ในยุคที่วงการอาหารเฟื่องฟู ฟู้ดสไตลิสต์ (Food Stylist) หรือนักตกแต่งอาหารคืออาชีพที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างสรรค์ปั้นแต่งเมนูรสเลิศจากเชฟให้น่าตื่นตาตื่นใจ และเต็มไปด้วยความโฟโตจีนิก ผ่านการใช้สีสัน การจัดวาง ลวดลายของถ้วยจานชาม ผ้า ดอกไม้ กระทั่งแสงไฟที่ทำให้ทุกจานในมือพวกเขาโดดเด่นราวกับมีเวทมนตร์
เอกรินทร์ อยู่สุขสมบูรณ์
ฟู้ดสไตลิสต์ระดับท็อปลิสต์ของวงการอาหาร
ทันทีที่เปิดประตูสตูดิโอ เสียงดนตรีคลาสสิกเบาๆ ดึงเราสู่โลกที่เต็มไปด้วยพร็อพชิ้นสวย จานชามในตู้กระจก และเฟอร์นิเจอร์วินเทจที่จัดวางได้อย่างน่ามอง นี่คือโลกของคุณเอกรินทร์ อยู่สุขสมบูรณ์ ฟู้ดสไตลิสต์ชั้นแนวหน้าของเมืองไทย

กว่า 15 ปีในสายอาชีพนี้ คุณเอกรินทร์บอกว่าเวลาเดินเร็วจนนับไม่ถูก แต่ไม่ว่าจะทำอาชีพอะไร ต้องมีแพสชันและมีความชอบเป็นหลัก จึงจะสนุกกับงานและทำออกมาได้ดี

“จุดเริ่มต้นคืออยากอธิบายสิ่งที่อยู่ในใจให้ออกมาเป็นภาพ พี่เริ่มจากการเป็นนักเขียนเกี่ยวกับอาหารก่อน เมื่อเขียนงานเสร็จแล้วต้องบรีฟงานกับช่างภาพว่าภาพประกอบบทความจะออกมาเป็นอย่างไร เช่น อาหารฝรั่งเศส ภาพจะออกมาเป็นสไตล์คันทรี เป็นโอต์ กูตูร์ หรือโมเดิร์น สมัยก่อนบ้านเราไม่มีอาชีพฟู้ดสไตลิสต์เป็นเรื่องเป็นราว โชคดีที่ได้รู้จักเพื่อนสไตลิสต์ที่ออสเตรเลียมาทำงานกับเรา ก็ได้เห็นวิธีทำงาน ได้เรียนรู้เทคนิคจากเขา”

ฟู้ดสไตลิสต์ที่ดีในมุมมองของคุณเอกรินทร์คือควรทำอาหารได้และมีความรู้ด้านศิลปะ “ก่อนหน้านี้พี่ก็ไม่ทำอาหารและไม่ได้จบศิลปะมาโดยตรง เราขาดอะไรก็ต้องเริ่มที่จุดนั้น นำข้อจำกัดของเราให้กลายมาเป็นข้อดีให้ได้ ถ้าคิดแค่ว่าอาหารมีแค่อาหารไทย อาหารฝรั่ง ความคิดเราจะตัน แต่ถ้าคิดต่อว่ายังมีเบรกฟาสต์ แตกแขนงออกไปเป็นแชมเปญเบรกฟาสต์ มีบรันช์ด้วย มุมมองจะหลากหลายขึ้น ทำให้เราสนุกที่จะทำสไตลิ่ง มีภาพออกมาในหัว”

ระหว่างง่วนกับการจัดอาหารเวียดนามลงจาน คุณเอกรินทร์พาเราย้อนไปในยุคที่นิตยสารยังเฟื่องฟู “สมัยก่อนมีนิตยสารหลายเล่ม ทั้งแฟชั่น ไลฟ์สไตล์ บางเดือนนิตยสาร 10 เล่มมีชื่อเราหมดทุกเล่ม นี่คือความท้าทาย ทุกครั้งที่ทำงาน สิ่งแรกที่คิดคือจะทำอย่างไรให้แตกต่าง ในขณะเดียวกันต้องเคารพในหัวหนังสือด้วย เพราะทุกเล่มมี DNA ของตัวเอง มีเรื่องราว มีกลุ่มคนอ่านที่ต่างกัน ช่วงวาเลนไทน์ทุกเล่มให้โจทย์นี้มาหมด หนังสือแฟชั่นอาจต้องการอะไรที่รวดเร็วดึงดูด แต่ในขณะที่บางเล่มอยากได้ความสวยงาม น่ารัก สีชมพู เข้าใจง่าย เป็นพื้นฐานเวลาเราไปทำงานโฆษณาจะเข้าใจในเรื่องทาร์เก็ตกรุ๊ปมากขึ้น การเลือกใช้โทนสี องค์ประกอบภาพ และมุมกล้องก็จะมีความแตกต่างกัน”

เมื่อถามถึงงานซิกเนเจอร์แบบ “เอกรินทร์” เจ้าตัวนั่งคิดอยู่ครู่หนึ่ง “ตอบยากมาก พี่ชอบให้ภาพมีความเคลื่อนไหวในตัวเองอย่างการใช้มือ หรือการใช้ควัน ส่วนพร็อพก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ไม่จำกัด เวลาเราทำงานให้ใครก็อยากให้งานของเขามีความยูนีคโดดเด่น” ดังเช่นผลงานการทำสไตลิ่งให้กับ MasterChef All Stars Thailand Winner’s Cookbook – Paope ที่คุณเอกรินทร์ฝากไว้ให้เราได้ยลโฉมในครั้งนี้ด้วย

(ภาพจาก : MasterChef All Stars Thailand Winner’s Cookbook – Paope
Stylist : เอกรินทร์ อยู่สุขสมบูรณ์ Photographer : พิพัฒน์ จำรัส)
ชิ้นงานที่ตราตรึงในหัวใจนั้นมีหลายงาน แต่ที่ประทับใจอย่างยิ่งคือการทำปฏิทินให้การบินไทย “ปีนั้นพูดเรื่องอาหารไทยทั้ง 12 เดือน ความยากคือการนำเสนอความเรียลลิสติก ในขณะเดียวกันก็มีความไม่เรียลลิสติกด้วย เป็นคอนเซ็ปต์ที่อาร์ตไดเรกเตอร์ตั้งเอาไว้ การจะหาพร็อพที่ตอบโจทย์อย่างครบถ้วนค่อนข้างยาก เช่น ดอกบัวที่บานมาก บานน้อย ถ่ายวันเสาร์ต้องบานวันเสาร์ หรือการหาต้นข้าวที่กำลังตั้งท้องก็ต้องไปตามหาที่อยุธยา สระบุรี เป็นความท้าทายในการทำงานของเรา”

(ภาพจาก : ร้านคนละหม้อ (KonLaMoh)
Stylist : เอกรินทร์ อยู่สุขสมบูรณ์ Photographer : พิพัฒน์ จำรัส)
ปัจจุบันนอกจากเปิดบริษัท Food and Tone รับถ่ายภาพและทำฟู้ดสไตลิ่งอย่างเต็มรูปแบบ ยังรับทำแบรนด์ดิงให้หลายร้าน เช่น ร้านคนละหม้อ (ที่คว้ารางวัล Best Photography จาก Robinhood มาครองด้วย) เจ้าของเป็นนักศึกษาปริญญาโทของโครงการ Gastronomy Business Management ของวิทยาลัยดุสิตธานี รวมถึงกำลังสนุกกับการทำเชฟส์เทเบิลที่สตูดิโอ MRMH ของตัวเองที่อลังการทั้งอาหารและการตกแต่งสุดอาร์ต “เดือนนี้เราจัด RE-BIRTH Food Medicine Chef’s Table อาหารที่ผสานความรู้เรื่องตำรายาไทยซึ่งจะแตกต่างจากที่เราเคยจัดมา ครั้งนี้จะได้ดื่มด่ำ ใช้จินตนาการ ใช้สมาธิ เข้าใจการกินและเข้าใจตัวเอง มีดูไพ่ทาโรต์ด้วย”
ก่อนจบบทสนทนาเราอดถามไม่ได้ว่าจากยุคนิตยสารสู่ยุคดิจิทัลการทำงานเปลี่ยนไปเยอะไหม คุณเอกรินทร์ตอบอย่างอารมณ์ดีว่าเหมือนเดิม

“หมายถึงต้องขนพร็อพเยอะเหมือนเดิม” (หัวเราะ)
IG : @ekarin_foodandtone, @foodandtone_official
Website : www.foodandtone.com
——————————————————
ฉัตรชัย แป้นโพธิ์กลาง
อาหารที่สวยงามมาพร้อมช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลอง!
คุณฉัตรชัย แป้นโพธิ์กลาง (คุณเก่ง) ฟู้ดสไตลิสต์แห่ง i do catering เจ้าของประสบการณ์เต็มเปี่ยมทั้งในไทยและต่างแดน ผู้เชี่ยวชาญอาหารสำหรับงานปาร์ตี้ งานแต่งงาน และงานอีเวนต์ อีกทั้งยังเป็นคอลัมนิสต์ประจำคอลัมน์ Party@Home ให้กับ G&C มายาวนาน

“งานฟู้ดสไตลิ่งก็ให้อารมณ์คล้ายๆ เมจิกคัล” คุณฉัตรชัยเปรียบเปรยงานที่รักได้อย่างเห็นภาพ แม้จะเรียนจบเศรษฐศาสตร์การค้าระหว่างประเทศ แต่ด้วยความหลงใหลด้านอาหารแบบ 100 เปอร์เซ็นเต็มทำให้คุณฉัตรชัยเบนเข็มมาเดินบนเส้นทางสายนี้อย่างเต็มตัว

(ภาพจาก : i do catering Stylist : ฉัตรชัย แป้นโพธิ์กลาง)
“จุดเริ่มต้นของการเป็นฟู้ดสไตลิสต์จริงๆ คือครั้งที่ไปทำงานที่สหรัฐอเมริกา ที่นั่นจะมีร้านให้ซื้อของมาจัดปาร์ตี้เองที่บ้าน เราได้ลองทำแล้วก็สนุก เพราะปาร์ตี้มันมีธีมงาน มีสีสัน มีพร็อพที่ดีไซน์ให้เข้ากับงานได้ จนตั้งเป้าหมายไว้เลยว่าถ้ากลับไทยจะทำบริษัทที่เกี่ยวกับงานจัดเลี้ยง เป็นที่มาของ i do catering ซึ่งตอนนี้ก็ครบ 15 ปีแล้ว”
คุณฉัตรชัยเล่าย้อนไปว่ายุคแรกการจัดงานปาร์ตี้ของคนทั่วไปยังไม่ “แฟนซี” เท่าตอนนี้ แต่ i do catering ประกาศตัวชัดเจนว่าเป็นครีเอทีฟแคเทอริงที่ออกแบบอาหารไปพร้อมกับสร้างสรรค์บรรยากาศให้เข้ากับธีมงาน ไม่ว่าจะเป็นการทำสีซอสให้เข้ากับธีม การตกแต่งสุดอลังการด้วยพร็อพและภาชนะที่สวยงามไม่แพ้ใคร

(ภาพจาก : i do catering Stylist : ฉัตรชัย แป้นโพธิ์กลาง)
“เราเริ่มทำตั้งแต่รับลูกค้าได้ไม่ถึง 20 คน ตอนนี้เรารับได้หลักพันคน และเสิร์ฟอาหารมาแล้วมากกว่าหมื่นจาน” งานของ i do catering โดดเด่นในเรื่องอาหารที่มีดีไซน์ มีการจัดดิสเพลย์ที่แสดงตัวตนชัดเจน ทั้งเชิงวางอาหารที่เป็นหินอ่อนซึ่งเรียบโก้ พร้อมกับการตกแต่งโดยรอบ โดยเฉพาะหมู่มวลดอกไม้ที่เห็นเมื่อไรก็รู้ได้ทันที
เพราะเป็นงานแคเทอริงที่ต้องใช้การทำสไตลิ่งควบคู่ไปด้วย ความท้าทายหลักจึงอยู่ที่จำนวนของอาหาร “การทำอาหาร 1 จานอาจไม่ได้ใช้วัตถุดิบหรือการเตรียมงานที่ยุ่งยากมากนัก แต่พอเป็นงานแคเทอริง จำนวนแขก 500 คน รูปแบบต้องเหมือนกันทั้ง 500 ชิ้น หรือหากเสิร์ฟค็อกเทลทั้งหมด 10 เมนูให้แขก 100 คน เท่ากับว่าเราต้องเตรียมทั้งหมด 1,000 คำ

“เราจะมีเมนูซิกเนเจอร์และเมนูที่ออกแบบขึ้นมาใหม่เพื่อให้เข้ากับธีมงาน หลักๆ จะดูเรื่องสีก่อน แต่ทั้งนี้สีก็มีข้อจำกัด ซอสบางตัวไม่สามารถเปลี่ยนสีให้เข้ากับงานได้ เช่น ซอสมะขาม เพราะเป็นสีที่ได้จากธรรมชาติ เราจะวาดรูปไกด์ให้เชฟดูเลยว่าแต่ละเมนูประกอบไปด้วยอะไรบ้าง เช่น กุ้งค็อกเทล มีขนมปัง วางผัก วางกุ้ง วางซอส ท็อปด้วยคาเวียร์ เวลาเราทำงานทุกครั้งจะเตรียมอาหารจากครัวกลาง พอถึงหน้างานจะมีทีมของเราดูแลต่อ
“งานที่อยู่ในใจเป็นงานวันเกิดให้กับคุณยายท่านหนึ่ง ลูกสาวก็ไปชวนเพื่อนๆ ของคุณยายมาเซอร์ไพรส์ด้วย เราดีไซน์ออกมาให้เป็นธีมความทรงจำที่มีความสุข นำรูปคุณยายกับเพื่อนๆ สแกนใส่ในกรอบรูปแล้วนำมาทำเป็นดิสเพลย์วางอาหาร พอกินหมดแล้วจะเห็นรูปภาพที่เป็นที่รองจาน ทำให้ได้ย้อนความทรงจำ หลายท่านร้องไห้ พอจบงานก็นำกรอบรูปมาทำความสะอาดแล้วมอบให้เป็นที่ระลึก แล้วก็เตรียมกล่องของขวัญเขียนชื่อคุณยายแต่ละคน ด้านในมีช็อกโกแลตกับลูกกวาดให้นำไปฝากหลานๆ ที่บ้าน”

แม้คิวงานของฟู้ดสไตลิสต์คนนี้จะแน่นยาวไปอีกหลายเดือน แต่คุณฉัตรชัยก็ยังหาเวลาจัดอีเวนต์เล็กๆ ของตัวเองอยู่เสมอ “เราอยู่ในวงการนี้มานาน มีหลายคนอยากกินอาหารของเราแต่ไม่มีโอกาส เราจึงจัดอีเวนต์ขึ้นมา ล่าสุดเราทำป๊อปอัพคาเฟ่ให้ทุกคนได้มากินอาหาร กินขนม ถ่ายรูปเล่น ความสนุกคือเราให้ลูกค้าได้ลองเป็นฟู้ดสไตลิสต์แต่งขนมของตัวเองด้วย รายได้ทั้งหมดเรามอบให้มูลนิธิสร้างรอยยิ้ม”
ปีนี้คุณฉัตรชัยยังมาพร้อมโปรเจ็กต์สุดเซอร์ไพรส์ เมื่อ i do catering วางแผนที่จะขยายธุรกิจทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศ โดยร่วมมือกับบริษัท Fruita Biomed ผู้นำการแปรรูปและนวัตกรรมอาหารที่ทันสมัย เพื่อพัฒนาให้เป็นบริษัทครีเอทีฟแคเทอริงระดับนานาชาติ

รอติดตามผลงานของฟู้ดสไตลิสต์คนเก่งคนนี้ได้เลย
IG : @Idocatering
Website : www.ido-catering.com
————————————————————————-
ดวงฤทธิ์ แคล้วปลอดทุกข์
จาก “นักโบราณคดี” สู่ “ฟู้ดสไตลิสต์”
คุณดวงฤทธิ์ แคล้วปลอดทุกข์ ฝากผลงานด้านการตกแต่งอาหารมาแล้วมากมาย โดยเฉพาะงานสไตลิ่งที่แฝงกลิ่นอายความเป็นไทยเอาไว้ สื่อความเป็นตัวตนของคุณดวงฤทธิ์ออกมาได้โดดเด่นและชัดเจน

เบื้องหลังงานอันวิจิตรของคุณดวงฤทธิ์นั้นช่างน่าทึ่ง ฟู้ดสไตลิสต์ฝีมือดีคนนี้เรียนจบคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นอดีตนักโบราณคดีและภัณฑารักษ์ เริ่มต้นเขียนบทความและค้นคว้าเรื่องราวอาหารไทยอย่างจริงจังเพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งของมิวเซียมสยาม
“เราอยากรู้ว่าคนไทยมาจากไหน กินอะไร ต้นกำเนิดอาหารไทยเป็นอย่างไร รวมถึงสมัยยังเด็กเราสนิทกับคุณย่าหม่อมหลวงเนื่อง นิลรัตน์ (หลานหม่อมเจ้าหญิงสะบาย นิลรัตน์ หัวหน้าห้องเครื่องของพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา) ซึ่งท่านเขียนเรื่องชีวิตในวัง เราก็ได้เรียนรู้ซึมซับวิธีการปรุงจากท่าน ครูพักลักจำรายละเอียดต่างๆ และนำมาใช้ในงานของมิวเซียมสยามด้วย”
ระหว่างที่คุณดวงฤทธิ์เริ่มเขียนบทความเรื่อง “เรื่องเล่าหน้าเตาถ่าน” เป็นตอนสั้นๆ ลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว จากนั้นถูกชักชวนมาเป็นคอลัมนิสต์ด้านอาหารในนิตยสารหลายเล่ม และเริ่มอาชีพฟู้ดสไตลิสต์เต็มตัว

“จริงๆ แล้วการทำฟู้ดสไตลิ่งมันอยู่ในจิตวิญญาณของคนทำอาหารมานานแล้ว เวลาอยากถ่ายรูปอาหารที่ตัวเองทำ เขาก็พยายามจัดให้สวย เอาแจกันดอกไม้มาตั้ง เอาผ้ามาปู วางช้อนส้อม พอมาถึงยุคที่ธุรกิจอาหารเริ่มเฟื่องฟู มีการแข่งขัน แต่ละร้านก็ต้องสร้างความน่าสนใจ สร้างแรงดึงดูดให้ลูกค้า เป็นที่มาว่าทำไมจึงต้องมีฟู้ดสไตลิสต์หรือคนที่มองเห็นความงามของอาหาร มาทำให้ความงามนี้ชัดเจนยิ่งขึ้น”

งานฟู้ดสไตลิสต์ครั้งแรกของคุณดวงฤทธิ์คือนิตยสาร Harper's BAZAAR “รูปแรกที่ถ่ายเป็นขนมครกโบราณ ซึ่งคุณย่าเล่าให้ฟังว่าจะไม่มีขอบกรอบและเกรียมแบบในปัจจุบัน แต่จะใช้กรรไกรตัดขอบให้เหลือเพียงเนื้อขนมครกนุ่มๆ หน้าขนมก็มีทั้งคาวและหวาน เช่น กุ้งสับทอดกระเทียมพริกไทย พะแนงไก่สับ ลูกชิดเชื่อมสีสวยจากดอกอัญชัน เราก็ทำออกมาเป็นขนมครกหน้าพะแนงอกเป็ดรมควันใส่ทับทิมสด ปรับให้เข้ากับธีมเล่ม หลังจากนั้นเราก็พยายามนำสิ่งที่คนคาดไม่ถึงมาเล่นในงานของเราด้วย เช่น นำปลาหมึกปิ้งมาขึ้นเป็นหน้าเปิด รวมถึงนำพวกไม้กระดานเก่าๆ แผ่นสังกะสี แผ่นหินที่หลายคนมองข้าม มาถ่ายกับอาหารและแฟชั่นจนกลายเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง รวมถึงตัวเรามีพื้นฐานด้านโบราณคดีอยู่แล้ว จึงทำให้อาหารมีเรื่องราวที่ลึกลงไปยิ่งกว่าเดิม
“ด้วยความที่เราเป็นคนไทยก็อยากดึงสิ่งใกล้ตัวที่สุดออกมาใช้ แต่จัดสไตล์ให้ออกแนวสากล บางครั้งใช้แสงธรรมชาติ บางครั้งถ่ายในแนวแฟชั่น มุมกล้องก็ไม่ใช่แค่ 45 องศาแล้วจบ แต่จะมีมุมท็อป มุมกระดกกระทะ มีการริน การเทให้เห็นอาหารไหลลงมา เป็นการนำ 2 วิถีทั้งไทยและสากลมารวมกันซึ่งเป็นจุดเด่นของเรา”

(ภาพจาก : คอลัมน์ Bazaar CUISINE นิตยสาร Harper's BAZAAR Thailand
Stylist : ดวงฤทธิ์ แคล้วปลอดทุกข์ Photographer : สรรสิทธิ์ โกระวิโยธิน)
ส่วนเรื่องสีสันคุณดวงฤทธิ์ใช้วิธีปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ แต่สิ่งที่นำมาใช้กับอาหารไทยบ่อยครั้งคือใบตอง ใบบัว ดอกบัว ละอองน้ำ หยดน้ำ รวมถึงแสงรำไรที่ลอดผ่านช่องของหน้าต่าง แสงนวลบนพื้นกระดานให้อารมณ์เหมือนชานบ้านซึ่งเป็นสิ่งที่เจ้าตัวประทับใจตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ซึ่งเราจะเห็นเสน่ห์งานคุณดวงฤทธิ์ผ่านตัวอย่างงานมากมาย อาทิ งานสไตลิ่งให้กับนิตยสาร Harper’s BAZAAR Thailand และงาน EAT THAI, CENTRAL EMBASSY ที่คุณดวงฤทธิ์นำมาให้ผู้อ่าน G&C ได้รับชม

(ภาพจากคอลัมน์ : Bazaar CUISINE นิตยสาร Harper's BAZAAR Thailand
Stylist : ดวงฤทธิ์ แคล้วปลอดทุกข์ Photographer : สรรสิทธิ์ โกระวิโยธิน)
นอกจากเป็นฟู้ดสไตลิสต์อาชีพแล้ว คุณดวงฤทธิ์ยังถ่ายทอดความรู้ให้กับเด็กรุ่นใหม่ที่อยากสานฝันของตัวเองให้เป็นจริง ทั้งเป็นผู้สอนหลักสูตรฟู้ดสไตลิสต์ที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เป็นผู้สอนหลักสูตรฟู้ดสไตลิสต์ โรงเรียนสอนการประกอบอาหาร เลอ กอร์ดอง เบลอ ดุสิต และ www.artbangkok.com

(ภาพจาก : EAT THAI, CENTRAL EMBASSY
Stylist : ดวงฤทธิ์ แคล้วปลอดทุกข์)
“เวลาสอนจะบอกนักเรียนเสมอว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือต้องนำเสนอจุดเด่นของอาหารให้ออกมามากที่สุด อย่าให้เขาเสียชาติเกิดที่เกิดมาเป็นอาหาร บางคนเน้นพร็อพจนลืมมองว่าอาหารคือพระเอกของเรา เช่น เราไปตลาดเจอพ่อค้าปิ้งหมูสะเต๊ะ มีน้ำมันหยดฉ่า มีควันลอย มีกลิ่นหอม ทำไมถึงน่าดูกินทั้งๆ ที่เขาไม่ได้ทำฟู้ดสไตลิ่งอะไรเลย หรือแซลมอนหนึ่งชิ้น จุดเด่นของมันคือความฉ่ำวาว มีไขมันแทรก ต้องจับจุดให้ได้ว่าเสน่ห์ของมันคืออะไร พอเราเข้าใจ งานจะสำเร็จไปแล้ว 70 เปอร์เซ็นต์ อีก 30 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือเราใส่ความสวยงาม ใส่แสง และสีลงไป

“แล้วพระเอกของเราจะไม่ตาย”
FB : Duang-rithi Food Stylist
IG : @daungrithi
Website : https://www.duangrithifoodstylist.com/
เอื้อเฟื้อสถานที่ถ่ายทำ : ร้าน James Boulangerie ชั้น 6 ศูนย์การค้าไอคอนสยาม ถนนเจริญนคร แขวงคลองต้นไทร เขตคลองสาน กรุงเทพฯ โทร. 09-5986-6669
————————————————————
อริสรา จงพาณิชกุล
เชฟเปเปอร์กับขนมหวานที่เหมือนงานศิลปะ
ปิดท้ายที่เชฟผู้หญิงฝีมือเก่งกาจ เชฟเปเปอร์-อริสรา จงพาณิชกุล แม้เธอจะไม่ใช่ฟู้ดสไตลิสต์อาชีพ แต่ขนมหวานแสนอร่อยของเชฟเต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ ทั้งรูปลักษณ์ สีสัน การจัดจาน รวมถึงเรื่องเล่าสนุกๆ ที่เชฟซ่อนไว้ในเมนูเหล่านั้นเสมอ

“เวลาเปอร์ทำขนม ไม่ได้อยากแค่ทำให้สวยอย่างเดียว แต่อยากให้คนกินรู้สึกไปกับมันด้วย”
เชฟเปเปอร์เล่าย้อนไปว่าความสนใจด้านการทำขนมเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงมัธยมปลาย เจ้าตัวนึกสนุกลองอบคุกกี้ไปให้เพื่อนที่โรงเรียน ซึ่งอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำขนมครั้งแรกคือเตาติ๊งตัวเล็กๆ ในห้องครัว หลังจากนั้นเชฟเปเปอร์มีโอกาสได้ไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่ประเทศฝรั่งเศส ดินแดนแห่งขนมหวานอยู่ประมาณ 10 เดือน กลับมาเรียนต่อที่ไทยจนจบมัธยมปลาย แล้วบินกลับไปเรียนต่อที่ฝรั่งเศสอีกครั้งเพื่อสานฝันการทำขนมอย่างจริงจัง

“ตอนนั้นขนมฝรั่งเศสในไทยยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก แต่ที่เลือกไปฝรั่งเศสเพราะรู้สึกว่าถ้าอยากเรียนทำขนมให้จริงจังก็ต้องเป็นที่นี่เท่านั้น เราก็ไปเรียนที่สถาบันสอนทำอาหาร Gastronomicom ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส เรียนจบแล้วก็ได้ฝึกงานที่ร้านในฝรั่งเศสต่อ”
ปัจจุบันเชฟเป็นคอนเซาต์ให้กับร้าน ICI ,SAAWAAN และบ้านผัดไทย หากใครติดตามผลงานของเชฟเปเปอร์คงพอทราบว่าขนมของเธอนั้นไม่ธรรมดา นอกจากสวยงามไม่ซ้ำใคร ยังซุกซ่อนดีเทลแน่นเอียดเอาไว้ โดยเฉพาะคอลเล็กชันของ ICI ที่มองอย่างไรก็เดาไม่ออกว่าในหนึ่งจานเชฟใส่อะไรลงไปบ้าง อย่างเมนู Like A Singaporean Chilli Crab ขนมหวานในรูปทรงก้ามปูยักษ์สีส้มสะดุดตาที่เสิร์ฟครั้งแรกในงาน Michelin Guide Singapore 2019 เชฟซ่อนมูสส้มจี๊ดเอาไว้ในก้ามปู มีไส้มะพร้าวตรงกลาง ส่วนฐานด้านล่างเป็นครัมเบิลน้ำตาลมะพร้าว เคียงด้วยเจลซอสพริก ไข่แดงเค็ม เค้กมะเขือเทศ และคอฟฟี่คาราเมล

“เมนูนี้ได้โจทย์ว่าจะไปเสิร์ฟที่สิงคโปร์ ซึ่งเมนูขึ้นชื่อของที่นั่นคือ Chilli Crab จากนั้นเราก็มาคิดต่อว่าส่วนประกอบของเมนูนี้มีอะไรบ้าง แล้วเติมสิ่งที่เข้ากันได้ลงไปโดยยังคงความเป็นขนมเอาไว้”

เราอดถามไม่ได้ว่ากว่าจะออกมาเป็นหนึ่งจาน เชฟมองเห็นภาพแบบสมบูรณ์พร้อมเสิร์ฟก่อนหรือไม่ว่าจานนี้จะออกมาเป็นอย่างไร ใช้สีแบบไหน เชฟเปเปอร์ตอบสบายๆ ว่าคิดไอเดียคร่าวๆ ก่อน จากนั้นลองวาดออกมาว่าอะไรจะอยู่ตรงไหน “แต่ภาพที่เราคิดไว้มันไม่เหมือนของจริงอยู่แล้ว เพราะกว่าจะออกมาเป็นหนึ่งเมนูต้องผ่านการปรับแต่งอีกหลายขั้นตอน”

เช่นเดียวกับ Starfish ซิกเนเจอร์ปลาดาวอันโด่งดังที่ได้โจทย์เป็น From Sea to Stars ปลาดาวของเชฟจึงมีสีเหลืองที่ตัดกับจานสีฟ้าสวยสื่อถึงท้องทะเล (เชฟบอกเราว่าตอนแรกใช้จานสีดำก่อน แต่รู้สึกว่าไม่สดใส ไร้ชีวิตชีวา) เติมความพลิ้วไหวของฟองคลื่นด้วยโฟมขิงลงไป กลายเป็นจานที่ถูกพูดถึงบ่อยที่สุดจานหนึ่ง
“ขนมที่ ICI จะทำออกมาเป็นคอลเล็กชัน ช่วงนั้นเราอินกับอะไรก็อยากทำมันออกมา ไม่ใช่แค่ขนมเท่านั้น แต่ยังรวมถึงมู้ดแอนด์โทนด้วย อย่างคอลเล็กชัน Around The World ที่เราอยากให้คนได้นึกถึงความทรงจำตอนไปเที่ยวก่อนโควิด-19 เวลาเสิร์ฟแต่ละคอร์สเราจะเปิดเพลงของประเทศนั้นๆ ไปด้วย รวมถึงคอลเล็กชัน Fairy Tales ซึ่งทำขนมจากนิทานเรื่องที่ชอบ ที่ร้านก็จะมีสมุดนิทานเอาไว้เป็นพร็อพ และมีการ์ดเล็กๆ ให้สะสมด้วยค่ะ”

ในฐานะเชฟขนมหวานที่มีความเป็นศิลปินในหัวใจเต็มเปี่ยม เชฟเปเปอร์บอกว่านอกจากรสชาติแล้ว หน้าตาและสีสันของแต่ละจานก็สำคัญ เพราะเป็นสิ่งที่ดึงดูดความสนใจจากผู้คนได้ในทันที
“ส่วนตัวเชื่อว่าเชฟทุกคนทำอาหารและขนมออกมาอร่อยในแบบฉบับของตัวเองอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ทำให้แตกต่างคือหน้าตาของเมนูด้วย เพราะนี่คือสิ่งแรกที่คนมองเห็น

“อยากให้คนกินสนุกไปกับขนมของเราด้วย”
IG : @ici.bkk, @saawaanbkk, @baanphadthai
———————————————-
กุลกณิช เกศกะงาม
จับอาหารมาแต่งตัว
ฟู้ดสไตลิสต์คนเก่งของ G&C ที่กองบก.คุ้นตากับการแบกถุงพร็อพใบใหญ่ พร้อมกระเป๋าอุปกรณ์คู่ใจที่ภายในเต็มไปด้วยตัวหนีบหลากไซส์ พู่กัน เกรียง มีด กรรไกร ที่เบิร์นไฟ ไปจนถึงสเปรย์ฉีดน้ำ

หลังจากเรียนจบด้านแฟชั่นดีไซน์ เจ้าตัวเริ่มต้นสายงานนี้ด้วยการเป็นผู้ช่วยสไตลิสต์ ขยับมาเป็นสไตลิสต์ด้านแฟชั่นให้กับนิตยสารเวดดิ้ง จากนั้นสะสมประสบการณ์ด้านอาหาร แล้วเดินเข้าบ้าน G&C ในที่สุด “งานฟู้ดสไตลิสต์เป็นงานที่สนุกและมีโจทย์ใหม่ๆ มาท้าทายความสามารถอยู่เสมอ ก่อนหน้านี้เราเคยแต่งตัวให้คน ตอนนี้เราแต่งตัวให้อาหารแทน ความสนุกคือเราต้องหาความรู้เพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลา อาหารชนิดนี้หน้าตาแบบไหน มีอะไรเป็นส่วนประกอบบ้าง อย่างฉบับฮัลโลวีนที่เราชอบมู้ดแอนด์โทนของเทศกาลนี้อยู่แล้ว พอได้ลงมือทำก็คิดอะไรออกมามากมาย เมื่อมีแพสชันก็ทำให้การทำงานสนุกด้วย”

เพราะต้องจับงานทั้งภาพนิ่งและวิดีโอ เธอบอกว่าความยากง่ายต่างกัน การจัดงานเพื่อภาพนิ่งยังรีทัชแก้ไขได้ จุดไหนที่ไม่อยากให้เห็นก็หาอะไรบังสายตา ในขณะที่ความยากของวิดีโอคือต้องจัดให้สวยเนี้ยบรอบด้าน

เราถามทิ้งท้ายว่าระหว่างแฟชั่นกับอาหารชอบงานด้านไหนมากกว่า กุลกณิชตอบในทันทีว่าเทใจให้อาหารเต็มร้อย “เมื่อก่อนเราคุยกับคน ตอนนี้เราคุยกับผักแทน เราอยากให้ผักชีในจานออกมาแบบไหนก็แค่จับวาง ในขณะที่การทำงานกับคนอาจมีบางครั้งที่ทำออกมาไม่ได้ดั่งใจต้องการ แต่ผักชีทำได้แน่นอน”

ติดตามเคล็ด (ไม่) ลับของงานฟู้ดสไตลิสต์จากประสบการณ์จริงของเธอได้ในคอลัมน์ Food Styling
IG : @fahfareestyle
Tag:
Cover story, Food Stylist
ความคิดเห็น