นอกเหนือไปจากบทบาทหนึ่งใน Scholars of Sustenance Foundation หรือที่มักรู้จักกันในชื่อสั้นๆ ว่า SOS มูลนิธิที่ทำหน้าที่ “กู้ภัย” อาหาร โดยการนำอาหารส่วนเกินจากหน่วยธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร โรงแรม หรือซูเปอร์มาร์เก็ตไปสู่ผู้เปราะบางในสังคม เช่น ผู้มีรายได้น้อย คนชรา หรือเด็ก คุณพลอยยังมีอีกมุมหนึ่งที่รับบทเป็น Natural Chef ทำอาหารสไตล์ “บำบัด” บอกเล่าเรื่องราวการกินอาหารผ่านแฟนเพจDeliconscious – อร่อยอย่างมีสติ
“พลอยเคยเป็นมังสวิรัติมาก่อนแต่ก็ยังไม่แน่ใจว่าต้องกินอย่างไรให้ได้สารอาหารครบถ้วน จึงตัดสินใจเรียน Natural Chef เพื่อให้รู้อย่างลึกซึ้ง เรารู้สึก ‘ดีจัง’ ที่เราสามารถบำบัดร่างกายได้ด้วยการกิน และแน่นอนว่าการกินมังสวิรัติย่อมช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อมและได้ช่วยเกษตรกรด้วย
“อาหารที่เราทำบ่อยที่สุดก็คืออาหารแพลนต์เบส สไตล์คอมฟอร์ต ไม่แต่งรสชาติมาก จึงชื่นชอบกรรมวิธีของญี่ปุ่นที่เน้นคงรสชาติของวัตถุดิบให้ได้มากที่สุด” เมนูซุปผัก Kenchinjiru (เคนชินจิรุ) คือหนึ่งในเมนูซุปง่าย ๆ ที่คุณพลอยได้ลองทำแล้วถูกใจกับรสชาติกลมกล่อมจากการเคี่ยวผักและสาหร่ายจนได้รสชาติอูมามิจากธรรมชาติ “ถ้าเราเลือกวัตถุดิบที่มีคุณภาพ เราก็ยิ่งดื่มด่ำไปกับอาหารที่เราทำ”
คุณพลอยให้ความสนใจกับแนวคิด Zero Waste, Zero Hunger มาตั้งแต่สมัยเรียนปริญญาโทที่ประเทศอังกฤษ เมื่อพบว่าจริงๆ แล้วการกินมังสวิรัตินั้นมีแง่มุมอื่นอีกมากกว่าแค่การช่วยลดโลกร้อน เมื่อได้เรียนเชฟไปพร้อมๆ กันจึงได้รับประสบการณ์เกี่ยวกับอาหารที่เปิดโลกมากๆ จากการทำงานร่วมกับ Food Cycle องค์กรที่ช่วยเหลือคนชราที่อยู่อย่างโดดเดี่ยว และคนไร้บ้านที่มีกำลังทรัพย์ไม่พอโดยปรุงมื้ออาหารจากอาหารส่วนเกินที่กู้ภัยมาจากซูเปอร์มาร์เก็ต “นั่นเป็นครั้งแรกเลยที่เราได้รู้จักกับคำว่า Food Rescue” ภาพจากวันนั้นทำให้เห็นว่ามีอาหารอยู่จนล้น แต่ก็ยังมีคนอีกไม่น้อยที่ไม่สามารถซื้ออาหารกินได้ “สุดท้ายแล้วอาหารที่เรากู้ภัยได้เยอะที่สุดก็คือผักและผลไม้ ซึ่งก็สอดคล้องไปกับการกินมังสวิรัติด้วยนั่นเอง”
คำว่า “อาหารส่วนเกิน” (Food Surplus) ยังคงเป็นคำใหม่มากๆ ในเมืองไทย การเปิดร้านอาหารที่ใช้วัตถุดิบจากอาหารส่วนเกินเหล่านี้ก็ยังคงเป็นเรื่องใหม่มากๆ เช่นกัน ด้วยมุมมองที่คนทั่วไปอาจมองว่ามันคืออาหารเหลือ “เนเธอร์แลนด์เป็นประเทศที่เก่งด้านนี้มาก เขานำอาหารส่วนเกินเหล่านี้มาทำเป็นไฟน์ไดนิงได้พร้อมกับให้ความรู้แก่คนกินไปพร้อม ๆ กัน
“เรา SOS มีความหวังในการจัดตั้งธนาคารอาหารในประเทศไทย อย่างเช่นประเทศเกาหลีใต้ที่จัดให้ธนาคารอาหารนั้นเป็นสวัสดิการของรัฐในการจัดการอาหารส่วนเกินได้อย่างมีระบบ ถ้าวันหนึ่งเรามีขึ้นมาจริงๆ อาหารส่วนเกินจะถูกส่งไปยังผู้ยากไร้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด แต่ต้องยอมรับว่ายังต้องใช้เวลาอีกนาน”
วันนี้คุณพลอยยังสนุกไปกับการทำงานกู้ภัยอาหารภายใต้หมวกของ SOS แต่ในขณะเดียวกันการทำอาหารบำบัดก็ยังเป็นกิจกรรมที่รักและลงมือทำอยู่ควบคู่กัน เพราะไม่ว่าอย่างไรก็ตาม การขจัดความหิวโหย การลดขยะอาหาร หรือการเป็นมังสวิรัติ ทั้งหมดก็ล้วนเกี่ยวพันกันเป็นหนึ่งในปัจจัยของการกินอย่างมีสติเพื่อสุขภาพของเราและโลกของเรานั่นเอง
Tag:
พลอย-นันทพร ตีระพงศ์ไพบูลย์
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น