ThaiSauce ว่าด้วยเรื่องซอสไทยยุคใหม่ในตลาดโลก

วันที่ 2 พฤศจิกายน 2565  3,931 Views
นิตยสาร Gourmet & Cuisine ฉบับที่ 268 เดือนพฤศจิกายน 2565

ตลอดปีที่ผ่านมาเราได้เห็นอาหารไทยหลายเมนูกลับมาฮอตฮิตติดเทรนด์จนกลายเป็นซอฟต์เพาเวอร์ ไม่ว่าจะเป็นข้าวเหนียวมะม่วง ลูกชิ้นยืนกิน ขนมสายไหม ตามด้วยข่าวใหญ่เมื่อข้าวซอยเป็นซุปที่ได้รับการโหวตว่าอร่อยที่สุดในโลกจากผู้อ่าน TasteAtlas นอกจากจะเป็นที่เชิดหน้าชูตา ยังส่งผลให้อาหารไทยและผลิตภัณฑ์ของไทยถูกจับตามองมากขึ้น เช่นเดียวกับ “ซอสไทย” เบื้องหลังรสชาติอันเข้มข้นของทุกจานที่กำลังเติบโตในตลาดโลกเช่นกัน

ThaiSauce ว่าด้วยเรื่องซอสไทยยุคใหม่ในตลาดโลก

ซอสไทย สีสันบนจานอาหาร
สำหรับอาหารตะวันตก ซอส (Sauce) เปรียบเหมือนหัวใจในการทำอาหาร กระทั่งมีตำแหน่ง “พ่อครัวซอส” หรือ Saucier รับหน้าที่คิดค้นและรังสรรค์ซอสออกมาให้เข้ากับทุกจาน ในขณะที่ฝั่งเอเชียซอสก็เป็นเรื่องใหญ่ไม่แพ้กัน ในจีน ญี่ปุ่น เกาหลี เวียดนามต่างก็มีซอสสูตรเด็ดที่ถูกขนานนามว่าเป็นซอสประจำชาติ และไปสร้างชื่อในตลาดต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นซอสมิโซะ โคชูจัง ซอสฮอยซิน ซอสน้ำมันพริก ซอสหอยนางรม ซอสงา เป็นต้น

ส่วนซอสไทย (Thai Sauce) ก็ขอยืดอกพูดอย่างภูมิใจว่าเป็น 1 ในตองอู เป็นอันรู้กันว่าคนไทยชอบปรุงและชอบจิ้ม ในครัวแต่ละบ้านจึงเรียงรายไปด้วยซอสหลากประเภท ทั้งซอสฝรั่ง ซอสเอเชีย และขาดไม่ได้คือซอสของบ้านเรา (กรุณาหันกลับไปมองครัวของท่าน) จุดเด่นของซอสไทยคือความ “ถึงเครื่อง” หอมกลิ่นสมุนไพรช่วยเติมเต็มรสชาติได้ลงตัว ด้วยวัฒนธรรมการกินเช่นนี้ซอสไทยจึงเฉิดฉายไม่แพ้ใคร ขนาดไปต่างประเทศก็ยังไม่วายพกน้ำจิ้มคู่ใจติดกระเป๋าไปด้วย อาหารจะจืดแค่ไหนบอกเลยว่าเอาอยู่ (น้ำจิ้มซีฟู้ดกอบกู้สถานการณ์ได้เสมอ)

นอกจากจะลงมือโขลก ตำ ทำกินกันในครัวเรือนแล้ว ซอสของไทยยังพัฒนาจากซอสธรรมดาๆ สู่ซอสแบบสำเร็จรูปผ่านกระบวนการผลิตทันสมัย รสชาติสดใหม่และเก็บรักษาได้นาน ตอบโจทย์คนชอบทำอาหารแต่มีเวลาน้อยให้เนรมิตเมนูโปรดได้ง่ายขึ้น ที่สำคัญยังส่งรสชาติเฉพาะตัวนี้ไปถึงคนไทยทั่วโลกที่ถวิลหาเมนูบ้านๆ พ่วงด้วยตำแหน่งผู้ช่วยมือหนึ่งให้ร้านอาหารไทยในต่างแดนที่ต้องเสิร์ฟอาหารแข่งกับเวลา

ThaiSauce ว่าด้วยเรื่องซอสไทยยุคใหม่ในตลาดโลก

ซอสผัดไทย นึกถึงเมืองไทยต้องนึกถึงผัดไทยไว้ก่อน ซอสผัดไทยรสเปรี้ยวเค็มหวานจากส่วนประกอบหลัก ได้แก่ น้ำมะขามเปียก น้ำปลา น้ำตาลปี๊บ แต่จะทำให้รสชาติลงตัวนั้นไม่ง่าย ซอสผัดไทยแบบสำเร็จรูปจึงช่วยประหยัดเวลาได้ดี แถมยังพัฒนาไปไกล นอกจากรสดั้งเดิมตอนนี้เรายังได้เห็นซอสผัดไทยมันกุ้ง และซอสผัดไทยสูตรมังสวิรัติด้วย

น้ำปลาร้าปรุงรส อย่างที่เคยเขียนไว้ในเล่มอาหารอีสานแล้วว่านี่คือยุคทองของน้ำปลาร้า เพราะแค่ในสหรัฐอเมริกาน้ำปลาร้าก็ถูกส่งไปขายเป็น 100 แบรนด์ ด้วยกลิ่นหอมๆ รสนัวกลมกล่อมที่ลูกอีสานขาดไปเหมือนใจจะขาด ไม่ใช่แค่ใส่ส้มตำเท่านั้น แต่ยังปรุงเมนูเด็ดได้อีกเพียบทั้งยำ อ่อม แกง ส่วนแบรนด์ไหนรสเค็มมาก เค็มน้อยก็เป็นความชอบส่วนบุคคล

ซอสส้มตำ มีน้ำปลาร้าแล้วอย่าขาดน้ำส้มตำ ยุคนี้แล้วเราเสกส้มตำขึ้นมาได้แบบไม่ต้องมีครก แค่สับมะละกอ เติมเครื่องเคราลงไป ใส่น้ำส้มตำไทยรสเผ็ด เปรี้ยว หวานสดชื่นคลุกให้เข้ากันก็เป็นอันเสร็จพิธี แถมยังนำไปราดเป็นเดรสซิงทำเมนูสลัดได้ด้วย

ซอสกะเพรา เมนูเผ็ดร้อนจากเครื่องโขลกอย่างพริกและกระเทียม แม้จะทำง่ายจนถูกแซวว่าเป็นเมนูสิ้นคิด แต่จริงๆ แล้วผัดกะเพราเป็นทอปปิกฮอตอยู่หลายครั้ง ล่าสุดกับกระแสน่ารักๆ ในโซเชียลเมื่อมีการโพสต์รูปผัดกะเพราหน้าตาคล้ายผัดผักรวมในสวีเดน จนเพจสถานทูตสวีเดนออกมาโพสต์ว่า “เค้าขอโทษ = Vi ber om ursäkt” จนแชร์กันกระหน่ำ (หรือนี่จะเป็นอีกหนึ่งในซอฟต์เพาเวอร์) เอาเป็นว่าตอนนี้ซอสกะเพราหาซื้อได้ตามซูเปอร์มาร์เก็ต ลองเอามาผัดแล้วฉุนเผลอจามไปหลายครั้ง นับว่าตอบโจทย์น้ำพริกเผา เกาหลีมีโคชูจัง ฝั่งไทยก็มีน้ำพริกเผาคาแรกเตอร์ใกล้เคียงกัน นอกจากใช้คลุกกับข้าวร้อนๆ กินกับผักสด ปลาย่าง รสเผ็ดเบาๆ ของน้ำพริกเผาเหมาะสำหรับใช้เป็นเบสของเครื่องปรุงรสได้หลายเมนู ทั้งต้มยำน้ำข้น ยำถั่วพู จนถึงเมนูฟิวชันอย่างพาสตา บาร์บีคิว และพิซซา เข้าท่าดีเชียว

น้ำพริกเผา เกาหลีมีโคชูจัง ฝั่งไทยก็มีน้ำพริกเผาคาแรกเตอร์ใกล้เคียงกัน นอกจากใช้คลุกกับข้าวร้อนๆ กินกับผักสด ปลาย่างรสเผ็ดเบาๆ ของน้ำพริกเผาเหมาะสำหรับใช้เป็นเบสของเครื่องปรุงรสได้หลายเมนู ทั้งต้มยำน้ำข้น ยำถั่วพู จนถึงเมนูฟิวชันอย่างพาสตา บาร์บีคิว และพิซซา เข้าท่าทีเดียว

น้ำจิ้มไก่ คว้าใจคนทั่วโลกไปหลายดวงแล้วสำหรับน้ำจิ้มไก่ (หรือที่ชาวต่างชาติรู้จักในชื่อ Sweet Chili Sauce) ซอสดาวเด่นจากไทยที่มีส่วนประกอบหลักๆ เป็นพริก กระเทียม น้ำตาลทราย น้ำส้มสายชู มาพร้อมรสชาติที่ไม่มีใครเหมือน รสหวานนำ ตามด้วยรสเผ็ดเพียงเล็กน้อย แถมสีสันก็สวยงาม จิ้มกับอะไรก็เข้ากันไปหมด โดยเฉพาะของทอดแบบดีปฟรายส์ จนเหล่ายูทูบเบอร์สายอาหารลองแกะสูตรตามกันเพียบ

ThaiSauce ว่าด้วยเรื่องซอสไทยยุคใหม่ในตลาดโลก

The Power of Sriracha Sauce
หลายปีที่ผ่านมามีประเด็นให้ถกกันข้ามประเทศว่าซอสพริกศรีราชานั้นเป็นของไทยหรือเวียดนามกันแน่? สำหรับคนไทยที่โตมากับซอสพริกศรีราชาย่อมรู้สึกว่านี่แหละคือซอสสัญชาติไทยโดยแท้ (แค่ชื่อยังศรีราชาเลย) ตามประวัติพบว่าซอสพริกศรีราชามีที่มาจาก “น้ำพริก” เครื่องจิ้มที่มีรสเผ็ด เปรี้ยว เค็ม หวาน โดยผู้คิดค้นคนแรกคือนายกิมซัว ทิมกระจ่าง ชาวไทยเชื้อสายจีนในอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ในปี พ.ศ. 2456 และกลายเป็นต้นแบบซอสพริกศรีราชาที่แพร่หลายในปัจจุบัน แต่วันดีคืนดีก็พบว่ามีซอสชื่อเดียวกันเป๊ะยี่ห้อตราไก่ของนายเดวิด ทรานส์ไปโด่งดังอยู่ในอเมริกา ซึ่งซอสที่ว่าก็ดันฮิตจนติดอันดับเครื่องปรุงสุดร้อนแรงแห่งปี ค.ศ. 2010-2011 จนเหล่าเชฟ ร้านอาหารชื่อดัง แบรนด์ขนม และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปนำไปทำเป็นเมนูออกมากันอย่างคึกคัก

แม้จะเป็นศึกของกินย่อมๆ ที่ถกเถียงกันเรื่อยมา แต่ต้องบอกว่าลูกค้าเป็นคนละกลุ่ม ซอสสัญชาติไทยเด่นด้วยความจัดจ้านจากวัตถุดิบหลักคือพริกชี้ฟ้า ส่วนแบรนด์ตราไก่ได้ความเผ็ดจากพริกฮาลาเปโย (Jalapeño)

แม้จะชื่อเหมือนกันแต่รสชาติต่างนะ

ThaiSauce ว่าด้วยเรื่องซอสไทยยุคใหม่ในตลาดโลก

เจาะลึกซอสไทยในตลาดโลก
ถึงเวลาที่สปอตไลต์จะส่องไฟมาที่ซอสไทยบ้างแล้ว จากข้อมูลที่ได้จากการสืบค้น รวบรวม และเรียบเรียงโดยคุณปิติชัย รัตนนาคะ ผู้อำนวยการกลุ่มงานสินค้าเกษตรและอาหาร คุณพงศ์กานต์ พรหมสาส์น นักวิชาการพาณิชย์ชำนาญการ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ทำให้เรารู้ว่าหลายปีที่ผ่านมาอาหารไทยยังเป็นที่โปรดปรานในต่างประเทศ ทั้งในสหรัฐอเมริกา ยุโรป รวมถึงในเอเชีย ทั้ง 2 ท่านได้ให้ภาพรวมไว้อย่างน่าสนใจว่า

ก่อนจะไปถึงเรื่องซอสไทยต้องเล่าถึงภาพรวมตลาดสินค้าซอสและเครื่องปรุงทั่วโลกในปี พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมาว่ามีมูลค่ากว่า 35,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และคาดว่าปี พ.ศ. 2565-2573 จะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีร้อยละ 5.6 ด้วยเหตุผลหลายปัจจัย ทั้งการที่ผู้คนรับรู้ถึงประโยชน์ของเครื่องเทศและสมุนไพรซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักในการทำซอสมากขึ้น รวมถึงหันกลับมาทำอาหารที่บ้านจากผลพวงของโควิด-19 ทำให้ซอสจากหลายประเทศได้เฉิดฉายในเวทีระดับโลก โดยเฉพาะซอสจากฟากฝั่งเอเชีย ทั้งไทย อินเดีย จีน และเวียดนาม

ตลาดซอสโลกใหญ่ๆ อย่างสหรัฐอเมริกานั้นผู้คนให้ความสำคัญกับเรื่องโภชนาการควบคู่กับเรื่องสิ่งแวดล้อม มีการนำสมุนไพรมาใช้มากขึ้น ในปี พ.ศ. 2565 ซอสและเครื่องปรุงรสที่มาแรงคือซอสและเครื่องปรุงที่มีส่วนผสมของน้ำผึ้ง ซอสและเครื่องปรุงที่มีส่วนผสมของยูซุ ซอสที่มีส่วนผสมจากสมุนไพร ซอสที่มีส่วนผสมที่เน้นเรื่องสุขภาพเฉพาะทาง รวมถึงซอสและเครื่องปรุงรสที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของประเทศนั้นๆ (ไทยแลนด์สู้เขา) ขณะที่ฝั่งยุโรป สินค้าของไทยกำลังได้รับความนิยม โดยเฉพาะสินค้าที่มีรสเผ็ด หรือมีซอสพริกเป็นส่วนประกอบ อาทิ ขนมขบเคี้ยวรส Thai Sweet Chili Sauce หรือแม้แต่ซอส Sriracha Mayo ก็นับว่ามาแรง

ส่วนออสเตรเลียเป็นตลาดที่มีการแข่งขันค่อนข้างสูง ผู้คนนิยมซื้อสินค้าที่มีคุณภาพ สืบย้อนถึงแหล่งที่มาได้และให้ความสำคัญกับ Sustainable Packaging มีฉลากที่อธิบายส่วนผสมของสินค้าและที่มาอย่างโปร่งใส โดยเฉพาะซอสแบบ Table Sauce ขวด PET รีไซเคิลแบบบีบและแบบ Pouches ก็มีแนวโน้มจะได้รับความนิยมต่อเนื่อง

กลับมาที่ซอสไทยกันบ้าง สำหรับประเทศที่ซอสไทยไปตีตลาด 3 อันดับแรกก็ไม่เหนือการคาดหมาย เพราะสหรัฐอเมริกาเป็นตลาดใหญ่ที่สุด โดยในช่วงเดือนมกราคม-กรกฎาคม 2565 มีมูลค่าการส่งออก
ซอสไทยสูงถึง 1,976.48 ล้านบาท เติบโตขึ้นถึง 25.05% รองลงมาคือญี่ปุ่น 1,479.33 ล้านบาท โตขึ้น 6.57% และอันดับ 3 คือออสเตรเลีย 1,275.16 ล้านบาท โตขึ้น 41%

ThaiSauce ว่าด้วยเรื่องซอสไทยยุคใหม่ในตลาดโลก

5 Most Popular Thai Sauces
แค่ 7 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม-กรกฎาคม 2565) มูลค่าการส่งออกซอสไทยก็มีมูลค่าถึง 14,569.34 ล้านบาท เติบโตขึ้น 16.43% โดยซอสจากประเทศไทยที่ขายดี 5 อันดับแรก ได้แก่

  1. ซอสอื่นๆ (สำหรับทารก) มูลค่า 4,972.66 ล้านบาท
  2. ซอสอื่นๆ (ซอสหอยนางรม, คุกกิงไวน์) มูลค่า 3,503.84 ล้านบาท  
  3. ซอสพริก มูลค่า 3,202.80 ล้านบาท
  4. น้ำปลา มูลค่า 1,543.22 ล้านบาท
  5. ซอสถั่วเหลือง มูลค่า 919.66 ล้านบาท

จากข้อมูลข้างต้นอาจสรุปได้ว่าซอสไทยมีแนวโน้มที่จะได้รับความนิยมในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ ก็เดินหน้าส่งเสริมผู้ผลิตไทยผ่านหลายโครงการ อาทิ งานแสดงสินค้าอาหาร THAIFEX - Anuga Asia และแพลตฟอรม THAIFEX - Virtual Trade Show การจัดแสดงสินค้าในรูปแบบคูหาประเทศไทย (Thailand Pavilion) ในประเทศต่างๆ เช่น งาน FOODEX ที่ญี่ปุ่น งาน ANUGA และงาน BIOFACH ที่เยอรมนี งาน GULFOOD ที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ฯลฯ รวมถึงจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายในต่างประเทศอีกมากมาย

ส่วนสิ่งที่ผู้ผลิตซอสไทยควรเดินหน้าต่อคือพัฒนาโปรดักต์ให้มีความหลากหลายแต่ยังคงเอกลักษณ์เอาไว้ ออกแบบแพ็กเกจให้ใช้งานง่าย เหมาะกับลูกค้าหลายกลุ่ม ทั้งกลุ่มร้านอาหารและผู้บริโภค โดยมีรายละเอียดบนฉลากครบถ้วนตามระเบียบของประเทศปลายทาง เน้นเรื่องนวัตกรรมใหม่ๆ ใช้ส่วนผสมที่หลากหลายโดยเฉพาะการนำสมุนไพรมาประยุกต์เพื่อเพิ่มมูลค่า

นอกจากจะสอดคล้องกับเทรนด์โลกแล้ว ยังคงรสชาติไทยของไทยไว้ได้อย่างดี

ThaiSauce ว่าด้วยเรื่องซอสไทยยุคใหม่ในตลาดโลก

ThaiSauce ว่าด้วยเรื่องซอสไทยยุคใหม่ในตลาดโลก

จันท์เจ้า ร้านของคนชอบกินซอสไทย
ที่ร้านจันท์เจ้าในซอยเอกมัย 2 ของคุณสี่รัก คุณทิพย์ และคุณบุส ไม่เพียงรวมเมนูอร่อยจากภาคตะวันออกไว้เพียงเท่านั้น แต่ยังมีของดีประจำภาคอย่างซอสไทยที่ผลิตในชุมชนหลายแบรนด์ ทั้งซอสพริกศรีราชา น้ำปลา ไปจนถึงกะปิและน้ำพริกเผา

ThaiSauce ว่าด้วยเรื่องซอสไทยยุคใหม่ในตลาดโลก

“ซอสไทยผูกพันกับความเป็นชุมชนมากนะ บ้านไหนชอบรสชาติไหนก็จะทำรสชาตินั้นขาย อย่างคนจันทบุรีติดหวาน น้ำจิ้มจะออกรสหวานหน่อย ขนาดซอสศรีราชาก็ยังมีหลายประเภท ทั้งออกรสหวานและออกรสเผ็ด”

ซอสที่วางขายที่ร้านจันท์เจ้าจึงคัดจากแบรนด์ที่ผูกพันและคุ้นเคย คุณทิพย์เล่าว่าตอนเด็กๆ ไปบ้านคุณสี่รักที่เมืองจันท์ จะเห็นการกินส้มจิ้มน้ำปลา ปูดองน้ำปลา กระทั่งเส้นก๋วยเตี๋ยวคลุกน้ำปลา ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของน้ำปลาของภาคตะวันออกที่จะไม่เค็มแหลมแสบคอ แต่จะมีรสหวานนิดๆ มีความละมุนละม่อม

“ถามว่าซอสไทยจะไปได้ไกลเหมือนซอสฝรั่งไหม เรามองว่าขึ้นอยู่กับการเล่าเรื่องของคนที่ทำอาหารว่าซอสของเขาจะทำให้จานนี้อร่อยขึ้นอย่างไร รวมถึงเรื่องกระบวนการผลิต และที่มาของวัตถุดิบด้วย เพราะฉะนั้นถ้าช่วยกันเล่าออกไปให้กว้าง คิดว่าซอสไทยจะเกิดในตลาดต่างประเทศได้มากขึ้นค่ะ”

ThaiSauce ว่าด้วยเรื่องซอสไทยยุคใหม่ในตลาดโลก

ThaiSauce ว่าด้วยเรื่องซอสไทยยุคใหม่ในตลาดโลก

Exotic Food ซอสไทยเพื่อการส่งออก
หลายคนอาจคุ้นเคยกับซอสแบรนด์ไทยที่เริ่มจากการผลิตในบ้านเรา แล้วจึงขยับขยายช่องทางการตลาดสู่ต่างประเทศ แต่สำหรับ Exotic Food ผู้ผลิตและส่งออกซอสไทยแบรนด์ Exotic Food, Thai Pride และ Flying Goose กลับไม่ใช่อย่างนั้น เพราะตลอด 23 ปีที่ผ่านมา Exotic Food บุกตลาดต่างประเทศตั้งแต่วันแรก โดยมีตลาดใหญ่อยู่ที่ฝั่งยุโรปและตลาดรองในอีก 5 ทวีปทั่วโลก

คุณวาสนา จันทรัช Managing Director บริษัท เอ็กโซติค ฟู้ด จำกัด (มหาชน) เล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้นของแบรนด์ว่าเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยพี่ชายยังเรียนอยู่ที่ต่างแดน จะเข้าครัวทำอาหารกินเองสักครั้งก็หาซื้อซอส เครื่องปรุงรสชาติถูกปากในซูเปอร์มาร์เก็ตที่ไม่ใช่ไชน่าทาวน์ค่อนข้างยาก เมื่อกลับไทยจึงนำไอเดียนี้มาต่อยอดทำธุรกิจซอสส่งออกให้ชาวต่างชาติ หรือคนไทยในต่างประเทศได้หาซื้อซอสง่ายขึ้น

ThaiSauce ว่าด้วยเรื่องซอสไทยยุคใหม่ในตลาดโลก

“ซอสของแต่ละประเทศมีเอกลักษณ์ของตัวเอง พูดถึงซอสญี่ปุ่นคนจะนึกถึงซอยซอส ซอสจีนนึกถึงซอสหอยนางรม แต่ถ้าพูดถึงซอสไทยเมื่อไรคนจะคิดถึงน้ำจิ้มไก่ ซึ่งชาวต่างชาติจะเรียกว่า Sweet Chili Sauce หรือ ‘ซอสพริกที่ออกรสหวาน’ เป็นซอสที่นำไปใช้ได้หลากหลาย คล้ายๆ กับที่เรานำเคตชัพมาจิ้มกับทุกอย่าง

“ซอสของเอ็กโซติค ฟู้ดเองมีมากกว่า 200 ชนิด แต่ที่เป็นที่นิยมแทบในทุกประเทศคือสวีท ชิลลี่ ซอส กับซอสศรีราชา แต่ถึงอย่างนั้นในแต่ละประเทศมีรสชาติที่ชอบเป็นของตัวเอง บางประเทศไม่ชอบกลิ่นกระเทียมเลยในขณะที่คนไทยชอบกลิ่นกระเทียมเยอะๆ ใส่กระเทียมดองเข้าไป ยิ่งนัวยิ่งอร่อย (หัวเราะ) เพราะฉะนั้นขึ้นอยู่กับประเทศที่ส่งออกด้วยว่ากินเผ็ดได้ระดับไหน ไม่ชอบกลิ่นสมุนไพรอะไรบ้าง”
ส่วนเรื่องแพ็กเกจจิงคุณวาสนาเสริมว่าอาจเป็นสิ่งแรกที่ต้องตา แต่เป็นเพียงด่านแรกเท่านั้น “คนในยุคนี้อยากได้ข้อมูลที่ละเอียดขึ้น เช่น วีแกนไหม ใส่น้ำตาลเยอะแค่ไหน โซเดียมสูงหรือไม่ จริงอยู่ที่ฉลากสวยอาจจะถูกหยิบก่อน แต่อย่างไรแล้วลูกค้าจะศึกษาอย่างอื่นประกอบด้วย”
ในช่วงที่อาหารไทยกำลังฮอตฮิตติดลมบนในต่างแดนเช่นนี้ คุณวาสนาทิ้งท้ายไว้ว่าความตั้งใจของแบรนด์คือการทำให้อาหารไทยเข้าถึงง่าย ไม่เฉพาะคนไทย แต่รวมถึงคนในประเทศนั้นๆ ที่อยากลองทำอาหารไทยที่บ้าน

“เราพยายามส่งออกผลิตภัณฑ์ผ่านเชนใหญ่ๆ เพื่อให้คนเข้าถึงง่ายที่สุด คิดถึงอาหารไทยเมื่อไร อยากให้เขาเดินเข้าซูเปอร์มาร์เก็ตแล้วเจอซอสของเราได้ทันที” 

เห็นตลาดซอสไทยคึกคักแบบนี้ น่าลุ้นว่าในปีหน้าเราจะได้เห็นการเติบโตและการแข่งขันที่เร้าใจขึ้นขนาดไหน จะได้เห็นซอสไทยตีตลาดโลกได้มากขึ้นอีกหรือไม่

ThaiSauce ว่าด้วยเรื่องซอสไทยยุคใหม่ในตลาดโลก

เป็นเรื่องที่เราขอเอาใจช่วยแบบสุดตัว

“น้ำพริกส็อก” น้ำพริกเมืองเหนือที่เป็นมากกว่าน้ำพริก
เป็นการนำเมนูโปรดวัยเยาว์มาต่อยอดได้อย่างชาญฉลาด สำหรับ “น้ำพริกส็อก” น้ำพริกเมืองเหนือของเชฟเมย์-พัทธนันท์ ธงทอง เชฟฝีมือดีแห่ง Maze Dining ที่นำน้ำพริกที่กำลังจะเลือนหายไปตามกาลเวลาให้กลับมาเป็นที่รู้จักอีกครั้งในชื่อ “น้ำพริกส็อก by Chef May”ThaiSauce ว่าด้วยเรื่องซอสไทยยุคใหม่ในตลาดโลก

จุดเด่นของน้ำพริกส็อก (หรือที่รู้จักกันในชื่อน้ำพริกมะเขือส้มจี่) มีวัตถุดิบหลักคือมะเขือเทศย่างและน้ำพริกตาแดง ซึ่งเชฟเปลี่ยนจากการย่างแบบเตาถ่านมาใช้การย่างด้วยเตาอินฟราเรดเพื่อให้มะเขือเทศสุกเท่ากันทุกผล รสชาติคงที่ ไม่มีเขม่าควัน รสชาติเข้มข้น ได้กลิ่นหอมของกระเทียมและกะปิ

ThaiSauce ว่าด้วยเรื่องซอสไทยยุคใหม่ในตลาดโลก

ความน่าสนใจอยู่ที่เชฟไม่ได้มองว่านี่เป็นน้ำพริกธรรมดา แต่นำเสนอในรูปแบบซอสไทยที่จะสร้างชื่อในระดับสากล อารมณ์เดียวกับโคชูจังของเกาหลี Tomato Paste ของอิตาลี และมิโซะของญี่ปุ่น การกินน้ำพริกส็อกจึงสนุกและวาไรตี้ เพราะนอกจากจะใช้จิ้มกับของทอด ยังนำไปทำเมนูอื่นได้ไม่รู้จบ ไม่ว่าจะทำเป็นซอสสำหรับผัด ใส่ไข่เจียว ใช้ทาขนมปัง ทำเป็นเบสน้ำซุป ทำเป็นน้ำสลัด ทำเป็นไส้ทาร์ตแบบคาว หรือแม้แต่เป็นไส้ขนมหวาน แถมยังออกแบบแพ็กเกจที่ใช้งานง่าย เหมาะสำหรับตั้งไว้บนโต๊ะอาหาร

ThaiSauce ว่าด้วยเรื่องซอสไทยยุคใหม่ในตลาดโลก

ส่วนโปรเจ็กต์ต่อไปของเชฟเมย์จะเป็นอะไรนั้น โปรดติดตาม

ขอขอบคุณ

  • คุณปิติชัย รัตนนาคะ ผู้อำนวยการกลุ่มงานสินค้าเกษตรและอาหาร, คุณพงศ์กานต์ พรหมสาส์น นักวิชาการพาณิชย์ชำนาญการ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP)
  • คุณวาสนา จันทรัช Managing Director บริษัท เอ็กโซติค ฟู้ด จำกัด (มหาชน) (https://www.exoticfoodthailand.com/)
  • เชฟเมย์-พัทธนันท์ ธงทอง ร้าน Maze Dining โทร. 09-2295-1915
  • คุณสี่รัก คุณประภากร, คุณบุสรา มหาผลเจริญ, คุณสุนิสา อรรถการวงศ์ ร้านจันท์เจ้า โทร. 09-2264-4945

แหล่งข้อมูล

  • สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ, สำนักส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) และสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป, กรมศุลกากร
  • https://infothaifood.wordpress.com/
  • http://www.konruksriracha.in.th
  • https://www.ditp.go.th/         

Tag: Cover story

เรื่องโดย

ความคิดเห็น

Editor’s Pick

Recent

Most Viewed