ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะเป็นเมืองร้อน แต่หลักฐานที่บ่งบอกถึงต้นกำเนิดของไอศกรีมในประเทศไทยนั้นย้อนเวลากลับในสมัยรัชกาลที่ 4 ในช่วงประมาณปี พ.ศ. 2400 ซึ่งตรงกับช่วง ค.ศ. 1857 ณ ขณะนั้นคนสยามเพิ่งได้รู้จักกับ “น้ำแข็ง” เป็นครั้งแรกโดยนำเข้าจากสิงคโปร์ นับเป็นของแปลกและหายากเพราะในเวลานั้นยังไม่มีเครื่องทำน้ำแข็งแต่อย่างใด เมื่อเข้าสู่สมัยรัชกาลที่ 5 สยามเริ่มรับอิทธิพลจากตะวันตกเข้ามามาก รวมถึงไอศกรีมด้วย แต่ในช่วงเวลานั้นไอศกรีมยังมีราคาสูงมาก เพราะต้องใช้นมและครีมนำเข้าจากต่างประเทศ ทั้งความแปลกและราคาที่แพงจนคนธรรมดาไม่สามารถจับต้องได้ ไอศกรีมในสมัยนั้นจึงเป็นอาหารที่อยู่แต่ในรั้วในวัง
ไอติมกะทิ
จนเมื่อสยามเริ่มมีโรงงานน้ำแข็งขนาดใหญ่ในช่วงปี พ.ศ. 2448 หรือราวๆ ค.ศ.1905 ไอศกรีมจึงเริ่มเป็นที่แพร่หลายมากขึ้น จากนั้นชาวบ้านมีการปรับปรุงสูตรใหม่โดยนำ “กะทิ” มาใช้ทดแทนนมและครีม ไอติมกะทิแบบเริ่มแรกจึงมีลักษณะเป็นเกล็ดน้ำแข็ง และเริ่มมีการพัฒนาโดยนำกะทิไปปั่นผสมกับน้ำตาลและน้ำแข็ง จนได้เนื้อไอศกรีมที่ละเอียดขึ้น กินคู่กับเครื่องเคียงหลากหลายอย่าง เช่น ลูกชิด ลอดช่อง ขนุนฉีก มันเชื่อม โรยหน้าด้วยถั่วลิสง
ร้านเมฆไอศครีมเป็นร้านไอศกรีมในตำนานแห่งเมืองชลบุรีที่ยังคงมุ่งมั่นไปกับการขายไอติมกะทิโบราณแบบไทย ปัจจุบันนี้สืบทอดมาจนถึงทายาทรุ่นที่ 3 คุณไอติม-ชวินโรจน์ สุทธิธรรมชนะ ยังคงสืบทอดการทำไอติมกะทิแบบไทย ถึงแม้ว่าเรื่องความเหนียวนุ่มจะสู้ไอศกรีมที่ทำจากนมหรือครีมไม่ได้ แต่เอกลักษณ์ที่โดดเด่นกว่าใครนั้นอยู่ที่ความหอมเข้มข้นจากมะพร้าว
การใช้วัตถุดิบจากท้องถิ่นทั่วประเทศไทยเป็นหัวใจสำคัญของเมฆไอศครีมในทุกวันนี้ ด้วยกะทิเข้มข้นที่ได้จากมะพร้าวพันธุ์ทับสะแก ประจวบคีรีขันธ์ เพิ่มความหวานด้วยน้ำตาลอ้อยจากสระบุรี เพิ่มเติมรสชาติต่างๆ เข้าไป เช่น รสข้าวหลามหนองมน รสกะทิไข่แข็ง รสขนมตาล รสช็อกโกแลตชุมพร รสกาแฟโครงการหลวง รสฝอยทอง รสอัญชันมะนาว ไปจนถึงรสผลไม้อย่างรสกล้วยตาก รสทุเรียน รสบ๊วย และรสมะม่วงกะทิสด ทำให้ไอติมกะทิแบบไทยๆ มีความน่าสนใจมากขึ้นกว่าเดิม ทั้งหมดนี้ไม่ใช่แค่การสร้างสรรค์ความแปลกใหม่ให้กับร้านไอศกรีมของตัวเองเท่านั้น แต่ยังเป็นการช่วยเหลือเกื้อกูลกันตั้งแต่ต้นน้ำสู่ปลายน้ำ อุ้มชูเกษตรกรและผู้ผลิตในประเทศให้มีความอยู่ดีกินดีไปพร้อมๆ กัน
ไอติมแท่ง
ว่ากันว่าไอติมหลอดที่เราเห็นตามตลาดนัด อยู่ภายในถังขนาดใหญ่ ด้านในเจาะเป็นรูสำหรับเสียบกระบอกโลหะขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 เซนติเมตร มีประวัติความเป็นมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 7 กระบอกเล็กๆ เหล่านั้นทำหน้าที่เป็นแม่พิมพ์ไอติมหลอดแบบง่ายๆ เพียงแค่ใส่น้ำหวานเข้าไป และแกว่งในถังบรรจุน้ำแข็งไปเรื่อยๆ จนน้ำหวานเริ่มแข็งตัวแล้วเสียบไม้ และไอศกรีมในรูปแบบแท่งของไทยก็พัฒนามาเป็น ไอติมตัดที่มีนมเป็นส่วนผสม มาในรูปแบบของก้อนไอศกรีมขนาดใหญ่ ตัดแบ่งเป็นแท่งสี่เหลี่ยมแล้วค่อยเสียบไม้ สีสันกับรสชาติที่พบเห็นได้บ่อยที่สุดคือ สีชมพูรสนมเย็น สีเหลืองรสทุเรียน และสีเขียวรสใบเตย
ไม่ว่าจะเป็นเจลาโต ไอศกรีม หรือไอติมแบบไทยๆ รสชาติหวานในปากและความเย็นชื่นใจนี้ก็ได้กลายเป็นที่รักของคนทั่วโลกอย่างไร้พรมแดนและไร้ซึ่งกาลเวลา
Tag:
Cover story, ไอศกรีม
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น