ดอกคาโมมายล์กับการนอนหลับ

วันที่ 27 ธันวาคม 2564  2,542 Views
นิตยสาร Gourmet & Cuisine ฉบับที่ 257 เดือนธันวาคม 2564

TH
EN
CN

จากการสำรวจของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในปี 2562 พบว่าปัญหาการนอนไม่หลับหรือนอนหลับไม่เพียงพอสำหรับประชากรไทยพบได้ทุกช่วงอายุมากถึงร้อยละ 30-40 ของประชากร เฉลี่ยประมาณ 19 ล้านคนที่ประสบกับปัญหาการนอนไม่หลับหรือนอนไม่เพียงพอ การนอนหลับเป็นปัจจัยที่จำเป็นสำหรับมนุษย์ทุกคน เนื่องจากมีบทบาทสำคัญในการทำงานของสมองและกลไกในระบบต่างๆ ของร่างกาย หากนอนหลับพักผ่อนเพียงพอก็จะส่งผลให้สุขภาพดี การนอนหลับมีบทบาทสำคัญในการทำงานของสมอง การเผาผลาญ การควบคุมความอยากอาหาร การทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ระบบฮอร์โมน ระบบหัวใจและหลอดเลือด

การนอนหลับที่ดีต่อสุขภาพนั้นจะต้องมีระยะเวลาการนอนที่เพียงพอ มีความสม่ำเสมอที่เหมาะสม และไม่ถูกรบกวนขณะนอนหลับ หากมีการนอนหลับที่ไม่เพียงพอ หรือการนอนหลับที่ไม่มีคุณภาพ เกิดการหยุดชะงักของการนอนหลับ จะส่งผลเสียต่อสุขภาพทั้งระยะสั้นและระยะยาว

ดอกคาโมมายล์กับการนอนหลับ

ผลที่เกิดในระยะสั้น เช่น ความเครียดที่เพิ่มขึ้น เพิ่มความเจ็บปวดของร่างกาย คุณภาพชีวิตที่ลดลง ความผิดปกติทางอารมณ์ และเกิดความบกพร่องทางสติปัญญาในเรื่องความจำ ทำให้ความจำแย่ลง ส่วนการส่งผลในระยะยาว เช่น ภาวะความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด น้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้น เพิ่มการสะสมของไขมันใต้ผิวหนัง โรคเบาหวานชนิดที่ 2 และมะเร็งลำไส้ใหญ่ รวมถึงส่งผลรุนแรงจากอุบัติเหตุ

เมื่อนอนไม่หลับ บางคนมีการกินยานอนหลับเพื่อให้นอนหลับได้ง่าย และไม่รู้สึกถูกรบกวนขณะที่นอนหลับ ถึงแม้ยาจะมีประสิทธิภาพที่ช่วยในการนอนหลับ แต่ยานอนหลับมีผลข้างเคียงต่อสุขภาพเช่นกัน หากใช้ในปริมาณที่ไม่เหมาะสมโดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์ ดังนั้น จึงมีการใช้กลุ่มของพืชสมุนไพรที่ช่วยลดอาการนอนไม่หลับ เพื่อไม่ให้เกิดผลข้างเคียง หรือมีผลข้างเคียงที่ไม่อันตราย

ดอกคาโมมายล์กับการนอนหลับ

ดอกคาโมมายล์ เป็นพืชใบเลี้ยงคู่ ปลูกมากในทวีปยุโรป ในประเทศไทยพบว่าปลูกที่เชียงใหม่และเชียงราย คาโมมายล์ประกอบด้วยสารหลายกลุ่ม เช่น สารกลุ่มฟลาโวนอยด์ ได้แก่ Apigenin, Quercetin, Patuletin, Luteolin และ Flavonoid Glucosides สารกลุ่มคูมารินส์ ได้แก่ Herniarin และ Umbelliferone และน้ำมันหอมระเหย นอกจากนี้ ยังพบกรดฟีโนลิก และ GABA

ดอกคาโมมายล์เป็นสมุนไพรที่ช่วยในการนอนหลับมาอย่างยาวนาน นิยมกันมากในทวีปยุโรป โดยมีสรรพคุณมากมาย เช่น ทำให้จิตใจสงบ คลายความวิตกกังกล ช่วยให้นอนหลับ ลดอาการระคายเคืองของทางเดินอาหาร ขับลม ลดอาการปวดเกร็งท้อง ลดการปวดประจำเดือน ต้านการอักเสบ ช่วยสมานแผล จากการศึกษาพบคุณสมบัติต่อระบบประสาท โดยสารสกัดดอกคาโมมายล์มีฤทธิ์ช่วยคลายความวิตกกังวล ทำให้รู้สึกสงบและทำให้นอนหลับดีขึ้น โดยพบว่า สารออกฤทธิ์ที่สำคัญ คือ Apigenin ออกฤทธิ์โดยการจับกับ Benzodiazepine Eeceptors ช่วยออกฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง นอกจากนี้ ในสาร GABA เป็นสารสื่อประสาทที่จะไปยับยั้งการทำงานของเซลล์ประสาทอื่น ทำหน้าที่รักษาสมดุลในสมอง ช่วยทำให้เกิดการผ่อนคลาย มีการทดลองทางคลินิกในประเทศญี่ปุ่น พบว่าการรับประทานเจลลีคาโมมายล์มีผลในการลดอัตราการเต้นของหัวใจ

ดอกคาโมมายล์กับการนอนหลับ

การศึกษาในผู้ป่วยที่มีอาการวิตกกังวลในระดับปานกลาง และถูกประเมินด้วยแบบวัดภาวะวิตกกังวล Hamilton Anxiety Rating Scale (HAM-A) พบว่า การรับประทานสารสกัดจากดอกคาโมมายล์ติดต่อกันเป็นเวลา 8 สัปดาห์ จะช่วยลดอาการวิตกกังวลได้อย่างดี และการสูดดมไอของน้ำมันหอมระเหยคาโมมายล์ช่วยลดระดับฮอร์โมน Adrenocorticotropic ในพลาสมา (ACTH) ที่เกิดจากความเครียด ปริมาณคำแนะนำในการบริโภคถ้าเป็นในรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจะอยู่ที่ 350-1000 มิลลิกรัมต่อวัน หรืออาจมากกว่าในบางราย ซึ่งควรปรึกษาแพทย์หรือนักกำหนดอาหาร สำหรับในรูปแบบเครื่องดื่ม ควรแช่ในน้ำร้อน 5-10 นาที ดื่มวันละ 2-4 แก้ว ข้อควรระวังในการรับประทานคาโมมายล์คืออาจเกิดการแพ้ได้ในผู้ที่เคยมีประวัติการแพ้กลุ่มดอกไม้หรือเกสรดอกไม้

ระยะเวลาของการนอนหลับตามคำแนะนำของ มูลนิธิการนอนแห่งชาติ (National Sleep Foundation : NSF) ได้แนะนำช่วงเวลาการนอนหลับที่เหมาะสมไว้ดังนี้

  1. เด็กแรกเกิด 0-3 เดือน ช่วงเวลาการนอนหลับที่แนะนำคือ 14-17 ชั่วโมง และอาจนอนหลับได้มากถึง 18-19 ชั่วโมง
  2. เด็กแรกเกิด 4-11 เดือน ช่วงเวลาการนอนหลับที่แนะนำคือ 12-15 ชั่วโมง โดยมีการนอนกลางวัน 3-4 ครั้ง และอาจนอนหลับได้มากถึง 16-17 ชั่วโมง
  3. เด็กอายุ 1-2 ปี ช่วงเวลาการนอนหลับที่แนะนำคือ 11-14 ชั่วโมง โดยมีการนอนกลางวัน 1 ครั้ง และอาจนอนหลับได้มากถึง 15-16 ชั่วโมง
  4. เด็กอายุ 3-5 ปี ช่วงเวลาการนอนหลับที่แนะนำคือ 10-13 ชั่วโมง โดยไม่ต้องนอนกลางวัน และอาจนอนหลับได้มากถึง 14 ชั่วโมง
  5. เด็กอายุ 6-13 ปี ช่วงเวลาการนอนหลับที่แนะนำคือ 9-11 ชั่วโมง และอาจนอนหลับได้มากถึง 12 ชั่วโมง
  6. เด็กวัยรุ่นอายุ 14-17 ปี ช่วงเวลาการนอนหลับที่แนะนำคือ 8-10 ชั่วโมง และอาจนอนหลับได้มากถึง 11 ชั่วโมง
  7. ผู้ใหญ่อายุ 18-25 ปี ช่วงเวลาการนอนหลับที่แนะนำคือ 7-9 ชั่วโมง หรืออาจจะนอน 6 ชั่วโมง หรือ 10-11 ชั่วโมง แต่ไม่แนะนำให้นอนน้อยกว่า 6 ชั่วโมง หรือนอนมากกว่า 11 ชั่วโมง
  8. ผู้ใหญ่อายุ 26-64 ปี ช่วงเวลาการนอนหลับที่แนะนำคือ 7-9 ชั่วโมง หรืออาจจะเป็น 6 ชั่วโมง หรือ 10 ชั่วโมง แต่ไม่แนะนำให้นอนน้อยกว่า 6 ชั่วโมง หรือนอนมากกว่า 10 ชั่วโมง
  9. ผู้สูงอายุอายุ 65 ปีขึ้นไป ช่วงเวลาการนอนหลับที่แนะนำคือ 7-8 ชั่วโมง หรืออาจจะนอน 5-6 ชั่วโมง หรือ 9 ชั่วโมง แต่ไม่แนะนำให้นอนน้อยกว่า 5 ชั่วโมง หรือนอนมากกว่า 9 ชั่วโมง


Tag: Food for life, ดอกคาโมมายล์

เรื่องโดย

ความคิดเห็น

Editor’s Pick

Recent

Most Viewed