ต้อนรับเดือนแห่งความรักกับบทสนทนาตามประสาคนหลงใหลใน “โกโก้” และขับเคลื่อนวงการคราฟต์ช็อกโกแลตในประเทศไทย คุณอาร์ม-ปฤญจ์ นิพัทธโกศลสุข จากร้าน Infinite Cacao ดีกรีแชมป์นักชงช็อกโกแลต จากการแข่งขันในงาน Grand Cacao Championship ประจำปี 2022 คุณแจ๊ค-บดินทร์ เจริญพงศ์ชัย เจ้าของร้าน Yellow Chocolate ผู้ก่อตั้ง Thailand Craft Chocolate Festival (TCCF) และคุณอิ๋ว-ภูริชญ์ ฐานะวุฑฒ์ คนทำคราฟต์ช็อกโกแลตภายใต้ชื่อแบรนด์ PARADAi (ภราดัย) ที่นำช็อกโกแลตของไทยไปคว้าเหรียญทองระดับโลก
คาเคา (Cacao) โกโก้ (Cocoa) และช็อกโกแลต (Chocolate) คืออะไร?
หลายๆ ครั้ง 3 คำนี้ก็สร้างความสับสนได้ไม่น้อย แต่ในระหว่างการเดินทางไปเยือนสวนโกโก้แห่งหนึ่งในอำเภอแกลง จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นสวนหลักที่ป้อนผลโกโก้สดให้กับคุณอาร์ม-ปฤญจ์ นิพัทธโกศลสุข ผู้ก่อตั้งแบรนด์คราฟต์ช็อกโกแลตไทย Infinite Cacao ได้บอกถึงความแตกต่างของคำ 3 คำนี้ไว้ว่า “คนไทยจะคุ้นเคยกับการเรียกโกโก้มากกว่า แต่จริงๆ แล้วชื่ออย่างเป็นทางการของต้นโกโก้คือ ทีโอโบรมา คาเคา (Theobroma Cacao) หรือเรียกสั้นๆ ว่า คาเคา ดังนั้นในภาษาอังกฤษจะเรียกทั้งต้นโกโก้และผลของโกโก้ก่อนผ่านกรรมวิธีการคั่วด้วยความร้อนว่าคาเคาทั้งหมด”
นั่นรวมถึงผงคาเคา (Cacao Powder) ซึ่งเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์จากเมล็ดที่ไม่ผ่านความร้อน ซึ่งว่ากันว่ายังคงสารอาหารไว้ได้มากที่สุด “แต่ในมุมมองของคนทำช็อกโกแลตแบบผมแล้ว ยังไงก็ต้องเป็นเมล็ดที่ผ่านการคั่วด้วยความร้อนถึงจะให้โกโก้รสชาติดีที่สุดในแบบที่ควรเป็น” คุณอาร์มเสริม
หลังจากคั่วจนเมล็ดคาเคากลายเป็นโกโก้และกะเทาะเปลือกออกจนหมด จนออกมาเป็นโกโก้นิบส์ (Cocoa Nibs) ซึ่งปัจจุบันนี้ถูกจัดเป็นหนึ่งในซูเปอร์ฟู้ดที่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ สามารถใส่ในชามอาหารมื้อเช้าง่ายๆ กับโอ๊ตมีล สมูทตีโบว์ล หรือใส่ในของกินเล่นอย่างคุกกี้ก็ได้ แต่ในกระบวนการขั้นต่อไปของโกโก้นิบส์คือการโม่โดยใช้เครื่องโม่หรือจะใช้ครกตำแบบบ้านๆ กระบวนการนี้ใช้ระยะเวลาพอสมควร อาจกินเวลาหลายชั่วโมงไปจนถึงเต็มวัน เมื่อโม่ไปเรื่อยๆ น้ำมันที่อยู่ในนิบส์หรือที่รู้จักกันในชื่อว่าโกโก้บัตเตอร์ (Cocoa Butter) จะค่อยๆ ออกมา จนได้โกโก้เนื้อเนียนที่จะนำไปผสมน้ำตาลจนได้ความเข้มข้นตามที่ต้องการ หรือใส่นม ออกมาเป็นช็อกโกแลตบาร์ ดังนั้นตลอดกรรมวิธีการเปลี่ยนคาเคาเป็นโกโก้ จนจบที่ช็อกโกแลตบาร์ จะเรียกทั้งกระบวนการคราฟต์นี้ว่า Bean to Bar นั่นเอง
ดัตช์โกโก้
โดยปกติแล้วรสชาติของผงโกโก้ที่ผลิตด้วยกรรมวิธีแบบทำมือหรือคราฟต์โกโก้จะให้เทสต์โน้ตที่ซับซ้อน แฝงด้วยรสเปรี้ยวผลไม้ เพราะคาเคาก็คือผลไม้ชนิดหนึ่ง ซึ่งต่างจากโกโก้และช็อกโกแลตอุตสาหกรรมที่เราคุ้นเคยกับรสชาติหวานขม นุ่มนวล กลมกล่อม และมีสีน้ำตาลเข้ม ซึ่งเป็นผลลัพธ์จากกรรมวิธีที่เรียกว่า ดัตช์โปรเซส (Dutch Process Cocoa) คือการใส่สารที่ทำให้เป็นด่างเข้าไปเพื่อลดค่าความเป็นกรด ทำให้รสเปรี้ยวหายไปจนหมด ซึ่งผู้คิดค้นก็ไม่ใช่ใครที่ไหน เขามีชื่อว่าคอนราด โยฮันเนส เวน ฮูเตน (Coenraad Johannes van Houten) ผู้ก่อตั้งแบรนด์ช็อกโกแลต Van Houten นั่นเอง
การปลูกคาเคาในไทย
คุณอาร์มพาเรามาหยุดอยู่ที่สวนของคุณวัฒนา ขาวแพร เกษตรกรหนุ่มใหญ่ชาวระยองฮิ วัย 56 ปี ผู้ที่ปลูกคาเคาส่งให้กับ Infinite Cacao โดยตรง
ผลคาเคาในนี้มีตั้งแต่สีเขียว เหลือง แดง ม่วง ไปจนถึงสีชมพู จนแทบจะเป็นสีรุ้ง แล้วแต่ที่มาของสายพันธุ์ “ในสวนนี้มีคาเคาประมาณ 400 ต้น อายุเฉลี่ย 2-3 ปี มีหลากหลายสายพันธุ์รวมๆ กัน ทั้งจากประจวบคีรีขันธ์หรือที่เรียกว่าสายพันธุ์คลองลอย มีผลสมบูรณ์ค่อนข้างใหญ่ บางต้นเป็นลูกผสมจากจันทบุรี และบางต้นเป็นสายพันธุ์จากต่างประเทศ เรียกกันว่าพันธุ์ ICS-95 เป็นตัวพ่อของสายพันธุ์ I.M. 1 (ไอ เอ็ม วัน) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่พัฒนาขึ้นใหม่ในประเทศไทย” คุณวัฒนาเล่าระหว่างพาเราเดินเข้าไปในสวน
คาเคาเป็นพืชที่กลายพันธุ์ง่าย ซึ่งอาจจะเป็นข้อดีที่ทำให้ได้สายพันธุ์ใหม่ที่ดีกว่าเดิมหรือกลายเป็นข้อเสียที่ทำให้ภูมิต้านทานโรคน้อยลงได้เช่นกัน แต่นั่นก็ไม่ใช่ปัญหาต่อการผลิตโกโก้หรือช็อกโกแลตเสียทีเดียว “เพราะรสชาติของโกโก้นั้นแทบจะขึ้นอยู่กับกระบวนการแปรรูปทั้งหมด นั่นคือการหมัก ตาก และคั่ว ส่วนสายพันธุ์มีผลต่อรสชาติเพียง 10-20% เท่านั้น” คุณอาร์มเสริม
คาเคาจะเริ่มติดดอกเมื่อต้นมีอายุประมาณ 2 ปี และจะติดดอกไปทุกๆ 2-3 สัปดาห์ตลอดปี นั่นหมายความว่ามันเป็นพืชที่ออกผลให้เก็บได้ทั้งปีเช่นกัน เมื่อใดก็ตามที่ดอกติดผลแล้ว ให้นับไปอีก 5-6 เดือนก็สามารถเก็บผลผลิตได้เลย “ไม่ว่าผลคาเคาจะเป็นสีอะไรก็ตาม เมื่อสุกแล้วจะกลายเป็นสีเหลือง หรือไม่ก็เหลืองออกส้ม แต่เพื่อความมั่นใจให้ลองเขย่าดู ถ้าผลสุกแล้วเนื้อข้างในจะคลอน” คุณวัฒนาชาวสวนตัวจริงเผยเคล็ดไม่ลับในการเก็บผลคาเคา
ทั้งคุณอาร์มและคุณวัฒนามองว่าคาเคาเป็นพืชที่สุดยอดมาก นอกจากจะออกดอกออกผลทั้งปีแล้ว ยังอยู่ยาวไปจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลานได้เลย
ชิมโกโก้โอมากาเสะ
กลับมาที่ฐานทัพของ Infinite Cacao ซึ่งเป็นสถานที่ที่คุณอาร์มใช้ในการหมัก ตากแห้ง โม่ และผลิตช็อกโกแลต เพื่อไม่ให้เสียชื่อ “ช็อกโกริสตา” เจ้าของรางวัล Thailand Chocorista Championship 2022 แชมป์นักชงช็อกโกแลตจากงาน Grand Cacao Championship ปี 2022 คุณอาร์มได้นำเสนอเครื่องดื่มจากผลคาเคาทั้งหมด 5 แก้ว เริ่มต้นด้วยน้ำจากผลคาเคาดิบสีออกขาวขุ่นนิดๆ จนเกือบใส รสชาติหวานอมเปรี้ยว ได้กลิ่นหอมอ่อนๆ “นำไปผสมโซดาก็สดชื่นครับ” คุณอาร์มแนะนำ “เรายกให้แก้วนี้เป็นควีนที่มีความเล่นตัว เพราะกว่าจะได้มานั้นยากเย็นเหลือเกิน ต้องใช้ผลคาเคาประมาณ 100 กิโลกรัมจึงจะได้น้ำนี้มาสัก 1 ลิตร หรือ 40 ลูกได้น้ำแค่ 1 ขวดเท่านั้น”
ส่วนแก้วที่เป็นราชาต้องยกให้กับคิงส์ ออฟ ทางเกวียน โกโก้แก้วซิกเนเจอร์ที่คุณอาร์มสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อคว้าแชมป์นักชงช็อกโกแลตโดยเฉพาะ ชื่อทางเกวียนนั้นมาจากตำบลที่ตั้งของร้าน Infinite Cacao “แก้วนี้นำเสนอทุกมิติที่ซับซ้อน โดยเริ่มตั้งแต่ความเข้มและเปรี้ยวของคราฟต์ช็อกโกแลต เพิ่มความสมดุลด้วยไวต์ช็อกโกแลต ผสมความหวานของน้ำผึ้งมานูก้าจากนิวซีแลนด์ ใส่เกลือหิมาลายันและจบด้วยซินนามอน ดึงอะโรมาและทุกรสเข้ามาอยู่ตรงกลางจนออกมาเป็นความลงตัว เปรียบเสมือนเครื่องดื่มแก้วลับของราชา”
ส่วนช็อกโกแลตเย็นในแบบฉบับของ Infinite Cacao คุณอาร์มเลือกใช้ช็อกโกแลต DARK 72% สูตรกลมกล่อมที่ให้ความหวานจากน้ำตาลโตนด แต่ก็แฝงด้วยรสเปรี้ยวธรรมชาติจากช็อกโกแลต ชงกับนมร้อนแล้วค่อยใส่ Ice Ball เพื่อทำความเย็น ไวต์ช็อกโกแลตเย็นก็ใช้วิธีชงเหมือนกัน แต่คุณอาร์มเลือกใช้ไวต์ช็อกโกแลตแมสที่ดูเหมือนก้อนหินสีขาว พอชงแล้วส่งกลิ่นหอมและรสชาตินุ่มนวลคล้ายจิบนม อีกหนึ่งแก้วที่เกินความคาดหมายต้องยกให้กับชาเปลือกโกโก้ที่ให้กลิ่นหอมช็อกโกแลตเบาๆ “จะชงกับน้ำร้อนเป็นชา หรือต่อยอดเป็นคราฟต์โซดาก็ได้” คุณอาร์มแนะนำ
เป็นโอมากาเสะที่แสดงให้เห็นว่าเราสามารถรังสรรค์โกโก้ออกมาเป็นของกินได้หลากหลาย และการันตีฝีมือของแชมป์ช็อกโกริสตาได้ดีจริงๆ
การเติบโตของคราฟต์ช็อกโกแลตไทย
“Grand Cacao Championship เป็นโปรแกรมย่อยที่อยู่ภายใต้ Thailand Craft Chocolate Festival หรือ TCCF ที่มุ่งเน้นเรื่องการแข่งขันโดยเฉพาะ” คุณแจ๊ค-บดินทร์ เจริญพงศ์ชัย เจ้าของร้าน Yellow Chocolate และหนึ่งในผู้ก่อตั้ง TCCF บอกกับเรา “วงการกาแฟมีบาริสตาที่คอยดูว่าเมล็ดกาแฟแบบไหนเหมาะจะชงแบบใด ทำเป็นเมนูอะไร อาชีพ ‘ช็อกโกริสตา’ ที่ TCCF สร้างขึ้นมาก็ทำหน้าที่นั้นเช่นกัน นักชงช็อกโกแลตเกิดขึ้นมาเพื่ออ่านช็อกโกแลตให้ออก เช่น อยากได้เครื่องดื่มช็อกโกแลตโทนเบาสบาย ดื่มแล้วผ่อนคลาย ไม่หนัก จะต้องใช้ช็อกโกแลตแบบไหน จากจังหวัดอะไร ดังนั้นคนที่ได้แชมป์ก็จะเป็นคนที่ค่อนข้างเลือกและปรุงออกมาได้ดี สามารถเก็บเอกลักษณ์ที่มาของช็อกโกแลตนั้นๆ ได้อย่างครบถ้วน”
ในปี 2022 ที่ผ่านมานอกจากการแข่งนักชงช็อกโกแลตแล้ว ภายในงานยังมีแข่งประกวดเมล็ดโกโก้แห้ง โดยมีเกษตรกรจากทั่วประเทศมาร่วมประกวด โดย 10 เมล็ดโกโก้ที่ได้รับรางวัลมาผลิตเป็นช็อกโกแลตรวมสุดยอดช็อกโกแลตไทยประจำปี ซึ่งในปี 2022 ที่ผ่านมานี้มีทั้งเมล็ดโกโก้จากจันทบุรี น่าน สุโขทัย เพชรบูรณ์ สระแก้ว นครราชสีมา แม่ฮ่องสอน นครศรีธรรมราช จันทบุรี และระยอง ที่ผ่านเกณฑ์ได้รับรางวัลในระดับประเทศ
“ทุกคนที่อยู่ในแวดวงคราฟต์ช็อกโกแลตคือผู้ที่ลงมือทำตั้งแต่เมล็ดแห้งจนออกมาเป็นช็อกโกแลตบาร์ในแพ็กเกจที่สวยงาม ทุกกระบวนการนั้นต้องใช้ทั้งแรงกาย แรงใจ และเวลา ควรได้รับการยกย่องชื่นชมและให้ราคาในฐานะที่เป็นคราฟต์แมนชิปหนึ่งบนโลกใบนี้”
จากแรกเริ่มที่เป็นคนชอบกินช็อกโกแลตอยู่แล้ว คุณแจ๊คเริ่มต้นจากร้านเค้กช็อกโกแลตชื่อว่า Larna House และทำมาตลอดเป็นเวลากว่า 20 ปี ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาก็มีโอกาสได้ลิ้มลองช็อกโกแลตมาแล้วแทบทุกแบรนด์ที่มีในเมืองไทย จนได้มาพบกับเกษตรกรปลูกโกโก้ในจังหวัดชุมพร ที่ส่งเมล็ดแห้งไปขายถึงประเทศมาเลเซีย จึงเกิดคำถามขึ้นมาว่าทำไมบ้านเราถึงไม่มีคนทำช็อกโกแลตเอง แต่เลือกนำเข้าช็อกโกแลตจากต่างประเทศ จึงเริ่มต้นศึกษาและทดลองทำช็อกโกแลตของตัวเองขึ้นมาภายใต้ชื่อ Yellow Chocolate และต่อยอดไปจนถึงการเรียนชิมช็อกโกแลตในที่สุด
“เรากลับมาสนใจว่าวงการคราฟต์ช็อกโกแลตในประเทศไทยจะไปต่อได้อย่างไร จึงพยายามรวบรวมคอมมูนิตีช็อกโกแลตจนเกิดขึ้นเป็นงาน TCCF ครั้งแรกในปี 2020 เพื่อสร้างการรับรู้ให้คนทั่วไปได้ทำความรู้จักกับโกโก้ไทยและช็อกโกแลตไทยมากยิ่งขึ้น” ภายในงานเป็นการรวมตัวเกษตรกร คนทำช็อกโกแลต ให้ทุกคนรู้จักกับเบื้องหลังช็อกโกแลตทุกชิ้น “คนไทยก็เริ่มหันมาสนใจปลูกโกโก้ ทำช็อกโกแลต และสร้างแบรนด์ของตัวเอง จึงเป็นการขยายวงการคราฟต์ช็อกโกแลตของไทยให้แข็งแกร่งมากขึ้น” คุณแจ๊คเอ่ยถึงผลลัพธ์ของงาน TCCF ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาอย่างภาคภูมิใจ
สีสันของช็อกโกแลตไทย
“พอเราหันมาทำช็อกโกแลตเอง แต่ยังไม่แน่ใจว่าช็อกโกแลตของเราอร่อยในระดับโลกหรือยัง จึงตัดสินใจไปเรียนชิมช็อกโกแลต จนรู้ว่าลิ้นของนักชิมระดับโลกเป็นอย่างไร ช็อกโกแลตต้องมีรสชาติแบบไหนถึงจะเรียกว่าดี” คุณแจ๊คเผยถึงจุดเริ่มต้นของการไปเรียนชิมช็อกโกแลตไกลถึงประเทศเปรูจนจบถึงระดับ 3 ซึ่งทุกวันนี้มีคนไทยเพียง 3 คนในประเทศเท่านั้นที่จบการเรียนชิมช็อกโกแลตถึงระดับนี้
ในระหว่างที่เราลองชิมโกโก้นิบส์ที่ได้จากเมล็ดโกโก้ไทยที่คั่วโดย Yellow Chocolate คุณแจ๊คได้บอกว่าเอกลักษณ์ของโกโก้ไทยอยู่ที่รสชาติเปรี้ยวอมหวาน มีกลิ่นอายผลไม้ทรอปิคอล เช่น โทนผลไม้สดใสอย่างลิ้นจี่ ส้ม เลมอน ความเปรี้ยวสดชื่นที่พบบ่อยในโกโก้จากภาคเหนือ บางพื้นที่เป็นโทนเปรี้ยวหวานกลมกล่อมแบบน้อยหน่า มะม่วงสุก มะละกอสุก ให้ความละมุนอีกแบบ กับอีกแบบที่พบได้บ่อยจากโกโก้ทางภาคใต้คือโทนสุกแห้งๆ แบบลูกเกดและพรุน ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นที่ขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อม จุลินทรีย์ท้องถิ่นในขั้นตอนการหมัก และเทคนิคของกระบวนการผลิตของคนทำคราฟต์ช็อกโกแลตแต่ละคน
“ช็อกโกแลตที่ดีรสชาติจะไม่แบนราบอย่างเช่นช็อกโกแลตในซูเปอร์มาร์เก็ตที่มีเพียงรสขมกับหวาน แต่จะเหมือนกับนิทานหนึ่งเรื่องที่เริ่มต้นด้วยรสและกลิ่นหนึ่ง เมื่อค่อยๆ ละลายจะได้อีกรส (หรือหลายๆ รส) แทรกขึ้นมา ตอนท้ายอาจจะเปลี่ยนเป็นอีกรส และลากยาวทิ้งความหอมหวานไว้ในปากอีกหลายนาที”
คราฟต์ช็อกโกแลตไทยไปสู่ระดับโลก
ภายในมุมหนึ่งของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) เราเดินทางมาเยือนถิ่น 1 ใน 3 ของคนไทยที่เรียนการชิมช็อกโกแลตจนจบระดับ 3 เช่นเดียวกับคุณแจ๊ค และเขาผู้นี้ยังเป็นผู้ผลิตคราฟต์ช็อกโกแลตไทยออกไปสู่สายตาชาวโลกภายใต้แบรนด์ PARADAi (ภราดัย) คุณอิ๋ว-ภูริชญ์ ฐานะวุฑฒ์ ต้อนรับเราด้วยรอยยิ้มและกลิ่นหอมๆ ของช็อกโกแลต
คุณอิ๋วก็เป็นหนึ่งในคนทำช็อกโกแลตแบบ Bean-to-Bar เขาริเริ่มทำช็อกโกแลตด้วยตัวเองตั้งแต่ปี 2016 และเปิดร้าน PARADAi ร่วมกับเพื่อนในปี 2018 และเมื่อปี 2022 ที่ผ่านมา คุณอิ๋วเพิ่งพาคราฟต์ช็อกโกแลตไทยไปคว้ารางวัลเหรียญทองระดับโลกจาก International Chocolate Awards ด้วยช็อกโกแลต PARADAi Chanthaburi Dark 70% ที่ขายหมดอย่างรวดเร็วและคงไม่ได้หาซื้อได้ง่ายๆ ด้วย “ผมรับซื้อเมล็ดโกโก้จากเกษตรกรโดยตรง จึงมีปริมาณไม่มากเท่าไร” และนี่คือเสน่ห์ของคราฟต์ช็อกโกแลต ที่ใช่ว่ามีเงินแล้วจะซื้อได้ แต่ต้องรีบซื้อด้วยเพราะเดี๋ยวจะหมดเสียก่อน
เมื่อเราเกิดความสงสัยว่าอะไรคือแนวคิดหรือปรัชญาของการผลิตช็อกโกแลตเพื่อไปคว้าเหรียญทองในระดับโลก คุณอิ๋วตอบว่าแนวทางการทำช็อกโกแลตบาร์ของเขาคือการทดลองไอเดียใหม่ไปเรื่อยๆ “เพราะการประกวดช็อกโกแลตระดับโลกนั้นไม่มีอะไรยืนยันว่าเราจะได้รางวัลทุกปี PARADAi เองก็ส่งทุกปี ปีละหลายตัว แต่ล่าสุดปี 2022 ก็ได้รางวัลเพียงตัวเดียวก็คือ PARADAi Chanthaburi Dark 70% บางส่วนก็ขึ้นอยู่กับกรรมการที่มีการตัดสินและมีความชอบที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละปี
“ช็อกโกแลตที่ดีเมื่อกินเข้าไปแล้วจะรับรู้ว่ามีรสอะไรบ้างโดยไม่ต้องใช้เวลานึกนาน” คุณอิ๋วบอกกับเรา ในตอนที่เขายังเป็นมือใหม่ก็เคยทำช็อกโกแลตแล้วออกมามีรสชาติไม่ชัดเจนเช่นกัน “PARADAi Chanthaburi Dark 70% ที่ได้เหรียญทองมานี้ให้รสผลไม้ที่ชัดเจนมาก” คุณอิ๋วยังเสริมอีกว่า “ถ้าช็อกโกแลตไหนที่กินเข้าไปแล้วขม จะโดนกรรมการหักคะแนนแน่นอน” นอกจากรสขมจะไม่เป็นที่พึงประสงค์ในการประกวดคราฟต์ช็อกโกแลตระดับโลกแล้ว ยังมีข้อบกพร่องอื่นๆ เช่น กลิ่นยาง กลิ่นดิน กลิ่นกล่องกระดาษ กลิ่นชีส ไปจนถึงกลิ่นอาเจียนที่ทำให้โดนหักคะแนนได้ด้วยเช่นกัน
บรรดาช็อกโกแลตบอนบอนที่อวดโฉมอยู่ในตู้โชว์ เป็นเสมือนตัวแทนแห่งความคิดสร้างสรรค์และการส่งต่อไอเดียการทำช็อกโกแลตในแบบฉบับของ PARADAi ไปสู่ผู้คนที่หลงใหลในกลิ่นอายของคราฟต์ช็อกโกแลตที่นำมาจับคู่กับรสชาติของขนมหวานคลาสสิก เช่น รสสตรอว์เบอร์รีชีสเค้ก ซอลต์เต็ด คาราเมล มิกซ์เบอร์รี ไปจนถึงรสชาติที่แปลกใหม่ไม่เหมือนใครแต่ก็แสนลงตัว เช่น รสเมี่ยงคำที่เปรียบน้ำเหมือนกับคาราเมล กัดเข้าไปผ่านผิวสัมผัสกรุบกรอบของช็อกโกแลตบางๆ แล้วตบท้ายด้วยกลิ่นสมุนไพรตามแบบฉบับเมี่ยงคำ
เตรียมจับตาดูความเคลื่อนไหวในปี 2023 นี้ PARADAi กำลังเดินทางไปเปิดสาขาใหม่ที่ภูเก็ต พร้อมด้วยช็อกโกแลตซิกเนเจอร์เฉพาะของภูเก็ต ที่มีเทสต์โน้ตของผลไม้คล้ายกับช็อกโกแลตจันทบุรี แต่มีกลิ่นดอกไม้หอมหวานแทรกมาด้วย
โกโก้ที่เติบโตจากการดูแลด้วยความรักของเกษตรกรไทย ผ่านการรังสรรค์ด้วยความหลงใหลของเหล่าผู้ผลิต จนออกมาเป็นงานคราฟต์อันล้ำค่า ถึงจะ “ไม่หวาน” และ “ไม่ขม” แต่ก็ชวนให้เคลิบเคลิ้มได้ง่ายๆ ด้วยรสชาติที่ซับซ้อน ลึกลับ และน่าค้นหา
Tag:
Cover story, วาเลนไทน์, โกโก้
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น