Food Fraud : อาหารปลอม

วันที่ 2 มีนาคม 2566  4,143 Views

เมื่อไม่นานมานี้ ในประเทศญี่ปุ่นเพิ่งมีประเด็นร้อนเกี่ยวกับน้ำเมล่อนบรรจุกล่องที่ต้องจ่ายค่าปรับกว่า 19,150,000 เยน หรือราว ๆ 4.9 ล้านบาท เนื่องข้อความบนบรรจุภัณฑ์ว่า 100% MELON TASTE พร้อมด้วยภาพของเมล่อนบนบรรจุภัณฑ์อย่างชัดเจน จนทำให้ผู้ซื้อสันนิษฐานได้ว่าน้ำผลไม้กล่องนี้ทำจากเมล่อน 100% แต่เมื่อนำมาตรวจสอบแล้วกลับพบว่า น้ำผลไม้กล่องนี้มีส่วนผสมของน้ำเมล่อนแท้เพียง 2% ส่วนที่เหลืออีก 98% นั้นกลับเป็นน้ำแอปเปิ้ล องุ่น และกล้วย

Food Fraud: อาหารปลอม

จากเหตุการณ์ดังกล่าว ชวนให้นึกถึงคำว่า Food Fraud หรืออาหารปลอม ที่ไม่ได้หมายถึงอาหารที่ทำมาจากพลาสติกแต่อย่างใด อาหารปลอมในที่นี้อาจจะมาในรูปแบบของอาหารที่ปลอมปมไปด้วยส่วนผสมอื่น ๆ นอกเหนือไปจากที่ฉลากระบุไว้ อย่างเช่นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในยุโรป กับกรณีของน้ำมันมะกอกบริสุทธิ์ ที่ไม่ได้มาจากมะกอก 100% แต่กลับมีส่วนผสมของน้ำมันพืชอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันคาโนล่า น้ำมันเมล็ดทานตะวัน ไปจนถึงน้ำมันปาล์ม รวมถึงการใช้น้ำมันมะกอกคุณภาพต่ำมาผสมและแปะฉลากเป็นน้ำมันมะกอกบริสุทธิ์

น้ำผึ้งและเมเปิ้ลไซรัป ก็เป็นอาหารอีกประเภทที่พบว่ามีผู้ผลิตบางเจ้าได้ผสมน้ำผึ้งหรือน้ำเชื่อมเมเปิ้ลกับสารให้ความหวานที่ถูกกว่า เช่น น้ำเชื่อมข้าวโพด น้ำเชื่อมข้าว น้ำเชื่อมหัวบีท หรือน้ำตาลอ้อย เพื่อลดต้นทุนการผลิต หรือแม้แต่อาหารทะเล ก็มีการสลับสับเปลี่ยนโดยนำปลาสายพันธุ์ถูกกว่ามาทดแทนปลาที่ราคาแพงกว่า

แม้แต่เครื่องเทศ ก็ยังตกเป็นหนึ่งในปัญหาเหล่านี้ โดยเฉพาะกับเครื่องเทศที่ราคาสูงอย่างหญ้าฝรั่น ซึ่งพบว่าบางครั้งมีการนำส่วนอื่น ๆ อย่างลำต้น มาผสม หรือการย้อมสีให้เครื่องเทศมีสีสันเฉพาะตัว เช่น พริกป่น ขมิ้น และผงยี่หร่า ซึ่งพบว่ามีสารตะกั่วในสีย้อม ที่อาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมา

แน่นอนว่าปัญหา Food Fraud นั้นส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอาหารทั่วโลก และที่ไม่น้อยไปกว่ากันคือผลกระทบต่อร่างกายผู้บริโภค สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นได้นั้นมีทั้งปฏิกิริยาการแพ้ต่อส่วนผสมที่หรือสารทดแทนที่ซุกซ่อนอยู่   และในขณะที่เกิดวิกฤตการณ์ต่างๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และโควิด-19 ก็ล้วนเป็นโอกาสที่ผู้ปลอมแปลงจะใช้ประโยชน์จากความหวาดกลัวการขาดแคลนอาหารมาทำให้อาหารปลอมเหล่านี้เป็นที่ต้องการ

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) ได้เผยแพร่เว็บไซต์ที่มีการรายงานเกี่ยวกับ ปัญหา Food Fraud โดยเฉพาะ ซึ่งประกอบไปด้วยรายงานเกี่ยวกับอาหารปลอม ตัวอย่างการปลอมปน วิธีตรวจจับอาหารปลอม รวมไปถึงข้อมูลการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อช่วยเหลือทั้งผู้บริโภค ผู้นำเข้า และผู้ผลิต

แม้ว่ากระแส Food Fraud ในประเทศไทยนั้นยังบางเบา แต่การรับรู้ของผู้บริโภคก็เป็นเรื่องสำคัญ การร่วมกันของภาคอุตสาหกรรมและภาคนโยบายรัฐนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่จะลดปัญหาอาหารปลอมได้ พร้อมกับช่วยส่งเสริมความปลอดภัยในอาหารซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานที่ทุกคนควรได้รับ

แหล่งข้อมูล


Tag: ญี่ปุ่น, น้ำผลไม้, เครื่องดื่ม

เรื่องโดย

ความคิดเห็น

Editor’s Pick

Recent

Most Viewed