แบลล์-นราวดี วีรีรัตน์ หุ้นส่วนร้าน DUU (ดุ๊) ชูไอเดียเก๋จากน้ำตาลโตนดเมืองเพชรบุรี

วันที่ 20 พฤษภาคม 2565  1,774 Views
นิตยสาร Gourmet & Cuisine ฉบับที่ 262 เดือนพฤษภาคม 2565

ทุกครั้งที่ผ่านไปจังหวัดเพชรบุรี ของฝากเลื่องชื่อที่เราต้องถือติดมือกลับมาด้วยทุกครั้งคงหนีไม่พ้นขนมหวานและน้ำตาลโตนดที่วางขายอยู่ทั่วไป เพราะเป็นพื้นที่ที่ปลูกต้นตาลมากที่สุดในประเทศ จึงถูกนำมาทำขนมหวานที่เรียกว่าเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดเลยก็ว่าได้ แต่เราแทบไม่เห็นใครนำวัตถุดิบจากต้นตาลมาครีเอตเมนูได้น่าสนใจและชวนกินเหมือนร้านนี้

DUU (ดุ๊) ชื่อร้านสั้นๆ ที่ชวนให้ตั้งคำถาม ซึ่งคุณแบลล์-นราวดี วีรีรัตน์ สาวเมืองเพชรฯ หนึ่งในหุ้นส่วนร้านที่เติบโตมากับขนมหวานได้คลายความสงสัยถึงที่มาของชื่อนี้ว่า มาจากคำสร้อยหรือคำต่อท้ายประโยคของคนเพชรบุรี เช่น ขอกินหน่อยดุ๊ หยิบให้หน่อยดุ๊ เป็นต้น จึงคิดว่าคำนี้น่าจะสื่อตัวตนของร้านได้ดีที่สุด เช่นเดียวกับเมนูขนมผสมเครื่องดื่มที่ชูวัตถุดิบหลักจากต้นตาล

แบลล์-นราวดี วีรีรัตน์ หุ้นส่วนร้าน DUU (ดุ๊) ชูไอเดียเก๋จากน้ำตาลโตนดเมืองเพชรบุรี

“แบลล์คุ้นเคยกับขนมหวานมาตั้งแต่เด็ก แต่ส่วนใหญ่จะเป็นขนมเดิมๆ เราเลยอยากให้คนทั่วไปรู้จักตาลโตนดมากกว่าการเป็นส่วนผสมของขนมหม้อแกง จึงคิดว่าน่าจะนำตาลโตนดไปครีเอตเป็นเมนูอื่นๆ ได้อีกมาก ประกอบกับเราเห็นเทรนด์ชานมไข่มุกแล้วรู้สึกอยากให้คนหันมาดื่มน้ำตาลโตนดที่มีรสชาติอร่อย ความหวานจากธรรมชาติที่ดีต่อสุขภาพ แบลล์จึงชวนเพื่อนสนิทมาร่วมโปรเจ็กต์ เพราะเราไม่ได้เชี่ยวชาญธุรกิจ มีหลายคนก็มีหลายไอเดีย เมนูแรกที่คิดคือลอดช่องน้ำตาลโตนดใส่เครื่อง ซึ่งจริงๆ ก็เป็นเมนูที่มีขายทั่วไป แบลล์มองว่าเหมือนดื่มชานมไข่มุก เพราะมีท็อปปิงให้เลือกด้วย แต่การจะสร้างความแตกต่างเราต้องครีเอตให้มากกว่านั้น ซึ่งเรื่องนี้เราต้องอาศัยเชฟมืออาชีพเข้ามาช่วย

แบลล์-นราวดี วีรีรัตน์ หุ้นส่วนร้าน DUU (ดุ๊) ชูไอเดียเก๋จากน้ำตาลโตนดเมืองเพชรบุรี

“เราให้โจทย์เชฟว่าอยากให้ลูกค้ากินแล้วยังได้กลิ่นหอมของตาลโตนดอบอวลอยู่ในปาก เชฟจึงคิดค้น ‘เจลลีตาลโตนด’ ที่มีคุณสมบัติกักเก็บกลิ่นไว้ได้นาน เมื่อลูกค้ากินก็จะได้ครบทั้งกลิ่นและรสชาติของน้ำตาลโตนดแท้ๆ ยังมี ‘ลูกตาลเชื่อม’ ที่เนื้อหนึบหนับอร่อยไม่เหมือนใคร เชฟใช้วิธีเชื่อมลูกตาลในน้ำตาลโตนด เคี่ยวด้วยไฟอ่อนเพื่อให้น้ำตาลซึมเข้าไปในเนื้อลูกตาล แล้วนำมาเผาไฟเพื่อดึงกลิ่นและรสชาติจากน้ำตาลโตนดออกมาให้มากที่สุด เวลาเสิร์ฟจะเสียบไม้หน้าตาจึงคล้ายดังโงะของญี่ปุ่น ทั้ง 2 อย่างนี้จะอยู่ในทุกเมนูของร้าน อาทิ ดุ๊ ซึ่งเป็นทั้งชื่อร้านแล้วยังเป็นชื่อ Signature Menu แก้วนี้ยกขบวนท็อปปิงทั้งหมดที่มีในร้านมาไว้ในแก้วเดียว และพานนาคอตตาตาลโตนด เนื้อเนียนรสหวานกำลังดี รับรองถูกปากจนอยากสั่งเพิ่ม”

แบลล์-นราวดี วีรีรัตน์ หุ้นส่วนร้าน DUU (ดุ๊) ชูไอเดียเก๋จากน้ำตาลโตนดเมืองเพชรบุรี

ด้วยคอนเซ็ปต์หลักของร้านที่ไม่เพียงต้องการยกระดับวัตถุดิบในท้องถิ่น แต่ยังต้องการนำเสนอเอกลักษณ์ไทยผ่านการตกแต่งดีไซน์ร่วมสมัย “เริ่มตั้งแต่โลโก้ชื่อร้านที่มีทั้งภาษาไทยและอังกฤษเพื่อให้คนไทยและคนต่างชาติอ่านออกเสียงตรงกัน มีการนำลวดลายกนกมาใช้ เช่นเดียวกับการเลือกสีไทยโทน (Thaitone) ที่มีความอ่อนหวานละมุนตาเป็นธรรมชาติ”

ไม่เพียงชูไอเดียเก๋จากวัตถุดิบพื้นบ้าน “ดุ๊” ยังมีไอเดียดีๆ ที่อยากเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ในร้านจึงพยายามเลือกใช้ภาชนะที่ย่อยสลายได้ให้มากที่สุด หรือสามารถหมุนเวียนกลับมาใช้ได้ใหม่ “ตอนนี้เราเพิ่งเริ่มต้น แต่ในอนาคตเราจะพยายามทำให้ได้ทั้งหมด” คุณแบลล์บอกด้วยรอยยิ้ม

แบลล์-นราวดี วีรีรัตน์ หุ้นส่วนร้าน DUU (ดุ๊) ชูไอเดียเก๋จากน้ำตาลโตนดเมืองเพชรบุรี

ใครอยากอุดหนุน “ดุ๊” แวะไปได้ที่ศูนย์การค้าดิ เอ็มควอเทียร์ โซน EmQuartier Food Hall ชั้น B หรือสั่งเดลิเวอรีผ่านแอปพลิเคชัน GrabFood และ LINE MAN ก็ได้ ในเร็วๆ นี้เรายังจะได้พบกับ “ดุ๊” บ่อยขึ้นในงานอีเวนต์ต่างๆ ซึ่งเป็นช่องทางในการประชาสัมพันธ์ให้ลูกค้ารู้จักร้านมากขึ้น

เราเชื่อว่าใครที่ได้ชิมเมนูของร้านสักครั้งจะติดใจในรสชาติความหวาน หอม กลมกล่อม ที่ไม่เพียงถูกปากโดนใจ เหนือสิ่งอื่นใดยังเป็นรสชาติในความทรงจำที่เราผ่านไปจังหวัดเพชรบุรีทุกครั้งเป็นต้องได้ซื้อน้ำตาลโตนดมากิน


Tag: Interview

เรื่องโดย

ความคิดเห็น

Editor’s Pick

Recent

Most Viewed