รวมเทรนด์สุดอร่อยประจำปี 2017

วันที่ 27 ธันวาคม 2560  3,055 Views
นิตยสาร Gourmet & Cuisine ฉบับที่ 209 เดือนธันวาคม 2560

ปีนี้เป็นอีกปีที่วงการอาหารบ้านเราคึกคักกันเป็นพิเศษ เพราะเราจะได้เห็นความหลากหลายของความอร่อยทั้งสไตล์การตกแต่งร้าน หน้าตา ไปจนถึงรสชาติสุดอร่อย G&C จึงขอรวบรวมเทรนด์ประจำปีกันแบบครบเครื่อง เริ่มตั้งแต่ A จนถึง Z กันเลย

★ A for Artisanal 

Artisanal

หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า “อาร์ติซาน” (Artisan) คนที่มีความชำนาญเรื่องงานฝีมือกันมาบ้าง ซึ่งการทำอาหารก็นับเป็นหนึ่งในงานฝีมือด้วยเช่นกัน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คำนี้จะถูกหยิบมาใช้ในวงการอาหารเพื่อสื่อถึงความพิเศษและความชำนาญที่ไม่เหมือนใคร ทั้งยังมีนัยต่างจากคำว่า “โฮมเมด” (Homemade) ที่มักให้อารมณ์ในเชิงเรียบง่ายทำง่ายเสียมากกว่า ดังนั้นถ้าเราได้เห็นไอศกรีมอาร์ติซาน (Artisanal Ice Cream) หรือขนมปังอาร์ติซาน (Artisanal Bread) แล้วล่ะก็ แสดงว่าผลิตภัณฑ์นั้นๆ ผ่านการปรุงแบบมีศิลปะและมีความชำนาญ
 

★ B for Beer 

Beer

ที่ผ่านมาเครื่องดื่มยอดฮิตที่เหมาะเข้าคู่กับอาหารคงไม่พ้นไวน์เขาล่ะ แต่ปีนี้คงต้องยกตำแหน่งให้ “เบียร์” อย่างไม่ต้องสงสัย (ติดอันดับ 3 เครื่องดื่มยอดนิยมของโลกจาก CNNgo) โดยเฉพาะคราฟต์เบียร์ (Craft Beer) เบียร์จากโรงกลั่นเล็กๆ เด่นเก๋ที่รสชาติ และงานดีไซน์บนขวดก็กลายเป็นขวัญใจนักดื่มทั่วโลก  แน่นอนว่าตอนนี้ทั้งในร้านอาหาร โรงแรม หรือแม้แต่ซูเปอร์มาร์เก็ตน้อยใหญ่ก็ล้วนมีคราฟต์เบียร์ให้เลือกชิมอย่างไม่รู้เบื่อ

พิกัดความอร่อย

  • Mikkeller Bangkok ซอยเอกมัย 10 โทร. 0-2381-9891
  • Taproom ซอยสุขุมวิท 26 และซอยอารีย์ โทร. 08-7460-2626
     

★ C for Cheese 

Cheese

“ชีสกินกับอะไรก็อร่อย!” น่าจะเป็นประโยคที่บรรยายและพรรณนาสถานการณ์ในเวลานี้ได้ดีที่สุด เพราะตอนนี้ชีสไม่ได้เป็นส่วนสำคัญในขนมหวานและเบเกอรี่เท่านั้น หากแต่ยังแทรกตัวอยู่ในอาหารนานาชนิด โดยเฉพาะอาหารเกาหลีที่ดูจะเครซี่ชีสเสียเหลือเกิน อาหารชีสสุดฮิตในปีนี้ขอยกให้ “ชาชีส” (Cheese Tea) ที่นำนมสด วิปปิงครีม และครีมชีสมาผสมรวมกันเป็นความเข้มข้นลอยเด่นอยู่บนชาเย็นๆ แสนชื่นใจ ถ้าอยากรู้ว่ามีวิธีทำอย่างไรพลิกไปที่คอลัมน์ Recipes กันได้เลย
Note : อ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความ “ลองก่อนเอาต์! กับชาชีส 5 ร้านเด็ดที่เหล่าสาวกห้ามพลาด” 
 

★ D for Durian 

Durian

ปีนี้คงต้องยกให้ “ทุเรียน” เป็นผลไม้ประจำปีกันเลยทีเดียว เพราะถ้าไม่นับ “หน้ากากทุเรียน” หรือ ทอม Room39 เป็นบุคคลแห่งปี อาหารแปรรูปจากทุเรียนก็ดูจะเป็นไอเท็มของกินสุดเก๋ที่ถูกใจทั้งคนไทยและคนต่างชาติ และร้านที่ปลุกกระแสทุเรียนให้คึกคักแบบอ่านเกมขาดก็คือ After You Durian ของเมย์-กุลพัชร์ กนกวัฒนาวรรณ เจ้าของร้านขนมที่ทุกคนรักอย่าง After You ที่ขนเมนูทุเรียนทั้งไอศกรีมและโทสต์มาให้ชิมกันอย่างจุใจ
Note : อ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความ “ชี้เป้าไอเท็มทุเรียนกับอานุภาพทำลายล้างล่าสุด” 
 

★ E for E-Dining 

E-Dining

มายามนี้หากใครหิวท้องกิ่ว ใครเขาจะออกไปข้างนอกกันล่ะ เพราะตอนนี้มีสารพัดแอพพลิเคชันมาบรรเทาอาการท้องร้องโดยที่เราไม่ต้องย้ายตัวเองออกไปข้างนอกให้เสียเวลา ไม่ว่าจะอยากได้อาหารสดมาปรุงเอง หรืออาหารปรุงเสร็จจากร้านดังก็ไม่จำเป็นต้องฝ่าฟันรถติดอีกต่อไป และหากใครยังคิดไม่ออกว่าจะจัดการอย่างไร พลิกไปที่คอลัมน์ On the Sidewalk กันได้ เพราะพี่ใหญ่กับน้องเล็กจะมารีวิวการใช้แอพพลิเคชันแก้หิวกันแบบถึงน้ำถึงเนื้อ
 

★ F for Fashion 

Fashion

อาหารและแฟชั่นเป็นเรื่องที่แยกไม่ออกจากกันเสียแล้ว อย่างในปีที่แล้วเราเคยบอกว่าอาหารได้ให้แรงบันดาลใจกับแฟชั่นเสื้อผ้าในการสร้างสรรค์ออกแบบลวดลายต่างๆ มาในปีนี้โลกของอาหารและแฟชั่นได้มาบรรจบกันในร้านเดียว เมื่อตอนนี้ร้านเสื้อผ้ามักจะจัดให้ด้านหนึ่งเป็นมุมของความอร่อย เพื่อมามัดใจสาวๆ ช่างกินโดยเฉพาะ เราจึงได้เห็นร้านเสื้อผ้าที่เป็นทั้งคาเฟ่ด้วย ร้านอาหารด้วย เรียกว่าอิ่ม ชิม ชอป ได้ครบถ้วน

พิกัดความอร่อย

  • B Store ซอยศาลาแดง 1 โทร. 0-2235-4711
  • FABLAB Café ระหว่างซอยเอกมัย 14 และ 16 โทร. 0-2101-4287
  • Fat Kids ซอยสยามสแควร์ 5 โทร. 08-9134-4466
     

★ G for Grocerants 

Grocerants

เมื่อกลางปีที่แล้วนิตยสารฟอร์บส (Forbes Magazine) สื่อชั้นนำด้านเศรษฐกิจของโลกได้กล่าวว่า “โกรเซอรองต์” น่าจะเป็นหนึ่งในอนาคตของธุรกิจด้านอาหาร เพราะนี่คือสถานที่ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้รอบด้าน ทั้งได้เลือกซื้อของ พักผ่อน และละเลียดอาหารโปรดได้ในที่เดียว ซึ่งคำว่า “โกรเซอรองต์” เกิดจากการรวมตัวของคำว่า Grocery (ร้านค้า) + Restaurants (ร้านอาหาร) ซึ่งคอนเซ็ปต์ที่ว่านี้ร้านสะดวกซื้อชื่อดังอย่าง 7-Eleven และ Family Mart ก็ได้นำมาปรับใช้เรียบร้อยแล้ว

พิกัดความอร่อย

  • Family Mart ปากซอยสุขุมวิท 33 กรุงเทพฯ
     

★ H for Hot Pot 

Hot Pot

เป็นเรื่องน่าตกใจแต่ดันตรงใจอย่างที่สุด เพราะเมื่อกันยายนที่ผ่านมานิตยสารโพซิชั่นนิ่ง (Positioning Magazine) ได้ระบุว่า “ชาบู” ความอร่อยในหม้อร้อนๆ เป็นอาหารที่ชาวโซเชียลอยากกินมากที่สุด ในขณะที่อาหารคลีนได้ตกกระแสไปเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งนั่นก็สอดคล้องกับความเป็นจริงไม่น้อย เนื่องจากในรอบปีนี้มีร้านประเภทสุกี้ชาบูเปิดกันมากมาย พร้อมๆ กับการแข่งขันเรื่องรสชาติของน้ำซุป โดยมีน้ำซุป “หม่าล่า” สไตล์ไต้หวันกำลังมาวินครองใจใครต่อใคร
 

★ I for Insect 

Insect

ตั้งแต่ได้เห็นภาพยนตร์สารคดี Ants on a Shrimp (2016) ที่เล่าถึงเมนูพิเศษของเรเน่ เรดซิพี (René Redzepi) เชฟชาวเดนิชเจ้าของมิชลินสตาร์ 2 ดาวจากโนมา (Noma) ที่ปรุงอาหารจานเด็ดด้วย “มด” ก็ตะหงิดแล้วว่ากระแสของการกินแมลงต้องมาแน่ๆ และก็ตามคาดเมื่อแมลงกลายเป็นอาหารที่ได้รับการยอมรับ (กล้ากินหรือไม่เป็นอีกเรื่อง) เพราะสิ่งนี้คือแหล่งโปรตีนชั้นดี ไม่มีไขมัน และไม่มีทางหมดไปจากโลก! ซึ่งการกินแมลงของคนไทยก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ อีกทั้งยังถูกบรรจุหีบห่อขึ้นเชลฟ์ในร้านสะดวกซื้อ ร่วมด้วยร้านไฟน์ไดนิงเปิดใหม่ที่นำความอร่อยของแมลงมาเสิร์ฟเป็นที่แรกอย่าง Insect in the Backyard โทร. 0-2035-7000 ก็พร้อมจะช่วยทุกคนเปิดประสบการณ์กินแมลงกันแบบถึงแก่น
 

★ J for Juice 

 Juice

แม้กระแสอาหารเพื่อสุขภาพจะดูแผ่วๆ ลงไปในปีนี้ แต่กระแส “น้ำผักและผลไม้” ยังคงอยู่ เพราะอย่างที่รู้กันว่าผักและผลไม้ของเราเปี่ยมด้วยคุณประโยชน์ และวิธีที่สามารถดื่มด่ำได้ง่ายและสะดวกที่สุดก็คือการนำมาคั้นน้ำ หรือปั่นรวมเป็นสมูทตี้ครีเอตรสชาติตามชอบ ที่สำคัญสีสันยังสวยอีกต่างหาก น่ากินอย่าบอกใคร
 

★ K for Kimchi 

Kimchi

มาถึงตอนนี้คงไม่มีใครไม่รู้จักผักดองสัญชาติเกาหลีกันแล้ว ด้วยรสชาติเปรี้ยวๆ แฝงความเผ็ดปลายลิ้นและความกรุบกรอบของหัวไช้เท้า ผักกาดขาว และแตงกวาก็ทำให้กิมจิกลายเป็นหนึ่งในวัตถุดิบสุดโปรดบนจานอาหารของบรรดาเชฟ และยิ่งเราคุ้นชินกับรสชาติของ “กิมจิ” มากขึ้นเท่าไร ความคุ้นเคยก็ยิ่งมีมากขึ้น และนั่นก็เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ในรอบปีนี้บ้านเรามีร้านอาหารเกาหลีเปิดมากขึ้นกว่าแต่ก่อนเป็นเท่าตัวเลยทีเดียว
 

★ L for Localism 

Localism

การเลือกกินเลือกใช้ของในท้องถิ่นนับเป็นหนึ่งในเทรนด์รักษ์โลกที่สามารถช่วยโลกของเราได้ง่ายๆ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเราได้เห็นเชฟหลายคนพยายามคิดริเริ่มเลือกใช้ของที่เราผลิตเองมาปรุงเป็นอาหารแสนอร่อยมากกว่าที่จะนำวัตถุดิบอิมพอร์ตเหมือนแต่ก่อน ซึ่งการเลือกของที่เราผลิตได้เองนั้น นอกจากจะช่วยประหยัดพลังงานในการขนส่งแล้วยังดีในแง่ความสดใหม่ และเป็นการสนับสนุนเกษตรไทยอีกด้วย
 

★ M for Michelin Guide 

Michelin Guide

หลังจากงานแถลงข่าวความร่วมมือระหว่างมิชลินและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ไปเมื่อกลางปีที่ผ่านมา ในที่สุดกรุงเทพฯ เมืองฟ้าอมรก็มีมิชลินไกด์ หรือหนังสือรับประกันความอร่อยระดับโลกอย่างเป็นทางการสักทีเมื่อวันที่ 3 ธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งกรุงเทพฯ นับเป็นเมืองที่ 29 ของโลกและเมืองที่ 6 ในเอเชียที่มิชลินไกด์ให้ความสนใจ และนั่นก็เป็นหนึ่งในเครื่องยืนยันว่าอาหารไทยและร้านอาหารในบ้านเรากำลังได้รับความสนใจจากคนทั่วโลก
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ FB : Michelin Guide Thailand
 

★ N for Neon 

Neon

คงไม่มีธีมการตกแต่งร้านไหนจะมาแรงแซงโค้งเท่า “นีออน” สดใสไฟกะพริบอีกแล้ว เพราะสีสันของไฟนีออนสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามบรรยากาศร้าน อาจเป็นได้ตั้งแต่สีพาสเทลให้อารมณ์น่ารักไปจนถึงสีแดงแสบตาท่ามกลางบรรยากาศแบบจีน จนเรากล้าบอกว่า 7 ใน 10 ร้านต้องมีไฟนีออนของเราประดับอยู่ อย่างน้อยก็โลโก้ร้านยังไงล่ะ
 

★ O for Organics 

Organics

จากกระแสการกินอาหารเพื่อสุขภาพที่ยังคง “อิน” ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา คำว่า “ออร์แกนิก” จึงเป็นคอนเซ็ปต์ที่ยังคงอยู่ในใจอยู่เสมอ หากใครยังไม่แน่ใจเราก็ขอย้ำอีกครั้งว่าผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกก็คือผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นด้วยวิธีธรรมชาติทั้งหมด ไม่มีการใช้สารเคมี สารเร่ง หรือวิธีการใดๆ (ที่ไม่ปกติ) ซึ่งเอาเข้าจริงผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกมีอยู่ในท้องตลาดน้อยมาก อาจจะแค่ราวๆ 5 เปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำ
 

★ P for Pici 

Pici

พอพูดถึงพาสตาหลายคนคงนึกถึงสปาเกตตี มักกะโรนี เฟตตูชินี แต่ตอนนี้กำลังมีเส้นพาสตาหน้าใหม่มาทักทายอย่าง “พิซิ” จากเมืองเซียนา (Siena) แคว้นทัสคานี โดยพิซิจะมีลักษณะเหมือนกับสปาเกตตีเส้นอวบอ้วนจนดูเหมือนอุด้งเสียมากกว่า ซึ่งนั่นเกิดจากการใช้ฝ่ามือหมุนปั้นทีละเส้นๆ แม้เส้นจะไม่เท่ากันเป๊ะ แต่รับรองอร่อยเวอร์

พิกัดความอร่อย

  • La Dotta ซอยทองหล่อ 9 โทร. 0-2392-8688
     

★ Q for Queuing 

Queuing

ตอนนี้ “การเข้าแถว” ได้เป็นวัฒนธรรมของนักชิมไปแล้ว หลังจากพวกเราได้ฝึกปรือฝีมือจากการต่อคิวรอโดนัทและป๊อปคอร์นชื่อดังจากอเมริกา นับแต่นั้นการต่อคิวรอกินก็กลายเป็นเรื่องปกติ ยิ่งเป็นร้านใหม่ร้านดังการต่อสู้และการรอคอยย่อมเกิดขึ้น แต่อย่างน้อยนี่ก็นับเป็นการแข่งขันที่ทุกคนเสมอภาค พร้อมพ่วงความหิวอย่างเท่าเทียมกันนั่นเอง
 

★ R for Reality Show 

Reality Show

หลังจากยุคหนึ่งสมัยหนึ่งที่เรียลลิตี้โชว์ในบ้านเรามักเป็นรายการที่เฟ้นหานักร้องเสียงทองเสียส่วนใหญ่ แต่ตอนนี้กลับเป็นรายการแข่งขันทำอาหารที่ฮอตในบ้านเราแบบสุดๆ ซึ่งในช่วงปีนี้ก็มีหลายรายการให้ชม ไม่ว่าจะเป็นรายการเจ้าเก่าครองใจอย่างเชฟกระทะเหล็ก (Iron Chef Thailand) ตามด้วยรายการน้องใหม่อย่างท็อป เชฟ ไทยแลนด์ (Top Chef Thailand) และมาสเตอร์เชฟ ประเทศไทย (MasterChef Thailand) ที่พอจบซีซันแรกก็มีการเฟ้นหาคนสำหรับซีซันใหม่แทบจะทันที ที่สำคัญนี่คือเวทีแจ้งเกิดของเชฟหน้าใหม่ ซึ่งทำให้เรารู้ว่าฝีมือการทำอาหารของคนไทยไม่ธรรมดาจริงๆ
 

★ S for Sweet Potato 

Sweet Potato

ต้องขอบคุณชาวญี่ปุ่นที่ทำให้เราได้รู้จักความหอมหวานเนียนนุ่มของ “มันง่วง” เอ๊ย! “มันม่วง” (Purple Sweet Potato) ที่นำมาทำอะไรก็ถูกใจไปเสียหมด อีกทั้งสีม่วงก็เป็นสีที่สร้างความตื่นตาตื่นใจทุกครั้งที่เห็น เราจึงมีโอกาสได้ชิมเมนูจากมันม่วงกันจุใจ ส่วนใครที่ยังสงสัยว่ารสชาติของมันม่วงต่างจาก “มันหวาน” (Sweet Potato) อย่างไร เราก็ขอบอกว่ามันมีความต่างอยู่เล็กน้อยตรงที่มันม่วงอาจมีความหวานและเนื้อเนียนไม่เท่า แต่ไอเท็มทั้งสองก็ยังเป็นความอร่อยในดวงใจใครหลายคนอยู่ดี
 

★ T for Thai Tea 

Thai Tea

น่าดีใจอย่างสุดซึ้งที่เมนูไทยขึ้นชื่อเรื่องความอร่อยระดับโลกกันอีกแล้ว หลังจากเว็บไซต์ซีเอ็นเอ็นโก (CNNgo) เคยให้เครดิต “แกงมัสมั่น” เป็นอาหารที่อร่อยที่สุดของหมู่มวลมนุษยชาติจากการสำรวจจากคนทั่วโลก มาปีนี้ “ชาเย็น” (Thai Iced Tea) ของเราก็รั้งอยู่ที่ 27 จาก 50 อันดับเครื่องดื่มที่อร่อยที่สุดในโลก ซึ่งเสน่ห์ของชาไทยก็อยู่ที่สีส้มสดใส ชงจากชาดำรสเข้ม ก่อนจะเติมนมข้นให้รสหอมมัน ยิ่งอยู่ในถุงพลาสติกก็ยิ่งอร่อย...ให้ตายเถอะ!
 

★ U for Upcycling 

Upcycling

ขอเกาะติดกับกระแสรักษ์โลกอย่างแท้จริงกับคำว่า “Upcycling” ที่แปลได้ว่าการนำกลับมาใช้ใหม่อย่างสร้างสรรค์ (Creative Reuse) ซึ่งเราเชื่อเลยว่าหลายคนคงได้มีโอกาสเห็นงานดีไซน์ต่างๆ ที่มาจากของเหลือใช้กันบ้างแล้ว วงการอาหารของเราก็ไม่ยอมน้อยหน้าเช่นกัน เพราะต่อไปเราน่าจะได้เห็นสินค้าประเภทนี้ในห้องครัวกันมากขึ้น หรือเอาแบบง่ายๆ ก็ลองทาสีเครื่องใช้ในครัวใหม่ดู รับรองสวยปิ๊ง!
 

★ V for Vitamin 

Vitamin

สิ่งที่ทุกคนมุ่งหวังในการกินอาหารก็คือการได้รับสารอาหารและคุณค่าทางโภชนาการอย่างสูงสุด แต่เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าเพียงพอแล้ว “วิตามิน” จึงกลายเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคมองหา ดังนั้นเกือบทุกผลิตภัณฑ์จึงพยายามกรอกสรรพคุณเข้าหูเราว่ามีวิตามินอะไรบ้างอยู่ในนั้น เอาเข้าจริงไม่ว่าจะมีวิตามินมากหรือน้อย แต่แค่ได้เห็นว่า “มีวิตามิน” คนกินอย่างเราๆ ก็อุ่นใจอย่างบอกไม่ถูก
 

★ W for Waste Not 

Waste Not

นอกจากการบริโภคของในท้องถิ่นแล้ว การกินอาหาร “ให้หมดเกลี้ยง” ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีในการดูแลโลกของเรา เพราะการที่เรากินทิ้งกินขว้างล้วนก่อให้เกิดขยะกองโต ไม่ว่าจะเป็นเศษอาหาร อาหารที่ขายไม่ออก ไปจนถึงอาหารที่หมดอายุก็ล้วนเป็นภาระทางสิ่งแวดล้อม อย่างอเมริกาก็มีอัตราส่วนการทิ้งกับการกินครึ่งต่อครึ่งเลยทีเดียว อย่างน้อยการที่เรากินอาหารหมดจานก็นับเป็นการช่วยโลกได้แล้ว
 

★ X for X-tra Topping 

X-tra Topping

แม้ข้อนี้จะแถอักษรตัว X มาแบบห่างๆ อย่างห่วงๆ แต่ความนิยมของ Extra Topping หรือท็อปปิง (พิเศษ) โรยบนเครื่องดื่มคือเรื่องจริงแบบไม่ต้องใช้ตัวแสดงแทน เอาเป็นว่ายิ่งใส่เยอะเท่าไร ความอลังการก็มากขึ้นเท่านั้น ซึ่งเทรนด์นี้ฝรั่งตาน้ำข้าวจะเรียกกันว่า “ฟรีกเชก” (Freak Shake) หรือมิลก์เชกสุดสยอง แต่ไม่ได้หมายถึงหน้าตานะ หากแต่เป็นแคลอรีต่างหาก
 

★ Y for Youtuber 

 Youtuber

ถ้าแปลความหมายของยูทูบเบอร์ (Youtuber) อย่างชัดๆ ก็คงหมายถึงบุคคลที่ผลิตงาน (หรือปรากฏใบหน้าตัวเอง) ลงวีดีโอเพื่ออัปโหลด (Upload) และเผยแพร่บนเว็บไซต์ยูทูบ (Youtube) แม้ว่ายูทูบจะมีกลุ่มเป้าหมายเพื่อคนฟังเพลงเสียมากกว่า แต่ทว่าข้อมูลเรื่องอาหารก็มีมากมายแพ้กัน ไม่ว่าจะเป็น รีวิวร้าน สอนทำอาหาร แต่ที่เด็ดสุดใน พ.ศ นี้ต้องยกให้กับการ “กินอาหารโชว์” ซึ่งคนที่โดดเด่นเป็นกระแสในบ้านเราไม่พ้นสาวเกาหลียางซูบิน (Yang Soo Bin) ที่โชว์กินได้น่าอร่อยแบบไม่ห่วงสวย ซึ่งความนิยมที่ว่าก็ได้ทำให้ร้านไก่ทอดชื่อดังอิมพอร์ตให้เธอมาไลฟ์สดกินไก่ทอดโชว์เมื่อกลางปีที่ผ่านมาอีกด้วย
ติดตามผลงานของสาวซูบินได้ที่ Youtube : Yang Soo Bin
 

★ Z for Zero Alcohol 

 Zero Alcohol

ขอจบข้อสุดท้ายด้วยความย้อนแย้ง ในขณะที่เราบอกว่าเบียร์คือเครื่องดื่มยอดฮิตรองจากน้ำและกาแฟ แต่เครื่องดื่มที่กำลังเป็นกระแสอย่างแท้จริงในอนาคตกลับตกเป็นของ “เครื่องดื่ม (แอลกอฮอล์ที่ทำให้) ไร้แอลกอฮอล์” ด้วยยอดขายที่เติบโตขึ้นถึงปีละ 5 เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2010-2015 ทั้งในแคนาดาและยุโรป ซึ่งนั่นก็ทำให้ไฮเนเก้น (Heineken) แบรนด์เบียร์ยักษ์ใหญ่ออกเบียร์ฉลากฟ้าไร้แอลกอฮอล์มาชิงส่วนแบ่งการตลาดด้วยเช่นกัน

เอาเป็นว่าตอนนี้หากเปิดตู้เครื่องดื่มในร้านสะดวกซื้อ เรารับประกันเลยว่าคุณจะเจอเครื่องดื่ม 0% แอลกอฮอล์อย่างแน่นอน


Tag: , 2017, เทรนด์อาหาร,

เรื่องโดย

ความคิดเห็น

Editor’s Pick

Recent

Most Viewed