พาชม 10 จุดเช็กอิน "หัวลำโพง"

วันที่ 5 เมษายน 2565  3,521 Views
นิตยสาร Gourmet & Cuisine ฉบับที่ 261 เดือนเมษายน 2565

เรื่อง/ภาพ : Sydney

นับเป็นระยะเวลาถึง 105 ปีเต็ม ที่ หัวลำโพง หรือ สถานีกรุงเทพ ได้ทำหน้าที่เป็นชานชาลาศูนย์กลางรับส่งคนไทยและนักท่องเที่ยวผ่านระบบรางที่โยงใยอยู่ทั่วประเทศ ในวันนี้หน้าที่ดังกล่าวกำลังจะย้ายไปยังสถานีกลางแห่งใหม่ และหัวลำโพงก็คงจะกลายเป็นพื้นที่ของวันวานอย่างเต็มรูปแบบในไม่ช้า

โรงแรมราชธานี

เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2564 และต้นเดือนมกราคม 2565 ที่ผ่านมา หัวลำโพงยังคงคึกคักด้วยผู้คน ยังมีรถไฟบางเส้นทางที่ยังคงใช้สถานที่แห่งนี้เป็นทั้งจุดเริ่มต้นและจุดหมายปลายทาง และอีกสาเหตุหนึ่งคือ การจัดกิจกรรม Hua Lamphong In Your Eyes เรียนรู้ 10 จุดสำคัญทางประวัติศาสตร์ ผ่านความงาม วิจิตรศิลป์ และสถาปัตยกรรม และถึงแม้งานนี้จะจบไปแล้ว แต่ใครก็ตามที่มีโอกาสได้ไปเยือนหัวลำโพงหลังจากนี้ก็ยังสามารถแวะไปเยี่ยมชมได้แทบทุกจุด

โรงแรมราชธานี

โรงแรมราชธานี

ตัวผู้เขียนเองมีความทรงจำกับรถไฟมาตั้งแต่ยังเด็ก จวบจนเดินทางไปไหนมาไหนด้วยตัวคนเดียวได้ ก็ยังใช้บริการรถไฟอยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นรถไฟชั้น 3 ชั้น 2 หรือชั้น 1 การได้มาเยือนหัวลำโพงในช่วงระยะเวลาของนิทรรศการ Hua Lamphong In Your Eyes เลยกลายเป็นไทม์แมชชีนย้อนเวลา ชวนให้หวนคิดถึงความทรงจำระหว่างการเดินทางไปกับรถไฟหลายต่อหลายครั้งในช่วงชีวิตที่ผ่านมา

ย้อนรอยหัวลำโพง

ย้อนรอยหัวลำโพง

10 จุดเช็กอินห้ามพลาดที่เป็นไฮไลต์หลักของงานนี้ กระจัดกระจายอยู่รอบบริเวณสถานี การเริ่มต้นเดินทางที่ดีที่สุดก็ต้องมาให้ถึง “โถงกลางสถานีกรุงเทพ” เสียก่อน ความยิ่งใหญ่ที่ได้กลิ่นอายตะวันตก พร้อมกับผู้คนจำนวนมากที่นั่งรอเวลาที่จะได้ออกเดินทาง ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นมนต์ขลังที่เกิดขึ้นในหัวลำโพงมาตลอด 100 กว่าปี ถ้าหากหันหน้าเข้าสู่ประตูสู่ชานชาลา เดินไปทางขวามือนั้นเป็นที่ตั้งของห้องน้ำ แต่ก่อนบริเวณนี้ครั้งหนึ่งเคยเป็นที่ตั้งของ “โรงแรมราชธานี” (ราชธานีโฮเต็ล) ซึ่งเลิกกิจการไปแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ.2512

โถงกลางสถานีกรุงเทพ

โถงกลางสถานีกรุงเทพ

จากนั้นเราเดินเข้าประตูไปสู่บริเวณชานชาลารถไฟ เพื่อเข้าไปชม “รถจักรไอน้ำแปซิฟิก รุ่นเลขที่ 824 และ 850” จอดเทียบชานชาลาให้ได้ยลโฉมอย่างใกล้ชิด รถจักรไอน้ำทั้งสองรุ่นนี้ผลิตโดยสมาคมอุตสาหกรรมรถไฟแห่งประเทศญี่ปุ่น (Japan Association of Railway Industry)  โดย รุ่นเลขที่ 824 เดิมนั้นใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลิง และได้ดัดแปลงเป็นน้ำมันเตาในภายหลัง ส่วนรุ่นเลขที่ 850 นั้นเป็นหัวจักรน้ำมันเตามาแต่เดิม ทั้งสองนำเข้ามาใช้งานในประเทศไทยในช่วงปี พ.ศ.2492-2494 จวบจนถึงวันที่ 6 เมษายน 2555 ก็ได้ปลดเกษียณไป โดยคันที่จอดอยู่นั้นเป็นรถจักรไอน้ำ 2 คันสุดท้ายที่ยังใช้การอยู่เฉพาะในโอกาสพิเศษเท่านั้น นอกจากนี้ ยังมีการจัดแสดงขบวนรถโดยสารประเภทต่างๆ ตั้งแต่รถนั่งชั้นที่ 3 (บชส.) ไปจนถึง SRT Prestige ซึ่งเป็นขบวนรถระดับเฟิร์สคลาสที่เปี่ยมด้วยความหรูหรา ด้วยสีน้ำเงินเข้มคาดทองของตัวรถ และการตกแต่งด้วยไม้บริเวณภายในตัวรถทั้งหมดจนดูสว่างเป็นสีทองอร่าม เช่น รถประชุม รถเสบียงครัวร้อน และรถเสบียงครัวเย็น

รถจักรไอน้ำแปซิฟิก รุ่นเลขที่ 824 และ 850

รถจักรไอน้ำแปซิฟิก รุ่นเลขที่ 824 และ 850

รถจักรไอน้ำแปซิฟิก รุ่นเลขที่ 824 และ 850

โดยในบริเวณชานชาลา จะเห็นหนึ่งในสัญลักษณ์ประจำสถานีรถไฟ ไม่ใช่แค่ในหัวลำโพงเท่านั้น แต่เราสามารถพบเจอได้ในสถานีรถไฟทั่วประเทศ “เก้าอี้ชานชาลารูปวงรี” ที่ว่ากันว่า ออกแบบมาจากรูปทรงของหมวกที่ทับจนแบน ตัวหมวกเป็นพนักพิง ส่วนปีกหมวกนั้นเอาไว้นั่ง

เก้าอี้ชานชาลารูปวงรี

เก้าอี้ชานชาลารูปวงรี

เส้นทางต่อมานั้นจำเป็นต้องเดินเข้าสู่ชานชาลาหมายเลข 8 เพื่อมุ่งหน้าไปยังอีก 2 จุดเช็กอินซึ่งตั้งอยู่บริเวณสุดปลายทางเดิน ผู้คนค่อนข้างหนาแน่นทีเดียว เนื่องจากมีขบวนรถที่กำลังจะออกเดินทางในอีกไม่กี่นาทีข้างหน้า  บริเวณสุดทางเดินตรงนี้เมื่อหันหน้ากลับเข้ามาทางสถานี จะเห็นภาพของสถานีรถไฟที่มีภาพของอาคารสูงของกรุงเทพมหานครเป็นฉากหลัง เสมือนเป็นสัญลักษณ์ของยุคสมัยที่แตกต่างกันมาอยู่รวมกันอย่างกลมกลืน ทางซ้ายมือจะมองเห็น “อนุสรณ์ปฐมฤกษ์รถไฟหลวง” ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งเสด็จฯ ประกอบพระราชพิธีเปิดเดินรถไฟหลวงสายแรก ส่วนทางขวามือนั้นเป็นที่ตั้งของ “สะพานลำเลียงจดหมาย” เชื่อมต่อกับอาคารไปรษณีย์ แสดงให้เห็นถึงบทบาทและความสำคัญของรถไฟที่มีต่อการสื่อสารและการขนส่งของคนในสมัยก่อน

อนุสรณ์ปฐมฤกษ์รถไฟหลวง

สะพานลำเลียงจดหมาย

จากนั้นเราเดินทางออกจากชานชาลาเพื่อไปตามหาอีก 4 จุดเช็กอินที่เหลือ โดยมุ่งหน้าไปยังด้านหน้าสุดของสถานีเพื่อซึบซับความงดงามของ “สถาปัตยกรรมยุคเรอเนสซองส์” ภายนอกสถานี ซึ่งออกแบบโดย มาริโอ ตามานโญ สถาปนิกชาวอิตาเลียน ผู้อยู่เบื้องหลังสถาปัตยกรรมอันโด่งดังอีกหลายแห่งของกรุงเทพมหานคร เช่น พระที่นั่งอนันตสมาคม สะพานมัฆวานรังสรรค์ และบ้านนรสิงห์ หรือ ตึกไทยคู่ฟ้าทำเนียบรัฐบาล พร้อมกันนั้นยังได้แวะชม “ป้ายสถานีกรุงเทพ” ตัวอักษรปูนปั้น สัญลักษณ์แห่งการเดินทางมาสู่กรุงเทพมหานคร ก่อนที่จะเลี้ยวเข้าสู่พิพิธภัณฑ์รถไฟไทย แหล่งเรียนรู้ขนาดจิ๋วที่เก็บความทรงจำการเดินรถไฟในวันวาน จัดแสดงทั้งอุปกรณ์การเดินรถไฟเก่าแก่ ตั๋วรถไฟในสมัยก่อน และอีกมากมาย ในมุมหนึ่งของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีบันไดที่จะพาขึ้นไปสู่ “ระเบียงด้านหน้าสถานีกรุงเทพ” ที่ไม่ได้เปิดให้เข้าชมกันบ่อยๆ ดังนั้น งานนี้จึงเป็นโอกาสดีที่เราได้ขึ้นไปชมซุ้มหลังคาโค้งประดับกระจกและนาฬิกาหน้าปัดกลมเรือนใหญ่อย่างใกล้ชิดในแบบที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อน และเมื่อชะโงกหน้าลงไปก็จะเห็นรถราวิ่งผ่านไปมาไม่ขาดสาย โดยเกาะกลางถนนที่ไม่เคยหลับใหลนี้ก็คือ “ลานน้ำพุหัวช้าง” อนุสาวรีย์ช้างสามเศียรประดับหน้าสถานีมาตั้งแต่เริ่มต้น ครั้งหนึ่งเคยอดีตหลุมหลบภัยทางอากาศในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2

สถาปัตยกรรมยุคเรอเนสซองส์

สถาปัตยกรรมยุคเรอเนสซองส์

หัวลำโพง

ป้ายสถานีกรุงเทพ

ระเบียงด้านหน้าสถานีกรุงเทพ

ลานน้ำพุหัวช้าง

จากสถานีรถไฟที่ทำหน้าที่รับส่งผู้คนมานับร้อยปีไม่เคยหยุด ในวันข้างหน้าเราอาจจะได้เห็นหัวลำโพงในบทบาทใหม่ ในการเป็นภาพบอกเล่าเรื่องราวในอดีตและเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตอย่างเต็มรูปแบบ

แหล่งข้อมูล เฟซบุ๊ก : ทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย


Tag: travel, หัวลำโพง

เรื่องโดย

ความคิดเห็น

Editor’s Pick

Recent

Most Viewed