การอักเสบ (Inflammation) คือภาวะที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายตอบสนองต่อสิ่งแปลกปลอม ซึ่งสิ่งแปลกปลอมนั้นอาจเป็นไวรัส แบคทีเรีย สารเคมี เซลล์ภายในร่างกายที่เสื่อมสภาพ หรือแม้กระทั่งเซลล์ปกติในร่างกายที่ระบบภูมิคุ้มกันทำงานบกพร่องจนไม่สามารถจดจำเซลล์นั้นได้ จึงถือว่าเซลล์นั้นเป็นสิ่งแปลกปลอมไปด้วย
กรณีนี้พบได้ในผู้ที่เป็นโรคแพ้ภูมิตนเอง (Systemic Lupus Erythematosus ;SLE) หรือที่คนไทยเรียกว่า “โรคพุ่มพวง” นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับการเกิดการอักเสบของร่างกาย เช่น ความเครียด การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ยังก่อให้เกิดอนุมูลอิสระที่ไปทำลายความเสถียรของเซลล์ในร่างกายเพิ่มขึ้นอีกด้วย
ในสถานการณ์ปัจจุบันที่โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ยังคงแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องถึงแม้ประชากรในประเทศไทยจะได้รับวัคซีนแล้วก็ตาม เชื้อไวรัสก็ยังคงพัฒนาสายพันธุ์ใหม่อย่างไม่หยุดยั้ง ซึ่งการติดเชื้อนี้ย่อมก่อให้เกิดการอักเสบภายในร่างกาย โดยผู้ที่ติดเชื้อและหายป่วยแล้วอาจมีอาการลองโควิด (Long COVID) ส่งผลกระทบต่อระบบต่างๆ ภายในร่างกายที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับการรุกรานของเชื้อไวรัสว่าสามารถบุกรุกเข้าไปทำลายระบบใดบ้างในการติดเชื้อแต่ละครั้ง
ตัวบ่งชี้การอักเสบที่ทางการแพทย์นิยมตรวจวัด ได้แก่ C-Reactive Protein (CRP), Tumor Necrosis Factor-α (TNF-α) และ Interleukins ส่วนอาการแสดงที่เกิดขึ้นเมื่อมีการอักเสบคือ ปวด บวม แดงบริเวณที่มีการอักเสบ หรืออาจพบไข้สูงได้ มีการศึกษาที่พบว่าการอักเสบของร่างกายชนิดเรื้อรังมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคหลายชนิด เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคมะเร็งบางชนิด
การรักษาโดยทั่วไปจะเป็นการให้ยาต้านการอักเสบซึ่งบางรายอาจมีอาการไม่พึงประสงค์เกิดขึ้นเล็กน้อยที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้ อาเจียนหลังจากได้รับยานี้ สมุนไพรจากธรรมชาติจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกเพื่อช่วยลดการอักเสบของร่างกายเนื่องจากมีสารพฤกษเคมีที่มีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระ สารสกัดจากพืชหรือสารประกอบจากพืชที่ได้รับความนิยมและแพร่หลายทั่วโลก เช่น ขมิ้นชัน แคมพ์เฟอรอล (Kaempferol) เควอซิทิน (Quercetin) แคปไซซิน (Capsaicin) ที่พบในพริกและขิง เนื่องจากมีผลข้างเคียงน้อย ราคาถูก และสามารถบริโภคในรูปแบบของอาหารเพื่อดูแลสุขภาพได้
ขิง (ชื่อวิทยาศาสตร์ : Zingiber Officinale) เป็นสมุนไพรพื้นเมืองที่พบได้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีลักษณะเป็นเหง้า ส่วนของลำต้นอยู่ใต้ดิน เป็นพืชที่ให้รสเผ็ดร้อนชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมทั่วโลก โดยใช้ปรุงแต่งกลิ่นรสและประกอบอาหารทั้งในรูปแบบของขิงแก่ที่พบในอาหารคาว เครื่องดื่ม ขนม เช่น มันต้มขิง ถั่วเขียวต้มขิง และขิงอ่อนใช้เป็นผักเครื่องเคียงกินคู่กับน้ำพริก นอกจากช่วยเพิ่มความเผ็ดร้อนให้กับอาหารแล้วยังมีสรรพคุณทางยาที่หลากหลาย นอกเหนือไปจากช่วยลดการอักเสบแล้วยังช่วยบรรเทาอาการปวดท้อง ท้องอืด คลื่นไส้ อาเจียน ช่วยขับลมในลำไส้ โดยสารสำคัญที่พบในขิง ได้แก่ จิงเจอรอล (Gingerol) โชกาออล (Shogaol) ซิงเจอโรน (Zingerone) และพาโรดอล (Parodol) ซึ่งสารสำคัญดังกล่าวมีส่วนช่วยยับยั้งการผลิตสารตัวกลางที่ก่อให้เกิดการอักเสบ การบริโภคขิงจึงช่วยลดการอักเสบในร่างกายได้
จากการรวบรวมการศึกษาวิจัยด้วยวิธีสังเคราะห์ข้อมูลอย่างเป็นระบบ (Systematic Review) และการวิเคราะห์แบบอภิมาน (Meta-Analysis) ที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคขิงกับการอักเสบของร่างกายในมนุษย์ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2010-2017 ของ Askari และคณะพบว่าการบริโภคขิงวันละ 1-3 กรัม ส่งผลต่อการลดลงของค่าการอักเสบในร่างกายในกลุ่มผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ ได้แก่ น้ำหนักตัวเกิน น้ำหนักตัวเกินและเป็นมะเร็งเต้านม ข้อเข่าเสื่อม ไขมันพอกตับ และผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่สอง
ดังนั้นการบริโภคขิงจึงสามารถช่วยฟื้นฟูภาวะสุขภาพโดยลดตัวบ่งชี้ที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบ และภาวะความเครียดที่เกิดจากออกซิเดชัน (Oxidative Stress)
เอกสารอ้างอิง
- Cesari M, Penninx BW, Newman AB, Kritchevsky SB, Nicklas BJ, Sutton-Tyrrell K, et al. Inflammatory markers and onset of cardiovascular events: results from the Health ABC study. Circulation. 2003;108(19):2317-22.
- Hotamisligil GS. Inflammation, metaflammation and immunometabolic disorders. Nature. 2017;542(7640):177-85.
- Pai JK, Pischon T, Ma J, Manson JE, Hankinson SE, Joshipura K, et al. Inflammatory markers and the risk of coronary heart disease in men and women. N Engl J Med. 2004;351(25):2559-610.
- Harirforoosh S, Asghar W, Jamali F. Adverse effects of nonsteroidal antiinflammatory drugs: an update of gastrointestinal, cardiovascular and renal complications. J Pharm Pharm Sci. 2014;16(5):821-47.
- Ghosh S, Banerjee S, Sil PC. The beneficial role of curcumin on inflammation, diabetes and neurodegenerative disease: A recent update. Food Chem Toxicol. 2015;83:111-24.
- Devi KP, Malar DS, Nabavi SF, Sureda A, Xiao J, Nabavi SM, et al. Kaempferol and inflammation: From chemistry to medicine. Pharmacol Res. 2015;99:1-10.
- Chen S, Jiang H, Wu X, Fang J. Therapeutic effects of quercetin on inflammation, obesity, and type 2 diabetes. Mediators Inflamm. 2016;2016:9340637.
- Shang K, Amna T, Amina M, Al-Musayeib NM, Al-Deyab SS, Hwang I. Influence of Capsaicin on Inflammatory Cytokines Induced by Lipopolysaccharide in Myoblast Cells Under In vitro Environment. Pharmacogn Mag. 2017;13(Suppl 1):S26-S32.
- Askari G, Aghajani M, Salehi M, Najafgholizadeh A, Keshavarzpour Z, Fadel A, et al. The effects of ginger supplementation on biomarkers of inflammation and oxidative stress in adults: A systematic review and meta-analysis of randomized controlled trials. Journal of Herbal Medicine. 2020;22.
- Ebrahimzadeh Attari V, Ostadrahimi A, Asghari Jafarabadi M, Mehralizadeh S, Mahluji S. Changes of serum adipocytokines and body weight following Zingiber officinale supplementation in obese women: a RCT. Eur J Nutr. 2016;55(6):2129-36.
Tag:
Food for life, ขิง
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น