เป็นเรื่องจริงที่ว่าเราได้ยินคำว่า “เวลเนส” บ่อยครั้งในฟากฝั่งไลฟ์สไตล์ แต่ครั้งนี้เราขอลองฟังเรื่องเวลเนสจากคุณหมอผู้เชี่ยวชาญให้รู้ลึกขึ้นว่าการดูแลตัวเองแบบเวลเนสคืออะไร และแตกต่างจากการรักษาทั่วไปอย่างไรบ้าง
“ถ้าแปลตรงตัว Wellness คือทำให้ดี ดูแลตัวเองให้สุขภาพดีอยู่เสมอ” คุณหมอเข็ม-พญ.พิชชาพร ธนาพงศธร ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ช่วยผู้อำนวยการ โรงพยาบาลวิมุต เริ่มต้นบทสนทนาด้วยรอยยิ้มสดใส ก่อนจะขยายความต่อว่าสิ่งที่ทำให้ “เวลเนส” แตกต่างจากการรักษาทั่วไปคือความต่อเนื่อง ครอบคลุมทั้งการป้องกันไม่ให้เกิดโรคและฟื้นฟูหลังเกิดโรค ไม่ใช่การทำเป็นครั้งคราว ยิ่งไปกว่านั้นต้องปรับเปลี่ยนไปถึงไลฟ์สไตล์ด้วย
“ธีมหลักของเวลเนสคือ 3 อ.ปรับอาหาร ปรับอารมณ์ และออกกำลังกาย อาหารนี่แหละค่ะที่เป็นประเด็น เราออกกำลังกายสัปดาห์ละ 3 วัน แต่กินอาหารวันละ 3 มื้อ ถ้าให้พูดเป็นตัวเลขคือคนอายุ 30 ปีกินอาหารมาแล้วมากกว่า 30,000 มื้อ เพราะฉะนั้นอาหารจึงส่งผลมากที่สุดใน 3 อ.”
เพราะเรารู้ดีว่าผู้อ่าน G&C ที่รักเป็นนักกินตัวฉกาจ คุณหมอเข็มแนะนำว่าหากคิดจะปรับพฤติกรรมให้เริ่มจากการเช็กตัวเอง ควบคู่กับการเช็กที่โรงพยาบาลด้วย เพื่อให้รู้ว่าสิ่งที่เรากินเข้าไปส่งผลแบบไหน
“ศาสตร์การแพทย์ให้กินได้ทุกอย่าง แต่อย่ามากไปและน้อยไป ที่โรงพยาบาลเองมีการให้คำปรึกษาโดยนักโภชนาการและนักกำหนดอาหาร เช่น บางคนกินอาหารแล้วรู้สึกร่างกายไม่สมดุล เกิดอาการท้องผูก หรือกินแล้วอ้วนง่าย ซึ่งโรคอ้วนเกิดจากการสะสมทุกอย่าง ทั้งไขมัน น้ำตาล และส่งผลต่อทุกอวัยวะ เช่น อาจเกิดเส้นเลือดในสมองตีบ เส้นเลือดในหัวใจตีบ ทำให้เป็นโรคหัวใจ โรคความดันสูง และมีอีกหลายโรคตามมา”
ส่วน อ.อารมณ์ คุณหมอเล่าว่าปัจจุบันคนเป็นโรคเกี่ยวกับอารมณ์มากขึ้น ด้วยสภาวะสังคมที่เปลี่ยนไป การแข่งขัน รวมถึงความเครียด อารมณ์จึงเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดความเจ็บป่วย แต่สิ่งที่ดีคือตอนนี้คนเปิดใจและรู้จักอารมณ์ของตัวเอง “ปัจจุบันการรักษาวิวัฒนาการไปมาก รักษาเร็ว หายง่ายและหายขาดค่ะ”
“อันที่จริงแล้วศาสตร์การบำบัดด้านเวลเนสมีหลากหลายนะคะ สำหรับโรงพยาบาลวิมุตเองแยกออกเป็น 2 ส่วน ส่วนของโรงพยาบาลที่ตั้งอยู่ที่พหลโยธินเป็นการแพทย์ปัจจุบัน การดูแลก็จะเป็นการเช็กอัปตามอายุ ตามปัจจัยเสี่ยง เช่น สายดื่มเช็กอะไร สายออกกำลังกายเช็กอะไร เราขยายเป็น Nursing Home ไปพัฒนาตั้งแต่ในบ้าน เช่น ในบ้านต้องมีพื้นที่อย่างไร ออกแบบบ้านแบบไหนให้เดินแล้วไม่ลื่นล้ม ในอนาคตเราจะไปถึงศาสตร์อื่นด้วย เช่น กลุ่ม Anti-Aging และกลุ่มซัพพลีเมนต์ เรามองหาสิ่งอื่นที่มากกว่ายา เช่น โปรไบโอติกส์ที่เหมาะกับคนไทยซึ่งกำลังทำวิจัยกับบริษัทต่างชาติ รวมถึงการทำแอปพลิเคชัน Naluri ให้ได้สื่อสารกับนักจิตบำบัด นักโภชนาการ มีการสอนออกกำลังกาย ซึ่งทุกอย่างจะถูกบันทึกไว้ในแอปฯ เวลามาโรงพยาบาลหมอก็จะเห็นข้อมูลเหล่านี้ด้วย”
นอกจากนี้ที่ Vimut Wellness ยังมีศาสตร์ธาราบำบัด (Hydrotherapy) ใช้ระบบสระน้ำเกลือและน้ำอุ่นในการรักษา ความหนาแน่นของน้ำจะช่วยพยุงร่างกาย เหมาะกับผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง โรคพาร์กินสัน โรคไขข้อ สำหรับคนที่ยังไม่เจ็บป่วยก็เลือกออกกำลังกายในน้ำได้ ไม่ว่าจะเป็นการเต้นแอโรบิก หรือปั่นจักรยาน
Vimut Wellness ศูนย์ฟื้นฟูและดูแลสุขภาพสำหรับครอบครัวและผู้สูงอายุ
นอกจากโรงพยาบาลวิมุต พหลโยธิน ยังมีวิมุต เวลเนส (Vimut Wellness) โรงพยาบาลกายภาพบำบัดขนาดเล็กในโครงการ Pruksa Avenue บางนา-วงแหวน บริการดูแลผู้สูงอายุโดยทีมแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อและกระดูก โรคสมอง และโรคหัวใจ เป็นการกระจายศูนย์บริการการแพทย์ขนาดเล็กไปตามชุมชน เพื่อไม่ให้คนไข้ต้องเดินทางไกลเพื่อมาพบแพทย์
เรื่องวัยก็มีผล คุณหมอเข็มยกตัวอย่างกลุ่มผู้สูงอายุมักจะมีเรื่องโรคหลงลืม ดังนั้นการฟื้นฟูสมองสามารถทำได้ตั้งแต่เนิ่นๆ “ในศาสตร์แพทย์แผนปัจจุบันสามารถตรวจเลือดเพื่อวิเคราะห์ได้ว่าคนนี้มีความเสี่ยงที่จะหลงลืมได้ง่าย เราก็มาเพิ่มออกซิเจนในร่างกาย บางคนเข้ารักษาด้วยวิธีไฮเปอร์แบริก (การรักษาด้วยออกซิเจนบริสุทธิ์ 100%) กินยาบางชนิด พอตรวจเลือดซ้ำ ปรากฏว่าขยะในร่างกายลดลง ความเสี่ยงก็ลดลงด้วย
“อีกอย่างที่โรงพยาบาลนำมาใช้คือเรื่องศิลปะบำบัด เพราะสีมีผลต่ออารมณ์ ผู้สูงวัยเมื่อเริ่มหลงลืม สีสันจะทำให้เขาจำได้ อีกทั้งช่วยให้เกิดความปลอดภัย เช่น โต๊ะของผู้สูงอายุจะมีการตัดสีขอบให้เขาแยกระหว่างสีโต๊ะกับสีพื้นได้ เรื่องเพลงก็เช่นกัน เรามีเพลย์ลิสต์ที่ทางแพทย์จิตเวชของเราช่วยเลือกให้เหมาะกับบรรยากาศ เช่น ก่อนนอนฟังอะไร ตื่นมาอยากกระปรี้กระเปร่าฟังอะไร ทำอาหารฟังเพลงแบบไหน”
ส่วนหนุ่มสาวชาวออฟฟิศคุณหมอเข็มบอกว่านี่คือช่วงเวลาที่ร่างกายแข็งแรงที่สุด แต่เรากลับใช้งานอย่างบ้าคลั่ง “เราเป็นออฟฟิศซินโดรมเพราะเราใช้งานมันมากไป บางคนกินไม่ตรงเวลา นอกจากจะกินหวานมันเค็ม ยังกินปริมาณไม่ถูกต้อง ซึ่งเป็นสิ่งที่เราทำตัวเองทั้งนั้น ไม่มีกรรมพันธุ์ใดๆ มาทำมนุษย์ออฟฟิศได้เลย เพราะฉะนั้นต้องย้อนกลับไป ไปออกกำลังกาย ไปพัฒนาด้านอารมณ์ ดูแลเรื่องอาหาร กินวิตามินเสริมซึ่งต้องเป็นช่วงอายุนี้นะคะ เพราะถ้ากินวิตามินตอนสูงวัยจะไม่เสริมแล้ว แต่จะกลายเป็นรักษาแทน”
เราอายุ 30 กว่าปี เรากินไปแล้วมากกว่า 30,000 มื้อ
คุณหมอเข็มย้ำตัวเลขเดิมให้เราสะดุ้งอีกรอบ นี่เป็นที่มาของโปรเจ็กต์ที่มีประโยชน์ (และอร่อยด้วย) ที่โรงพยาบาลวิมุตร่วมกันทำกับร้านฌานา ร้านอาหารเพื่อสุขภาพในเครือฟู้ดแพชชั่น ด้วยจุดประสงค์ตรงกันที่ว่า การดูแลสุขภาพไม่ใช่แค่มาหาหมอแล้วจบ แต่ต้องย้อนกลับไปที่อาหารการกิน
“ปัญหาที่เจอในฝั่งโรงพยาบาลคือหมอจะสั่งให้คนไข้กินในสิ่งที่ดูเหมือนกินไม่ได้ ต้องไม่เค็มนะ ไม่หวานนะ การที่เราจะให้เขาอยู่กับ 30,000 มื้อที่เหลือไปอีก 30 ปี สิ่งนี้ต้องกินได้ เราจึงชาเลนจ์กับฌานาว่าช่วยทำอาหารที่อร่อยและสุขภาพดีที่กินได้ทุกวัน โดยมีศาสตร์การแพทย์มายืนยันว่าเมนูดีจริงๆ ซึ่งทางเราเองก็ใส่ความรู้แบบไม่ยั้ง เอานักกำหนดอาหารไปพิสูจน์ว่าเมนูนี้มีโซเดียมเท่าไร คนป่วยกินได้ไหม เพื่อให้ประโยชน์สูงสุดไปอยู่ที่ผู้บริโภค กลายเป็นเมนู Healthier Choice
“เป็นโปรเจ็กต์ที่หมอขอนิยามว่า เมื่อแพทย์เจอกับเชฟ”
Healthier Choice เมนูอร่อยที่ Approved โดยคุณหมอ
เพราะเชื่อว่าอาหารคือจุดเริ่มต้นของสุขภาพที่ดี จึงเป็นที่มาของการเปิดตัว “Healthier Choice” ที่ฌานา ร่วมกับโรงพยาบาลวิมุตและโรงพยาบาลเทพธารินทร์ ช่วยกันวิเคราะห์ พัฒนาและกำหนดโภชนาการอาหาร 8 เมนูจากฌานาให้สอดรับตามเทรนด์ผู้บริโภคที่หันมาใส่ใจเรื่อง Health & Wellness ทั้ง Charna Poke Bowl ควินัวทูน่า ข้าวคลุกปลาทูแม่กลอง สลัดปลาแซลมอนย่าง เดรสซิงน้ำมันมะกอก สลัดปลาสองสีย่าง ลาบปลาแซลมอน ยำทูน่าสมุนไพรพริกสด โรลโฮจิมินห์ หมูสันนอกย่างสูตรไขมันต่ำ และเมี่ยงผักเคลไดโนเสาร์ ปลาสองสี ทุกเมนูเป็นสูตรโซเดียมต่ำ แต่ละเมนูได้นักกำหนดอาหารคำนวณสัดส่วนของพลังงานและสารอาหารอย่างละเอียด ให้กินทุกมื้ออย่างมีความสุขและมั่นใจว่ามื้อนี้ไม่ทำร้ายสุขภาพอย่างแน่นอน
สั่งทุกเมนูได้ผ่านช่องทาง GON Gang Delivery, LineMan, GrabFood หรือที่ร้านฌานา ชั้น 6 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์
Tag:
Cover story, การดูแลสุขภาพ, อาหารเพื่อสุขภาพ, โรงพยาบาลวิมุต
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น