ทำความเข้าใจประโยชน์ของสังกะสีกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย

วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2565  2,740 Views
นิตยสาร Gourmet & Cuisine ฉบับที่ 259 เดือนกุมภาพันธ์ 2565

โลกทุกวันนี้กำลังเปลี่ยนไป ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้รูปแบบการดำเนินชีวิตประจำวัน การทำงาน สภาพแวดล้อม รวมถึงสาเหตุของการเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ ปรับเปลี่ยนตามไปด้วย

สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ พื้นที่เขตเมืองหรือเขตอุตสาหกรรมมักพบฝุ่น PM 2.5 ในปริมาณที่มากขึ้นทุกๆ ปี ทั้งจากตัวโรงงานอุตสาหกรรมเอง และจากควันท่อไอเสียรถยนต์ซึ่งมาจากการคมนาคมที่แออัด ในบางคนที่เป็นภูมิแพ้อยู่แล้วเมื่อพบกับสถานการณ์ดังกล่าว จะยิ่งทำให้อาการแย่ลง นอกจากนี้ ยังมีโรคอุบัติใหม่ที่เกิดขึ้นในปี 2019 อย่าง “โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โควิด-19” เชื้อไวรัสนี้สามารถพัฒนาสายพันธุ์และแพร่ระบาดได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว จากจุดกำเนิดประเทศหนึ่งไปยังหลายประเทศทั่วโลกโดยอาศัยมนุษย์เป็นพาหนะเนื่องจากมนุษย์มีการติดต่อสื่อสารและเดินทางถึงกันทั่วโลก ถึงแม้ว่าในปัจจุบันปี 2022 จะมีวัคซีนที่หลากหลายแล้วก็ตาม เชื้อไวรัสก็ยังคงพัฒนาสายพันธุ์ใหม่อย่างไม่หยุดยั้ง

ทำความเข้าใจประโยชน์ของสังกะสีกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย

โดยปกติแล้ว ร่างกายเรามีระบบภูมิคุ้มกันที่คอยทำลายเชื้อโรค หรือสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย 2 รูปแบบ คือ

  1. ภูมิคุ้มกันโดยกำเนิด (Innate Immune) หรือภูมิคุ้มกันชนิดไม่จำเพาะ
  2. ภูมิคุ้มกันแบบจำเพาะ (Acquired Immune หรือ Adaptive Immune)

เมื่อร่างกายได้รับสิ่งแปลกปลอมเข้ามา ขั้นตอนแรกที่เกิดขึ้นคือระบบภูมิคุ้มกันโดยกำเนิดจะทำงานก่อนด้วยการหลั่งเยื่อเมือกที่เยื่อบุผิว เช่น เยื่อบุทางเดินหายใจ เยื่อบุทางเดินอาหาร ทางเดินปัสสาวะ น้ำตา การหลั่งเหงื่อที่ผิวหนัง เป็นต้น

หากสิ่งแปลกปลอมสามารถผ่านการป้องกันด่านแรกไปได้ จะเข้าสู่การป้องกันระดับที่สองของภูมิคุ้มกันโดยกำเนิดทันที การอักเสบจะเกิดขึ้นในบริเวณที่มีสิ่งแปลกปลอมเข้ามา จึงกระตุ้นให้เกิดการรวมตัวของเซลล์เม็ดเลือดขาวเพื่อทำลายสิ่งแปลกปลอม ด้วยการโอบล้อมและกลืนกิน (Phagocytosis) สิ่งแปลกปลอมเข้าไป

ทำความเข้าใจประโยชน์ของสังกะสีกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย

หากการป้องกันทั้งสองขั้นตอน ไม่สามารถทำลายสิ่งแปลกปลอมได้ ร่างกายจะตอบสนองต่อสิ่งแปลกปลอมแบบจำเพาะเจาะจงผ่านระบบภูมิคุ้มกันแบบจำเพาะ โดยเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์ (Lymphocytes) ทั้ง T-cell และ B-cell ที่สามารถจดจำและตอบสนองต่อสิ่งแปลกปลอมนี้อย่างจำเพาะ เมื่อร่างกายได้รับสิ่งแปลกปลอมชนิดเดิมซ้ำร่างกายก็จะสามารถทำลายสิ่งแปลกปลอมนี้ได้อย่างรวดเร็ว

ระบบภูมิคุ้มกันเปรียบเสมือนเกราะป้องกันให้กับร่างกายของเรา ไม่ว่าสิ่งแปลกปลอมนั้นจะเป็นเพียงแค่ฝุ่น แบคทีเรีย หรือไวรัสก็ตาม ดังนั้น ทุกคนควรเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงเพื่อที่จะรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้

ทำความเข้าใจประโยชน์ของสังกะสีกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย

การรับประทานอาหารมีส่วนสำคัญเป็นอย่างมากในการเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับระบบภูมิคุ้มกันเนื่องจากวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิดมีความเกี่ยวข้องกับการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน เช่น วิตามินบี 6 วิตามินบี 9 (โฟเลต) และวิตามินบี 12 ซึ่งพบได้ใน ไข่ เนื้อสัตว์ นม ผักโขม เป็นต้น มีบทบาทสำคัญในการต้านอนุมูลอิสระซึ่งช่วยให้การตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันมีประสิทธิภาพมากขึ้น วิตามินซีช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของเยื่อบุผิว ธาตุเหล็กช่วยให้การสร้างเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันเป็นไปอย่างปกติ

สังกะสีก็เป็นอีกหนึ่งในแร่ธาตุสำคัญที่ช่วยกระตุ้นการทำงานของเซลล์ ส่งสัญญาณระหว่างเซลล์ มีผลต่อการเจริญเติบโตและการพัฒนาของระบบภูมิคุ้มกัน เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันสิ่งแปลกปลอมที่จะบุกรุกเข้าสู่เซลล์ แหล่งของอาหารที่อุดมไปด้วยสังกะสี ได้แก่ ข้าวกล้อง เนื้อสัตว์ นม ไข่ ผักปวยเล้ง หน่อไม้ฝรั่ง คะน้า มะเขือเทศ เมล็ดฟักทอง งา และถั่วลิสง เป็นต้น

ทำความเข้าใจประโยชน์ของสังกะสีกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย

สังกะสีจำเป็นต่อการสร้างสารบางชนิดที่เป็นสื่อกลางภายในระบบภูมิคุ้มกัน ได้แก่ ไธมูลิน (Thymulin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ต่อกันด้วยพันธะเปปไทด์ และหลั่งจากเซลล์เยื่อบุผิวไธมิก (Thymic) เปปไทด์นี้ส่งเสริมการเจริญเติบโตของทีลิมโฟไซต์ และการผลิต IL-2 ทั้งนี้ การทำงานของไธมูลินขึ้นอยู่กับปริมาณความเข้มข้นของสังกะสีในพลาสมาด้วย

สังกะสีที่อยู่ในรูปกลูโคเนต (Zinc Gluconate) มักพบในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรือยาอมเพื่อรักษาโรคไข้หวัด ช่วยลดความรุนแรงและระยะเวลาของการเกิดโรค เนื่องจากสังกะสีมีส่วนช่วยในกระบวนการเมตาบอลิซึมของเซลล์ เกี่ยวข้องกับปฏิกิริยาต่างๆ ในร่างกาย การสังเคราะห์โปรตีน การสังเคราะห์ดีเอ็นเอและอาร์เอ็นเอเพื่อซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ รวมถึงการแบ่งเซลล์ต่างๆ โดยพบว่าหากร่างกายขาดสังกะสีจะมีผลต่อการทำงานที่บกพร่องของแมคโครฟาจ (Macrophage) เซลล์เม็ดเลือดขาว (Neutrophil) และการทำงานของเซลล์นักฆ่า (Natural Killer Cell) ซึ่งเซลล์เหล่านี้ล้วนทำหน้าที่ในการกำจัดโดยการกลืนกินสิ่งแปลกปลอม

ทำความเข้าใจประโยชน์ของสังกะสีกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย

การศึกษาที่ผ่านมาของสังกะสีในรูปกลูโคเนต มีผลต่อเซลล์กลุ่มย่อยของลิมไฟไซท์ ได้แก่ CD3+ CD4+ และสัดส่วน CD4 ต่อ CD8 ซึ่งมีผลต่อการลดระยะเวลาของอาการหวัดต่าง ๆ ได้ 9 อาการ ได้แก่ ไอ ปวดศีรษะ เสียงแหบ ปวดกล้ามเนื้อ คัดจมูก น้ำมูกไหล เจ็บคอ คออักเสบ และจาม สำหรับปริมาณความต้องการสังกะสีของร่างกายจากข้อมูลสารอาหารที่แนะนำให้บริโภคประจำวันสำหรับคนไทยอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป (Thai RDI) ระบุปริมาณที่แนะนำไว้ที่ 15 มิลลิกรัม/วัน

การดูแลสุขภาพโดยการสร้างเกราะป้องกันให้กับร่างกายสามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยการเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง จากการรับประทานอาหารให้หลากหลายและครบถ้วนทั้งสารอาหารหลักและสารอาหารรอง (วิตามินและแร่ธาตุ)

ทำความเข้าใจประโยชน์ของสังกะสีกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย

ในกรณีที่ต้องการรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนรับประทาน เพียงเท่านี้ทุกคนก็จะมีร่างกายที่พร้อมรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ได้เป็นอย่างดี

เอกสารอ้างอิง

  • สำนักพิมพ์มหาวิทยาลันนเรศวร. ภูมิคุ้มกัน [อินเทอร์เน็ต]. [เข้าถึงเมื่อ 28 ธ.ค. 2564]. เข้าถึงได้จาก: https://www.nupress.grad.nu.ac.th/ภูมิคุ้มกัน/.
  • David DC. Overview of the immune response. J Allergy Clin Immunol 2010;125:3-23.
  • Aslam MF, Majeed S, Aslam S, Irfan JA. Vitamins: key role players in boosting up immune response-a mini review. Vitam Miner 2017;6(1):1-8.
  • Haschka D, Hoffmann A, Weiss G. Iron in immune cell function and host defense. Semin Cell Dev Biol 2021;115:27-36.
  • Dardenne M. Zinc and immune function. Eur J Clin Nutr 2002;56(3):20-3.
  • คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล. แร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกาย [อินเทอร์เน็ต]. [เข้าถึงเมื่อ 29 ธ.ค. 2564]. เข้าถึงได้จาก: https://mt.mahidol.ac.th/wp-content/uploads/home/main/health-brochure/2019/pdf/16.pdf
  • Dardenne M, Pleau JM, Nabarra B, Lefrancier P, Derrien M, Choay M, Bach JF. Contribution of zinc and other metals to the biological activity of the serum thymic factor. Proc Natl Acad Sci 1982;79:5370–3.
  • National Institutes of Health. Zinc fact sheet for health professionals [Internet]. 2021 [cited 2021 June 29]. Available from: https://ods.od.nih.gov/factsheets/%20Zinc-HealthProfessional/.
  • Sazawal S, Jalla S, Mazumder S, Sinha A, Black RE, Bhan MK. Effect of zinc supplementation on cell-mediated immunity and lymphocyte subsets in preschool children. Indian Pediatr 1997;34(7):589-97.
  • Macknin ML, Piedmonte M, Calendine C, Janosky J, Wald E. Zinc gluconate lozenges for treating the common cold in children: a randomized controlled trial. Jama 1998;279(24): 1962-7.


Tag: Food for life

เรื่องโดย

ความคิดเห็น

Editor’s Pick

Recent

Most Viewed