แคลเซียม เป็นแร่ธาตุที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากร่างกายไม่สามารถสังเคราะห์แร่ธาตุชนิดนี้ได้ ร่างกายจึงได้รับแคลเซียมจากการบริโภคอาหารเท่านั้น
แคลเซียมกว่าร้อยละ 98 ที่พบในร่างกายเป็นส่วนประกอบของกระดูกและฟัน โดยแคลเซียมทำหน้าที่เสริมสร้างความแข็งแรงให้อวัยวะดังกล่าว นอกจากนี้ยังช่วยส่งสัญญาณระหว่างเซลล์ไปยังเนื้อเยื่อทั่วร่างกายทำให้เกิดการหดและขยายตัวของกล้ามเนื้อ เกี่ยวข้องกับการหลั่งฮอร์โมน และทำหน้าที่ส่งสัญญาณให้กับเซลล์ประสาท โดยทั่วไปแล้วร่างกายจะมีการควบคุมสมดุลของแร่ธาตุในเลือด

ในสภาวะที่ปริมาณแคลเซียมในเลือดต่ำจะกระตุ้นให้เกิดการหลั่งฮอร์โมนพาราไทรอยด์ กระตุ้นการทำงานของระบบภายในร่างกายที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมสมดุลแคลเซียมในเลือด ดังนี้
- ไต เพิ่มการดูดกลับแคลเซียมมากขึ้น และกระตุ้นให้เกิดการสร้าง Active Vitamin D ส่งผลให้ระบบทางเดินอาหารดูดซึมแคลเซียมมากขึ้น
- กระดูก เพิ่มการสลายกระดูกเพื่อให้แคลเซียมที่ถูกสะสมอยู่ภายในถูกปลดปล่อยออกมาสู่กระแสเลือด จึงเพิ่มระดับแคลเซียมในเลือดทำให้กลับเข้าสู่สภาวะสมดุลได้
ความต้องการแคลเซียมของแต่ละบุคคลมีความแตกต่างกันออกไปตามช่วงอายุ เมื่ออ้างอิงจากปริมาณสารอาหารการอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย (Dietary Reference Intake; DRI) พ.ศ. 2563 เป็นดังนี้

นมและผลิตภัณฑ์จากนมเป็นแหล่งของอาหารที่มีแคลเซียมสูง และแคลเซียมในนมยังสามารถดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายอีกด้วย นอกจากนี้ยังพบแคลเซียมสูงในอาหารจำพวกสัตว์ตัวเล็กที่บริโภคทั้งตัว เช่น ปลาตัวเล็กตัวน้อย กุ้งแห้ง ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง เช่น เต้าหู้ และผักใบเขียวบางชนิด เช่น กวางตุ้ง ตำลึง คะน้า

ในกรณีที่ร่างกายได้รับแคลเซียมจากการบริโภคอาหารไม่เพียงพอ และร่างกายเสียสมดุลในการควบคุมระดับแคลเซียมในเลือด จะส่งผลต่อการเกิดโรคกระดูกพรุน และโรคกระดูกอ่อน ในปัจจุบันจึงมีผลิตภัณฑ์ยาเม็ดเสริมแคลเซียมวางจำหน่ายหลากหลายรูปแบบ ทั้งในรูปแบบยาเม็ดแข็ง ยาแคปซูล และยาเม็ดฟู่ ซึ่งแต่ละชนิดจะมีปริมาณแคลเซียมที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับชนิดของเกลือแคลเซียม

แคลเซียมแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ
- แคลเซียมอนินทรีย์ ได้แก่ Calcium Carbonate และ Calcium Chloride
- แคลเซียมอินทรีย์ ได้แก่ Calcium Phosphate, Calcium Citrate, Calcium Lactate, Bio-Calcium, Calcium Chelate และ Calcium L-Threonate
โดยผลิตภัณฑ์เสริมแคลเซียมส่วนใหญ่ที่วางจำหน่ายในปัจจุบันเป็นแคลเซียมในรูปของ Calcium Carbonate ที่ให้แคลเซียมเพียงร้อยละ 40 นั่นหมายความว่าในผู้ใหญ่อายุ 19-50 ปี ที่ต้องการแคลเซียมวันละ 800 มิลลิกรัม จะต้องบริโภค Calcium Carbonate 2,000 มิลลิกรัม จึงจะได้ปริมาณแคลเซียมครบตามที่ร่างกายต้องการ

แต่ Calcium L-Threonate เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการพัฒนาเพื่อใช้สำหรับการรักษาโรคกระดูกพรุนโดยเฉพาะ เนื่องจากประกอบไปด้วยแคลเซียมและกรด L-Threonic ที่กระตุ้นให้เกิดการออกฤทธิ์ของวิตามินซีทำให้เพิ่มการสังเคราะห์คอลลาเจน จึงมีส่วนช่วยในการกระตุ้นเซลล์สร้างกระดูกให้มีการสร้างกระดูกมากขึ้น ซึ่งคุณสมบัตินี้พบในผลิตภัณฑ์เสริมแคลเซียมชนิด Calcium L-Threonate เท่านั้น อีกทั้งยังสามารถดูดซึมเข้าสู่ร่างกายผ่านการดูดซึมระหว่างเซลล์โดยไม่ต้องอาศัยวิตามินดีเป็นตัวนำเหมือนแคลเซียมรูปแบบอื่นๆ

เมื่อบริโภค Calcium L-Threonate พร้อมกับอาหารจะช่วยเสริมให้ร่างกายดูดซึมได้มากขึ้น และเนื่องจากเป็นแคลเซียมชนิดที่ดูดซึมง่ายจึงไม่ก่อให้เกิดสารตกค้างในร่างกาย
ทั้งนี้หากต้องการบริโภคผลิตภัณฑ์เสริมแคลเซียม ผู้บริโภคควรปรึกษาแพทย์ นักกำหนดอาหาร หรือเภสัชกร เพื่อเข้ารับคำแนะนำในการเลือกบริโภคต่อไป
แหล่งข้อมูล
- พิชญ์ภิญญาณ์ แก้วปานันท์. แคลเซียม .. สาระน่ารู้ [อินเทอร์เน็ต]. [เข้าถึงเมื่อ 27 ก.พ. 2565]. เข้าถึงได้จาก: https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/235/แคลเซียม-สาระน่ารู้/.
- สินี ดิษฐบรรจง. ภาวะแคลเซียมสูงในเลือด (Hypercalcemia) [อินเทอร์เน็ต]. [เข้าถึงเมื่อ 27 ก.พ. 2565]. เข้าถึงได้จาก: https://www.rama.mahidol.ac.th/med/sites/default/files/public/pdf/medicinebook1/Hypercalcemia.pdf
- สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. ปริมาณสารอาหารอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย พ.ศ. 2563. กรุงเทพฯ: เอ.วี. โปรเกรสซีฟ; 2563.
- Marie PJ, Pettifor JM, Ross FP, Glorieux FH: Histological osteomalacia due to dietary calcium deficiency in children. N Engl J Med 1982;307:584-8.
- Hunt CD, Johnson LAK: Calcium requirements: new estimations for men and women by cross-sectional statistical analyses of calcium balance data from metabolic studies. Am J Clin Nutr 2007;86:1054-63.
- Hasling C, Charles P, Jensen FTJ, Mosekilde L: Calcium metabolism in postmenopausal osteoporosis: the influence of dietary calcium and net absorbed calcium. J Bone Miner Res 1990;5:939-46.
- Wang HY, Hu P, Jiang J. Pharmacokinetics and safety of calcium L-threonate in healthy volunteers after single and multiple oral administrations. Acta Pharmacol Sin 2011;32:1555-60.
Tag:
Food for life
ความคิดเห็น