โภชนาการกับสุขภาพของช่องปาก : Nutrition and Oral Health

วันที่ 10 สิงหาคม 2565  2,522 Views
นิตยสาร Gourmet & Cuisine ฉบับที่ 265 เดือนสิงหาคม 2565

การรับประทานอาหารเพื่อให้มีสุขภาพที่ดีตามหลักโภชนาการ คือ การรับประทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ในสัดส่วนที่เหมาะสม และมีความหลากหลายของชนิดอาหาร เพื่อซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ เสริมสร้างกล้ามเนื้อ กระดูก เนื้อเยื่อต่างๆ หากรับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการไม่ครบถ้วนจะส่งผลต่อสุขภาพร่างกายในภาพรวม หรืออาจพบปัญหาได้อย่างชัดเจนในแต่ละจุด

สุขภาพช่องปากเป็นสิ่งหนึ่งที่มักถูกมองข้าม แต่เมื่อเกิดปัญหาจะส่งผลกระทบกับการดำเนินชีวิตประจำวันอย่างมาก เนื่องจากเป็นอวัยวะด่านแรกที่ทำหน้าที่ในการบด เคี้ยว และย่อยอาหารจำพวกแป้ง การรับประทานอาหารที่ไม่สมดุลจะทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อในช่องปาก

โภชนาการกับสุขภาพของช่องปาก : Nutrition and Oral Health

โดยมีการศึกษาที่พบว่าการมีปัญหาสุขภาพช่องปากจะเพิ่มความเสี่ยงของโรคเรื้อรังหลายชนิด เช่น โรคปริทันต์อักเสบที่มีความเกี่ยวข้องกับโรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงมะเร็งบางชนิด หรือในเด็กที่กำลังอยู่ในช่วงของการเจริญเติบโตอาจพบได้ว่ามีการพัฒนาของฟันที่ไม่สมบูรณ์ตามช่วงวัย

ปัญหาสุขภาพช่องปากที่มีความเกี่ยวข้องกับการรับประทานอาหาร

1.ฟันผุ (Dental Caries) คือการเกิดกระบวนการละลายแร่ธาตุในฟันจนทำให้เนื้อฟันเป็นรูหรือโพรง
สาเหตุ : เกิดจากการสะสมของกรดที่สร้างจากแบคทีเรียในช่องปาก เมื่อเรารับประทานอาหารโดยเฉพาะอาหารประเภทน้ำตาล แบคทีเรียจะย่อยสลายน้ำตาลส่วนหนึ่งไปใช้ประโยชน์ และในกระบวนการนี้แบคทีเรียจะสร้างกรดออกมา หากมีการรับประทานอาหารประเภทน้ำตาลจำนวนมากโดยไม่ได้แปรงฟันหลังรับประทานเสร็จ หรือรับประทานจุบจิบตลอดทั้งวัน จะยิ่งเกิดการสะสมของกรดมากขึ้น โดยมีการศึกษาทางระบาดวิทยาที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของการรับประทานน้ำตาลกับการเกิดโรคฟันผุ

การดูแลรักษา : การป้องกันหรือรักษาเบื้องต้นโดยใช้ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ หากฟันผุจนเป็นรูหรือโพรงขนาดใหญ่ต้องพบทันตแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาตามอาการและความรุนแรงของการผุ

หมายเหตุ : ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์อาหารที่ใช้สารทดแทนความหวานมาเป็นส่วนประกอบแทนน้ำตาลทราย (Sucrose) หลายชนิด (ซึ่งพบมากในผลิตภัณฑ์หมากฝรั่งและลูกอม) เนื่องจากแบคทีเรียในช่องปากไม่สามารถย่อยสลายสารทดแทนความหวานเช่นเดียวกับน้ำตาลได้ ทำให้ไม่เกิดการสร้างกรด จึงช่วยลดปัญหาฟันผุ

จากการศึกษาของ Scheinin และคณะพบว่าปัญหาฟันผุลดลงร้อยละ 85 เมื่อรับประทานไซลิทอล (Xylitol) แทนน้ำตาลทราย สารทดแทนความหวานที่นิยมใช้ในอุตสาหกรรมอาหารมีหลากหลายชนิด เช่น หญ้าหวาน ไซลิทอล (Xylitol) ซูคราโรส (Sucralose) แมนนิทอล (Mannitol) ซอร์บิทอล (Sorbitol) เป็นต้น

โภชนาการกับสุขภาพของช่องปาก : Nutrition and Oral Health


2. ฟันสึกกร่อน (Dental Erosion) คือการสูญเสียเนื้อฟันจากกระบวนการทางเคมีที่เกี่ยวข้องกับกรด แต่ไม่ใช่กรดที่สร้างจากแบคทีเรีย

สาเหตุ : แบ่งได้เป็น 2 ปัจจัย คือ ปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก ปัจจัยภายในจะเกี่ยวข้องกับกรดในกระเพาะอาหาร ปัจจัยภายนอกเกี่ยวข้องกับการรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่มีความเป็นกรด เช่น น้ำอัดลม ผลไม้ น้ำผลไม้ น้ำส้มสายชู และชาสมุนไพรบางชนิด

การศึกษาของ Kannan และคณะในปี ค.ศ. 2014 แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของการดื่มเครื่องดื่มดังกล่าวต่อการสึกกร่อนของฟัน และยังพบว่าหากดื่มในปริมาณมากก็จะยิ่งทำให้ฟันสึกกร่อนมากขึ้น

การดูแลรักษา : ลดความถี่ในการรับประทานและจำกัดอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีความเป็นกรดรวมถึงผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวมากๆ เช่น มะขาม มะนาว มะยม

โภชนาการกับสุขภาพของช่องปาก : Nutrition and Oral Health


3. โรคปริทันต์อักเสบ (Periodontal Disease) หรือเหงือกอักเสบ คือการอักเสบของอวัยวะที่อยู่บริเวณรอบฟัน ได้แก่ เหงือก เอ็นยึดปริทันต์ เคลือบรากฟัน และกระดูกเบ้าฟัน

สาเหตุ : สาเหตุหลักเกิดจากการสะสมของคราบจุลินทรีย์ (หินน้ำลายหรือหินปูน) ที่ผลิตกรดและสารพิษออกมาทำลายบริเวณโดยรอบของฟัน สาเหตุรองอาจเกิดได้จากการสูบบุหรี่ การตั้งครรภ์ การมีภูมิคุ้มกันต่ำ และการขาดสารอาหารบางชนิด โดยผู้ที่ขาดวิตามินเอ วิตามินซี วิตามินอี กรดโฟลิก และแคลเซียมจะเป็นโรคนี้

เนื่องจากวิตามินเอมีบทบาทสำคัญในการซ่อมแซมและฟื้นฟูเยื่อบุผิว วิตามินซีช่วยรักษาและซ่อมแซมเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน รักษาโครงสร้างของเหงือก และมีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระ เมื่อขาดวิตามินและแร่ธาตุดังกล่าวจึงส่งผลให้เกิดปัญหาตามมา

การดูแลรักษา : แปรงฟันให้ถูกวิธีร่วมกับการใช้ไหมขัดฟันและขูดหินน้ำลายอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง เพื่อกำจัดคราบจุลินทรีย์ นอกจากนี้การรับประทานวิตามินซีเสริมสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาโรคปริทันต์อักเสบได้

โภชนาการกับสุขภาพของช่องปาก : Nutrition and Oral Health

เอกสารอ้างอิง

  • Michaud DS, Kelsey KT, Papathanasiou E, Genco CA, Giovannucci E. Periodontal disease and risk of all cancers among male never smokers: an updated analysis of the Health Professionals Follow-up Study. Ann Oncol. 2016;27(5):941-7.
  • Artese HP, Foz AM, Rabelo Mde S, Gomes GH, Orlandi M, Suvan J, et al. Periodontal therapy and systemic inflammation in type 2 diabetes mellitus: a meta-analysis. PLoS One. 2015;10(5):e0128344.
  • Rugg-Gunn AJ. Nutrition and dental health: Oxford University Press, USA; 1993.
  • Moynihan P, Petersen PE. Diet, nutrition and the prevention of dental diseases. Public Health Nutr. 2004;7(1A):201-26.
  • Scheinin A, Mäkinen KK, Ylitalo K. Turku sugar studies V: Final report on the effect of sucrose, fructose and xylitol diets on the caries incidence in man. Acta Odontologica Scandinavica. 1976;34(4):179-216.
  • Kannan A, Adil Ahmed MA, Duraisamy P, Manipal S, Adusumillil P. Dental hard tissue erosion rates and soft drinks – A gender based analysis in Chennai city, India. The Saudi Journal for Dental Research. 2014;5(1):21-7.
  • Gondivkar SM, Gadbail AR, Gondivkar RS, Sarode SC, Sarode GS, Patil S, et al. Nutrition and oral health. Dis Mon. 2019;65(6):147-54.
  • Aurer-Kozelj J, Kralj-Klobucar N, Buzina R, Bacic M. The effect of ascorbic acid supplementation on periodontal tissue ultrastructure in subjects with progressive periodontitis. Int J Vitam Nutr Res. 1982;52(3):333-41.


Tag: การรับประทานอาหาร, สุขภาพของช่องปาก, โภชนาการ

เรื่องโดย

ความคิดเห็น

Editor’s Pick

Recent

Most Viewed