ตรุษจีนกับคนรุ่นใหม่ในย่านเยาวราช ที่เปลี่ยนผันไปตามกาลเวลา

วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565  2,175 Views
นิตยสาร Gourmet & Cuisine ฉบับที่ 259 เดือนกุมภาพันธ์ 2565

ชวนสนทนาถึงช่วงเวลาของการเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีนในแบบฉบับของคนรุ่นใหม่ในย่านจีนของกรุงเทพมหานคร กับคุณปู-ชุตินาถ ทัศนานุพันธ์, คุณเกศ-เกศรา เบญกานี และคุณบอส-ธนโชติ สิงคิลวิทย์ จะพาย้อนเวลาไปสู่ความทรงจำช่วงตรุษจีนในวัยเด็ก ธรรมเนียมประเพณีของครอบครัวชาวไทยเชื้อสายจีน และการมอง “เยาวราช” ชุมชนชาวจีนขนาดใหญ่ที่หมุนเปลี่ยนเวียนไปตามกาลและเวลา

ตรุษจีนกับคนรุ่นใหม่ในย่านเยาวราช ที่เปลี่ยนผันไปตามกาลเวลา

ตรุษจีนในปี ค.ศ. 2022 นี้เดินทางมาถึงเร็วกว่าปีก่อน เพราะคนเชื้อสายจีนทั่วโลกจะเริ่มเฉลิมฉลองเทศกาลประจำปีนี้กันตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ และแน่นอนว่าเมื่อเอ่ยถึงเทศกาลตรุษจีนแล้วเราก็อดนึกถึงบรรยากาศของ “เยาวราช” ชุมชนจีนที่ใหญ่และมีชื่อเสียงที่สุดของไทยไปไม่ได้ ในฐานะที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานมาจวบจนถึงทุกวันนี้

เยาวราชกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่างสมบูรณ์แบบพร้อมกับการเดินทางเข้ามาของคนรุ่นใหม่ บ้างก็เป็นทายาทชาวจีนโพ้นทะเลที่เติบโตมาในเยาวราช และบ้างก็เป็นคนรุ่นใหม่ผู้เสาะแสวงหาเสน่ห์อันล้นเหลือของย่านเก่า แต่ไม่ว่าจะเก่าหรือใหม่ ทุกๆ ชีวิตที่ดำเนินไปก็ล้วนเป็นสีสันที่ทำให้เยาวราชเป็นเยาวราชจนถึงทุกวันนี้ และถึงแม้ว่าเราจะยังไม่สามารถหลุดพ้นไปจากโควิด-19 ได้ แต่ประเพณีที่สืบทอดมารุ่นต่อรุ่นก็ยังคงได้รับการสืบสานด้วยความศรัทธาต่อไปไม่รู้จบเหมือนกับที่เคยเป็นมา

“ขอให้ร่ำ ขอให้รวย”
รอนนี เจียง (Ronny Chieng)
หนึ่งในนักแสดงตลกชาวมาเลเซียเชื้อสายจีน เคยกล่าวถึงเทศกาลตรุษจีนไว้อย่างแสบคันในการแสดงโชว์เดี่ยวไมโครโฟน Ronny Chieng: Asian Comedian Destroys America! ของเขาในช่วงหนึ่งว่า คำอวยพรสุดคลาสสิกในช่วงปีใหม่จีนไม่ใช่ “Happy New Year” หรือ “สวัสดีปีใหม่” แต่กลับเป็นประโยค “กง สี ฟา ไฉ” ซึ่งมีความหมายตรงตัวว่า “Hope you get rich” หรือ “ขอให้ร่ำรวย” แทนเสียอย่างนั้น นั่นก็เพราะชาวจีนรักเงินยิ่งกว่าสิ่งใด และคงไม่มีใครบนโลกที่จะรักเงินเท่ากับคนจีนอีกแล้ว แม้แต่เหล่าแรปเปอร์ชื่อดังหลายต่อหลายคนที่มักจะแต่งเพลงอวดความร่ำรวยและฟุ้งเฟ้อของตัวเองก็ยังสู้คนจีนไม่ได้เลยสักนิดเดียว

ตรุษจีนกับคนรุ่นใหม่ในย่านเยาวราช ที่เปลี่ยนผันไปตามกาลเวลา

ชาวจีนนั้นรักเงินมากแค่ไหน? ก็ถึงขั้นที่มีเทพเจ้า “ไฉ่ซิงเอี๊ย” หรือ “จ่ายสินเอี้ย” เพื่อขอพรเรื่องการเงินและความมั่งคั่งโดยเฉพาะ และถือเป็นหนึ่งในเทพเจ้าที่คนเชื้อสายจีนกราบไหว้มากที่สุดในเทศกาลนี้เพื่อความเป็นสิริมงคล และเพื่อให้มีเงินเพิ่มพูนขึ้นกว่าเดิม

โดยทั่วไปฤกษ์ในการไหว้เทพเจ้าไฉ่ซิงเอี๊ยจะอยู่ในช่วงกลางคืนคือตั้งแต่ 23.00-00.00 น. หรือจำง่ายๆ ว่าเมื่อเป็นวันเข้าสู่ตรุษจีนก็ไหว้ได้เลย บรรดาของที่นำมาบูชานั้นมีหลากหลายแบบไม่ว่าจะเป็นสาคูสีแดง ชา ดอกไม้ ส้ม และขนมจันอับทั้ง 5 อย่างที่ประกอบไปด้วยถั่วตัด งา ข้าวพอง ถั่วลิสงเคลือบน้ำตาล และฟักเชื่อม หรือบางบ้านก็อาจจะจัดไหว้แค่ส้มอย่างเดียวก็ได้เช่นกัน

คุณปู-ชุตินาถ ทัศนานุพันธ์ ผู้ก่อตั้งร้านไอศกรีมโฮมเมด JingJing Ice-cream Bar and Cafe (จิงจิง ไอศกรีมบาร์ แอนด์ คาเฟ่)

ไม่ว่าจะเป็นส้มเขียวหวาน แมนดาริน หรือแม้แต่ส้มโอ ส้มทั้งหมดล้วนจัดเป็นผลไม้มงคลในช่วงตรุษจีน เพราะคำภาษาจีนของส้มนั้นออกเสียงใกล้เคียงกับคำว่า “โชค” และ “ความมั่งคั่ง” คุณปู-ชุตินาถ ทัศนานุพันธ์ ผู้ก่อตั้งร้านไอศกรีมโฮมเมด JingJing Ice-cream Bar and Cafe (จิงจิง ไอศกรีมบาร์ แอนด์ คาเฟ่) ภายในซอยเจริญกรุง 14 คือหนึ่งในคนรุ่นใหม่ที่เติบโตในย่านเยาวราช และหันมาเปิดร้านไอศกรีมที่ถูกอกถูกใจคนยุคนี้อย่างมาก ก็ได้พูดคุยถึงช่วงเวลาพิเศษกับไอศกรีม “รสส้ม” ไม่ว่าจะเป็นรสส้มซอร์เบต์ รสส้มขิง รสช็อกโกแลตมาร์มาเลด และรสวอดกาลาเวนเดอร์ส้มมะนาวที่ตั้งใจทำเป็นพิเศษในช่วงเริ่มต้นปีใหม่ในหลายๆ ปีที่ผ่านมา รวมถึงในปี ค.ศ. 2022 นี้ด้วย ซึ่งได้วางขายไปแล้วตั้งแต่เดือนมกราคมล่วงหน้าเทศกาลตรุษจีนไปก่อน เพราะในเดือนกุมภาพันธ์นี้เธอจะสร้างสรรค์เมนูใหม่เพื่อเฉลิมฉลองวันแห่งความรักโดยเฉพาะ แต่ในเดือนมกราคมก็ถือว่าเป็นเดือนแรกของปีปฏิทินสากลที่เหมาะกับการอวยพรด้วยผลไม้มงคลอยู่เหมือนกัน

นอกเหนือจากของไหว้ตามขนบธรรมเนียมประเพณีแล้ว หนึ่งในการไหว้เพื่อขอเงินทองและความร่ำรวยกับเทพเจ้าไฉ่ซิงเอี๊ย ยังมีอีกเคล็ดของคุณเกศ-เกศรา เบญกานี ทายาทของร้านซีฟู้ดเสื้อเขียว T&K Seafood (ต๋อย & คิดซีฟู้ด) ที่แยกตัวออกมาเปิดร้านซีฟู้ดของตัวเองที่มีชื่อว่า The Seafood Café & Restaurant บนถนนผดุงด้าวได้บอกกับเราว่า ต้องเอากระเป๋าสตางค์ของตัวเองไปวางบนโต๊ะบูชาด้วยเพื่อเป็นสัญลักษณ์เรียกทรัพย์ให้เงินไหลเข้ากระเป๋ารัวๆ

คุณปู-ชุตินาถ ทัศนานุพันธ์ ผู้ก่อตั้งร้านไอศกรีมโฮมเมด JingJing Ice-cream Bar and Cafe (จิงจิง ไอศกรีมบาร์ แอนด์ คาเฟ่)

ปฏิทินน่ำเอี๊ยงหรือปฏิทินจีนที่พิมพ์ด้วยหมึกสีแดงและน้ำเงิน เป็นหนึ่งในตัวช่วยสำคัญสำหรับการไหว้เจ้าในช่วงตรุษจีน เพราะภายในปฏิทินนั้นไม่ได้บอกแค่เพียงวันที่ แต่ยังระบุถึงฤกษ์งามยามดีในการไหว้ รวมถึงเทพเจ้าที่ต้องไหว้ ดังนั้นมีปฏิทินนี้ไว้คู่บ้านก็สบายใจหายห่วง

“ขอให้สุขขี ให้มีสุขสันต์”
อาหารมงคลช่วงตรุษจีนล้วนมีความหมายในเชิงสัญลักษณ์ คนเชื้อสายจีนจะกินอาหารเหล่านี้ตลอดช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมื้ออาหารค่ำวันตรุษจีนในวันส่งท้ายปีเก่า เพราะเชื่อว่าอาหารมงคลที่กินจะนำโชคมาสู่ชีวิตที่กำลังก้าวข้ามไปสู่ปีใหม่

สำหรับการสนทนาเรื่องการไหว้เจ้าในช่วงตรุษจีนกับคนเจเนอเรชันใหม่ในย่านเยาวราช เราได้วางเรื่องพิธีกรรมตามแบบแผนแสนเข้มงวดและความเชื่อโบร่ำโบราณทิ้งไปทั้งหมด และนั่งฟังพวกเขาเล่าย้อนไปถึงความทรงจำในอดีต ไล่เรียงมาจนถึงปัจจุบัน การไหว้เจ้าของแต่ละบ้านก็คล้ายกันจนแทบจะแยกไม่ออก แต่ในรายละเอียดเล็กๆ ที่แตกต่างไปนั้นก็เป็นเสน่ห์ของประเพณีนี้อย่างน่าเหลือเชื่อ

“ที่บ้านของปูจะไหว้เจ้าด้วยซาลาเปาและสัตว์ 3 อย่าง (ซาแซ) ซึ่งอาจจะเป็นได้ทั้งเป็ด ไก่ ปลา หรือ เป็ด ไก่ หมู แต่บางบ้านอาจจะไหว้ด้วยสัตว์ 5 อย่าง (โหงวแซ) เช่น เป็ด ไก่ ห่าน ปลา และหมู ข้าวกับอาหารอีก 5 อย่างหรือมากกว่า 5 อย่าง ซึ่งที่บ้านเราจะไหว้ด้วยกับข้าวง่ายๆ ที่ซื้อจากตลาด จากร้านก๊ำหล่ง เฉินติ่มซำ หรือฮั่วเซ่งฮง ส่วนผลไม้มงคล 5 อย่าง อยากกินอะไรเราก็ซื้อ โดยมีส้ม กล้วย และแอปเปิลเป็นหลัก ส่วนพวกขนมเทียนกับขนมเข่งนั้นเราแทบไม่ได้ใช้ไหว้เลย” คุณปูเล่าให้ฟังถึงรูปแบบการไหว้เจ้าของบ้าน “สำหรับการไหว้ในร้านไอศกรีมของปูเองจะมีเป็ดและไก่เป็นหลัก และจะต้องไหว้เป็นตัวเท่านั้นตามความเชื่อที่ยังหลงเหลืออยู่ของผู้ใหญ่ในครอบครัว ซึ่งเราเคยถามแม่เหมือนกันว่าทำไมเราถึงไหว้เจ้าด้วย KFC ไม่ได้ ทั้งๆ ที่หมูยังไหว้เป็นชิ้นได้ มันเป็นความเชื่อหนึ่งที่เราเองก็ไม่ได้คำตอบ แต่ว่าอาหารอย่างอื่นเช่นปลาหมึกเราสามารถไหว้ด้วยปลาหมึกแผ่นได้เลย

ตรุษจีนกับคนรุ่นใหม่ในย่านเยาวราช ที่เปลี่ยนผันไปตามกาลเวลา

“ในบางปีเราเห็นอาม่าก็ไหว้เจ้าล่วงหน้าถึง 2 สัปดาห์ เรามองว่าเมื่อยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไป พิธีการแบบแผนต่างๆ ก็ปรับเปลี่ยนไปมา เรามองว่าน่าจะเป็นเรื่องของความสะดวกสบายเป็นหลัก ส่วนเรื่องของการเลือกอาหารในยุคหลังมานี้เราจะเลือกสิ่งที่เราอยากกินก่อน บางปีเราอาจจะอยากกินไก่ บางปีเราอาจจะอยากกินหมูกรอบ เรามองว่าไหว้ด้วยเนื้อสัตว์ให้ครบ 3 หรือ 5 อย่าง เราก็สบายใจแล้ว”

สำหรับคุณเกศที่ครอบครัวประกอบอาชีพค้าขายอาหารทะเลจนเป็นหนึ่งในร้านตำนานแห่งเยาวราช นอกจากเป็ด ไก่ หรือหมูที่เป็นของพื้นฐานในการไหว้เจ้าแล้ว ครอบครัวของเธอยังจัดอาหารทะเลด้วย “สำหรับปลานั้นมีความหมายที่สื่อถึงความอุดมสมบูรณ์ ปูหมายถึงความยิ่งใหญ่และความเจริญก้าวหน้า ส่วนกุ้งนั้นหมายถึงความรุ่งเรือง มีอำนาจ นอกจากนั้นก็คือปลาหมึกแห้งซึ่งที่บ้านเชื่อว่ายิ่งตัวใหญ่จะยิ่งดี เป็นการอวยพรให้มีความรู้ แต่อาหารทะเลนั้นไม่ค่อยนิยมสำหรับการไหว้เจ้าเท่าไร อาจจะเป็นเพราะมีราคาสูงกว่าเนื้อสัตว์ประเภทอื่น

“ถึงเราจะไหว้เจ้าทุกๆ ปี ครอบครัวก็ไม่เคยบอกว่าของไหว้แต่ละอย่างนั้นมีรายละเอียดเรื่องความเชื่ออย่างไร เราแค่รับรู้ว่าต้องมีอะไรบ้างในวันไหว้เท่านั้น ในฐานะของเด็กรุ่นใหม่เราเลยเลือกทางที่สะดวกสบายที่สุดโดยใช้บริการร้านค้าในตลาดเยาวราชที่ขายของไหว้เจ้าโดยเฉพาะ เขาจะมีบริการจัดชุดไหว้เจ้าขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ต่างไซส์ต่างราคากันให้เราจิ้มเลือกได้เลย”

ทั้งคุณปูและคุณเกศนั้นต่างเป็นคนไทยเชื้อสายจีนแต้จิ๋วกันทั้งคู่ ซึ่งถือเป็นเชื้อสายของคนส่วนใหญ่ในเยาวราช (อาจจะรวมถึงส่วนใหญ่ของประเทศด้วย) ในเยาวราชยังมีความหลากหลายของเชื้อสายต่างๆ ผสมปนเปอยู่ด้วย แต่ความเชื่อในเรื่องของการไหว้เจ้านั้นก็ไม่ได้แตกต่างกันเลย สำหรับคนไทยเชื้อสายจีนไหหลำที่เกิดและโตมาในย่านเยาวราชอย่างคุณบอส-ธนโชติ สิงคิลวิทย์ ทายาทร้านกาแฟเอ็กเต็งผู่กี่ที่มีอายุไม่ต่ำกว่าร้อยปีก็ได้เล่าถึงบรรยากาศแสนเรียบง่ายของครอบครัวชาวจีนไหหลำเอาไว้ว่า “อาม่าจะตื่นตั้งแต่ตีสามตีสี่ออกไปซื้อไก่ในตลาดมาต้มเอง นอกจากนั้นก็จะมีหมูต้ม ปลา หมูแผ่น และปลาหมึกแห้ง เพื่อไหว้เจ้าและไหว้บรรพบุรุษ และหลังจากไหว้เสร็จเราจะทำอาหารกินกันในครอบครัว”

คุณปู-ชุตินาถ ทัศนานุพันธ์ ผู้ก่อตั้งร้านไอศกรีมโฮมเมด JingJing Ice-cream Bar and Cafe (จิงจิง ไอศกรีมบาร์ แอนด์ คาเฟ่)

ของไหว้เจ้าตรุษจีนยอดนิยมตลอดกาลกับความหมายที่ซ่อนอยู่

เนื้อสัตว์ : 

  • ไก่ - ความก้าวหน้าทางการงาน ความขยันหมั่นเพียร
  • เป็ด - ความบริสุทธิ์ ความสามารถหลากหลายด้าน
  • หมู - ความมั่งคั่ง อุดมสมบูรณ์

อาหารทะเล :

  • ปลา - เหลือกินเหลือใช้
  • ปลาหมึกแห้ง - ความรู้ เป็นบัณฑิต

ผลไม้ :

  • ส้ม - ความโชคดีและมั่งคั่ง
  • กล้วย - ความเจริญงอกงาม มีลูกหลานเยอะ
  • แอปเปิล - สันติสุข

ตรุษจีนกับคนรุ่นใหม่ในย่านเยาวราช ที่เปลี่ยนผันไปตามกาลเวลา

ขนมไหว้ :

  • ขนมจันอับ - ชีวิตราบรื่น โดยเฉพาะความรัก
  • ขนมอี๋ - ความรัก ความสุข ความโชคดี
  • ซาลาเปา - ห่อเงินห่อทอง
  • ขนมถ้วยฟู - ความเจริญเฟื่องฟู

“ขอให้เยาวราชครึกครื้น”
ในช่วงบ่ายของวันธรรมดา ร้านไอศกรีมแห่งเดียวในซอยเจริญกรุง 14 ไม่เงียบเหงาเลยแม้แต่น้อย ด้วยลูกค้าหลากวัยที่ทยอยเข้าออกร้านตลอดเวลา คุณปูเลือกไอศกรีม 2 รสชาติที่ขายดีที่สุดในร้าน คือ รสชีสพายที่ท็อปด้วยแยมสตรอว์เบอร์รีและรสเบอร์รีรวมซอร์เบต์มาให้เราได้ลิ้มลอง ทั้ง 2 รสนี้องค์ประกอบหนึ่งที่เหมือนกันคือสีแดง ซึ่งถือเป็นสีมงคลในความเชื่อของชาวจีน คำว่า “จิงจิง” ที่เป็นชื่อร้านนั้นมาจากหัวใจหลักในการทำไอศกรีมของเธอเอง ซึ่งเลือกที่จะใช้รสชาติ สี และกลิ่นที่ได้จากวัตถุดิบจริงๆ เท่านั้น ไม่มีการแต่งเติมเพิ่มอะไรเข้าไปเลยแม้แต่น้อย กลายเป็นจุดขายที่ทำให้ “จิงจิง” กลายเป็นพิกัดหนึ่งในเยาวราชที่คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจ

“ปูพยายามซื้อวัตถุดิบที่หาได้ในย่านนี้ ที่สำเพ็งมีร้านน้ำส้มเจ้าอร่อยเราก็จะไปซื้อจากร้านเขามาทำเป็นไอศกรีม เราจะเลือกเฉพาะส้มในฤดูหนาวที่มีรสชาติหวานกว่าช่วงอื่นๆ มาทำ ซึ่งเป็นช่วงที่ตรงกับเทศกาลตรุษจีนพอดี เราเลยมักจะดึงส้มมาเป็นเมนูพิเศษในช่วงตรุษจีน หรือเวลาไปเจอวัตถุดิบแปลกใหม่ในตลาดเยาวราชอย่างเช่นพุทรา เราก็หยิบเอาพุทราแห้งมาเชื่อมทำเป็นไอศกรีมซอร์เบต์ หรือบ๊วยดองก็เอามาทำเป็นไอศกรีมรสบ๊วย เราเคยได้แรงบันดาลใจจากอาหารจีนด้วย เช่น เมนูไอศกรีมข้าวต้มกินคู่กานาฉ่ายและเห็ดผัด เป็นเมนูพิเศษในช่วงเดือนกินเจ หรือบางทีเรานั่งกินเย็นตาโฟอยู่ก็เกิดความสนใจเลยไปซื้อซอสเย็นตาโฟมาทำเป็นไอศกรีม เสิร์ฟกับเกี๊ยวกรอบ เป็นเมนูสีชมพูเสิร์ฟในเดือนแห่งเทศกาลวาเลนไทน์

“เยาวราชเคยมีทั้งช่วงที่เงียบและช่วงที่ครึกครื้น ปูจำได้เลยว่าร้านอาหารสตรีทฟู้ดแถวนี้ขายกันจนถึงตีสอง ตอนเด็กๆ เรายังเคยออกมากินข้าวกับแม่ตอนเที่ยงคืน และเคยซบเซาไปพักใหญ่ในช่วงวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ แล้วก็กลับมาบูมอีกครั้งในช่วงที่ประเทศไทยเริ่มโปรโมตการท่องเที่ยวเมื่อไม่เกิน 10 ปีก่อน และคนเริ่มใช้โซเชียลมีเดียเยอะขึ้น ทำให้เรียกคนเข้ามาได้มาก ซึ่งก่อนหน้านั้นเราก็มองว่าเยาวราชเป็นย่านที่มีความโบราณ อยากกินกาแฟเอสเปรสโซสักแก้วก็ยังหาไม่ได้เลย ลูกหลานเยาวราชหลายๆ คนที่ไม่ได้ทำงานออฟฟิศก็น่าจะเคยลองเปิดคาเฟ่ในเมืองแถวสุขุมวิทหรือทองหล่อแล้วไม่เวิร์ก เมื่อมีแพลนว่ารถไฟฟ้ากำลังจะมาทำให้คนรุ่นใหม่เริ่มกลับมาที่เยาวราชมากขึ้น ปูก็เป็นหนึ่งในนั้นที่กลับมาพร้อมๆ กัน พอคาเฟ่เริ่มพัฒนาก็เริ่มมีคนรุ่นใหม่เข้ามาเปิดอาหารแนวจีนมากขึ้น ขยายรวมถึงย่านซอยนานาที่มีทั้งคาเฟ่และบาร์ที่ดังมากๆ”

ตรุษจีนกับคนรุ่นใหม่ในย่านเยาวราช ที่เปลี่ยนผันไปตามกาลเวลา

คุณเกศก็เป็นหนึ่งในคนรุ่นใหม่ที่แยกตัวออกมาทำธุรกิจของตัวเอง แต่ก็หยิบเอาสิ่งที่ครอบครัวของเธอเชี่ยวชาญอย่างซีฟู้ดมาปรับเปลี่ยนให้เข้ากับคนรุ่นใหม่มากยิ่งขึ้น “เราเป็นเด็กรุ่นใหม่ที่คลุกคลีอยู่กับเยาวราชมาตั้งแต่เด็ก ดังนั้นเราเลยมองเห็นว่าเอกลักษณ์ของเยาวราชคืออะไร เราก็พยายามที่จะรักษามันเอาไว้ และอะไรที่เราสามารถพัฒนาได้อย่างเช่นอาหารทะเลซึ่งเราพยายามทำให้บรรยากาศแตกต่างไปจากเดิมเพื่อเพิ่มสีสันจากร้านสตรีทฟู้ดเดิมที่มีอยู่ ถึงแม้ว่าตัวผลิตภัณฑ์และเมนูของเราจะไม่ต่างกันมากก็ตาม เราพยายามจะเจาะกลุ่มลูกค้าที่ไม่ได้มาเดินตามหาสตรีทฟู้ด แต่มองหาร้านอาหารที่สามารถนั่งกินอาหารได้สบายๆ หลุดจากความคึกคักบนถนนเยาวราช และร้านเราเปิดในช่วงกลางวันด้วย เป็นการเติมเต็มช่วงเวลาที่เยาวราชขาดไป เพราะอย่างที่เรารู้กันดีว่าย่านนี้จะคึกคักในช่วงกลางคืนมากกว่า”

ถ้าให้บอกช่วงเวลาที่เยาวราชเงียบเหงาที่สุดอีกช่วงหนึ่งก็คงหนีไม่พ้นพิษจากโควิด-19 ที่ร้านอาหารจำเป็นต้องปิดให้บริการนั่งในร้านอยู่พักใหญ่ แต่ ณ ช่วงเวลานั้นเองคุณบอสก็ได้หยิบฉวยโอกาสนั้นไว้เพื่อลงมือปรับปรุงร้านกาแฟโบราณเอ็กเต็งผู่กี่ ที่ทรุดโทรมตามกาลเวลาให้กลับมามีชีวิตและสีสันอีกครั้ง “ถ้าร้านไม่ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ก็อาจจะอยู่ไม่ได้จนถึงทุกวันนี้

“สมัยก่อนเยาวราชเป็นย่านคนจีน แต่ทุกวันนี้คนจีนที่มีพื้นเพที่นี่เริ่มจากไปบ้าง และย้ายออกไปอยู่ที่อื่น ร้านต่างๆ ที่เกิดขึ้นหลายๆ ร้านก็ไม่ใช่ร้านดั้งเดิมของเยาวราชมาตั้งแต่ต้น แต่เราก็พยายามปรับตัวให้เข้าตามกระแสของไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่มากขึ้น นอกจากเมนูกาแฟที่เราคั่วเมล็ดเอง ชาซีลอนจากศรีลังกา และขนมปังจิ้มสังขยาสูตรเฉพาะของร้านที่มีมานาน ก็อาจจะมองไปถึงอนาคต คิดถึงเมนูใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีใครทำเข้ามาเสริมเพื่อให้ร้านของเราอยู่ได้ยาวๆ”

ถึงแม้เยาวราชจะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย แต่ก็ยังคงเป็นย่านจีนยืนหนึ่งในกรุงเทพมหานครที่ไม่ว่าจะเป็นคนไทยเชื้อสายจีนหรือไม่ก็ตามจะต้องนึกถึงเสมอ และในตลาดเก่า วัดมังกรกมลาวาส (วัดเล่งเน่ยยี่) และศาลเจ้าที่โอบรอบพื้นที่บริเวณนี้เอาไว้ ก็ยังคงเป็นเสมือนแหล่งรวมตัวรวมใจของชาวไทยเชื้อสายจีนอย่างไม่มีวันเปลี่ยนแปลง และยังคงคึกคักเป็นพิเศษเสมอในเทศกาลตรุษจีน

ขอขอบคุณ

  • คุณปู-ชุตินาถ ทัศนานุพันธ์ ร้าน JingJing Ice-cream Bar and Cafe
  • คุณเกศ-เกศรา เบญกานี ร้าน The Seafood Café & Restaurant
  • คุณบอส-ธนโชติ สิงคิลวิทย์ ร้านกาแฟโบราณเอ็กเต็งผู่กี่


Tag: ตรุษจีน

เรื่องโดย

ความคิดเห็น

Editor’s Pick

Recent

Most Viewed