กลไกของโซเดียมกับการเกิดภาวะความดันโลหิตสูง

วันที่ 27 มิถุนายน 2565  6,674 Views
นิตยสาร Gourmet & Cuisine ฉบับที่ 263 เดือนมิถุนายน 2565

องค์การอนามัยโลกได้ให้คำจำกัดความของภาวะความดันโลหิตสูง (Hypertension) ไว้ในปี พ.ศ. 2542 ว่าเป็นภาวะที่ตรวจพบระดับความดันโลหิตตัวบนมากกว่าหรือเท่ากับ 140 มิลลิเมตรปรอท และ/หรือความดันโลหิตตัวล่างมากกว่าหรือเท่ากับ 90 มิลลิเมตรปรอท

กลไกของโซเดียมกับการเกิดภาวะความดันโลหิตสูง

ผู้ที่มีความผิดปกติดังกล่าวนี้เป็นระยะเวลานานจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ และโรคไตเรื้อรัง นำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่แย่ลง ทั้งนี้องค์การอนามัยโลกระบุว่าประชากรโลกที่มีอายุระหว่าง 30-79 ปี เป็นโรคความดันโลหิตสูงมากถึง 1.28 พันล้านคน และในปี พ.ศ. 2558 พบว่าภาวะความดันโลหิตสูงในเพศชายมากถึงร้อยละ 25 และเพศหญิง ร้อยละ 20

สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทยที่มีการสำรวจสุขภาพประชาชนโดยการตรวจร่างกายครั้งล่าสุด คือ ครั้งที่ 6 เมื่อปี พ.ศ. 2562-2563 ในประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป พบผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงร้อยละ 25.4 ซึ่งมากกว่าการสำรวจฯ ครั้งที่ 5 ในปี พ.ศ. 2557 ที่พบความชุกร้อยละ 24.7 ดังนั้นภาวะความดันโลหิตสูงจึงเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญทั้งในระดับประเทศและระดับโลก

กลไกของโซเดียมกับการเกิดภาวะความดันโลหิตสูง

นอกจากนี้ความชุกของโรคความดันโลหิตสูงยังเพิ่มตามอายุที่มากขึ้น ในกลุ่มอายุ 15-29 ปี พบความชุกเพียงร้อยละ 3.3 และเพิ่มขึ้นตามลำดับเป็นร้อยละ 76.8 ในกลุ่มอายุ 80 ปีขึ้นไป เนื่องจากความเสื่อมสภาพของอวัยวะภายในร่างกายและความยืดหยุ่นของหลอดเลือดที่ทำงานมาเป็นระยะเวลาที่ยาวนานกว่า แต่การเพิ่มขึ้นของอายุเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถแก้ไขได้ นอกจากนี้การมีพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่เหมาะสมยังเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคความดันโลหิตสูง เช่น การมีความเครียดสะสม การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ และการบริโภคอาหารที่มีโซเดียมสูง

โซเดียม (Sodium) เป็นแร่ธาตุที่มีความสำคัญในการควบคุมสมดุลของระบบของเหลวในร่างกาย ซึ่งโดยทั่วไปคนเราจะได้รับโซเดียมจากการบริโภคอาหารเป็นหลัก โดยอยู่ในรูปของเกลือแกงหรือโซเดียมคลอไรด์ (NaCl) ทั้งนี้องค์การอนามัยโลกแนะนำให้บริโภคโซเดียมไม่เกินวันละ 2,000 มิลลิกรัม หรือคิดเป็นเกลือไม่เกิน 5 กรัม (1 ช้อนชา) มีการศึกษาของ Weinberger และ Strazzullo และคณะที่พบว่าการบริโภคโซเดียมในปริมาณที่สูงกว่าข้อแนะนำข้างต้นส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของระดับความดันโลหิตอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ซึ่งนำไปสู่การเกิดโรคความดันโลหิตสูงและโรคแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องกับหัวใจและหลอดเลือด

กลไกของโซเดียมกับการเกิดภาวะความดันโลหิตสูง

เมื่อบริโภคอาหารที่มีโซเดียมสูง ระดับโซเดียมในเลือดจะมีความเข้มข้นมากกว่าปกติ ร่างกายจะมีการตอบสนองเพื่อควบคุมสมดุลของระบบของเหลว โดยลดการขับน้ำออกจากร่างกายและดูดกลับน้ำที่ไตมากขึ้น ทำให้ปริมาณของเหลวในร่างกายโดยรวมมีมากกว่าปกติ ดังนั้นปริมาตรเลือดที่หัวใจจะต้องสูบฉีด (Cardiac Output) จึงมากขึ้นตามไปด้วย หัวใจจึงต้องใช้แรงในการบีบตัวเพื่อส่งเลือดไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกายมากขึ้น จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พบภาวะความดันโลหิตสูงขึ้นได้

ในผู้ที่บริโภคอาหารที่มีโซเดียมสูงเป็นประจำและมีความผิดปกติของหลอดเลือดร่วมด้วย เช่น หลอดเลือดแดงแข็งจากการมีไขมันอุดตัน ผนังหลอดเลือดหนาตัวจากการมีอายุที่เพิ่มขึ้น ย่อมส่งผลต่อการทำงานของหลอดเลือดที่เปลี่ยนแปลงไปโดยหลอดเลือดจะไม่สามารถหดหรือขยายตัวเพื่อตอบสนองต่อแรงดันที่มากระทบได้ตามปกติ จึงอาจพบระดับความดันโลหิตที่สูงมากในคนกลุ่มนี้

กลไกของโซเดียมกับการเกิดภาวะความดันโลหิตสูง

อาหารที่มีโซเดียม ได้แก่

  • อาหารที่มาจากธรรมชาติ โดยที่โซเดียมนั้นมีอยู่ในอาหารตามธรรมชาติแทบทุกชนิด โดยเฉพาะอาหารที่มาจากเนื้อสัตว์ต่างๆ จะมีโซเดียมสูง ส่วนอาหารธรรมชาติที่มีโซเดียมต่ำ ได้แก่ ผลไม้ทุกชนิด ผัก ธัญพืช และถั่วเมล็ดแห้ง
  • อาหารแปรรูปหรือวิธีการถนอมอาหาร ได้แก่ อาหารกระป๋องทุกชนิด อาหารหมักดอง อาหารเค็ม อาหารตากแห้ง เนื้อเค็ม ปลาเค็ม ปลาร้า ผักดอง ผลไม้ดอง กุนเชียง หมูยอ
  • เครื่องปรุงรสชนิดต่างๆ เช่น เกลือ ซอสปรุงรสที่มีรสเค็ม (เช่น ซีอิ๊วขาว เต้าเจี้ยว น้ำบูดู กะปิ ปลาร้า ปลาเจ่า เต้าหู้ยี้ รวมทั้งซอสหอยนางรม) ซอสปรุงรสที่ไม่มีรสเค็มหรือเค็มน้อย (เช่น ซอสมะเขือเทศ ซอสพริก น้ำจิ้มต่างๆ ที่มีรสเปรี้ยวๆ หวานๆ ซอสเหล่านี้แม้จะมีโซเดียมปริมาณไม่มากเท่าน้ำปลา แต่ผู้ที่ต้องจำกัดโซเดียมและผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจก็ต้องระวังไม่กินมากเกินไป)
  • ผงชูรส แม้เป็นสารปรุงรสที่ไม่มีรสเค็ม แต่ก็มีโซเดียมเป็นส่วนประกอบ
  • อาหารกระป๋องต่างๆ
  • อาหารกึ่งสำเร็จรูป เช่น บะหมี่ โจ๊ก ข้าวต้ม ซุปต่างๆ ทั้งชนิดก้อนและชนิดซอง
  • ขนมต่างๆ ที่มีการเติมผงฟู (Baking Powder หรือ Baking Soda) เช่น เค้ก คุกกี้ แพนเค้ก ขนมปัง
  • น้ำและเครื่องดื่ม น้ำฝนเป็นน้ำที่ปราศจากโซเดียม แต่น้ำบาดาล น้ำแร่และน้ำประปามีโซเดียมปนอยู่บ้าง
  • เครื่องดื่มเกลือแร่

กลไกของโซเดียมกับการเกิดภาวะความดันโลหิตสูง

เอกสารอ้างอิง

  1. สมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย. โรคความดันโลหิตสูง [อินเทอร์เน็ต]. [เข้าถึงเมื่อ 20 ธ.ค. 2564]. เข้าถึงได้จาก: http://www.thaihypertension.org/information.html.
  2. World Health Organization. Hypertension [Internet]. 2021 [cited 2022 May 4]. Available from: https://www.who.int/health-topics/hypertension#tab=tab_1.
  3. World Health Organization. Hypertension [Internet]. 2019 [cited 2022 May 4]. Available from: https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/hypertension.
  4. วิชัย เอกพลากร, หทัยชนก พรรคเจริญ, วราภรณ์ เสถียรนพเก้า. การสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกายครั้งที่ 6 พ.ศ. 2562-2563. กรุงเทพฯ: อักษรกราฟฟิคแอนด์ดีไซน์; 2564.
  5. วิชัย เอกพลากร, หทัยชนก พรรคเจริญ, กนิษฐา ไทยกล้า, วราภรณ์ เสถียรนพเก้า. การสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกายครั้งที่ 5 พ.ศ. 2557. นนทบุรี: อักษรกราฟฟิคแอนด์ดีไซน์; 2559.
  6. สมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย. แนวทางการรักษาโรคความดันโลหิตสูงในเวชปฏิบัติทั่วไป พ.ศ. 2562. กรุงเทพฯ: สมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย; 2562.
  7. Weinberger MH. Salt sensitivity of blood pressure in humans. Hypertension. 1996;27:481-90.
  8. Strazzullo P, D’Elia L, Kandala NB, Cappuccio FP. Salt intake, stroke, and cardiovascular disease: meta-analysis of prospective studies. BMJ. 2009;339:b4567.
  9. Balafa O, Kalaitzidis RG. Salt sensitivity and hypertension. J Hum Hypertens. 2021;35:184–92.
  10. วันทนีย์ เกรียงสินยศ. ลดโซเดียม ยืดชีวิต. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ในพระบรมราชูปถัมภ์; 2555.
  11. ชุดความรู้ การบริโภคไม่ได้สัดส่วน เค็มเกิน สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข http://www.thaincd.com


Tag: Food for life, อาหารโซเดียมสูง

เรื่องโดย

ความคิดเห็น

Editor’s Pick

Recent

Most Viewed