
ย่างเข้าสู่หน้าร้อนอย่างเป็นทางการ หนึ่งในเมนูฤดูร้อนที่วนกลับมาอีกครั้งก็หนีไม่พ้น “ข้าวแช่” ข้าวสวยเรียงเม็ดในน้ำอบควันเทียนลอยดอกไม้ ให้กลิ่นหอมเย็นฉ่ำชื่นใจ มาพร้อมกับเครื่องเคียงนานาชนิด เช่น ลูกกะปิทอด ไชโป๊ผัดหวาน หอมสอดไส้ ปลายี่สนผัดหวาน พริกหยวกสอดไส้ และหมูฝอยหวาน (ดูสูตรการทำข้าวแช่ : ข้าวแช่)
แต่เดิมนั้น ข้าวแช่เป็นอาหารพื้นบ้านของชาวมอญที่มีชื่อว่า “เปิงด๊าดจ์” จาก เปิง ที่แปลว่าข้าว และ ด๊าดจ์ ที่หมายถึงน้ำ นิยมทำในช่วงเทศกาลสงกรานต์เพื่อถวายแด่พระสงฆ์และมอบให้คนเฒ่าคนแก่เพื่อความเป็นศิริมงคล ส่วน “ข้าวแช่เมืองเพชร” นั้นก็เริ่มมีการพัฒนามาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อครั้งแปรพระราชฐานไปอยู่ที่พระราชวังพระนครคีรี (เขาวัง) ขณะนั้นเจ้าจอมมารดากลิ่น ผู้มีเชื้อสายมอญ ได้ติดตามไปถวายราชการด้วย ดังนั้นสูตรการทำข้าวแช่ของมอญตามตำรับของเจ้าจอมมารดากลิ่นจึงกลายเป็นเมนูที่แพร่หลายในรั้ววังและเป็นที่นิยมในหมู่สามัญชนในที่สุด
เราอาจจะคุ้นหน้ากับข้าวแช่ที่มาพร้อมเครื่องเคียงหลากหลายอย่างจากการพัฒนาในเข้ากับวัฒนธรรมไทย แต่สำหรับข้าวแช่ต้นตำรับเมืองเพชร จะมาพร้อมเครื่องเคียงเพียง 3 อย่างเท่านั้น คือ “ลูกกะปิ” ที่มีส่วนผสมของตะไคร้ กระชาย กะปิดี น้ำตาลโตนด ปลากุเลาเค็ม หัวหอม กระเทียม รากผักชี เมล็ดพริกไทย และเนื้อกุ้งสดโขลกเข้าด้วยกันแล้วชุบแป้งทอด “ไชโป๊ผัดหวาน” จากการนำผักกาดเค็มลงผัดในกระทะจนเหนียว และ “ปลากระเบนผัดหวาน” ที่ได้จากปลากระเบนตากแดดมายีให้เป็นฝอยแล้วผัดลงในกระทะจนเข้ากัน
ด้วยประวัติความเป็นมาของข้าวแช่เมืองเพชร จากอาหารของชาวมอญ เดินทางเข้าสู่รั้ววัง และออกจากวังมาเป็นอาหารของสามัญชน รวมถึงเอกลักษณ์ของเครื่องเคียง 3 อย่างที่แตกต่างจากข้าวแช่ถิ่นอื่น ๆ ทำให้ข้าวแช่เมืองเพชรกลายเป็นของขึ้นชื่อ ที่สำคัญยังสามารถหารับประทานได้ง่ายในราคาสบายกระเป๋า อย่างเช่นที่ร้านข้าวแช่ของคุณบังอร เจ้าเก่าเจ้าดังในตลาดริมน้ำ จ.เพชรบุรี ที่ขายข้าวแช่เมืองเพชรมาตั้งแต่ปี 2524 จุดเด่นคือเครื่องเคียง 3 อย่าง ตามแบบฉบับดั้งเดิมจริง ๆ (อ่านบทความท่องเที่ยวตลาดเก่าริมน้ำเพชรบุรี : เดินเล่นตลาดเก่าริมน้ำเพชรบุรี ถ่ายภาพ Street Art แวะกินช้าวแช่ตำรับเมืองเพชร)
Tag:
ข้าวแช่, เพชรบุรี
ความคิดเห็น