“กาวยประภา” ตามรอยเสด็จฯ ผ่านภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ในสมเด็จพระเทพฯ

วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2561  4,008 Views
นิตยสาร Gourmet & Cuisine ฉบับที่ 211 เดือนกุมภาพันธ์ 2561

นับเป็นประจำต่อเนื่องทุกปีที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานภาพถ่ายฝีพระหัตถ์เพื่อนำมาจัดนิทรรศการ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

“กาวยประภา” ตามรอยเสด็จฯ ผ่านภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ในสมเด็จพระเทพฯ

เช่นเดียวกับในปีนี้ นิทรรศการภาพถ่ายส่วนพระองค์วนกลับมาจัดแสดงอีกครั้ง ภายใต้ชื่อ “กาวยประภา” เพื่อเปิดโอกาสให้เราได้ท่องเที่ยวตามรอยเสด็จผ่านภาพหลังกล้องของพระองค์นั่นเอง 

“กาวยประภา” ตามรอยเสด็จฯ ผ่านภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ในสมเด็จพระเทพฯ

“กาวยประภา” ตามรอยเสด็จฯ ผ่านภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ในสมเด็จพระเทพฯ

กาวยประภา (Poetry of Light)
ที่มาที่ไปของชื่อ “กาวยประภา” นั้น สมเด็จพระเทพฯ ทรงดำรัสไว้ในคำนำส่วนหนึ่งของหนังสือภาพถ่ายส่วนพระองค์ว่า “คำว่ากาวยะหรือกาพย์ หมายถึงกวีนิพนธ์ทั่วๆ ไป อินเดียในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 7 ตอนนั้นใช้เรียกการเรียงร้อยถ้อยคำศัพท์สำนวนที่กวีใช้บรรยายสิ่งที่เห็น คิด หลักวิชา ความรู้สึก อารมณ์ ด้วยการเปรียบเทียบในลักษณ์ต่างๆ เป็นจังหวะทำนองอันประณีต

ประภาคือแสงสว่าง ถ้าพูดเป็นวิชาการที่คุณครูให้ความรู้มาในโรงเรียนก็ว่าเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า มักจะหมายถึงแสงที่สายตามนุษย์มองเห็นได้…”

“เมื่อกล่าวถึงแสงก็ต้องนึกถึงสี เพราะคลื่นแสงทำให้เกิดสีต่างๆ ภาพถ่ายสะท้อนให้เห็นสีที่ประกอบกันเป็นภาพที่มีความหมาย เป็นความงามที่เรียงร้อยเป็นระเบียบเห็นได้ด้วยสายตา เป็นสื่อทำให้เข้าใจกัน ทำให้จิตใจผ่องใส สร้างมิตรไมตรีระหว่างกัน การเรียงร้อยนั้นเรียกว่ากาวยะ แสงก็คือประภานั่นเอง”

“กาวยประภา” ตามรอยเสด็จฯ ผ่านภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ในสมเด็จพระเทพฯ

ทันทีที่ขึ้นมาถึงห้องนิทรรศการ ชั้น 8 ของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เราได้พบกับภาพถ่ายส่วนพระองค์ที่ทรงบันทึกไว้ระหว่างการเสด็จเยือนสถานที่ต่างๆ ในช่วงปี 2559-2560 จำนวน 168 ภาพด้วยกัน แต่ละภาพไม่เพียงแสดงถึงมุมมองสายพระเนตรของพระองค์เท่านั้น แต่ยังแฝงไว้ด้วยพระอารมณ์ขันที่เราได้ชมแล้วอดยิ้มตามไม่ได้ โดยเฉพาะภาพชุดแมวและสุนัขทรงเลี้ยงวังสระปทุม อาทิ รูปของบ๊อบ แมวทรงเลี้ยงสีส้มที่กำลังนั่งทิ้งตัวอยู่ในท่าทางอ่อนระโหยโรยแรง เข้ากับชื่อภาพที่พระองค์ทรงตั้งว่า บ๊อบบอกว่า “เนื้อยเหนื่อย” (ถ่ายเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2559)

“กาวยประภา” ตามรอยเสด็จฯ ผ่านภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ในสมเด็จพระเทพฯ

“กาวยประภา” ตามรอยเสด็จฯ ผ่านภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ในสมเด็จพระเทพฯ

หากใครมีโอกาสได้อ่านหนังสือ “อยู่วังสระปทุม” มาก่อนคงพอทราบว่า แม้บ๊อบจะเป็นแมวป่วยที่เพิ่งมาถวายตัวได้ไม่นาน แต่ตอนนี้กลายเป็น 1 ในดาวเด่นของวังสระปทุมไปเสียแล้ว สมเด็จพระเทพฯ พระราชทานชื่อให้ว่าบ๊อบเพราะรูปร่างหน้าตาเหมือนบ๊อบ แมวสีส้มข้างถนนสุดโด่งดังของอังกฤษ ผู้เขียนเองยืนมองภาพสีหน้าและท่าทางของบ๊อบอยู่นานแล้วก็รู้สึกเหนื่อยตามบ๊อบไปเลยทีเดียว

“กาวยประภา” ตามรอยเสด็จฯ ผ่านภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ในสมเด็จพระเทพฯ

“กาวยประภา” ตามรอยเสด็จฯ ผ่านภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ในสมเด็จพระเทพฯ

นอกจากนี้ยังมีภาพของใบตอง แมวทรงเลี้ยงที่กำลังจ้องตากับคุณละมุนละไม สุนัขทรงเลี้ยงผ่านกระจกอย่างจริงจังจนหูลู่ ชื่อภาพว่าละมุนละไมอยู่ในเรือน จ้องมองใบตองอยู่นอกเรือน วังสระปทุม (ถ่ายเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2560) อีก 1 ภาพที่ชวนอมยิ้มไม่แพ้กันคืองูเหลือมวังสระปทุมตัวที่ 68 รู้สึกน้องใหม่จะชอบ ภาพของคุณสิริกิตติยา เจนเซ่น ที่ถ่ายภาพกับงูเหลือมตัวใหญ่ที่พบในวังสระปทุมในอิริยาบถสบายๆ หาชมได้ยากยิ่ง รวมถึงสีสันของนิทรรศการคือภาพสัญญาว่าจะมาทุกปี ภาพที่ทรงถ่าย ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล ยืนเรียงซ้อนกันในเฟรมเดิม แสดงถึงพระอารมณ์ขันของพระองค์เอง

“กาวยประภา” ตามรอยเสด็จฯ ผ่านภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ในสมเด็จพระเทพฯ

ถัดมาเป็นกลุ่มภาพที่สมเด็จพระเทพฯ ทรงบันทึกไว้ระหว่างการเสด็จเยือนต่างประเทศ อาทิ หมู่เกาะกาลาปากอส สาธารณรัฐเอกวาดอร์ ดินแดนแห่งสัตว์หายากที่หลายคนใฝ่ฝันอยากไปให้ได้สักครั้งในชีวิต เริ่มจากภาพปูสีส้มสดใสบนโขดหิน ทรงตั้งชื่อภาพว่าปูแซลลีตีนเบาแห่งกาลาปากอส ภาพนกเพนกวินที่เขาว่าอยู่เหนือสุดแห่งกาลาปากอส เจ้าเพนกวินหน้าตาน่ารักกำลังแอ่นอกยืนยิ้มส่งมาให้กล้อง ภาพสิงโตทะเล นอนอาบแดดผึ่งพุงสบายใจ ภาพแผงขายปลา ที่เราได้เห็นชายท้องถิ่นกำลังจับมีดเตรียมแล่ปลา โดยมีเจ้านกตัวใหญ่ด้านหลังเป็นตัวขโมยซีน ภาพนกบูบี้ตีนฟ้า นกทะเลหากินด้วยการจับปลา จุดเด่นอยู่ที่มีเท้าสีฟ้าไว้อวดโฉมตอนเลือกคู่

“กาวยประภา” ตามรอยเสด็จฯ ผ่านภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ในสมเด็จพระเทพฯ

อีกภาพที่เราชอบมากคือนกฟริเกต ที่กาลาปากอส ทรงบันทึกไว้ระหว่างที่นกฟริเกตกำลังกางปีกโบยบินบนท้องฟ้า นกฟริเกต หรือเจ้านกโจรสลัดแห่งกาลาปากอสนั้น ตัวผู้มีสัญลักษณ์เฉพาะตัวเป็นถุงพองลมใต้คอสีแดงสวยงาม มักบินโฉบเหยื่อของนกชนิดๆ กลางอากาศ (ร้ายนัก) ปิดท้ายภาพตัวยามา (Llama) น่ารักมาก แต่ถ้าไม่ชอบหน้าใครจะถ่มน้ำลายใส่ สัตว์ชนิดนี้หน้าตาคล้ายคลึงกับเจ้าอัลปาก้า แต่ขนหยาบ ตัวโตกว่า กำลังยืนตาแป๋วน่าเอ็นดู

“กาวยประภา” ตามรอยเสด็จฯ ผ่านภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ในสมเด็จพระเทพฯ

นอกจากสาธารณรัฐเอกวาดอร์ เรายังได้เห็นภาพถ่ายฝีพระหัตถ์จากประเทศอื่นๆ อีกมากมาย อาทิ ภาพหลุมประตูนรก ที่สาธารณรัฐเติร์กเมนิสถาน หลุมก๊าซธรรมชาติอันร้อนระอุสีแดงฉานที่กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสุดทรหด ภาพอนุสาวรีย์ที่เบลเกรด อันงดงามจากสาธารณรัฐเซอร์เบีย ภาพวัดโฝกวง พระอรหันต์ห้าร้อยองค์ ที่ทรงบันทึกไว้ขณะเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2560 ภาพผ้าพื้นเมืองสีสันสะดุดตา ชื่อภาพเมืองเก่า ซาราเจโว จากสาธารณรัฐบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา

“กาวยประภา” ตามรอยเสด็จฯ ผ่านภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ในสมเด็จพระเทพฯ

ปิดท้ายการเดินชมนิทรรศการครั้งนี้ด้วยการย้อนระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญของชาวไทย คืองานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่สมเด็จพระเทพฯ ทรงบันทึกภาพขั้นตอนระหว่างการจัดเตรียมงานไว้อย่างละเอียด อาทิ ภาพการปรับพื้นที่ก่อสร้างพระเมรุมาศ ช่างบุลาย ภาพประดับลายโกศไม้จันทน์ ภาพลายผ้าม่านพระเมรุมาศ ภาพสัตว์หิมพานต์ที่ใช้ในพระราชพิธี

“กาวยประภา” ตามรอยเสด็จฯ ผ่านภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ในสมเด็จพระเทพฯ

และภาพสำคัญ “ฉัตรดอกไม้กรองชั้นบนสุด ฝีมือของข้าพเจ้า” ให้เราได้ชื่นชมฝีพระหัตถ์อันวิจิตรงดงาม โดยทรงมีพระราชดำรัสเมื่อวันที่เสด็จเปิดนิทรรศการครั้งนี้ว่า ทรงใช้เวลาทำนานถึง 4 ชั่วโมงครึ่งเลยทีเดียว

“กาวยประภา” ตามรอยเสด็จฯ ผ่านภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ในสมเด็จพระเทพฯ

นิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ “กาวยประภา” ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เปิดให้เข้าชมระหว่างวันนี้ถึงวันนี้-วันที่ 4 มีนาคม 2561 ณ ห้องนิทรรศการชั้น 8 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (หยุดวันจันทร์) 


Tag: , นิทรรศการ, travel,

เรื่องโดย

ความคิดเห็น

Editor’s Pick

Recent

Most Viewed