ในวงการอาหารบ้านเราปัจจุบันไม่ว่าจะในร้านอาหารหรือคาเฟ่ ต่างกลายเป็นสถานที่ “โชว์ของ” สำหรับคนครัวรุ่นใหม่ เปิดกว้างให้พวกเขาได้ปล่อยพลังสร้างสรรค์ของกินต่างๆ อย่างไม่มีลิมิต นับเป็นเรื่องดีสำหรับสายกินที่จะได้สัมผัสกับประสบการณ์อาหารในรูปแบบใหม่ซึ่งมีทั้งความน่าทึ่งแตกต่างไปจากขนบเดิมๆ ด้วยการผสมเล็กผสมน้อย อย่างเช่นขนมอบของ 6 ตัวแทนเชฟคนรุ่นใหม่ ที่ในโอกาสนี้เราได้สนทนาไปถึงจุดเริ่มต้น การมองหาแรงบันดาลใจ จนกลายเป็นความสำเร็จอย่างที่พวกเขาเป็นกันในวันนี้
1. อาหารจากความคุ้นเคย
เป้-ปฏิภาณ จิตรพรหมมา, ร้าน Aksorn (อักษร)
ในบริเวณเซ็นทรัล: ดิ ออริจินัล สโตร์ บนถนนเจริญกรุงที่ให้บรรยากาศย้อนยุคไปสู่ตำนานของเซ็นทรัลในยุคก่อตั้ง บนชั้น 5 ของสถานที่แห่งนี้ถึงแม้จะให้ภาพที่แตกต่างไปด้วยร้านอาหารตกแต่งสไตล์โมเดิร์น แต่สิ่งที่แฝงอยู่ใน Aksorn (อักษร) คือเมนูอาหารไทยจากตำราอาหารสมัยก่อนที่รังสรรค์ขึ้นใหม่ด้วยฝีมือของเดวิด ทอมป์สัน เชฟชาวออสเตรเลียชื่อดัง
เชฟเป้-ปฏิภาณ จิตรพรหมมา เอ็กเซ็กคูทีฟเชฟคนปัจจุบันของร้านอักษร เขาเป็นคนรุ่นใหม่ผู้ทำหน้าที่สานต่อตำรับอาหารของเชฟเดวิด และนอกจากอาหารคาวที่จัดว่าเป็นที่เลื่องลือ ขนมไทยภายใต้การออกแบบของเชฟเป้ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน
เส้นทางการทำอาหารของเขาเริ่มต้นตั้งแต่สมัยมัธยมปลาย ด้วยความ “อยากกิน” แล้วจึงได้ลองลงมือทำ จนในที่สุดค้นพบว่าตัวเองนั้นชอบทำมากกว่าชอบกิน จนเมื่อถึงรอยต่อของชีวิตเขาจึงตัดสินใจศึกษาต่อในด้านธุรกิจอาหารและการประกอบอาหารโดยเฉพาะ “อาหารเป็นสิ่งที่ผมชอบทำมากที่สุด และในขณะเดียวกันการทำขนมก็เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ไม่ได้ทิ้งไป และด้วยความชื่นชอบในอาหารไทยมากกว่าอาหารยุโรป จึงเป็นผลสืบเนื่องให้ผมสนใจทำขนมไทยมากกว่าขนมของชาติอื่นๆ ด้วยวัตถุดิบที่บ้านและที่ร้านของเราเกื้อหนุนกับการทำขนมไทยมากกว่าด้วย”
ขนมต่างๆ ที่เขาได้รังสรรค์ในทุกวันนี้ต่างเป็นขนมที่คุ้นเคยมาตั้งแต่วัยเด็ก ถึงจะถูกปากบ้างไม่ถูกปากบ้าง เมื่อกลายมาเป็นคนลงมือทำเอง ไม่ว่าจะเป็นขนมชนิดไหนที่เคยชอบหรือเคยไม่ถูกใจ เขาก็สามารถพัฒนาปรับสูตรได้ตามใจชอบจนออกมาเป็นขนมไทยในแบบที่ตัวเองต้องการ “เราไม่สามารถทำตามตำราอาหารไทยได้ทั้งหมด ด้วยวัตถุดิบที่ขึ้นอยู่ตามฤดูกาล และบ้างก็เป็นเพราะกรรมวิธีพื้นบ้านอย่างเช่นน้ำตาลปี๊บที่ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายด้าน เช่น เวลากวน วิธีกวน หรือหากกวนฤดูฝนที่มีน้ำเยอะทำให้น้ำตาลเหลวกว่า ความแปรผันเหล่านี้ทำให้สูตรของขนมไทยต้องปรับไปเรื่อยๆ ตามวัตถุดิบที่ได้มา”
ขอให้ลืมบ้าบิ่นชิ้นเล็กๆ ที่เราคุ้นเคยไปได้เลย เพราะบ้าบิ่นที่เป็นฝีมือของเชฟเป้นั้นมากับไซส์บิ๊กเบิ้ม ชิ้นหนา ได้รสน้ำตาลที่ลึกกว่าด้วยกรรมวิธีกวนน้ำตาลโตนดจนได้สีเข้ม ตัวฐานทำจากคาราเมลที่ได้จากอินทผลัมเชื่อม เมื่อนำไปอบแล้วพลิกด้านจะดูเหมือนเค้กที่ชุ่มไปด้วยคาราเมล ด้านบนดูคล้ายกับทาร์ตตาแต็ง
“ทุกวันนี้อาชีพเชฟเป็นอาชีพที่ได้การยอมรับและเป็นที่ชื่นชมในสังคม สิ่งสำคัญคือความพยายาม เพราะงานนี้ไม่มีทางลัด และชั่วโมงบินเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ยิ่งมากประสบการณ์ ทุกอย่างจะยิ่งหล่อหลอมให้เราเป็นคนทำอาหารที่ดีได้เอง”
2. จากนิวยอร์กสู่เมืองไทย
โฟล์ก-ฉัฐวัฒน์ เจนศิริวานิช, ร้าน Volks
ดูเหมือนไม่นานมานี้เองที่เราได้ไปเยี่ยมเยือนสาขาแรกของ Volks ในซอยประดิพัทธ์ 13 ที่ชูจุดเด่นด้วยเบเกิลสไตล์นิวยอร์กหลากหลายหน้า ทุกวันนี้พวกเขาเดินทางไปไกลมากด้วยสาขาที่กระจายอยู่ในกรุงเทพมหานคร ได้แก่ สาขาตลาดน้อย สาขาสาทร (ในรูปแบบ Grab & Go) และอีก 3 สาขาย่อยในย่านสุขุมวิท รวมถึงสาขาในเชียงใหม่ 2 สาขาในนิมมานฯ ซอย 5 และแถวกาดฝรั่ง รวมถึงสาขาน้องใหม่ล่าสุดในพระนครศรีอยุธยา
จากการศึกษาด้านการโรงแรมและการทำขนมมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา บวกกับความหลงใหลในเบเกิลเป็นส่วนตัว จึงเกิดเป็นไอเดียในการเปิดร้านเบเกิลสไตล์นิวยอร์กที่หาได้ยากในเมืองไทย ด้วยเอกลักษณ์ของเนื้อสัมผัสที่กรอบด้านนอกและเคี้ยวหนึบพอดีกัน
“เบเกิลของร้านจะตีแป้งล่วงหน้าและเข้าตู้เย็นเป็นเวลา 8-10 ชั่วโมง แล้วจึงมาผ่านขั้นตอนต้มก่อนนำไปอบด้วยความร้อนสูงเหมือนการอบขนมปังอื่นๆ ก็จะทำให้เนื้อสัมผัสของเบเกิลมีความหนึบ เป็นกรรมวิธีที่ใช้ทั้งเวลาและแรงงานเยอะมาก แต่ก็คุ้มค่ากับการนำเสนอให้กับลูกค้าของเรา”
คุณโฟล์กเริ่มต้นด้วยเบเกิลพื้นฐานอย่างหน้างาและหน้ากระเทียม โดยเลือกใช้วัตถุดิบที่มีในบ้าน เช่น หอมเจียว นำมาประยุกต์แล้วได้รับความนิยมไม่น้อย หลังจากนั้นเขาก็ได้เสียงตอบรับว่าให้ลองทำแบบหวานบ้าง บลูเบอร์รีและลูกเกดซินนามอนจึงเป็นตัวเลือกแรกๆ ของร้านที่เขาได้ลงมือสร้างสรรค์ จากนั้นก็เพิ่มมาเรื่อยๆ จนครบ 12 หน้า โดยแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ Original Bagels ที่ประกอบไปด้วยแบบไม่มีหน้า หน้างาขาว หน้างาดำ หน้ากระเทียมและโอลีฟออยล์ หน้าหัวหอมกรอบ และหน้ารวมทุกอย่าง อีกประเภทคือ Specialty Bagels ที่มีให้เลือกทั้งรสแอคติเวทเต็ด ชาร์โคล รสลูกเกดซินนามอน รสบลูเบอร์รี รสเฟรนช์โทสต์ หน้าอาเซียโกชีส และหน้าเจลาปิโนเชดดาร์ชีส พร้อมกับครีมชีสให้เลือกถึง 10 รสชาติ “อาเซียโกชีสเป็นเบเกิลที่เราค่อนข้างชื่นชอบเป็นพิเศษ ด้วยคุณภาพของชีสที่เสริมรสชาติให้กลิ่นนัตตี้นิดๆ เข้ากับตัวเบเกิลได้เป็นอย่างดี
“งานนี้ถือเป็นงานที่หนักและต้องใช้แรงใจอย่างมากในการลงมือทำ ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมากับการทำร้าน Volks ถือเป็นเวลาที่เราเต็มที่กับงานนี้ในทุกๆ วัน แต่พอเป็นสิ่งที่เราชอบแล้วเราจะไม่รู้สึกเหนื่อย”
3. แรงบันดาลใจไม่รู้จบ
เชฟแก้ว-ปวีณ์นุช ยอดปรีชาวิจิตร
หากใครที่ได้ติดตามก็จะได้เห็นการจับนู่นทำนี่ไม่อยู่นิ่งของเชฟแก้ว-ปวีณ์นุช ยอดปรีชาวิจิตรกันอยู่ตลอดเวลา และเมื่อไม่นานมานี้เองเธอก็หันมาสนใจการทำขนมเค้กที่ต้องตั้งคำถามว่า “มันคือเค้กจริงๆ หรือเปล่า?” ด้วยรูปลักษณ์หน้าตาภายนอกที่เหมือนกับเลมอน มะม่วง มะนาว แอปเปิล พริกหวาน หรือแม้แต่ไข่ไก่ทั้งแผงที่สร้างความเซอร์ไพรส์หลังจากหั่นให้เห็นด้านในว่าจริงๆ แล้ว มัน! คือ! เค้ก!
เมื่อครั้งมีโอกาสได้เป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่ประเทศเยอรมนี จึงมีโอกาสได้ทำเค้กวันเกิดง่ายๆ จากเคยมีภาพจำว่าเค้กเป็นขนมที่ทำยาก พอได้ลงมือทำแล้วจึงพบว่าการทำเค้กนั้นง่ายกว่าที่คิด เส้นทางการทำขนมของเชฟแก้วจึงเริ่มต้นหลังจากนั้น และในยุคที่บลูเบอร์รีชีสพายเป็นที่นิยมในไทย เชฟแก้วในวัยมัธยมปลายก็เป็นหนึ่งในคนที่ได้ทดลองทำขนมชนิดนี้ด้วย “เราไม่เคยเรียนทำขนมจริงจัง และส่วนตัวก็ไม่ได้ชอบเบเกอรี่ขนาดนั้น แต่มาเริ่มเรียนจริงจังตอนที่เริ่มเข้าแข่งรายการและเรียนรู้มาตลอด”
เคล็ดลับการตามหาแรงบันดาลใจในการทำอาหารและขนมของเธอคือการอ่าน Cook Book รวมถึงเสพในสื่อโซเชียลมีเดียประกอบกันทั้งสองทาง “เค้กเสมือนจริงที่ทำในช่วงนี้ถือเป็นงานที่ท้าทายมากๆ แม้ว่าจะเป็นบัตเตอร์เค้กธรรมดา แต่พอมาห่อด้วยฟองดองต์แล้วมันไม่ง่ายเลย ใครต่อใครมักจะบอกว่าฟองดองต์เหมือนดินน้ำมัน แต่มันเป็นดินน้ำมันที่บางครั้งก็นิ่มไป บางครั้งก็แข็งไป บางครั้งก็ขาด จึงเป็นงานหนักที่ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้ห่อได้เนี้ยบที่สุด อะไรก็ตามที่เป็นงานฝีมือ ไม่ว่าจะเป็นการใช้สี การสเปรย์ เป็นงานที่ค่อนข้างยาก”
เชฟแก้วยอมรับว่าไม่ได้เป็นคนชื่นชอบการกินของหวานมากนัก แต่ที่หันมาให้ความสนใจกับการทำขนมมากเป็นพิเศษในช่วงหลังมานี้เพราะมองว่าเป็นงานศิลปะแขนงหนึ่งที่ประเทศไทยยังไม่มีสอนฃ
Make A Wish! เนื่องในโอกาสที่นิตยสาร Gourmet & Cuisine เดินทางเข้าสู่ปีที่ 23 อย่างเต็มรูปแบบ เชฟแก้วจึงรังสรรค์เทียนมาให้เราหลายเล่มเลยทีเดียว ดูเผินๆ ก็เหมือนเทียนทั่วไปที่จุดไฟได้ แต่ภายในนั้นเป็นบัตเตอร์เค้กที่สอดไส้หลากหลายแบบ เคลือบด้วยไวต์ช็อกโกแลต สื่อความหมายถึงการเป่าเทียนวันเกิด และแสงของเทียนก็เปรียบเสมือนความหวังและการอวยพร
“คนกินอาหารและขนมทุกวัน ดังนั้นทั้งอาหารและขนมจึงเป็นสิ่งที่พัฒนาไปทุกวันเช่นกัน การที่เราจะเป็นคนทำอาหารหรือคนทำขนมที่ดีได้คือคนที่หมุนทันโลก ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องเกาะกระแส แต่การที่เรารู้ว่าโลกวงการอาหารเป็นไปอย่างไรบ้างแล้วนำมาปรับให้เข้ากับตัวเองก็จะทำให้เรามีความโดดเด่นมากกว่าคนอื่นๆ น่าติดตาม การทำขนมทำให้เราเป็นคนแม่นยำ ใจเย็น ทำทุกอย่างเป็นขั้นตอน ในขณะที่อาหารสอนให้เรารู้จักพลิกแพลง แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า จึงเป็นสิ่งสำคัญในการเรียนรู้ศาสตร์หลายๆ แขนงเพื่อนำมาประยุกต์เข้าด้วยกัน”
4. เมื่อสิ่งที่ใช่คือสิ่งใกล้ตัว
เชฟลัท-นลัท จิรวีรกูล
เส้นทางจากคนทำงานด้านการออกแบบแอนิเมชันมาสู่เจ้าของฉายา “นางฟ้าวงการขนม” เกิดขึ้นอย่างไม่รู้ตัว หลังจากอิ่มตัวกับการทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ เธอจึงเริ่มต้นตามหาความชอบของตัวเองจนในท้ายที่สุดก็เหลือเพียงทางแยกระหว่างแฟชั่นและ “การทำขนม”
“เราถนัดการทำขนมโดยที่เราไม่รู้ตัว ตั้งแต่เด็กๆ เราเป็นลูกมือของคุณแม่ในการทำขนม ซึ่งเป็นฟรุตเค้กที่เลื่องลือ ด้วยวิธีการทำที่ใส่ใจมากๆ หมักผลไม้ถึง 1 ปีเต็ม เมื่ออบเสร็จ ทาเหล้าบนผิวเค้กแล้วแช่ตู้เย็นไว้อีก 1 เดือนเต็มให้เหล้าซึมซับเข้าไปในเนื้อเค้ก ฟรุตเค้กของแม่จึงอร่อยมากๆ ทุกอย่างเต็มไปด้วยรายละเอียดและสนุกมาก ทำให้เรารู้ว่าเราอยู่กับการทำขนมมานานมากแล้วจริงๆ”
สำหรับเชฟลัทการทำขนมเป็นอาชีพที่เหมาะสำหรับคนละเอียดอ่อน ไม่เร็วเกินไปหรือช้าเกินไป ถ้าละเอียดมากเกินไปงานจะเสร็จช้า ด้วยธรรมชาติของอาชีพเชฟที่ต้องทำงานด้วยความรวดเร็ว บีบด้วยเวลา แต่ถ้าเร็วเกินไปจนไม่ละเอียดงานก็จะออกมาไม่สวยงาม
แต่ถึงจะมีความผูกพันกับขนมเค้กมานานมากก็ตาม ขนมชนิดแรกที่เธอตัดสินใจทำขายจริงจังกลับเป็น “ไอศกรีม” ที่ใช้อุปกรณ์น้อยกว่า หลังจากจบการเรียนด้านขนมอบอย่างสมบูรณ์แบบ จึงเริ่มต้นด้วยการขายคุกกี้และบราวนี่ทางออนไลน์อย่างจริงจัง
“ขนมของเราเป็นแบบไหน? น่าจะเป็นขนมสไตล์ญี่ปุ่น เพราะได้ไอเดียจากการไปตระเวนกินเค้กที่ญี่ปุ่นมาเยอะมาก มองว่าเขามีเอกลักษณ์ที่ความนุ่ม ความละมุน และหวานน้อย ใช้วิปครีมแทนบัตเตอร์ครีม ซึ่งขนมของเราก็เป็นแบบนี้ด้วยเหมือนกัน การที่เค้กไม่หวานมากทำให้เรากินได้เรื่อยๆ และตอนนี้ก็ยังเป็นแบบนี้อยู่”
เส้นทางการค้นพบตัวเองของเชฟลัทยังมีอีกครั้งหลังจากเข้าแข่งขันมาสเตอร์เชฟ เธอได้เรียนรู้การทำอาหารมากขึ้นจนเกิดเป็นการสร้างสรรค์เมนูขึ้นจากพื้นฐานของหวานที่มีอยู่มาผสมเข้ากับของคาว อย่างเช่นเมนูมิลเฟยสตรอว์เบอร์รีน้ำปลาหวาน เธอนำตัวน้ำปลาหวานที่มีทั้งพริกและหอมแดงไปใส่ในเนื้อครีม จึงมีทั้งกลิ่นและรสชาติของทั้งสองอย่างอยู่ครบ สร้างความประหลาดใจให้กับคนกิน “การนำของหวานมาจับคู่กับของคาวคือความสนุก ไร้กฎเกณฑ์ เปิดโลกการทำขนมมาก ทำให้เราไม่จำกัดตัวเองอยู่แค่ในกรอบของการทำขนมหวานด้วย และการเรียนแอนิเมชันของเราก็เป็นประโยชน์ในการสร้างสรรค์ศิลปะและการเป็นคนละเอียดอ่อน
“การได้ทำอะไรที่หลงใหล เวลาที่เราท้อหรือเหนื่อย เราสามารถลุกกลับมาอีกครั้งได้ไม่ยาก สำหรับการทำขนมสิ่งสำคัญคือความละเอียด อีกอย่างคือความรับผิดชอบในการทำอาหารที่ดีต่อร่างกายของคนกิน”
5. ใช้ของไทยอะไรก็เป็นไปได้
เชฟพลอย-ณัฐณิชา บุญเลิศ
“อาหารเลือกพลอย” คือคำพูดที่เชฟพลอยบอกหลังจากตัดสินใจไม่เรียนดนตรีที่ตัวเองเคยชอบมาสู่การเรียนสายโรงแรม แล้วพบว่าอาหารคือวิชาที่ทำได้ดี และอยู่กับการทำอาหารมาตั้งแต่เริ่มเรียนมหาวิทยาลัยและร่วมแข่งขันตั้งแต่ปี 1
“เพราะขนมต้องชั่ง ตวง วัด ถ้าทำผิดก็ต้องทิ้ง เราจึงเลือกที่จะอยู่กับอาหารคาวมากกว่า แต่หลังจากเปิดธุรกิจร้านกาแฟเล็กๆ เป็นครั้งแรก จึงเริ่มทำขนมมาตั้งแต่ตอนนั้น เริ่มต้นด้วยขนมเพื่อสุขภาพ แต่เมื่อเราเติบโตขึ้น แนวทางการทำอาหารของเราก็ชัดเจนขึ้น เราชอบใช้วัตถุดิบไทยแทนวัตถุดิบต่างชาติ แต่ขนมของเราก็จะออกมาในรูปแบบของขนมตะวันตกที่แทนค่าด้วยวัตถุดิบของไทย อย่างเช่นขนมโปรดของพลอย Sticky Date Pudding ที่มีรสหวานมาก กินแล้วสดชื่น เหมาะสำหรับกินคู่กับกาแฟดำ เรานึกถึงกล้วยตากซึ่งเป็นผลไม้ที่ทำให้แห้ง มีรสหวาน นำมาทดแทนอินทผลัมได้ โดยนำกล้วยตากมาแช่น้ำร้อน ทำให้เปื่อยยุ่ยด้วยเบกกิงโซดาก่อนนำไปปั่น แล้วใส่ลงไปในเนื้อเค้ก เราจะได้กลิ่นกล้วยตากชัดเจนมากเหมือนกับเค้กกล้วยหอม”
บ้านลลิณ เป็นคาเฟ่ของเชฟพลอยที่ตั้งอยู่ในบ้านโบราณริมคลอง ลึกเข้าไปในตรอกตึกดิน ย่านพระนคร ก็ใช้คอนเซ็ปต์ของขนมหวานวัตถุดิบไทยและดีต่อสุขภาพตามแบบฉบับของเชฟพลอย ซึ่งกลายเป็นความพิเศษไม่เหมือนใครอย่างเช่นเค้กแตงไทย ขนมซิกเนเจอร์ประจำร้านที่ได้แรงบันดาลใจจากแตงไทยน้ำกะทิในรูปแบบของขนมเค้กที่ผสมผงอัลมอนด์ ได้กลิ่นแตงไทยซึมในเนื้อเค้ก และในขณะเดียวกันก็ให้ความสนใจกับเค้กเสิร์ฟอุ่นทานคู่ไอศกรีมเย็นๆ หรือซอสเย็นๆ ให้เนื้อเค้กร้อนๆ ดูดซึมเข้าเนื้อ
“เส้นทางการเป็นเชฟมีหลายเส้นทางที่จะมาประสานกันได้ พลอยเริ่มต้นจากการประกวดมาสู่การทำอาหารเป็นอาชีพ เราเคยเป็นคนที่ไม่กล้ามาก่อน แต่เมื่อผ่านประสบการณ์ต่างๆ มาก็ทำให้รู้ว่าสิ่งที่แย่กว่าการไม่กล้าคือการไม่ทำแล้วปล่อยให้เวลาผ่านไป แล้วมานึกเสียใจในตอนหลัง”
6. เปลี่ยนความสมบูรณ์แบบเป็นความสบายใจ
เชฟปิง-สุรกิจ เข็มแก้ว
เริ่มต้นจากความไม่รู้และยังหาตัวเองไม่เจอ นำพาให้เชฟปิงมาบรรจบกับการทำอาหารตั้งแต่วัยเรียน เมื่อพบว่าเป็นสิ่งที่ทำได้ดี ผ่านการแข่งขันมาหลายเวทีพร้อมกวาดรางวัลมานับไม่ถ้วน ได้รู้จักคนในวงการอาหารมากมาย บวกกับประสบการณ์ฝึกงานร้านอาหารในสหรัฐอเมริกา ทั้งหมดทั้งมวลนี้คือสิ่งที่นำพาเขาคนนี้ให้พบกับโอกาสในการเป็นเชฟมืออาชีพ และเข้าสู่แวดวงอาหารอย่างเต็มตัวได้หลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นรายการโทรทัศน์ ภาพยนตร์ โฆษณา ซีรีส์ และอีเวนต์ “ถึงแม้ว่าเราจะลองทำงานในทุกๆ ด้านที่เกี่ยวกับอาหารไปหมดแล้ว แต่เราก็ยังรักการทำอาหารอยู่
“ผมเริ่มต้นจากการทำอาหารตะวันตกก่อน แต่ในฐานะที่เป็นคนไทยจึงเบนสายมาจริงจังด้านอาหารไทยมากขึ้นในรูปแบบอินโนเวทีฟ จากประสบการณ์ในห้องเรียน มาสู่การทำงาน ทำให้เรามีความรู้และทักษะในการทำอาหารและขนมมาพอสมควร แต่จวบจนได้รับหน้าที่เป็นกรรมการในรายการ The Great Thai Bake Off ยอดนักอบขนม ต้องบอกเลยว่าทำให้เราได้รู้จักขนมเยอะขึ้นมาก”
ทุกวันนี้เชฟปิงเลือกที่จะทำอาหารและขนมตามสไตล์ที่ตัวเองอยากกินและอยากลองทำ เน้นความสุขตัวเองเป็นที่ตั้ง ไม่ยากเกินไป เข้าถึงง่าย “เทรนด์อาหารโลกในทุกวันนี้เราไม่ได้อยากกินอาหารที่มีโฟมฟองเหมือนเมื่อก่อนแล้ว แต่โหยหาอาหารที่เป็นชิ้นเป็นอันมากขึ้น พฤติกรรมการกินอาหารของผมเองก็เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงหลังยุคโควิด-19 จากที่ชื่นชอบตามรอยไฟน์ไดนิง ร้านมิชลินสตาร์ และโอมากาเสะแทบทุกร้าน กลายเป็นคนโหยหาความเรียบง่าย จับต้องได้ เนื้อเป็นเนื้อ อร่อยโดยไม่ต้องคิดอะไรเยอะ รสนิยมทำอาหารของผมก็เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง จากคนที่จริงจังในทุกรายละเอียด ทุกวันนี้ก็ต้องการทำเพียงเมนูที่เรียบง่าย ทำง่าย ไม่ซับซ้อน แต่รสชาติยังคงมีคุณภาพ”
สตรอว์เบอร์รียูซุชอร์ตเค้กที่ตั้งอยู่ตรงหน้าพูนไปด้วยสตรอว์เบอร์รีสีแดงสดหั่นพอดีคำ เป็นสูตรที่ง่ายคล้ายกับขนมไข่ที่มีเนื้อแน่นกว่านิดหน่อย เสริมด้วยผิวเลมอนในเนื้อเค้ก ให้กลิ่นหอม ส่วนรสชาติของสตรอว์เบอร์รีสดและเจลยูซุที่เสริมเข้ามาแบบจัดเต็มนั้นก็จัดเป็นรสชาติที่เข้ากันได้ง่าย เข้ากับยูซุฟีเวอร์ในยุคนี้
“ถ้าเรากลัวที่จะลงมือทำ อนาคตก็จะกลัวเราเหมือนกัน นี่คือสิ่งที่ผมยึดถือมาตลอด ผมผ่านการแข่งขันมาเยอะมาก สู้กับเชฟในทุกระดับ ในวันนั้นผมกล้า และมันทำให้ผมยืนในที่นี้ได้ในทุกวันนี้โดยไม่อายใคร ผมอยากให้ปลุกความกล้าขึ้นมาแล้วทำความกล้าของเราให้ยิ่งใหญ่กว่าเดิม”
6 คน 6 เมนู 6 เรื่องราวแห่งการสร้างแรงบันดาลใจ ไม่ว่าจุดเริ่มต้นมาจากตรงไหน หากมีความหลงใหลมากพอก็สามารถทำตามความฝันของตัวเองได้
Tag:
Youngster Bakers, ขนมอบ
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น