Spooky celebration วันของผีที่คนชอบ

วันที่ 25 ตุลาคม 2565  1,058 Views
นิตยสาร Gourmet & Cuisine ฉบับที่ 267 เดือนตุลาคม 2565

ถึงแม้ฮัลโลวีนจะเป็นเทศกาลที่เกิดขึ้นในค่ำคืนส่งท้ายเดือนตุลาคมของทุกปี แต่บรรยากาศชวนขนหัวลุกก็เริ่มปรากฏให้เห็นนับตั้งแต่ก้าวเข้าสู่วันแรกของเดือน จากตำนานเรื่องราวเล่าขานวันสำหรับภูติผีปีศาจชวนสยอง ฮัลโลวีนกลับกลายเป็นหนึ่งในช่วงเวลาที่สนุกสนานมากที่สุดของปี ไม่ว่าจะอยู่มุมไหนของโลก ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด ทุกคนล้วนเฉลิมฉลองไปกับเทศกาลนี้ได้อย่างไร้ขอบเขต

Spooky celebration วันของผีที่คนชอบ

คนที่ชอบวันของผีที่สุด
ฮัลโลวีนเป็นเทศกาลที่กำเนิดขึ้นในดินแดนตะวันตก ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ในทุกวันนี้สหรัฐอเมริกา แคนาดา และสหราชอาณาจักร จึงได้ชื่อว่าเป็น 3 ประเทศที่มีการเฉลิมฉลองเทศกาลฮัลโลวีนในอันดับต้นๆ ของโลก

จากสถิติของสมาพันธ์การค้าปลีกแห่งชาติ (The National Retail Federation หรือ NRF) ของสหรัฐอเมริกาได้ระบุในรายงานประจำปี ค.ศ. 2021 ไว้ว่า การใช้จ่ายของผู้บริโภคสินค้าที่เกี่ยวข้องกับฮัลโลวีนพุ่งขึ้นแตะตัวเลขสูงสุดตลอดกาลที่ 10.14 พันล้านดอลลาร์ แม้ว่าจะอยู่ระหว่างช่วงเวลาแห่งการระบาดของโควิด-19 ก็ตาม โดยมีการวางแผนกิจกรรมยอดนิยมอย่างการแจกขนม (66%) ตกแต่งบ้านหรือสวน (52%) แต่งกายด้วยคอสตูมผี (46%) แกะสลักฟักทอง (44%) และจัดงานปาร์ตี้ (25%)

Spooky celebration วันของผีที่คนชอบ

ฮัลโลวีนเป็นค่ำคืนที่เด็กๆ รอคอย โดยเฉพาะกิจกรรม Trick-or-Treat แต่ในมุมของผู้ใหญ่เองก็มีการเฉลิมฉลองที่สนุกสนานไม่แพ้กัน โดยเฉพาะกิจกรรมแต่งคอสตูมเป็นตัวละครต่างๆ เช่น แวมไพร์ โจรสลัด แม่มด และซูเปอร์ฮีโร่ต่างๆ รวมไปถึงการแต่งตัวให้สัตว์เลี้ยงกลายเป็นฟักทอง ฮอตดอก รวมถึงซูเปอร์ฮีโร่ด้วยเช่นกัน

จะเลี้ยงหรือจะ (โดน) หลอก
ฮัลโลวีนได้รับอิทธิพลมาจากเทศกาล Samhain ของชาวเซลติกโบราณเมื่อราว 2,000 ปีก่อน พวกเขาต่างเชื่อกันว่าม่านที่กั้นระหว่างโลกคนเป็นและคนตายจะบางลงจนทำให้ผู้ล่วงลับสามารถเดินทางข้ามภพภูมิมาสู่โลกคนเป็นได้ในช่วงส่งท้ายฤดูร้อน ซึ่งตรงกับวันสุดท้ายของเดือนตุลาคมและวันแรกของเดือนพฤศจิกายน ชาวเซลติกจะจุดไฟ มอบอาหาร และปลอมเป็นผีเสียเองเพื่อไม่ให้ผีตัวจริงมาหลอก จวบจนศตวรรษที่ 7 วัน Samhain ได้เปลี่ยนไปเป็นวัน All Saints' Day หรือ All Hallows' Day โดยยังคงมีการจุดไฟ การแต่งกาย และขบวนพาเหรด ภายหลังชื่อ All Hallows' Day ได้ถูกเรียกให้สั้นลงจนเหลือเพียง Halloween อย่างปัจจุบัน

Spooky celebration วันของผีที่คนชอบ

แต่เมื่อเทียบกับประวัติศาสตร์ที่ยาวนานกว่า 2,000 ปี วัฒนธรรมประจำเทศกาลในยุคปัจจุบันอย่าง Trick-or-Treat นั้นกลับถือกำเนิดขึ้นไม่นานนัก ค่ำคืนฮัลโลวีนในสหรัฐอเมริกาช่วงต้นศตวรรษที่ 19 เป็นคืนแห่งความโกลาหล เนื่องจาก Trick ในวันนั้นคือการกลั่นแกล้งที่ลุกลามไปสู่การทำร้ายร่างกาย จนเกิดการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่เพื่อยุติปัญหา และสร้างกิจกรรมขึ้นมาใหม่ให้ปลอดภัยสำหรับเยาวชนมากยิ่งขึ้น โดยการสอนวิธีขอขนมจากเพื่อนบ้านอย่างสุภาพ และกระตุ้นให้ผู้ใหญ่เตรียมขนมไว้พร้อม เผยแพร่ไปทั่วประเทศผ่านวิทยุ โทรทัศน์ และภาพยนตร์ จนเมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 20 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง การพัฒนาอย่างรวดเร็วของย่านชานเมืองทำให้เด็กๆ เดินทางจากบ้านหนึ่งไปอีกบ้านได้ง่ายกว่าที่เคย ลูกกวาดกลายเป็นที่นิยม เครื่องแต่งกายเปลี่ยนจากชุดธรรมดาๆ กลายเป็นเลียนแบบผี โจรสลัด และตัวละครในภาพยนตร์

ประเพณีป้องกันภูตผีของเซลติกจึงกลายเป็นเทศกาลให้เด็กๆ สวมชุดผีเพื่อความสนุกสนานและขอลูกกวาดตามละแวกบ้านไปโดยปริยาย

ของกินดั้งเดิมในวันฮัลโลวีน
ก่อนที่ฮัลโลวีนจะกลายเป็นเทศกาลแจกลูกกวาดให้เด็กแถวบ้าน ในวันฮัลโลวีน การอบขนมเค้กสำหรับวิญญาณ (Soul Cake) ที่มีลักษณะคล้ายบิสกิตเนื้อร่วน นับเป็นประเพณีเก่าแก่ของชาวไอริชเพื่อมอบให้กับวิญญาณที่สืบต่อกันมายาวนาน แม้กระทั่งเมื่อชาวไอริชบางส่วนอพยพไปยังอเมริกา พวกเขาก็ยังคงประเพณีนี้ไว้อย่างเหนียวแน่น

แน่นอนว่าพวกเขาไม่ลืมแกะสลักฟักทองเป็นแจ็กโอแลนเทิร์น (Jack-o'-Lantern) สัญลักษณ์ประจำเทศกาลประดับไว้หน้าบ้านด้วย

Spooky celebration วันของผีที่คนชอบ

เรื่องสยองของจริง
ท่ามกลางความสนุกสนานและความสยดสยองที่รวมกันเป็นหนึ่งเดียวในเทศกาลฮัลโลวีนนั้นก็มีบางเรื่องที่น่ากังวล หนึ่งในนั้นคือการวิจัยแสดงให้เห็นว่าระหว่างเทศกาลฮัลโลวีนในสหราชอาณาจักร มีฟักทองกว่า 8 ล้านชิ้นที่ถูกนำมาแกะสลักและทิ้งไว้เป็นขยะอาหาร

ปัญหาขยะฟักทองนั้นแก้ไขได้ไม่ยาก เพราะต่อให้ฟักทองผ่านการแกะสลักไปแล้วก็ยังนำกลับมาประกอบอาหารได้ด้วยการนำเนื้อไปทำซุปฟักทอง ขนมปังฟักทอง ชีสเค้กฟักทอง และเมนูอื่นๆ อีกมากมาย รวมถึงเมล็ดฟักทองที่สามารถนำไปคั่วเป็นของว่างกรุบกรอบ หรือนำไปทำเป็นนมก็ได้เช่นกัน

อีกหนึ่งเรื่องที่น่ากังวลคือการบริโภคน้ำตาลสูงเกินไปในช่วงฮัลโลวีน อย่างที่รู้กันดีว่าฮัลโลวีนนั้นเป็นค่ำคืนแห่งการแจกลูกกวาด โดยเฉพาะในประเทศที่ให้ความสำคัญกับกิจกรรม Trick-or-Treat ดังนั้นในวันฮัลโลวีนนี้เด็กๆ จะบริโภคน้ำตาลโดยเฉลี่ยประมาณ 7,000 แคลอรี ซึ่งเท่ากับน้ำตาลประมาณ 3 ถ้วยหรือ 144 ช้อนชา คิดเป็นเบอร์เกอร์ Big Macs 13 ชิ้น โดยปริมาณน้ำตาลที่เหมาะสำหรับเด็กที่สุดคือไม่เกิน 25 กรัม หรือ 110 แคลอรีต่อวันเท่านั้น

ยิ่งไปกว่านั้น ขนมส่วนใหญ่ทำมาจากสารเคมี เช่น สารให้ความหวานเทียม สีผสมอาหาร และสารกันบูด การบริโภคน้ำตาลและสารเคมีปรุงแต่งมากเกินไปจึงกลายเป็นอีกเรื่อง (แอบ) สยองของฮัลโลวีน ที่อาจจะส่งผลต่อร่างกายได้ในระยะยาว เช่น อาการปวดท้องกะทันหัน ปัญหาฟันผุ ไปจนถึงปัญหาความดันโลหิต

เทศกาลผีแห่งแดนตะวันออก
หลายประเทศในทวีปเอเชียมีวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงกับผู้ล่วงลับ เช่น เทศกาลวันสารทจีน (Hungry Ghost Festival) ในเดือน 7 ตามปฏิทินจันทรคติ ซึ่งมักจะตรงกับเดือนสิงหาคมของทุกปี เทศกาลโอบง (Obon Festival) ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจะจัดในวันที่ 13-15 สิงหาคมของทุกปี ยกเว้นเพียงภูมิภาคคันโตเท่านั้นที่จัดงานยาวจนถึงวันที่ 16 สิงหาคม เทศกาลชูซ็อก (Chuseok) ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 8 หรือในช่วงปลายเดือนกันยายนถึงต้นเดือนตุลาคม เป็นวันขอบคุณพระเจ้าและวันไหว้บรรพบุรุษของชาวเกาหลีใต้

ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันนี้ประเทศอินเดียก็มีการจัดเทศกาลปิตฤ ปักษะ (Pitru Paksha) พิธีกรรมไหว้บรรพบุรุษยิ่งใหญ่ประจำปีของชาวฮินดู เทศกาลประชุมแบน (Pchum Ben) หรือเทศกาลเลี้ยงคนตายของกัมพูชา จัดขึ้นในวันแรม 1 ค่ำเดือน 10 ของทุกปี ตามปฏิทินจันทรคติ ยาวไปจนถึงวันแรม 15 ค่ำเดือน 10 ซึ่งจะตรงกับช่วงปลายเดือนกันยายนไปจนถึงต้นเดือนตุลาคม ถือว่าอยู่ในช่วงระยะเวลาเดียวกับประเพณีสารทเดือนสิบ เทศกาลตามความเชื่อทางศาสนาพุทธที่มีความเกี่ยวข้องกับบรรพบุรุษของประเทศไทยที่มีขึ้นในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 เช่นกัน

Spooky celebration วันของผีที่คนชอบ

เห็นได้ชัดว่าวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวเอเชียนั้นจะมีขึ้นระหว่างรอยต่อของฤดูกาลเก็บเกี่ยว หรือตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคมไปจนถึงตุลาคม นับว่าไม่ใกล้ไม่ไกลไปจากวันฮัลโลวีนเท่าไร แต่ที่ต่างกันคือประเพณีของเอเชียไร้ซึ่งลูกกวาดและการเดินไปเคาะประตูบ้านข้างๆ แต่มาในรูปแบบของงานเทศกาลรำลึกถึงบรรพบุรุษมากกว่าจะเป็นการเฉลิมฉลอง แต่งกายแฟนตาซีอย่างสนุกสนาน แต่ด้วยอิทธิพลของวัฒนธรรมป๊อปของอเมริกาที่แผ่ขยายไปทั่วโลก วันปล่อยผีฮัลโลวีนจึงค่อยๆ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลองของคนเอเชียยุคใหม่ในหลายประเทศ

ในฐานะที่เป็นเมืองต้นกำเนิดการคอสเพลย์ ชาวญี่ปุ่นจึงจัดเต็มกับทุกๆ การแต่งตัว ทำให้ขบวนพาเหรดฮัลโลวีนในคาวาซากิ (Kawasaki Halloween Parade) ย่านชานเมืองโตเกียว เป็นที่รู้จักในฐานะขบวนพาเหรดฮัลโลวีนที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น และเป็นหนึ่งในเทศกาลยิ่งใหญ่ประจำปีของประเทศ ในขณะเดียวกันแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังอย่างโตเกียวดิสนีย์แลนด์ และยูนิเวอร์แซล สตูดิโอส์ เจแปน ก็นำเทศกาลฮัลโลวีนมาเพิ่มสีสันให้กับนักท่องเที่ยวเป็นพิเศษตลอดช่วงเดือนกันยายนถึงตุลาคมเป็นประจำทุกปี

ไม่ต่างจากสวนสนุกในเกาหลีใต้ทั้งลอตเต้เวิลด์ (Lotte World) และเอเวอร์แลนด์ (Everland) ที่ให้ความสำคัญกับเทศกาลฮัลโลวีนด้วยการประดับประดาสถานที่ให้ออกมาสยองขวัญสั่นประสาท พร้อมกับภูตผีมากหน้าหลายตาเดินหลอกผู้มาเยือนกันเต็มสวนสนุก ส่วนในย่านตัวเมืองอย่างอิแทวอน กังนัม และฮงแดที่เต็มไปด้วยบาร์ ไนต์คลับ และสถานบันเทิงยามค่ำคืนก็คลาคล่ำไปด้วยหนุ่มสาวแต่งตัวเป็นผีกันแบบจัดเต็มออกเที่ยวจนโต้รุ่ง

อาหารกับการรำลึกถึงผู้จากไป
เทศกาลสำคัญย่อมมาคู่กับของกินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตามความเชื่อของคนเอเชียที่มีต่อประเพณีท้องถิ่นที่เชื่อมโยงกับวิญญาณนั้นสามารถบอกเล่าถึงวัฒนธรรมท้องถิ่นอันเป็นอัตลักษณ์ออกมาอย่างชัดเจน

เทศกาลวันสารทจีน (Hungry Ghost Festival)
ชื่อเรียกในภาษาจีนว่า “จง หยวน เจี๋ย” เป็นเทศกาลเซ่นไหว้วิญญาณในช่วงสิ้นสุดฤดูร้อนเช่นเดียวกับวันฮัลโลวีน ชาวจีนเรียกช่วงเวลานี้ว่าเป็นช่วงประตูนรกเปิด เชื่อว่าพวกผีจะนำความโชคร้ายมาให้หากไม่ได้รับของเซ่นไหว้ ดังนั้นในเทศกาลวันสารทจีนทั้งในประเทศจีน รวมถึงประเทศอื่นๆ ในแถบเอเชียจึงนิยมเซ่นไหว้อาหารและเครื่องดื่มอย่างหมู ไก่ เป็ด ผลไม้มงคลอย่างส้มและแอปเปิลในเทศกาลนี้ พร้อมทั้งจุดไฟเผาบ้านกระดาษ รถยนต์กระดาษ ไปจนถึงข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ที่ทำจากกระดาษ เปรียบเสมือนการมอบของเซ่นไหว้เพื่อเอาใจเหล่าผีๆ

เทศกาลนี้สอดคล้องกับเทศกาลพ้อต่อ (Por Tor Festival) ของชาวไทยเชื้อสายจีนในจังหวัดภูเก็ต ซึ่งจะจัดขึ้นในช่วงเดือนสิงหาคมของทุกปี เอกลักษณ์ประจำเทศกาลนี้คือขนมเต่าแดง ทำจากแป้งข้าวเหนียว เป็นสัญลักษณ์ของชีวิตที่ยืนยาวและความแข็งแกร่ง บวกกับสีแดงแสดงถึงความโชคดี

Spooky celebration วันของผีที่คนชอบ

เทศกาลโอบง (Obon Festival)
เทศกาลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในฤดูร้อนของญี่ปุ่น ภาพของผู้คนสวมใส่ชุดยูกาตะออกมาเดินเล่นตามงานเทศกาลโอบงที่จัดภายในวัดพุทธทั่วประเทศญี่ปุ่นคือความงดงามอย่างหนึ่ง และเทศกาลนี้จะเป็นเทศกาลที่สมบูรณ์แบบไม่ได้เลยหากขาดของกินอร่อยๆ ของท้องถิ่น ภายในงานเทศกาลโอบงจึงเต็มไปด้วยสตรีทฟู้ดขึ้นชื่ออย่างโอโกโนมิยากิ ทาโกะยากิ และยากิโทริ (ไก่เสียบไม้) ล้วนเป็นที่นิยม และของหวานอย่างอุจิกินโทกิ (น้ำแข็งไสหวาน) และดังโงะก็ได้รับความนิยมด้วยเช่นกัน

เทศกาลชูซ็อก (Chuseok)
ซงพยอน เค้กข้าวสอดไส้งา ถั่วแดง น้ำตาลทรายแดง เกาลัด หรือถั่วไพน์ คือขนมเกาหลีดั้งเดิมที่เป็นหัวใจสำคัญในเทศกาลนี้ พร้อมด้วยอาหารจานอื่นๆ ที่ประกอบไปด้วยข้าว ซุป และเนื้อสัตว์ 3 อย่าง ที่ขาดไม่ได้คือจอล (Jol) แพนเค้กเกาหลี และนามุล (Namul) เครื่องเคียงประเภทยำคลุกเคล้าจากผักและสมุนไพร รวมถึงผลไม้ประจำฤดูกาล เช่น แอปเปิล ลูกแพร์ และองุ่น เพื่อเฉลิมฉลองการเก็บเกี่ยวครั้งแรกของฤดูกาล

Spooky celebration วันของผีที่คนชอบ

เทศกาลปิตฤ ปักษะ (Pitru Paksha)
ช่วงเวลาแห่งการรำลึกถึงผู้ล่วงลับ 15 วันเต็มในประเทศอินเดีย ชาวฮินดูที่ประกอบพิธีกรรมมอบอาหารให้แก่จิตวิญญาณของบรรพบุรุษ โดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นคีร์ (Kheer) พุดดิงข้าวผสมนม น้ำตาล โรยถั่ว ปรุงรสด้วยมะพร้าวแห้ง กระวาน ลูกเกด หญ้าฝรั่น หรือถั่วประเภทต่างๆ ลาปสี (Lapsi) เมล็ดข้าวสาลีคลุกเคล้าด้วยน้ำตาลโตนดและน้ำมันเนย โรยหน้าด้วยอัลมอนด์สไลซ์และเม็ดมะม่วงหิมพานต์ เติมผงกระวานและหญ้าฝรั่นทำให้รสชาติเข้มข้นขึ้น รวมถึงข้าว ถั่วดาลหรือถั่วเลนทิล และฟักทอง

เทศกาลประชุมแบน (Pchum Ben)
ชาวกัมพูชาเชื่อว่าการถวายอาหารเลี้ยงพระและมอบอาหารแก่ดวงวิญญาณจะเป็นการบรรเทาทุกข์ของตนเอง ดังนั้นอาหารที่พวกเขาทำตลอดเทศกาลประชุมแบนที่เป็นดั่งสัญลักษณ์ของงานก็คือ เครื่องเซ่นไหว้อย่างข้าวต้มมัดทรงกลม (Rice Ball) ทำจากข้าวเหนียว ชาวกัมพูชาจะนำไปโยนขึ้นฟ้าหรือโยนในที่ว่างเปล่าในช่วงเวลาก่อนพระอาทิตย์ขึ้น เปรียบเสมือนเป็นการมอบอาหารให้กับวิญญาณ

วันสารทเดือนสิบ
แม้จะไม่ได้เป็นประเพณียิ่งใหญ่ระดับประเทศ แต่ก็เป็นหนึ่งในงานที่ยิ่งใหญ่และมีชื่อเสียงมากทางภาคใต้ของไทยโดยเฉพาะในจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่มาพร้อมกับขนมประจำประเพณีที่รู้จักกันในชื่อขนมวันสารทเดือนสิบ กับการซุกซ่อนความหมายไว้ในทุกๆ อย่าง เช่น ขนมพอง สัญลักษณ์แทนแพลอยน้ำ ขนมลา แทนเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่ม ขนมกง แทนเครื่องประดับ ขนมเทียน แทนหมอน ขนมบ้า แทนลูกสะบ้าเพื่อการละเล่นที่เพลิดเพลิน และขนมดีซำ แทนเงินตรา

ความเชื่อจากหลากหลายท้องที่นำมาสู่เทศกาลและวิธีการเฉลิมฉลองที่สนุกสนาน จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ฮัลโลวีนและเทศกาลเกี่ยวกับความตายจะกลายเป็นวันที่คนเป็นนั้นรอคอย

Spooky celebration วันของผีที่คนชอบ

แหล่งข้อมูล

  • Halloween Spending Soars as Celebrations Near Pre-Pandemic Levels โดย The National Retail Federation (NRF)
  • The history of trick-or-treating, and how it became a Halloween tradition โดย National Geographic
  • When Halloween Was All Tricks and No Treats โดย Lesley Bannatyne
  • Halloween food traditions go way back -- and didn't always involve candy, Noah Sheidlower and Radhika Marya, CNN
  • Halloween in Asia, asianinspirations.com.au
  • Halloween Celebration In Asia: A Blend of Two Cultures, MotionElements
  • Halloween in Korea, Dayviana Díaz
  • Obon: Japan's Ghost Festival, Dallas Ernst
  • Signature dishes for Korean Thanksgiving Chuseok, The Daily California
  • Remembering the spirits who return to this material world, Thik Kaliyann
  • Hungry Ghost Festival, chinahighlights.com
  • What to Eat During Por Tor (Hungry Ghost) Festival in Phuket, THE BEAT ASIA
  • Pitru Paksha: A hiatus to the festivities, hindustantimes.com
  • Lapsi, indianculture.gov.in
  • Millions of Pumpkins are Wasted During Halloween, Eliza Erskine
  • Still got Halloween candy? Pediatrician says kids should limit their consumption, wane.com

Tag: Cover story, ฮัลโลวีน

เรื่องโดย

ความคิดเห็น

Editor’s Pick

Recent

Most Viewed