เมื่อพูดถึงน้ำผึ้ง หลายคนคงรู้จักและนิยมรับประทาน เพราะรสชาติที่หอมหวานและคุณสมบัติทางสุขภาพ
น้ำผึ้งเป็นผลผลิตจากธรรมชาติที่มีรสหวาน เกิดจากการที่ผึ้งเก็บสะสมน้ำหวานจากดอกไม้ไว้ในตัว และเมื่อบินกลับรังผึ้งจะคายน้ำหวานเหล่านั้นออกมาสะสมไว้ในรัง เพื่อเก็บไว้เป็นแหล่งอาหารในยามขาดแคลน หรือเก็บไว้เป็นพลังงานสำหรับใช้ในแต่ละวัน ส่วนประกอบในน้ำผึ้งกว่าร้อยละ 80 คือ น้ำตาลกลูโคสและน้ำตาลฟรุกโตส อีกร้อยละ 20 คือ น้ำ วิตามิน และแร่ธาตุ น้ำผึ้งจะมีสี กลิ่น และรสชาติที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับแหล่งที่มาของพืชชนิดนั้นๆ เช่น น้ำผึ้งดอกลำไย มีสีน้ำตาลทอง และมีความหอมหวานของลำไยอย่างชัดเจน น้ำผึ้งดอกลิ้นจี่มีสีเหลืองอำพัน รสชาติหวานอมเปรี้ยว แต่มีน้ำผึ้งอีกชนิดที่มีคุณสมบัติทางสุขภาพอย่างมาก และเป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลายรวมถึงมีราคาที่สูงกว่าน้ำผึ้งชนิดอื่น
น้ำผึ้งมานูก้า คือ น้ำหวานที่ได้จากเกสรดอกไม้ของต้นมานูก้า ซึ่งเป็นไม้พุ่มหรือไม้ขนาดเล็กที่เจริญเติบโตตามแหล่งธรรมชาติ พบได้ในประเทศนิวซีแลนด์และทางฝั่งตะวันออกของประเทศออสเตรเลีย น้ำผึ้งที่ได้จากต้นมานูก้านี้ได้รับการขนานนามว่าเป็นน้ำผึ้งที่มีประโยชน์มากในแง่ของคุณสมบัติทางเภสัชวิทยา
ในปัจจุบันมีหลักฐานทางวิทยาศาตร์และงานวิจัยทางด้านคลินิกที่รองรับการใช้น้ำผึ้งในการรักษาบาดแผล ปฏิกิริยาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับผิวหนัง หรือแม้กระทั่งความเสียหายของเยื่อบุผิวภายหลังการฉายแสงหรือการได้รับเคมีบำบัด ต้านเชื้อแบคทีเรีย ต้านการอักเสบ อีกทั้งยังอุดมไปด้วยสารพฤกษเคมีที่ออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระหลายชนิดทั้งกรดฟีนอลิกและฟลาโวนอยด์ เช่น Isoferulic acid, Gallic acid, Kaempferol และ Quercetin เป็นต้น รวมทั้งสารประกอบอื่นๆ เช่น Phenyllactic acid, Kojic acid, Phenylacetic acid และ Leptosin เป็นต้น ด้วยคุณสมบัติที่สามารถต้านเชื้อแบคทีเรียและต้านการอักเสบได้ น้ำผึ้งมานูก้าจึงมีส่วนช่วยในการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายนั่นเอง
คุณสมบัติในการต้านเชื้อแบคทีเรียของน้ำผึ้งมานูก้ามีค่อนข้างมาก โดยเทียบเท่ากับการใช้สาร ฟีนอลเข้มข้นเลยทีเดียว สารสำคัญที่ทำหน้าที่หลักในการต้านเชื้อแบคทีเรียมีชื่อว่า Methylglyoxal (MGO) ซึ่งพบในน้ำผึ้งมานูก้ามากกว่าในน้ำผึ้งชนิดอื่นๆ จึงทำให้ได้รับการยอมรับจากผู้คนว่าเป็นน้ำผึ้งที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากชนิดหนึ่ง และอาจมากกว่าน้ำผึ้งชนิดอื่นอีกด้วย
นอกจากนี้ น้ำผึ้งมานูก้ายังมีค่าความเป็นกรดด่างที่ต่ำ (pH 3.5-4.5) ทำให้สภาวะดังกล่าวแบคทีเรียไม่สามารถเจริญเติบโตได้ดี แต่กลับเป็นสภาวะที่เหมาะสมสำหรับการทำงานของเม็ดเลือดขาวชนิด Macrophage ทำให้สามารถจับกินเชื้อโรคโดยการโอบล้อมและกลืนกิน (Phagocytosis) ได้ดีขึ้น
น้ำผึ้งมานูก้าจะมีคุณประโยชน์ที่หลากหลาย แต่ปริมาณการบริโภคเพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับร่างกายก็ควรจะบริโภคในปริมาณที่เหมาะสม โดยอ่านจากฉลากโภชนาการที่ติดอยู่บนผลิตภัณฑ์ การเลือกซื้อน้ำผึ้งมานูก้ามาบริโภคควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยา เพื่อลดความเสี่ยงในการได้รับสารปนเปื้อนระหว่างกระบวนการผลิต
ทั้งนี้ ผู้ที่มีน้ำตาลในเลือดสูง หรือผู้ป่วยเบาหวาน ควรปรึกษาแพทย์ก่อนตัดสินใจบริโภค เนื่องจากน้ำผึ้งมีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบอยู่ด้วยที่อาจส่งผลต่อสุขภาพของคนกลุ่มนี้หากบริโภคไม่ถูกวิธี
เอกสารอ้างอิง
- รวิวรรณ มาทอง. สรรพคุณ(ไม่)ลับ ของน้ำผึ้ง ที่คุณไม่ควรพลาด [อินเทอร์เน็ต]. [เข้าถึงเมื่อ 30 ม.ค. 2565]. เข้าถึงได้จาก: https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/infographic/สรรพคุณไม่ลับ-ของน้ำผึ/
- Kato Y, Umeda N, Maeda A, Matsumoto D, Kitamoto N, Kikuzaki H. Identification of a novel glycoside, leptosin, as a chemical marker of manuka honey. J Agric Food Chem. 2012;60:3418-23.
- Bardy J, Slevin NJ, Mais KL, Molassiotis A. A systematic review of honey uses and its potential value within oncology care. J Clin Nurs. 2008;17:2604-23
- Chan CW, Deadman BJ, Manley-Harris M, Wilkins AL, Alber DG, Harry E. Analysis of the flavonoid component of bioactive New Zealand manuka (Leptospermum scoparium) honey and the isolation, characterisation and synthesis of an unusual pyrrole. Food Chem. 2013;141:1772-81.
- Oelschlaegel S, Gruner M, Wang P, Boettcher A, Koelling-Speer I, Speer K. Classification and characterization of Manuka honeys based on phenolic compounds and methylglyoxal. J Agric Food Chem. 2012;60:7229-37.
- Adams CJ, Manley-Harris M, Molan PC. The origin of methylglyoxal in New Zealand manuka (Leptospermum scoparium) honey. Carbohydr Res. 2009;344:1050-3.
- Mavric, E.; Wittmann, S.; Barth, G.; Henle, T. Identification and quantification of methylglyoxal as the dominant antibacterial constituent of Manuka (Leptospermum scoparium) honeys from New Zealand. Mol Nutr Food Res 2008;52:483-9.
- Lusby PE, Coombes A, Wilkinson JM. Honey: a potent agent for wound healing? J Wound Ostomy Cont Nurs. 2002;29:295–300.
Tag:
Food for life, น้ำผึ้ง
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น