนั้นต้องเป็นปูจากสุราษฎร์ธานีและชุมพร ถ้าเป็นกุ้งก็ต้องยกให้ กุ้งมังกร 7 สี จากภูเก็ตที่ได้ชื่อว่าฟัวกราส์แห่งท้องทะเล ส่วนปลาที่ไม่เอ่ยถึงไม่ได้ก็คือ “ปลากุเลา” จากอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ราชาแห่งปลาเค็มที่ขึ้นชื่อที่สุดจนได้เสิร์ฟขึ้นโต๊ะเวที APEC 2022 ที่ผ่านมา และไม่ใช่แค่ท้องทะเลเท่านั้น ในน้ำจืดอย่างแม่น้ำตาปี จังหวัดสุราษฎร์ธานีก็มี กุ้งแม่น้ำตาปี เป็นอีกวัตถุดิบขึ้นชื่อด้วยเช่นกัน

2. เครื่องเทศ
อาหารใต้ได้รับอิทธิพลในการปรุงเครื่องเทศมาจากอินเดีย โดยวัตถุประสงค์หลักคือเพื่อดับคาวของอาหารทะเล เห็นได้จากการใช้ ขมิ้น จึงไม่แปลกที่อาหารใต้ส่วนใหญ่มักจะมีสีออกเหลืองอย่างเช่น แกงส้ม หรือที่คนทั่วไปรู้จักในชื่อว่าแกงเหลือง หรือจะเป็น แกงกุรุหม่า ที่เป็นเอกลักษณ์ของอาหารอินเดียอย่างชัดเจนก็พบเห็นได้ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

3. เครื่องปรุง
ถ้าปลาร้าเป็นหัวใจของอาหารอีสาน หัวใจสำคัญของอาหารใต้ก็ต้องเป็นเครื่องปรุงที่ได้จากการหมักปลาทะเลตัวเล็กอย่างปลากะตักหรือปลาไส้ตันกับเกลือ เมื่อหมักจนได้ที่แล้วจะแยกชั้นโดยธรรมชาติ ส่วนของน้ำที่ใสกว่าจะรู้จักกันในชื่อว่าน้ำปลา และส่วนที่ขุ่นและแขวนลอยนั้นก็คือ น้ำบูดู วัตถุดิบในการปรุงอาหารใต้หลากหลายเมนู เช่น ข้าวยำปักษ์ใต้ หรือทำเป็น น้ำพริก โดยผสมกับพริก หอมแดง ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด กินกับผักสด กะปิ ทำจากเคยก็เป็นอีกผลผลิตจากท้องทะเลที่กลายมาเป็นสุดยอดเครื่องปรุงในหลายๆ เมนูของอาหารใต้ เช่น ผัดสะตอกะปิ น้ำพริกกะปิ

4. ผัก
รสชาติเผ็ดร้อนของอาหารใต้เบรกได้ด้วย ผักเหนาะ จะมีอยู่คู่โต๊ะอาหารเสมอๆ การรวมกันของผักพื้นบ้านนานาชนิด เป็นได้ทั้งผักสด ผักลวก และผักดอง ไม่ว่าจะเป็น ยอดมันปู ลูกฉิ่ง ลูกเหรียง สะเดาช้าง หัวปลี ขนุนอ่อน สะตอ ผักกาด ผักบุ้ง และแตงกวา

5. ผลไม้
เงาะ สับปะรด มังคุด และ ทุเรียน ล้วนเป็นผลไม้ขึ้นชื่อของภาคใต้ ไม่ใช่แค่อร่อยเฉพาะเมื่อกินสด แต่ยังสามารถนำไปปรุงอาหารคาวได้ด้วย เช่น มังคุดคัด หรือผลมังคุดอ่อนคัดทิ้งมาใส่ในแกงส้ม นอกจากจะได้รสชาติเปรี้ยวอมหวานตัดกับรสชาติของน้ำแกงแล้ว เนื้อยังมีความกรอบที่ทดแทนยอดมะพร้าวอ่อนได้ดีทีเดียว

นอกเหนือไปจาก 5 เอกลักษณ์นี้ที่ทำให้อาหารใต้โดดเด่นไม่เหมือนกับอาหารจากภูมิภาคไหนๆ ในประเทศไทย ต้องยกให้กับการทุ่มเททั้งแรงกายและแรงใจของเหล่าเชฟและคนทำอาหารรุ่นใหม่ ผู้เลือกหยิบตำรับอาหารใต้ที่พวกเขาผูกพันมารังสรรค์และนำเสนอออกสู่สายตาชาวโลก

The South Savors จับตาเทรนด์อาหารใต้ยุคใหม่ หรอย (มา) แรง

“การเฟ้นหาวัตถุดิบอาหารใต้ของผมเริ่มลึกและบ้าคลั่งขึ้นเรื่อยๆ” ไอซ์-ศุภักษร จงศิริ Sorn, Bangkok
จากจุดเริ่มต้นของร้านอาหารใต้ตำรับนครศรีธรรมราชเมื่อ 30 กว่าปีก่อน เชฟไอซ์-ศุภักษร จงศิริ ได้นำร้านอาหารของคุณย่าสุดที่รักมารื้อฟื้นคืนชีวิตชีวาจนร้าน “บ้านไอซ์” กลายเป็นร้านอาหารใต้ที่ขึ้นชื่อและขึ้นห้างทั่วเมืองอย่างที่เห็นกันในทุกวันนี้

The South Savors จับตาเทรนด์อาหารใต้ยุคใหม่ หรอย (มา) แรง

ทว่าอาหารใต้ในมุมมองของเชฟไอซ์ไม่ได้หยุดอยู่แค่แกงส้ม ผัดสะตอ หรือผัดใบเหลียง “เราคิดมาตลอดว่าอยากทำอาหารไทยแบบไฟน์ไดนิง และอาหารใต้ก็เป็นอาหารชนิดเดียวที่ผมทำเป็น อาหารใต้ยังมีอะไรอีกมากที่คนส่วนใหญ่ไม่เคยได้ลิ้มลอง ทั้งกุ้งมังกร 7 สี จักจั่นทะเล และอีกมากมาย สุดท้ายแล้วเมื่อได้อุ้มลูกชายเป็นครั้งแรก ความฝันที่ค้างคาในใจมาตลอดและความรู้สึกที่อยากให้ลูกภูมิใจในตัวของผม จึงเกิดมาเป็นร้านศรณ์ (Sorn) ซึ่งเป็นชื่อของลูกชายด้วย”

The South Savors จับตาเทรนด์อาหารใต้ยุคใหม่ หรอย (มา) แรง

แม้กระทั่งในตอนนี้เชฟไอซ์ยังคงไม่มั่นใจด้วยซ้ำว่าไฟน์ไดนิงที่แท้จริงแล้วคืออะไร แต่ในมุมมองของตัวเองแล้วนั้น ไฟน์ไดนิงนิยามได้คือ Fine ที่สื่อถึงอาหารขั้นสูง และคำว่า Re-Find คือกลับไปค้นหาอีกรอบว่าอาหารหรือวัตถุดิบต่างๆ นั้นมีที่มาจากอะไร “การเฟ้นหาวัตถุดิบอาหารใต้ของผมเริ่มลึกและบ้าคลั่งขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่แค่หาอาหารทะเล หาผลไม้ หรือหาไข่เค็ม แต่ในตอนนี้เราลงใต้ไปเพื่อหาซีอิ๊ว พริกแกง เครื่องเทศกับคนท้องถิ่นเพื่อเติมเต็มรสชาติที่ขาดหายไป”

คอร์สอาหารของศรณ์ (Sorn) นอกจากกรรเชียงปูที่เป็นเมนูยอดนิยมตลอดกาล เชฟไอซ์ยังตั้งใจที่จะใส่อาหารดิบลงไปด้วยเพื่อโชว์ว่าวัตถุดิบจากท้องทะเลไทยก็มีคุณภาพไม่เป็นรองใคร “กุ้งมังกร 7 สีจากภูเก็ต บอกเลยว่าอามะเอบิจากญี่ปุ่นก็ไม่หวานเท่า

The South Savors จับตาเทรนด์อาหารใต้ยุคใหม่ หรอย (มา) แรง

“สิ่งที่เรียกว่าอูมามินั้นมีอยู่จริงโดยเฉพาะในวัตถุดิบที่ต้องผ่านกาลเวลา (Element of Time) การหมักและการดองก่อให้เกิดสิ่งมหัศจรรย์มากมาย ซึ่งกะปิเป็นหนึ่งในนั้น และผมก็ใส่อยู่ในทุกจานของศรณ์ น้ำบูดูที่เราใช้ก็นำมาจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หมักด้วยปลาที่ได้มาสดๆ ทำให้ไม่มีกลิ่นคาว”

The South Savors จับตาเทรนด์อาหารใต้ยุคใหม่ หรอย (มา) แรง

หลังจากปิดประตูร้านเพื่อรีโนเวตใหม่ไปพักหนึ่ง ศรณ์ (Sorn) กลับมาอีกครั้งในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมในปี ค.ศ. 2023 ที่ผ่านมา พร้อมด้วยเมนูใหม่อย่างเช่นเมนูที่ให้ชื่อว่า “นครศรีธรรมราช” ซึ่งเป็นเมนูผัดสะตอผัดกระเทียมดองในแบบฉบับที่มีเฉพาะในนครศรีธรรมราชเท่านั้น ชาวบ้านนิยมทำในงานวัดจึงมีอีกชื่อเรียกหนึ่งว่า “ผัดสะตองานวัด” รสชาติเป็นมิตรทั้งเด็กและผู้ใหญ่ สามารถเพิ่มความเผ็ดเข้าไปได้ด้วย “ลูกโดด” (พริก) โดยเชฟไอซ์เพิ่มความพิเศษเข้าไปด้วยเนื้อปลาเก๋าบ่มจนแน่นและนุ่มขึ้น

The South Savors จับตาเทรนด์อาหารใต้ยุคใหม่ หรอย (มา) แรง

เชื่อว่าในแวดวงอาหาร เมื่อพูดถึงใครสักคนที่นำเสนออาหารใต้ของไทยสู่ความเปล่งประกายบนเวทีโลก ต้องมีชื่อของเชฟไอซ์มาเป็นอันดับแรกอย่างแน่นอน

The South Savors จับตาเทรนด์อาหารใต้ยุคใหม่ หรอย (มา) แรง

“อาหารใต้ควรมีเวทีของตัวเองในระดับโลก เพราะมีครบทุกอย่าง” Jimmy Ophorst PRU, Phuket
จิมมี่ โอฟอร์สต์ (Jimmy Ophorst) Chef de Cuisine ห้องอาหารพรุ (PRU) แห่งตรีสรา รีสอร์ต ภูเก็ต ได้ใช้เวลาหลายต่อหลายปีเพื่อปลุกปั้นกระแสการทำอาหารแบบ Farm-to-Table และเชิดชูความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทยลงไปสู่จานอาหาร จนพรุ (PRU) เป็นร้านอาหารหนึ่งเดียวในภูเก็ตที่สามารถคว้า 1 ดาวมิชลิน และรางวัลดาวมิชลินรักษ์โลกมาครอบครองได้

ในฐานะของชาวต่างชาติที่เข้ามาใช้ชีวิตและเสาะแสวงหาวัตถุดิบท้องถิ่นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน “อูมามิ เผ็ดร้อน และการแบ่งปัน” เป็นนิยาม 3 คำที่เขามอบให้กับอาหารใต้ของไทย “อาหารใต้นั้นเปี่ยมไปด้วยเรื่องราวของเครื่องเทศและรสชาติ แต่ที่ยิ่งไปกว่านั้นผมมองว่าเสน่ห์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอาหารใต้และพบได้ในทุกๆ ภูมิภาคของประเทศไทยคือการแบ่งปัน ช่วงเวลาที่นำพาทุกคนในครอบครัวมาพร้อมหน้าพร้อมตากัน ล้อมวงกินข้าวกลางโต๊ะอาหาร ไม่มีอะไรดีไปมากกว่านี้อีกแล้ว”

เชฟจิมมี่เดินทางมาทำงานกับห้องอาหารพรุ (PRU) ที่ภูเก็ตตั้งแต่ปี ค.ศ. 2016 เท่ากับว่าชีวิตส่วนใหญ่ของเขานั้นคลุกคลีอยู่กับวัฒนธรรมของอาหารใต้มาพอสมควร ทำให้เขามีความหลงใหลในอาหารใต้มากตามไปด้วย “ผมใช้ชีวิตส่วนใหญ่ที่ภาคใต้จนรู้สึกว่าที่นี่คือบ้านของตัวเอง และเอกลักษณ์ของอาหารใต้อย่างรสชาติที่แสนเผ็ดร้อนก็ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของผมด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม อาหารใต้ของไทยยังมีความหลากหลายอื่นๆ อีกมากมายที่ไม่ใช่แค่เรื่องของเครื่องเทศเท่านั้น

“กะปิ เป็นอะไรที่ผมไม่ชอบเอาเสียเลย โดยเฉพาะในช่วงแรกๆ ที่มาใช้ชีวิตอยู่เมืองไทย แต่พอได้อยู่ไปนาน ๆ และได้ทำความเข้าใจมากยิ่งขึ้นก็ยิ่งทำให้ผมหลงรักกะปิมากขึ้นเรื่อยๆ จนทุกวันนี้กะปิกลายเป็นส่วนผสมหลักที่ผมสอดแทรกเข้าไปในหลายๆ เมนูของพรุ (PRU) อย่างล่าสุดนี้ก็มีโอกาสรังสรรค์เมนูใหม่โดยได้แรงบันดาลใจมาจาก ‘กุ้งผัดสะตอกะปิ’ ”

จากการเดินทางมาเยือนของคู่มือมิชลิน ไกด์ ที่ลงไปสำรวจร้านอาหารในภาคใต้ เริ่มต้นด้วยภูเก็ตและพังงา และในปี ค.ศ. 2023 นี้กับการเพิ่มจุดหมายปลายทางใหม่ เกาะสมุยและสุราษฎร์ธานี กำลังจะเป็นสปอตไลต์ดวงใหม่ที่ช่วยฉายแสงให้อาหารใต้เปล่งประกายมากขึ้นในสายตานานาชาติ “อาหารใต้ควรมีเวทีของตัวเองในระดับโลก เพราะมีครบทุกอย่าง มิชลินมีส่วนช่วยอย่างมากในการส่งเสริม และในขณะเดียวกันก็มีร้านอาหารอีกหลายร้าน เช่น ศรณ์ ที่ปลุกปั้นอาหารใต้ให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ผมจึงมองเห็นอนาคตของอาหารใต้ที่สดใสมากในเวทีระดับนานาชาติ”

The South Savors จับตาเทรนด์อาหารใต้ยุคใหม่ หรอย (มา) แรง

“อาหารใต้ในรูปแบบไฟน์ไดนิง แต่ยังคงความอบอุ่นเหมือนกินข้าวที่บ้านด้วยรสมือของคนที่คุ้นเคย” บอส-ธนชล เลาวพงษ์ Rern, Bangkok
แม้จะไม่ได้เป็นคนใต้โดยกำเนิด แต่ เชฟบอส-ธนชล เลาวพงษ์ จากเริน (Rern) ร้านอาหารใต้ในแบบฉบับไฟน์ไดนิงน้องใหม่ในกรุงเทพมหานคร ก็มองว่าการลงมือแปลงโฉมอาหารใต้ให้มีความพิเศษกว่าเดิมนั้นเป็นเรื่องน่าท้าทายและเป็นการเปิดโลกใหม่สำหรับเขาเลยทีเดียว

The South Savors จับตาเทรนด์อาหารใต้ยุคใหม่ หรอย (มา) แรง

จากคนที่เคยสัมผัสกับอาหารใต้เพียงแค่เมนูที่ใครๆ ก็คุ้นเคยอย่างแกงส้ม ใบเหลียงผัดไข่ และผัดกะปิ เชฟบอสเริ่มต้นการเดินทางตั้งแต่ลงไปภาคใต้ คุยกับชาวบ้าน ชาวสวน ลองชิมอาหารใต้เพื่อศึกษาค้นคว้าและทำความเข้าใจให้ลึกซึ้งถึงแก่นและเอกลักษณ์ของอาหารในแต่ละจังหวัด ซึ่งมีความแตกต่างกันตามวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของแต่ละพื้นที่ “อาหารใต้เป็นสิ่งที่มีความโดดเด่นในตัวอยู่แล้ว เราจึงถ่ายทอดสิ่งเหล่านั้นลงไปในจานอาหารให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างแกงส้มหรือแกงเหลืองที่เรียกได้ว่ามีรสชาติต่างกันไปหมดในทุกบ้านและทุกท้องถิ่นเลยก็ว่าได้ เช่น แกงส้มของชุมพรจะมีน้ำแกงข้น เผ็ดร้อน ใส่พริกไทยดำ แกงส้มเมืองคอนจะมีน้ำเยอะแต่ถึงเครื่อง และออกไปทางป่าๆ แล้วเราก็เอามาถ่ายทอดใหม่ในแบบที่เราคิดว่าดี”

The South Savors จับตาเทรนด์อาหารใต้ยุคใหม่ หรอย (มา) แรง

The South Savors จับตาเทรนด์อาหารใต้ยุคใหม่ หรอย (มา) แรง

แกงส้มที่เสิร์ฟบนโต๊ะอาหารของเริน (Rern) จึงเน้นไปที่ความล้ำลึกของน้ำแกง มีทั้งความเปรี้ยวจากน้ำมะนาว ส้มแขก และสับปะรด กินคู่กับขาหมูออร์แกนิกเผา และใส่หน่อไม้ที่ดองด้วยน้ำซาวข้าวสังข์หยด ซึ่งเป็นข้าวพันธุ์พื้นเมืองของพัทลุง

The South Savors จับตาเทรนด์อาหารใต้ยุคใหม่ หรอย (มา) แรง

คุณเบียร์-จุฑาทิพย์ เพชรเรือนทอง เจ้าของร้านซึ่งเป็นคนกระบี่ มีแนวคิดที่จะนำเสนออาหารใต้ในรูปแบบไฟน์ไดนิง แต่ยังคงความอบอุ่นเหมือนกินข้าวที่บ้านด้วยรสมือของคนที่คุ้นเคย ผ่านความทรงจำทั้งรสชาติอาหารและบรรยากาศรอบตัว นอกจากนั้นยังต้องการยกระดับวัตถุดิบจากภาคใต้ รวมถึงวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนใต้มารวมอยู่ในที่เดียวกัน ให้คนกรุงเทพฯ ได้สัมผัสกับอาหารใต้ที่เหนือขั้นกว่าอาหารทั่วไป”

The South Savors จับตาเทรนด์อาหารใต้ยุคใหม่ หรอย (มา) แรง

“แทบไม่มีใครรู้เลยว่าคน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้กินอะไร ดำรงชีวิตอย่างไร ผมเลยตัดสินใจนำเสนออาหารบ้านเกิดให้คนกรุงเทพฯ ได้ลอง” กัส-ชารีฟ ปัตนกุล Front Room, Bangkok
บนรอยต่อระหว่าง 2 ประเทศเพื่อนบ้านไทยกับมาเลเซีย ทำให้ดินแดนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นมีความโดดเด่นอย่างมากในแง่ของวัฒนธรรมและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ รวมถึงอาหารการกินที่ได้รับอิทธิพลมาจากประเทศเพื่อนบ้านอยู่ไม่น้อย น่าเสียดายที่เสน่ห์เหล่านี้ยังซ่อนเร้นอยู่ภายใต้ชั้นบรรยากาศที่มีชื่อเรียกว่า “ความรุนแรง”

เชฟกัส-ชารีฟ ปัตนกุล คือลูกหลานเมืองนราธิวาสผู้เกิดและเติบโตท่ามกลางครอบครัวใหญ่ที่รักและชอบการทำอาหาร วันนี้เขาเป็นเชฟหนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรงที่หวนเอาความทรงจำสมัยยังวัยเยาว์มารื้อฟื้นใหม่อีกครั้งผ่านคอร์สอาหาร 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เรียกได้ว่าเป็นแห่งแรกและแห่งเดียว ณ ใจกลางเมืองหลวง ที่ ห้องอาหารฟร้อนท์ รูม (Front Room) ของโรงแรมวอลดอร์ฟ แอสโทเรีย กรุงเทพ

The South Savors จับตาเทรนด์อาหารใต้ยุคใหม่ หรอย (มา) แรง

จริงอยู่ที่อาหารใต้นั้นโดดเด่นด้วยรสชาติเผ็ดจัดจ้าน ทว่าอาหารใต้ของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่คนส่วนใหญ่เป็นชาวไทยมุสลิมนั้นกลับต่างออกไป ด้วยรสชาติที่กลมกล่อม หวานติดปลายลิ้น ไม่เผ็ดโดด และมีการใช้เครื่องเทศเป็นวัตถุดิบหลัก “อาหารจานเด็ดของผมจึงเป็นแกงกุรุหม่า ซึ่งเป็นเมนูที่คุณป้าของผมมักทำให้กินในตอนเด็ก แต่เมื่อท่านเสียไปผมจึงพยายามและตั้งใจทำเมนูนี้ด้วยตัวเอง และทุกครั้งที่ได้ทำก็ยังคงคิดถึงท่านอยู่เสมอ”

The South Savors จับตาเทรนด์อาหารใต้ยุคใหม่ หรอย (มา) แรง

แกงกุรุหม่าเป็นแกงแขกที่ชาวมุสลิมนิยมทำในโอกาสพิเศษและวันสำคัญต่างๆ เชฟกัสได้นำสูตรดั้งเดิมของครอบครัวมาปรับเป็น แกงกุรุหม่าเป็ดทอด หนึ่งในเมนูเมนคอร์สที่ผสานการทำอาหารแบบสากลเข้าไป โดยนำขาเป็ดไปกงฟีจนได้เนื้อนิ่ม เข้ากับน้ำแกงเข้มข้นด้วยเครื่องเทศหลากหลายชนิดที่เสริมความกลมกล่อมด้วยโยเกิร์ต โดยมีอาจาดสับปะรดให้กินแกล้ม นอกจากนี้ในเมนคอร์สยังมี ตูปะซูตง หรือปลาหมึกหวานยัดไส้ข้าวเหนียว เป็นหนึ่งในเมนูจะคาวก็ไม่ใช่หวานก็ไม่เชิง แต่นับว่าแปลกใหม่มากสำหรับคนที่ไม่มีโอกาสได้สัมผัส 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มาก่อน

The South Savors จับตาเทรนด์อาหารใต้ยุคใหม่ หรอย (มา) แรง

The South Savors จับตาเทรนด์อาหารใต้ยุคใหม่ หรอย (มา) แรง

เชฟกัสบอกว่านราธิวาสเป็นจังหวัดที่โดดเด่นในการผลิตน้ำบูดู เพราะเป็นจุดแรกที่เรือประมงจะมาเทียบท่า จึงมีโอกาสคว้าของดีจากทะเลมาก่อนจังหวัดอื่น ส่วนปัตตานีนั้นมีเมนูแกงแขกที่ขึ้นชื่อ ในยะลานั้นก็เช่นกัน ยกเว้นในพื้นที่ อำเภอเบตงซึ่งมีบ้านคนจีนอยู่มาก อาหารการกินส่วนใหญ่จึงเป็นอาหารจีน และภูมิประเทศบนที่สูง อากาศเย็นสบาย ก็ทำให้วัตถุดิบมีคุณภาพดีตามไปด้วย เช่น ไก่เบตง ปลานิลเกรดซาชิมิ และส้มโชกุน

The South Savors จับตาเทรนด์อาหารใต้ยุคใหม่ หรอย (มา) แรง

The South Savors จับตาเทรนด์อาหารใต้ยุคใหม่ หรอย (มา) แรง

“ทุกคนรับรู้เพียงเรื่องความรุนแรง และแทบไม่มีใครรู้เลยว่าคน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้กินอะไร ดำรงชีวิตอย่างไร ทำให้ผมตัดสินใจนำเสนออาหารบ้านเกิดให้คนกรุงเทพฯ ได้ลอง”

The South Savors จับตาเทรนด์อาหารใต้ยุคใหม่ หรอย (มา) แรง

ความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติที่เปรียบได้ดั่งพรจากสวรรค์กับวิถีชีวิตของผู้คนหลากหลายวัฒนธรรม เมื่อมาสอดประสานกับความพยายามของคนรุ่นใหม่ที่มีใจรักในการทำอาหาร อนาคตของอาหารใต้จะหรอยแรงกว่าที่เคยอย่างแน่นอน

ขอขอบคุณ

  • เชฟไอซ์-ศุภักษร จงศิริ ร้านศรณ์ (Sorn)
  • เชฟจิมมี่ โอฟอร์สต์ (Jimmy Ophorst) ห้องอาหารพรุ (PRU) ตรีสรา รีสอร์ต ภูเก็ต
  • เชฟบอส-ธนชล เลาวพงษ์ ร้านเริน (Rern)
  • เชฟกัส-ชารีฟ ปัตนกุล ห้องอาหารฟร้อนท์ รูม (Front Room) โรงแรมวอลดอร์ฟ แอสโทเรีย กรุงเทพ 

Tag: อาหารใต้, อาหารไทย, อาหารไทยโมเดิร์น

เรื่องโดย

ความคิดเห็น

Editor’s Pick

Recent

Most Viewed