เมื่อเอ่ยถึงชื่อประเทศอินโดนีเซียคุณนึกถึงอะไร?
บางคนอาจจะนึกถึงภูเขาไฟบนเกาะชวา บางคนนึกถึงกาแฟขี้ชะมดกิโลกรัมละหลายพันบาทที่เขาว่าหอมอร่อยสุดๆ บางคนอาจจะนึกถึงบุโรพุทโธ พุทธสถานลัทธิมหายานขนาดใหญ่ที่สุดในโลก สร้างด้วยหินภูเขาไฟนับล้านก้อน และบางคนก็อาจนึกถึงอิเหนา (คนอินโดนีเซียเรียกว่าปันหยี) เป็นนิทานโบราณที่เล่าสืบต่อกันมาบนเกาะชวาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 16 แล้ว แต่คงจะไม่มีใครเลยนึกถึง ‘บันยูวังงี’ (Banyuwangi) จังหวัดน่าเที่ยวที่ถูกคนไทยมองข้ามอย่างน่าเสียดาย คนส่วนใหญ่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีสถานที่นี้อยู่บนโลก เพราะเป็นเมืองนอกสายตา เมืองตกสำรวจอันแสนน่ารักที่ฉันอยากจะพาพวกเราไปสัมผัสกันในทริปนี้
พระอาทิตย์ขึ้นที่หาดบูมบีช มองเห็นเกาะบาหลีอยู่ใกล้แค่เอื้อม
บันยูวังงีคือจังหวัดที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกสุดของเกาะชวา ห่างจากเกาะบาหลีด้วยการนั่งเรือข้ามไป เพียง 8 กิโลเมตร แต่นักท่องเที่ยวต่างชาติรู้จักบันยูวังงีน้อยมาก เพราะส่วนใหญ่ใช้เป็นทางผ่านไปบาหลี โดยไม่มีใครฉุกคิดเลยว่า จังหวัดที่ได้ฉายาว่า ‘Diamond Triangle’ นี้จะต้องมีของดีซุกซ่อนอยู่เหมือนกัน
ปีหนึ่งในเดือนตุลาคม ขณะที่สายฝนในเมืองไทยยังโปรยปรายอยู่ ฉันกลับพาตัวเองบินไปสู่เกาะชวา เกาะใหญ่ที่รวบรวมจิตวิญญาณทั้งหลายของอินโดนีเซียเอาไว้อย่างครบถ้วน ทั้งในแง่ความงามตามธรรมชาติ แหล่งมรดกโลกทางประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม อาหารการกิน และวิถีชีวิตผู้คนที่เติบโตขึ้นตามยุคสมัย ทว่าหมุดหมายของฉันคราวนี้ดูจะแปลกกว่าที่เคย เพราะฉันกำลังพาตัวเองมุ่งหน้าสู่จังหวัดบันยูวังงี ซึ่งมีเนื้อที่กว่า 5,700 ตารางกิโลเมตร และมีผู้คนอาศัยอยู่ราวๆ 1.6 ล้านคน ถามว่าไปทำไมที่นั่น? ฉันจะบอกให้ว่าคนส่วนใหญ่คงไม่รู้หรอกว่าบันยูวังงีในช่วงเดือนตุลาคมจะมีการจัดเทศกาลคาร์นิวัลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอาเซียนขึ้น ในลักษณะของขบวนพาเหรดแฟนตาซียาวเหยียดกว่า 2.2 กิโลเมตร ถ้าจะเทียบกันเล่นๆ แล้วก็ถือว่าเป็นงานคาร์นิวัลน้องๆ บราซิลเลย ไม่ได้โม้
แต่ก่อนจะเข้าไปชมงานคาร์นิวัลสุดอลังการที่ว่านี้ เราลองมาทำความรู้จักกับบันยูวังงีกันสักนิดก่อน ในอดีตบันยูวังงีเป็นอาณาจักรที่เป็นเอกเทศไม่ขึ้นกับใคร ชื่ออาณาจักรบลัมบังกัน (Blambangan) แต่เมื่อเริ่มถูกกองทัพฮินดูของอาณาจักรมัชปาหิตรุกราน บลัมบังกันเลยต้องไปขอความช่วยเหลือจากบาหลี อาณาจักรนี้จึงตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของบาหลีกว่า 150 ปี ส่งผลถึงทุกวันนี้ด้วย ว่าทำไมบันยูวังงีจึงมีความผสมผสานระหว่างฮินดูเกาะชวากับฮินดูแบบบาหลีอย่างลงตัว อาชีพหลักของคนที่นี่นอกจากประมงท้องถิ่นก็มีการปลูกกาแฟและอ้อย เพราะดินภูเขาไฟแถบนี้อุดมด้วยแร่ธาตุนานาชนิด ใช้ปลูกพืชผลได้งอกงามดี รสชาติอร่อย คงต้องขอบคุณเทพเจ้าภูเขาไฟที่ชาวอินโดนีเซียนับถือ
สวนสาธารณะด้านหน้ามัสยิดบันยูวังงี เหมาะไปนั่งพักผ่อน
ความน่ารักอย่างหนึ่งของบันยูวังงีก็คือชื่อของเขานั่นล่ะ เพราะคำว่า ‘Banyuwangi’ ในภาษาชวา แปลว่า ‘สายธารากลิ่นหอมหวน’ โดยชื่อนี้ไปเกี่ยวพันกับตำนานปรัมปราพื้นบ้านเรื่องพระนางศรีทันจุง (Sri Tanjung) เล่าสั้นๆ ก็คือ พระนางศรีทันจุงเป็นสาวงามประดุจนางฟ้า จนเกิดมีอัศวินรูปหล่อชื่อ ราเดน สีดาปัคซา (Raden Sidapaksa) ไปหลงรักเข้า จึงสมรสกัน เมื่อราเดน สีดาปัคซาพานางกลับเมือง ปรากฏว่าพระราชาก็เกิดหลงรักนางเข้าเต็มเปา จึงหลอกให้ราเดน สีดาปัคซาไปทำภารกิจสำคัญนอกเมือง ขณะนั้นพระราชาพยายามข่มเหงนาง แต่นางไม่ยอม พอดีกับที่ราเดน สีดาปัคซากลับมาเห็น พระราชาจอมขี้โกงจึงป้ายความผิดให้ศรีทันจุงว่านางเป็นฝ่ายทอดสะพานให้ ราเดน สีดาปัคซาไม่ทันคิด บวกกับความเสียใจระคนความแค้น จึงใช้กริชจ้วงแทงภริยาของตนจนตาย แต่ก่อนตายนางได้ตั้งสัตย์ปฏิญาณไว้ว่า ถ้านางไม่ผิด ขอให้เลือดที่ไหลออกมากลายเป็นน้ำที่มีกลิ่นหอมหวน ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ แต่นิทานเรื่องนี้ก็จบแบบ Happy Ending เมื่อเทพบนสวรรค์เห็นใจ คืนชีวิตให้นางได้กลับมาครองคู่กับสามีในที่สุด และทุกวันนี้นักท่องเที่ยวที่ไปเยือนบันยูวังงีหรือเมืองต่างๆ บนเกาะชวาก็ยังสามารถชมการแสดงละครเรื่องพระนางศรีทันจุงได้เสมอ
มัสยิดประจำเมืองบันยูวังงี มีขนาดใหญ่โตไม่ใช่เล่น
เสน่ห์อย่างหนึ่งของบันยูวังงีที่ฉันหลงรักตั้งแต่แรกเห็น คือตัวเมืองขนาดไม่ใหญ่ไม่โต รถราไม่หนาแน่นจอแจ พอพ้นนอกเมืองออกไปนิดเดียวก็พบกับทัศนียภาพของชายทะเลปลายตะวันออกสุดของเกาะชวา บวกกับมีป่าไม้ ภูเขา เรือกสวนไร่นา แถมอากาศก็เย็นสบาย มีลมทะเลพัดโชยอยู่ตลอดวัน ที่สำคัญคือคนเมืองนี้ยิ้มง่าย เล่นกล้อง และชอบเข้ามาพูดคุยกับคนไทยเชื้อสายจีนหน้าตี๋อย่างฉัน ทำให้รู้สึกถึงบรรยากาศของความเป็นมิตร สามารถเดินเตร็ดเตร่เที่ยวชมเมืองไปตามท้องถนน แวะชิมอาหารพื้นบ้านอย่างก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นชวาที่เรียกว่าบัคโซ (Bakso) ชิมน้ำผลไม้ปั่นเย็นชื่นใจคลายร้อน ตามด้วยไอศกรีมและเค้กสายรุ้งที่คนนิยมกินกัน ฉันจึงพบความสุขแบบเรียบง่ายได้ในเมืองนี้
หมึกสดๆ จากท้องทะเล มีให้ชิมตลอดปีที่บันยูวังงี
บัคโซหรือก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นอินโดเป็นอาหารประจำชาติที่หาชิมได้ง่ายมาก
ในที่สุดวันที่รอคอยก็มาถึง สำหรับขบวนพาเหรดสุดเริดหรูอลังการ เรียกชื่อเป็นทางการว่า BEC หรือ ‘Banyuwangi Ethno Carnival’ ซึ่งจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 2011 เพื่อแสดงให้เห็นถึงความร่ำรวยทางศิลปวัฒนธรรม ความคิดสร้างสรรค์ และความเป็นสากล ที่ผสมผสานกันอยู่ในจังหวัดบันยูวังงี รูปแบบที่จัดต่อเนื่องมาทุกปีคือขบวนพาเหรดที่ยาวไม่ต่ำกว่า 2 กิโลเมตร โดยใช้ผู้เข้าร่วมขบวนเป็นนักเรียน นักศึกษา และคนรุ่นใหม่ที่ทางรัฐบาลท้องถิ่นให้การสนับสนุน ไปคิดสร้างสรรค์ชุดแฟนตาซีตามแนวคิดของแต่ละกลุ่มมาประชันกัน ซึ่งส่วนใหญ่แม้ว่าจะแฟนซีปานใด แต่ก็ยังอนุรักษ์แนวคิดเรื่องพื้นบ้านไว้ด้วย ทว่าน่าเสียดายที่รัฐบาลบันยูวังงียังไม่ได้โฆษณางานนี้ในระดับสากล คนที่มาเที่ยวชมเกือบจะ 100 เปอร์เซ็นต์ จึงเป็นอินโดนีเซียเองนั่นล่ะ
ขบวนวงดุริยางค์ประโคมขึ้น เป็นสัญญาณเปิดงานคาร์นิวัลประจำปี
งานนี้เริ่มขึ้นที่สนามกีฬากลางของเมือง เมื่อท่านนายกเทศมนตรรีเมืองบันยูวังงีกล่าวเปิด ขบวนพาเหรดแรกที่เน้นความเป็นศิลปะพื้นบ้านทั้งเครื่องแต่งกายและดนตรีจะเริ่มเดินนำขบวนออกไป แน่นอนว่าขบวนแรกนี้มีจุดเด่นอยู่ที่หนุ่มสาวสุดหล่อสุดสวย ตัวแทนตำนานพระนางศรีทันจุงหรือพระนางเลือดหอม จากนั้นขบวนพาเหรดก็จะเคลื่อนตัวตามกันมาอย่างต่อเนื่องออกสู่ท้องถนนรอบเมือง ซึ่งตอนนี้มีผู้คนนับหมื่นๆ ยืนเบียดเสียดออกันอยู่เต็มข้างถนน ในขณะที่เสียงดนตรีประโคมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเสียงกลองอันแสนเร้าใจ บวกกับสีสันของชุดแฟนตาซีที่ดูแล้วราวกับหลุดมาจากโลกมนุษย์ต่างดาว ทำให้ผู้ชมยิ้มดีใจ ถ่ายภาพ ปรบมือต้อนรับ และบ้างก็วิ่งออกไปในขบวนเพื่อขอถ่ายภาพคู่กับนางแบบนายแบบ ที่เปลี่ยนถนนกลางเมืองบันยูวังงี ให้กลายเป็นแคตวอล์กย่อมๆ ไปแล้ว
เจ้าหญิงเจ้าชายในตำนานเดินนำขบวนคาร์นิวัลออกมาเป็นอันดับแรก
สายตาคมเข้มและชุดที่ตกแต่งเกินจินตนาการของงานคาร์นิวัล
ผู้เข้าร่วมขบวนทุกคนล้วนแต่งกายด้วยชุดที่สร้างสรรค์กันมาสุดฝีมือ ประกอบด้วยลวดลายและวัสดุต่างๆ ผสมผสานขึ้นเป็นชุดที่มีน้ำหนักหลายสิบกิโลกรัม จนบางชุดต้องมีพี่เลี้ยงตั้งแต่ 1-3 คน คอยเดินประคองกันไปตลอด แม้ว่าอากาศจะร้อน ชุดจะหนักปานใด ผู้เข้าร่วมขบวนของเราก็ยังยิ้มสู้กล้อง เดินเฉิดฉายโชว์ชุด พร้อมกับหยุดโพสท่าให้ช่างภาพจากสำนักต่างๆ รัวชัตเตอร์กันอยู่ตลอดเวลา ถ้าจะถามว่าเขาจัดงานนี้ทำไมกัน ก็ตอบเลยว่าเพื่อความสนุกสนานรื่นเริงล้วนๆ สะท้อนถึงความสงบสุขในบันยูวังงี เหมือนงานรื่นเริงใหญ่สุดประจำปีที่ผู้คนจะมารวมตัวกัน และแน่นอนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยว เป็นงานที่บอกตามตรงเลยว่าถ่ายภาพสนุกมาก เพราะได้ชมความหลุดโลกของ Fashion Design ของคนบนเกาะชวาที่คนไทยอย่างเราอาจคิดไม่ถึง
ความอลังการของชุดผู้เข้าร่วมขบวนคาร์นิวัล
ชุดคาร์นิวัลแบบสร้างสรรค์ นำพืชผักผลไม้มาประดิษฐ์ประดอย
หลังจากงานคาร์นิวัล BEC ผ่านไป วันถัดมาฉันเพิ่มกำไรให้กับการท่องเที่ยวทริปนี้ด้วยการนั่งรถออกตระเวนเยือนสถานที่สำคัญต่างๆ ของบันยูวังงี เริ่มตั้งแต่เช้าตรู่ที่ ‘บูมบีช’ (Boom Beach) ชายหาดชื่อดังที่สุด เพราะเป็นหาดทรายสีดำสนิทเนื้อละเอียดยิบ แถมยังเป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นที่สวยจับใจ เมื่อยืนอยู่บนหาดนี้มองออกไปจะเห็นเกาะบาหลีอยู่ใกล้มากราวกับจะจับต้องได้ นักท่องเที่ยวนิยมมานั่งปิกนิก และเล่นน้ำที่บูมบีชอย่างล้นหลามทุกวัน
ชายหาดบูมบีช เมืองบันยูวังงี เป็นหาดทรายดำจากภูเขาไฟแท้ๆ
ต่อจากนั้นในช่วงสายถึงบ่ายฉันนั่งรถต่อไปยัง ‘หมู่บ้านเคมิรัน’ (Kemiran Village) เพื่อชมหมู่บ้านวัฒนธรรมดั้งเดิมของเผ่าโอซิง (Osing หรือ Using Tribe) ผู้คนที่นี่มีภาษา อาหาร การแต่งกาย และวัฒนธรรมของตัวเอง เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่มีคนไปชมการแสดง ซื้อผ้าทอมือ และซื้อ ‘กาแฟขี้ชะมด’ หรือ Luwak Coffee กาแฟชนิดนี้มีชื่อเสียงทั่วโลก ประวัติเล่าช่วงปี ค.ศ. 1830-1870 ที่ชาวดัตช์เข้ามายึดชวาเป็นอาณานิคม ได้มาทำสวนกาแฟ แต่ห้ามคนงานเก็บกิน คนงานสังเกตเห็นว่าตัวชะมดไปกินเมล็ดกาแฟ แล้วถ่ายออกมารวมกับมูลของมัน โดยกระเพาะชะมดย่อยเมล็ดกาแฟไม่ได้ คนงานจึงเก็บเมล็ดกาแฟนี้มาล้าง ตากแห้ง แล้วบดต้มดื่ม ปรากฏว่ากลิ่นหอมหวนและรสชาติดีกว่ากาแฟปกติซะอีก! จึงเกิดเป็นธุรกิจกาแฟขี้ชะมดส่งขายไปทั่วโลก ราคากิโลกรัมละหลายพันบาท ใครมาหมู่บ้านเคมิรันก็นิยมซื้อเกือบทุกคน เพราะเป็นของแท้แน่นอน
ไปชิมแป้งทอดที่หมู่บ้านวัฒนธรรมเคมิรัน แหล่งกาแฟขี้ชะมดของแท้
ขณะที่ฉันกำลังนั่งซดกาแฟขี้ชะมดหอมๆ อยู่เพลินๆ พลันก็นึกไปว่า ทริปนี้ช่างวิเศษจริงๆ เพราะได้ใช้ประสาททั้งหมด รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ซึมซับความเป็นบันยูวังงีไว้อย่างครบถ้วน
เป็นการเปิดโลกให้ได้พบมุมมองใหม่บนเกาะชวาที่ซึ่งฉันไม่เคยคิดว่ามันมีอยู่จริง
Banyuwangi Guide
Best Season : ช่วงปลอดฝนคือเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม อุณหภูมิเฉลี่ย 23-32 องศาเซลเซียส คล้ายเมืองไทย
Getting There : จากไทยอาจบินไปลงที่จาการ์ตา หรือสุราบายา บนเกาะชวา จากนั้นต่อสายการบิน Garuda Indonesia บินไปถึงบันยูวังงีได้ (www.garuda-indonesia.com) แล้วใช้บริการรถแท็กซี่ในการเดินทาง
Overnight : แนะนำ Ketapang Indah Hotel (www.ketapangindahhotel.com) โรงแรมสวยท่ามกลางธรรมชาติ ห้องพักสะดวกสบาย บริการดีเยี่ยมจนได้รับคำชมจาก Tripadvisor
Cuisine : แนะนำอาหารท้องถิ่น เช่น Rujak Soto (ซุปรสจัดที่มีผักเป็นส่วนผสมหลัก), Pecel Pitik (ไก่ย่างมะพร้าวและถั่ว กินกับข้าวสวยร้อนๆ), Sego Tempong (อาหารยอดฮิตของเมือง เป็นข้าวสวยเสิร์ฟกับน้ำพริก ปลาทอด ผักต้ม และเต้าหู้) ฯลฯ
More Info : www.banyuwangitourism.com
Tag:
ท่องเที่ยว, อินโดนีเซีย, บันยูวังงี
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น