ความเครียดหรือความวิตกกังวลเกิดจากสิ่งที่มากระตุ้นร่างกายให้เกิดการปรับตัว เมื่อเรามีความคิดหรืออารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปในชั่วขณะหนึ่ง จะส่งผลต่อการหดตัวของกล้ามเนื้อเพื่อกระตุ้นให้มีการตอบสนองทางร่างกาย หากเราไม่สามารถปรับตัวไปตามความคิดหรืออารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปจะทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “ความเครียด” นั่นเอง
ความเครียดแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ 1. ความเครียดแบบเฉียบพลัน (Acute Stress) ที่มักเกิดขึ้นเมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่กดดันและเป็นสถานการณ์ที่เฉพาะเจาะจง ซึ่งเมื่อผ่านสถานการณ์นี้ไปความเครียดก็จะหายไปเช่นกัน เช่น การทำงานให้เสร็จตามกำหนดเวลา การเผชิญหน้ากับอันตรายหรือความท้าทาย การสูญเสียคนในครอบครัวอย่างกะทันหัน 2. ความเครียดแบบเรื้อรัง (Chronic Stress) เป็นความเครียดที่ส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต ซึ่งเกิดขึ้นจากการที่มีความวิตกกังวลอย่างต่อเนื่อง ไม่สามารถขจัดปัญหาหรือสิ่งที่ทำให้เกิดความเครียดนี้ได้ในทันที จึงสะสมเป็นระยะเวลานานจนเกิดเป็นความเครียดเรื้อรัง
สาเหตุของการเกิดความเครียดอาจเกิดจากปัจจัยทางด้านร่างกายที่เกี่ยวข้องกับภาวะสุขภาพ การเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ หรือการที่ร่างกายไม่ได้รับการพักผ่อนอย่างเพียงพอ ปัจจัยทางด้านจิตใจก็มีส่วนสำคัญที่ส่งผลให้เกิดความเครียดได้ง่าย เช่น ในผู้ที่มีระเบียบวินัย มีความรับผิดชอบ และเข้มงวดกับการทำงาน เมื่อผลงานออกมาไม่เป็นไปตามที่คาดหวังมักจะวิตกกังวล นอกจากนี้ปัจจัยทางด้านสังคมก็มีสิ่งที่สามารถกระตุ้นให้เกิดความเครียดได้จากการที่ต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ๆ หรือสร้างสัมพันธภาพกับคนกลุ่มใหม่ เป็นต้น
ดังนั้นเราจะต้องประเมินตนเองและมีวิธีในการรับมือกับความเครียด ขั้นตอนแรกคือการยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นและการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่อาจตามมาในภายหลัง การออกกำลังกายหรือหางานอดิเรกทำกับเพื่อนและครอบครัว หาที่ปรึกษาหรือคนที่เราไว้ใจที่จะสามารถพูดคุย บอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ให้ฟังได้ และทางเลือกสุดท้ายคือการใช้ยาคลายเครียด ซึ่งการใช้ยาถึงแม้จะช่วยลดความเครียดได้ แต่เมื่อใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลาหนึ่งก็จะต้องเพิ่มปริมาณการใช้ที่มากขึ้นจึงจะได้ผล
ยิ่งไปกว่านั้นความเครียดเหล่านี้จะก่อให้เกิดอนุมูลอิสระภายในร่างกายจำนวนมาก ร่างกายขาดความสมดุลระหว่างอนุมูลอิสระกับสารต้านอนุมูลอิสระจนเกิดภาวะที่เรียกว่า “ภาวะเครียดออกซิเดชัน (Oxidative Stress)” ส่งผลให้เซลล์ต่างๆ เกิดการอักเสบ เสียหาย ถูกทำลาย ในกรณีที่เซลล์อักเสบเรื้อรังเป็นเวลานานอาจก่อให้เกิดโรคร้ายแรงได้
การบริโภคอาหารที่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น ผักผลไม้ 5 สี พืชสมุนไพร และธัญพืชจะช่วยปรับสมดุลให้กับร่างกายได้ สารสำคัญที่ทำหน้าที่ต้านอนุมูลอิสระนอกจากสารที่ให้สีในผักผลไม้แล้ว ยังรวมไปถึงวิตามินและแร่ธาตุอีกด้วย
อิโนซิทอล (Inositol) จัดอยู่ในกลุ่มของวิตามินบี มีโครงสร้างที่หลากหลายกว่า 64 รูปแบบ ซึ่งพบในรูปของไมโอ-อิโนซิทอล (Myo-Inositol) ได้มากที่สุด รองลงมาคือไคโร-อิโนซิทอล (Chiro-Inositol) พบได้ตามธรรมชาติในอาหารหลายชนิด เช่น พืช ธัญพืชเต็มเมล็ด ผลไม้ และพบได้ในเนื้อเยื่อของสัตว์ทุกชนิด (ส่วนที่พบอิโนซิทอลมากที่สุดคือสมองและหัวใจ) นอกจากนี้ยังอยู่ในรูปแบบของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอีกด้วย
อิโนซิทอลมีความเกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตของเซลล์ การส่งสัญญาณของเซลล์โดยเชื่อมโยงกับตัวรับสารสื่อประสาทต่างๆ เช่น โดปามีน (Dopamine) เซโรโทนิน (Serotonin) และกลูตาเมต (Glutamate) และยังสามารถตอบสนองต่อความเครียด ปรับสมดุลของสารเคมีในสมอง และทำให้นอนหลับได้ดีขึ้น
การนอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอจะช่วยให้สมองได้พักจากความเหนื่อยล้า จึงช่วยลดความเครียดได้ นอกจากนี้ยังมีการนำอิโนซิทอลมาใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการทางจิต เช่น ผู้ที่มีความวิตกกังวล ผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า เนื่องจากการศึกษาของ Shirayama และคณะพบว่าในผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีปริมาณของอิโนซิทอลในเยื่อหุ้มสมองส่วนหน้าและสมองส่วนฮิปโปแคมปัสลดลงเมื่อเทียบกับคนทั่วไป อีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ปริมาณอิโนซิทอลในสมองลดลงส่วนหนึ่งมาจากกรดวาลโปรอิก (Valproic Acid) ที่ไปยับยั้งเอนไซม์สำคัญในกระบวนการสังเคราะห์ไมโอ-อิโนซิทอลในสมอง แสดงให้เห็นว่าปริมาณอิโนซิทอลในสมองมีผลต่ออารมณ์และความรู้สึก
สำหรับคนที่มีความเครียด ความวิตกกังวลอยู่เป็นประจำ หากไม่สามารถขจัดความเครียดเหล่านี้ได้แม้จะได้พูดคุยหรือปรึกษากับคนรอบตัวแล้วก็ตาม ควรปรึกษาจิตแพทย์ เพราะในบางรายอาจพบความผิดปกติของสารเคมีในสมองที่เมื่อไม่ได้รับยาหรือการรักษาที่ถูกต้องจากแพทย์ ก็จะไม่สามารถจัดการกับอารมณ์และความรู้สึกที่เป็นอยู่ได้
เอกสารอ้างอิง
- สุรพงศ์ อำพันวงษ์. อีกหนึ่งมุมมองของความเครียด [อินเทอร์เน็ต]. [เข้าถึงเมื่อ 2 เม.ย. 2565]. เข้าถึงได้จาก: https://www.dmh.go.th/sty_lib/news/depression/view.asp?id=79.
- สุดสบาย จุลกทัพพะ. ความเครียด [อินเทอร์เน็ต]. [เข้าถึงเมื่อ 2 เม.ย. 2565]. เข้าถึงได้จาก: https://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=50.
- Dinicola S, Minini M, Unfer V, Verna R, Cucina A, Bizzarri M. Nutritional and acquired deficiencies in inositol bioavailability. Correlations with metabolic disorders. Int J Mol Sci. 2017;18:2187.
- Ehlers A, Marakis G, Lamperi A, Hirsch-Ernst KI. Risk assessment of energy drinks with focus on cardiovascular parameters and energy drink consumption in Europe. Food Chem Toxicol. 2019;130:109-21.
- Ruiz-Aceituno L, Rodriguez-Sanches S, Sanza J, Sanz ML, Ramos L. Optimization of pressurized liquid extraction of inositols from pine nuts (Pinus pinea L.). Food Chem. 2014;153:450-6.
- Li Y, Han P, Wang J, Shi T, You C. Production of myo-inositol: recent advances and prospective. Biotechnol Appl Biochem. 2021.
- Siracusa L, Napoli E, Napoli G. Novel chemical and biological insights of inositol derivatives in mediterranean plants. Molecules. 2022;27:1525.
- Benjamin J, Agam G, Levine J, Bersudsky Y, Kofman O, Belmaker RH. Inositol treatment in psychiatry. Psychopharmacol Bull 1995;31:167-75.
- Camfield DA, Sarris J, Berk M. Nutraceuticals in the treatment of obsessive-compulsive disorder (OCD): a review of mechanistic and clinical evidence. Prog Neuropsychopharmacol Biol Psychiatry 2011;35: 887–95.
- Shirayama Y, Takahashi M, Osone F, Hara A, Okubo T. Myo-inositol, glutamate, and glutamine in the prefrontal cortex, hippocampus, and amygdala in major depression. Biol Psychiatry Cogn Neurosci Neuroimaging. 2017;2(2):196–204.
- Saltiel G, Shamir A, Shapiro J, Ding D, Dalton E, Bialer M, et al. Valproate decreases inositol biosynthesis. Biol Psychiatry. 2004;56:868-74.
Tag:
Food for life, ภาวะความเครียด
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น