"แมกนีเซียม" แร่ธาตุที่มีความสำคัญต่อกลไกการทำงานของร่างกาย

วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2561  19,358 Views
นิตยสาร Gourmet & Cuisine ฉบับที่ 211 เดือนกุมภาพันธ์ 2561

ถ้าพูดถึงแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกายหลายคนมักพูดถึงแคลเซียม เหล็ก สังกะสี  แต่มีแร่ธาตุอีกชนิดหนึ่งที่มีความสำคัญมากต่อกลไกการทำงานของร่างกาย นั่นคือ “แมกนีเซียม”

แมกนีเซียมเป็นส่วนประกอบที่สำคัญต่อกลไกการทำงานของระบบเอนไซม์มากกว่า 300 ชนิดที่พบในร่างกายคนเรา เอนไซม์เหล่านี้เกี่ยวข้องกับกระบวนการที่จะทำให้ร่างกายดำเนินอย่างสมดุล เช่น ช่วยในระบบเผาผลาญพลังงาน การสร้างกล้ามเนื้อ ควบคุมการทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ ช่วยในการคลายตัวของกล้ามเนื้อ (มีหน้าที่ตรงกันข้ามกับแคลเซียม) การนำไขมันมาใช้เพื่อให้เกิดพลังงาน นอกจากนี้แมกนีเซียมยังมีความสำคัญต่อกลไกการรักษามวลกระดูก ช่วยให้กระดูกและฟันแข็งแรง และยังช่วยให้หัวใจทำงานสูบฉีดโลหิตได้ดีสม่ำเสมอ ซึ่งจากการสำรวจพบว่าคนส่วนใหญ่กว่า 50 % ได้รับแมกนีเซียมไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย

แมกนีเซียมจัดเป็นแร่ธาตุหลักที่ร่างกายต้องการ ความหมายของแร่ธาตุหลักคือต้องการในปริมาณที่สูงกว่ากลุ่มแร่ธาตุรอง เช่น พวกสังกะสี ทองแดง เหล็ก ปริมาณแมกนีเซียมที่ร่างกายของคนเราต้องการต่อวันขึ้นอยู่กับอายุ เพศ เช่น ถ้าผู้หญิงอายุ 19 ปีและไม่ได้ตั้งครรภ์จะต้องการแมกนีเซียมอยู่ที่ 300-320 มิลลิกรัมต่อวัน ในขณะที่ผู้ชายที่อายุเท่ากันจะต้องการแมกนีเซียมอยู่ที่ 400-420 มิลลิกรัมต่อวัน

ปกติแล้วมักไม่ค่อยพบปัญหาการขาดแมกนีเซียมในคนทั่วไป เพราะเมื่อระดับแร่ธาตุแมกนีเซียมในร่างกายต่ำ กลไกของร่างกายจะสลายแมกนีเซียมจากกระดูก ในผู้ที่ร่างกายสูญเสียแมกนีเซียมก็จะส่งผลให้ระดับแคลเซียมในเลือดต่ำลงด้วย แต่ก็มีหลายสาเหตุที่ทำให้ร่างกายสูญเสียแร่ธาตุแมกนีเซียม เช่น ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มคาร์บอเนต (เครื่องดื่มประเภทโซดาและเครื่องดื่มที่มีรสซ่า) เนื่องจากมีฟอสเฟตที่ขัดขวางการดูดซึมแมกนีเซียม ผู้ที่มีภาวะกระดูกผุ กระดูกพรุน กลุ่มฮอร์โมนที่ไม่สมดุล ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน อาหารและเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีนสูงก็จะสูญเสียแร่ธาตุแมกนีเซียมออกมากับปัสสาวะในปริมาณสูง และผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำก็จะสูญเสียแร่ธาตุแมกนีเซียมได้เช่นกัน

เมื่อขาดแมกนีเซียมจะมีผลทำให้เกิดความเครียดได้ง่าย นอนไม่หลับ และรู้สึกอ่อนเพลียหลังตื่นนอน แหล่งที่มาที่ดีของแมกนีเซียมควรมาจากอาหารที่เรากินเข้าไป แต่อาหารที่มีแมกนีเซียมสูงส่วนใหญ่มักเป็นอาหารที่เรามองข้ามและอาจกินในปริมาณที่ไม่เพียงพอ เช่น พืชผักสีเขียวเข้มที่เพาะปลูกในดินที่อุดมสมบูรณ์และเก็บกินสดใหม่ ธัญพืช ธัญชาติ ถั่วฝัก ถั่วเปลือกแข็ง นม และผลิตภัณฑ์จากนม 

ตารางแสดงปริมาณแมกนีเซียมในอาหาร


*% Daily Value : ร้อยละของปริมาณที่แนะนำต่อวัน


Tag: , Food for life, แมกนีเซียม, แร่ธาตุ,

เรื่องโดย

ความคิดเห็น

Editor’s Pick

Recent

Most Viewed