ว่าด้วยเรื่องของการผ่อนคลายร่างกายที่เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า นวดแผนไทยนั้นเป็นตัวเลือกลำดับต้นๆ อย่างแน่นอน ด้วยความเข้มข้นและเน้นย้ำตามจุดต่างๆ ของร่างกายซึ่งช่วยผ่อนคลายจนร่างกายแทบเหลวหลังนวดเสร็จ แน่นอนว่าภูมิปัญญาของการนวดแผนไทยนี้ก็มีความเป็นมาอันยาวนานและทรงคุณค่า จนองค์การยูเนสโกขึ้นทะเบียนนวดไทยเป็นหนึ่งในมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (UNESCO Intangible Cultural Heritage Lists) ไปเรียบร้อยเมื่อปี ค.ศ. 2019
เมื่อถามว่าจะไปตามรอยเรียนรู้ประวัติและความเป็นมาของนวดไทยได้ที่ไหน หนึ่งในจุดเริ่มต้นของศาสตร์ดังกล่าวนี้เป็นที่ไหนไปไม่ได้นอกจากวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร หรือ “วัดโพธิ์” ศูนย์กลางการเรียนรู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทย ด้วยสมัยก่อนนั้นแหล่งรวมความรู้ต่างๆ ก็มักจะอยู่ภายในวัด ซึ่งวัดโพธิ์เองก็เป็นคลังข้อมูลของการแพทย์แผนไทยแทบทุกสาขา ได้แก่ เวชกรรมไทย เภสัชกรรมไทย การผดุงครรภ์ไทย รวมถึงการนวดไทยด้วย
นอกจากการชื่นชมรูปปั้นของฤาษีดัดตนจำนวน 82 ตนในท่วงท่าต่างๆ ที่ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดของร่างกายเชื่อมโยงกับการนวดแผนไทยแล้ว เมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 2022 ที่ผ่านมา วัดโพธิ์ได้เปิดพื้นที่ส่วนหนึ่ง ณ เบื้องหลังความสูงตระหง่านของมหาเจดีย์สี่รัชกาล เป็นนิทรรศการรวมองค์ความรู้ของการนวดแผนไทยเอาไว้ให้ผู้มาเยือนได้สัมผัสกับศาสตร์การนวดมรดกโลกภายใต้ชื่อว่า “พิพิธภัณฑ์นวดไทย”
ที่นี่เป็นพิพิธภัณฑ์ขนาดย่อมๆ ที่อัดแน่นไปด้วยเรื่องราวการนวดไทยตั้งแต่เริ่มต้น เริ่มตั้งแต่หน้าประตูที่ชวนสะดุดตาด้วยรูปปั้นนูนจากฝาผนังรูปคนสีแดงที่ถอดแบบจากตำราการนวดพร้อมเส้นประธานสิบสีทองอร่ามโยงใยทั่วร่างกาย ซึ่งตำราที่ว่าด้วยเส้นประธานสิบนี้ดูจะเป็นหัวใจสำคัญของศาสตร์การนวดไทยอย่างแท้จริง เห็นได้เมื่อเข้าไปภายในห้องพิพิธภัณฑ์แล้วจะเห็นหุ่นรูปปั้นสีขาวตั้งอยู่ใจกลางห้องพร้อมด้วยคำอธิบายเส้นประธานสิบซึ่งถือเป็นเส้นหลักที่เชื่อมโยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย และมีประโยชน์ต่อการวินิจฉัยและบำบัด
หากจะย้อนไปถึงรากเหง้าของการนวดไทยที่กล่าวว่ามีต้นกำเนิดตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา จวบจนเข้าสู่สมัยรัชกาลที่ 5 ในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ก็ได้มีการจัดทำตำราการนวดขึ้นอย่างจริงจัง ซึ่งคัมภีร์แผนนวดเล่ม 1 และเล่ม 2 ในตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวงที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยนั้นก็ถูกนำมาอวดโฉมกันในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ พร้อมจัดแสดงคู่กับคัมภีร์แผนนวดฉบับวัดสุวรรณาราม หนึ่งในตำรานวดเก่าแก่ที่ทุกวันนี้ยังไม่มีใครทราบว่าเกิดขึ้นในช่วงปีใด นอกจากนี้ยังมีตำราโรคนิทานคำฉันท์ 11 ของพระยาวิชยาธิบดี (กล่อม) เจ้าเมืองจันทบูรในสมัยรัชกาลที่ 1 ซึ่งกล่าวถึงเส้นสิบ และจารึกตำรายาวัดราชโอรสาราม แผ่นจารึกในสมัยรัชกาลที่ 1 ระบุแผนนวดแก้โรคภัยไข้เจ็บตามจุดต่างๆ บนร่างกาย
ภายในห้องจัดแสดงยังอุทิศส่วนหนึ่งให้กับชีวกโกมารภัจจ์ แพทย์ประจำพระองค์ของพระพุทธเจ้าและบรมครูด้านการแพทย์แผนไทย พร้อมด้วยการจัดแสดงแบบมัลติมีเดียบอกเล่าประวัติความเป็นมาของนวดไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน รวมถึงการจัดแสดงข้อมูลนวดไทยของหมอพื้นบ้านในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศกับเอกลักษณ์ที่แตกต่างกัน เช่น หมอนวดพื้นบ้านภาคเหนือมักนำอุปกรณ์ท้องถิ่นมาใช้ ทั้งการตอกเส้น การเช็ดและการแหกย่ำขาง โดยมีคาถาและพิธีกรรมร่วมด้วย หมอนวดพื้นบ้านภาคอีสานมักจะเรียกกันในภาษาท้องถิ่นว่า “หมอเส้น” จึงมีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษในการนวดขิดเส้น การใช้ฝ่ามือนวดหรือกดเส้นเพื่อรักษาอาการเส้นจม ส่วน “หมอบีบ” หรือหมอนวดพื้นบ้านภาคใต้จะมีความพิเศษที่การใช้สมุนไพร และการใช้ตำราที่ส่งต่อมาจากอินเดีย เช่น การนวดน้ำมันลังกาสุกะ และการจับเส้นแผนโบราณเมืองคอน แสดงให้เห็นถึงความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมการแพทย์แผนไทยที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน และมีความหลากหลายไปตามชีวิตและความเป็นอยู่ของคนแต่ละพื้นที่
พิพิธภัณฑ์นวดไทยยังมีอีกห้องจัดแสดงที่เดินเชื่อมต่อกันได้ โดยห้องที่ 2 นี้ได้ยกเอาโต๊ะและเตียงมาจำลองห้องรักษาของแพทย์แผนไทย ในตู้เก็บของเรียงรายไปด้วยยาแผนไทย และเมื่อหันไปอีกด้านก็จะพบกับชุดสมุนไพรไทยที่ใช้ในการรักษาจริงๆ เช่น ขมิ้นชัน หัวแห้วหมู ผักเสี้ยนผี และบอระเพ็ด ที่ต่างมีสรรพคุณการรักษาโรค แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาของการนำธรรมชาติมาบำบัดการเจ็บไข้ได้ป่วยของคนสมัยก่อน
ในพิพิธภัณฑ์ยังจัดแสดงให้เห็นถึงบทบาทของนวดไทยที่กลายมาเป็นธุรกิจบริการสุขภาพในปัจจุบันนี้ ด้วยภาพของโรงเรียนแพทย์แผนไทยโบราณวัดพระเชตุพนฯ ที่ได้ขยับขยายส่งต่อความรู้ศาสตร์การแพทย์แผนไทยไปยังที่ต่างๆ ทั่วโลก ทั้งเวียดนาม เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น จีน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อิสราเอล ไปจนถึงยุโรปในประเทศอังกฤษ เยอรมัน นอร์เวย์ และสโลวาเกีย รวมถึงสหรัฐอเมริกา ทำให้เห็นแล้วว่าการนวดไทยนั้นเป็นที่ยอมรับอย่างวงกว้างในระดับนานาชาติ
เดินชมพิพิธภัณฑ์จนหนำใจแล้วก็แวะไปยืดเส้นยืดสายกันได้ที่สาขาใกล้ๆ ของโรงเรียนแพทย์แผนโบราณวัดพระเชตุพนฯ (วัดโพธิ์) ในย่านท่าเตียน เพื่อซึมซับกับการนวดแบบถึงเส้นตามแบบฉบับศาสตร์มรดกโลก
Note : เปิดให้เข้าชม 08.30-18.30 น. คนไทยเข้าชมฟรี
Tag:
Places, นวดผ่อนคลาย, พิพิธภัณฑ์, มรดกโลก
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น