ภาวะวัยทองกับอาหารที่ควร/ไม่บริโภค

วันที่ 23 พฤศจิกายน 2564  2,066 Views
นิตยสาร Gourmet & Cuisine ฉบับที่ 256 เดือนพฤศจิกายน 2564

TH
EN
CN

ภาวะวัยทองกับอาหารที่ควร/ไม่บริโภค

ภาวะวัยทองเป็นภาวะหนึ่งที่เกิดขึ้นได้กับทุกคนโดยช่วงวัยที่เกิดขึ้นคือผู้หญิงอายุ 45-49 ปี ผู้ชายอายุ 40-59 ปี โดยอาการที่แสดงคือ อาการร้อนวูบวาบตามตัว เหงื่อไหล มักเป็นตอนกลางคืน รู้สึกใจสั่น เต้นเร็วและแรง ทำให้รู้สึกกังวล อาการนอนไม่หลับ (แม้จะไม่มีอาการร้อนวูบวาบ) อารมณ์ขึ้นลงไม่แน่นอน หงุดหงิดและแปรปรวนได้ง่าย ประจำเดือนมาไม่ปกติ เช่น มาบ่อย มาน้อยลง หรือมากกว่าปกติ ความสนใจทางเพศลดลง และรู้สึกเจ็บปวดเวลาร่วมเพศเนื่องจากน้ำหล่อลื่นลดน้อยลง ความจำเสื่อมลง หลงลืมได้ง่าย เกิดความผิดปกติกับระบบย่อยอาหาร ท้องอืด แน่นท้อง ท้องผูก เกิดความผิดปกติกับระบบทางเดินปัสสาวะ กลั้นปัสสาวะได้ไม่ดี ชาตามปลายมือปลายเท้า ผิวหนังแห้ง ขาดความชุ่มชื่น

ภาวะวัยทองกับอาหารที่ควร/ไม่บริโภค

สาเหตุมาจากการลดระดับของฮอร์โมนเพศทั้งผู้หญิง (Estrogen) และผู้ชาย (Testosterone) ในผู้หญิงรังไข่จะเริ่มฝ่อและไม่สร้างฮอร์โมนเอสโตรเจน จึงเข้าสู่ภาวะหมดประจำเดือน (Menopause) สำหรับในผู้ชายอัณฑะจะค่อยๆ เสื่อมมากขึ้น ฉะนั้น ระดับฮอร์โมนเทสโตสเตอโรนจะค่อยๆ ลดลง ซึ่งภาวะวัยทองหากไม่ดูแลเรื่องของอาหารการกินให้ดีอาจทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคอื่นๆ เช่น โรคกระดูกพรุน โรคหัวใจ และหลอดเลือด โรคอัลไซเมอร์ และกลุ่มของโรคมะเร็ง

ภาวะวัยทองกับอาหารที่ควร/ไม่บริโภค

อาหารที่ควรรับประทาน

  • เน้นอาหารไขมันต่ำ เลี่ยงการทอด บริโภคผักและผลไม้ไม่หวานจัดเป็นประจำ ควรได้รับวิตามินดีเพียงพอ (จากอาหารและแสงแดด)
  • อาหารที่มีแคลเซียมสูง (ความต้องการแคลเซียมวันละ 1,500 มิลลิกรัม) เช่น ผลิตภัณฑ์นม ปลาเล็กปลาน้อย ปลาซาร์ดีน กุ้งแห้ง และผักใบสีเขียวเข้ม เช่น ใบยอ ใบชะพลู ยอดแค ผักกระเฉด ตำลึง เป็นต้น (ป้องกันกระดูกพรุน)
  • อาหารที่ทำจากถั่วเหลือง (ทดแทนฮอร์โมนเอสโตรเจน) ได้แก่ เต้าหู้หลอด เต้าหู้แผ่น น้ำเต้าหู้ น้ำนมถั่วเหลือง
  • อาหารที่มีกากใยอาหารสูง (ป้องกันไม่ให้ท้องผูก ป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่) พบในผักและผลไม้ อาหารที่ใช้น้ำมันที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวตำแหน่งเดียวสูงในการปรุงประกอบ เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันรำข้าว น้ำมันงา
  • อาหารที่อุดมด้วยกรดไขมันจากพืช เช่น ถั่วแดงหลวง ถั่วฝักยาว ถั่วลันเตา ถั่วแขก เมล็ดพืชต่างๆ เช่น เมล็ดฟักทอง เมล็ดทานตะวัน รวมทั้งธัญพืชจำพวกข้าวสาลี ข้าวโอ๊ต ข้าวบาร์เลย์ และข้าวไรย์
  • อาหารที่มีวิตามินบางชนิดที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น วิตามินอี (ข้าวโพด ถั่วแดง ถั่วเหลือง ถั่วลิสง งา) วิตามินซี (ส้ม มะเขือเทศ มะนาว และผักผลไม้สด) รวมทั้งเบต้าแคโรทีน (แครอท มะเขือเทศ ฟักทอง ผักบุ้ง) และธาตุซีลิเนียม (อาหารทะเล เนื้อสัตว์)

ภาวะวัยทองกับอาหารที่ควร/ไม่บริโภค

อาหารที่ไม่แนะนำ/ควรหลีกเลี่ยง

  • อาหารที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง เช่น อาหารที่ไหม้เกรียม อาหารหมักดอง เป็นต้น (วัยทองเป็นวัยที่เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง)
  • อาหารหวานจัด ทั้งขนมหวาน และผลไม้ที่มีรสหวานจัด เช่น ทุเรียน ลำไย ขนุน
  • เครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  • อาหารปรุงแต่งต่างๆ ได้แก่ อาหารหวานจัด อาหารสำเร็จรูป อาหารที่มีสารเคมีเป็นส่วนผสม และโซเดียมซึ่งมีอยู่ในเกลือ ผงชูรส ผงฟู และสารผสมอาหารต่างๆ
  • อาหารที่มีส่วนของไขมันอิ่มตัวสูง เช่น เนื้อติดมัน หมูสามชั้น ไอศกรีมหวานๆ อาหารจานด่วน ขนมอบเบเกอรี่ แครกเกอร์ต่างๆ มันฝรั่งทอดกรอบ โดนัท เป็นต้น
  • อาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง เช่น เครื่องในสัตว์ อาหารทะเล
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็มจัด เนื่องจากเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้กระดูกบางลง

Tag: Food for life, วัยทอง

เรื่องโดย

ความคิดเห็น

Editor’s Pick

Recent

Most Viewed